การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 (LA 201),(LW 204) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ป่านทำสัญญาและจดทะเบียนยกบ้านและที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งให้ปอโดยเสน่หา  โดยปออนุญาตด้วยวาจาให้ป่านอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ตลอดไป ลังจากนั้น  3  ปี  ปอทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก้ว  หลังจากที่แก้วรับโอนที่ดินดังกล่าวแล้ว  แก้วแจ้งให้ป่านออกไปจากบ้านหลังนั้น

แต่ป่านไม่ยอมย้ายออกไปโดยอ้างว่าบ้านหลังดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ขอปอเพราะสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ได้ระบุเรื่องบ้านไว้  ดังนั้น  ป่านจึงมีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ต่อไปตามที่ป่านได้รับอนุญาตจากปอ

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  แก้วจะฟ้องขับไล่ป่านออกไปจากบ้านหลังนี้ได้หรือไม่  และข้ออ้างของป่านรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  144  ส่วนควบของทรัพย์  หมายความว่า  ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น  และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลาย  หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา  1299 วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ท่านว่า  การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น  จะบริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิได้  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่  ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ  ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  มาตรา  1299  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ป่านทำสัญญายกบ้านและที่ดินมีโฉนดให้ปอโดยเสน่หา  ปอจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม เมื่อได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  การได้มาดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตามมาตรา  1299  วรรคแรก  และจากข้อเท็จจริงดังกล่าว  เมื่อปอได้อนุญาตให้ป่านอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ตลอดไป  ป่านจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม  แต่เมื่อการได้มาซึ่งสิทธิอาศัยของป่านเป็นการอนุญาตด้วยวาจาไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  สิทธิอาศัยดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ  ทำให้ป่านไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้  แต่นิติกรรมนี้คงมีผลเป็นบุคคลสิทธิ  ซึ่งใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาคือปอเท่านั้นตามมาตรา  1299  วรรคแรก

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ต่อมาปอได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก้ว  แก้วจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินนั้นด้วย  ในฐานะที่บ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน  เพราะบ้านถือว่าเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่ดินโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นและไม่อาจแยกออกจากกันได้นอกจากจะทำลาย  ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไปตามมาตรา  144

ดังนั้น  แก้วในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ให้ป่านออกไปจากบ้านหลังนี้ได้  และข้ออ้างของป่านที่ว่าบ้านหลังดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของปอ  เพราะสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ได้ระบุเรื่องบ้านไว้และป่านยังมีสิทธิอาศัยในบ้านหลังนี้ต่อไปนั้นจึงรับฟังไม่ได้  เพราะเมื่อการได้สิทธิอาศัยในบ้านของปอไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิ  ป่านจึงไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อแก้วซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้

สรุป  แก้วฟ้องขับไล่ให้ป่านออกไปจากบ้านดังกล่าวได้  และข้ออ้างของป่านรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นาย  ก  เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  ต่อมานาย  ก  ตายได้ทำพินัยกรรมยกมรดกที่ดินแปลงนี้ให้ทายาทคือ  นาย  ข  และนาย  ค  หลังจากที่นาย  ข  และนาย  ค  ไปทำการแบ่งแยกที่ดินแล้ว  ปรากฏว่าแปลงของนาย  ค  ถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โดยมีที่ดินของนาย  ข  นาย  ง  และนาย  จ  ปิดล้อมอยู่  นาย  ค  เห็นว่าถ้าตนนำรถผ่านบนที่ดินของนาย  ง  จะเป็นทางที่ใกล้ที่สุดในการออกสู่ถนนสาธารณะ  นาย  ค  จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลขอนำรถผ่านที่ดินของนาย  ง  และเสนอค่าทดแทนในการทำทางผ่านไปด้วย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นาย  ค  สามารถขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้า ออกบนที่ดินของนาย  ง  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย

การขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดินตามบทบัญญัติมาตรา  1350  นั้น  เป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกันทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  แต่ทั้งนี้จะใช้สิทธิได้ก็แต่เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ข  และนาย  ค  ได้ทำการแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่กันแล้ว  เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงของนาย  ค  ถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  (ที่ดินตาบอด)  นั้น  ย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  1350  คือเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะ  แต่เมื่อแบ่งแยกแล้วเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  ดังนั้นกรณีนี้นาย  ค  ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้  แต่นาย  ค  จะใช้สิทธิได้เฉพาะบนที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอน  คือที่ดินของนาย  ข  โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนเท่านั้น  จะไปใช้สิทธิบนที่ดินแปลงอื่นไม่ได้

ดังนั้น  ถึงแม้นาย  ค  จะเห็นว่าถ้าตนนำรถผ่านบนที่ดินของนาย  ง  จะเป็นทางที่ใกล้ที่สุดในการออกสู่ถนนสาธารณะ  นาย  ค  ก็ไม่สามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอนำรถผ่านเข้าออกที่ดินนาย  ง  ได้  แม้จะเสนอค่าทดแทนให้ด้วยก็ตาม

สรุป  นาย  ค  จะขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดินของนาย  ง  ไม่ได้

 

ข้อ  3  อ่างเข้าไปครอบครองที่ดิน  น.ส.3  ของโอ่งแปลงหนึ่ง  ครอบครองทำประโยชน์มาได้ห้าปี  เมื่อมีการเดินสำรวจเพื่ออกโฉนดที่ดิน โอ่งเพิ่งรู้ว่าอ่างเข้าไปทำประโยชน์ครอบครองที่ดินแปลงนั้นอยู่  โอ่งจึงได้มาแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  และมาบอกอ่างให้อ่างออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  อ่างจึงเลิกทำนาและรื้อบ้านของอ่างออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  เมื่อผ่านไปได้สองปี

อ่างก็กลับเข้าไปปลูกบ้านทำนาอยู่บนที่ดินแปลงนั้นใหม่  ปรากฏว่าที่ดินแปลงนั้นโอ่งได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาเป็นโฉนดที่ดินเรียบร้อยแล้ว  อ่างครอบครองต่อมาได้ห้าปี  โอ่งจึงฟ้องศาลขับไล่อ่างให้ออกไปจากที่ดินแปลงนั้น

ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างโอ่งและอ่างใครมีสิทธิในที่ดินแปลงนั้นดีกว่ากัน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1377  วรรคแรก  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยุดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

วินิจฉัย

โดยหลัก  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาเป็นเจ้าของ  โดยต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  และในกรณีที่เป็นที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ด้วยจึงจะสามารถครอบครองปรปักษ์ได้

ตามอุทาหรณ์  การที่อ่างเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน  น.ส.3  ของโอ่งได้  5  ปีนั้น  ถือเป็นการเข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน  อ่างจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นตามมาตรา  1367  โดยถือเป็นการแย่งสิทธิครอบครองในที่ดินของโอ่ง  แต่ไม่ใช่กรณีการครอบครองปรปักษ์  เพราะที่ดินดังกล่าวมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น  และเมื่อโอ่งได้มาบอกให้อ่างออกไปจากที่ดินแปลงนั้น อ่างก็ได้เลิกทำนาและรื้อบ้านของตนออกไปจากที่ดินแปลงนั้นแล้ว  จึงเป็นกรณีที่อ่างสละเจตนาครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวตามมาตรา  1377  วรรคแรก  การครอบครองจึงสิ้นสุดลง

เมื่อผ่านไป  2  ปี  อ่างก็กลับเข้าไปปลูกบ้านทำนาอยู่บนที่ดินแปลงนั้นใหม่  เมื่ออ่างเจตนายึดถือเพื่อตนจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกครั้งตามมาตรา  1367  แต่เมื่อที่ดินแปลงนั้นเปลี่ยนเป็นที่ดินที่มีโฉนด  คือ  มีกรรมสิทธิ์แล้ว  การที่อ่างจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้นั้นจะต้องครอบครองที่ดินของโอ่งด้วยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  ตามมาตรา  1382

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  อ่างครอบครองที่ดินที่มีโฉนดของโอ่งในครั้งหลังนี้ได้เพียง  5  ปี  อ่างจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์  ดังนั้นโอ่งย่อมมีสิทธิในที่ดินแปลงนั้นดีกว่าอ่าง  และเมื่อโอ่งฟ้องศาลขับไล่อ่างให้ออกจากที่ดินแปลงนั้น  อ่างก็จะต้องออกจากที่ดินแปลงนั้น

สรุป  โอ่งมีสิทธิในที่ดินแปลงนั้นดีกว่าอ่าง

 

ข้อ  4  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  มีที่ดินอยู่ข้างเคียงกัน  นายหนึ่งได้สูบน้ำผ่านลำรางที่อยู่ในที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ทำนาในที่ดินของนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ก็ยังได้อาศัยวิดน้ำจากลำรางที่นายหนึ่งสูบน้ำผ่านที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ทำนาในที่ดินของนายสองและนายสามด้วยเช่นเดียวกัน  โดยทั้งนายสองและนายสามไม่เคยขออนุญาตนายดำเลย  และนายดำก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่านายหนึ่งชักน้ำผ่านที่ดินของตน  และนายสองและนายสามยังวิดน้ำที่ผ่านจากที่ดินของนายดำไปยังที่ดินของนายหนึ่งเข้าไปใช้ในที่ดินของทั้งสองด้วย  โดยทั้งนายหนึ่งนายสอง  และนายสาม  ได้สูบน้ำวิดน้ำเข้าไปใช้ในที่ดินของแต่ละคนมาได้เกินสิบปีแล้ว  นายดำคิดว่าการที่นายสองและนายสามใช้น้ำที่ไหลผ่านลำรางบนที่ดินของตนด้วยนั้นเป็นการก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับที่ดินของตน นายดำจะห้ามไม่ให้นายสองและนายสามวิดน้ำจากลำรางที่ไหลผ่านที่ดินของนายดำเข้าไปในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ในที่ดินของทั้งนายสองและนายสามได้หรือไม่  และข้ออ้างของนายดำรับฟังได้เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจำยอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1401  นั้น  บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาบังคับใช้โอยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์  โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

ตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งได้สูบน้ำผ่านลำรางที่อยู่ในที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ทำนาในที่ดินของตน  โดยนายสองและนายสามก็ยังได้อาศัยวิดน้ำจำลำรางที่นายหนึ่งสูบน้ำผ่านที่ดินของนายดำเข้ามาใช้ในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ทำนาในที่ดินของนายสองและนายสามด้วยนั้น  เมื่อการกระทำดังกล่าวของนายหนึ่ง  นายสองและนายสามนั้น  นายดำไม่เคยรู้มาก่อน  และทั้งสามคนก็ไม่เคยขออนุญาตนายดำ  อีกทั้งก็ไปปรากฏข้อเท็จจริงว่า  การกระทำของทั้งสามคนนั้นเป็นการกระทำโดยถือวิสาสะ  ดังนั้นกรณีดังกล่าวถือว่านายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  คือที่ดินของนายดำ  โดยความสงบสุข  เปิดเผย  และเจตนาจะให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทั้งสามคนได้สูบน้ำวิดน้ำเข้าไปใช้ในที่ดินของแต่ละคนมาได้เกินสิบปีแล้ว  ทั้งสามคนย่อมได้ภาระจำยอมในที่ดินของนายดำตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382  กล่าวคือ  นายดำต้องยอมให้ทั้งสามคนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของนายดำในการสูบน้ำวิดน้ำเข้าไปใช้ในที่ดินของแต่ละคนได้ต่อไป  นายดำจะอ้างว่าการกระทำของนายสองและนายสามเป็นการก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับที่ดินของตนไม่ได้  และจะห้ามไม่ให้นายสองและนายสามวิดน้ำจากลำรางที่ไหลผ่านที่ดินของนายดำ  เข้าไปในที่ดินของนายหนึ่งไปใช้ในที่ดินของทั้งนายสองและนายสามไม่ได้

สรุป  ที่ดินของนายดำอยู่ในภาระจำยอม  นายดำจะห้ามไม่ให้นายสองและนายสามวิดน้ำจากลำรางที่ผ่านที่ดินของนายดำดังกล่าวนั้นไม่ได้  และจะอ้างว่าเป็นการก่อให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับที่ดินของตนก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

Advertisement