การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายเสือครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายช้างเป็นเวลา  12  ปี  แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นชื่อของตน  ต่อมานายช้างได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายให้กับนายกวางโดยทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่และนายกวางก็ไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายเสือมาก่อน  หลังจากนั้น  1  ปี  นายกวางถึงแก่ความตาย  น.ส.หนูบุตรของนายกวางได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกแปลงนี้ในฐานะทายาทโดยธรรม  และได้ฟ้องขับไล่นายเสือให้ออกจากที่ดินแปลงนั้น

นายเสือต่อสู้ว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  น.ส.หนูได้ที่ดินมาโดยไม่ได้เสียค่าตอบแทนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าตน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายเสือรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเสือครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายช้างเป็นเวลา  12  ปี  ถือว่านายเสือได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายช้างโดยการครอบครองปรปักษ์  (ป.พ.พ.  มาตรา  1382)  อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคสอง  ดังนั้น  เมื่อนายเสือยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นชื่อของตน  และระหว่างนั้นนายช้างได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับนายกวาง  โดยทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่  และนายกวางก็ไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายเสือมาก่อน  จึงทำให้สิทธิการได้มาของนายเสือไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้นายกวางผู้เป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้สิทธิในที่ดินนี้มาโดยสุจริต  (ไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายเสือ)  และโดยเสียค่าตอบแทน  (ซื้อ)  และจดทะเบียนสิทธิของตนโดยสุจริตแล้วได้

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  น.ส.หนูได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกแปลงนี้มาในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกวาง  จึงถือเป็นผู้สืบสิทธิของนายกวาง  ผู้ซึ่งมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่านายเสือมาตั้งแต่แรกแล้ว  น.ส.หนูจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่านายเสือด้วย  ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายเสือที่ว่า  ตนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  น.ส.หนูได้ที่ดินมาโดยไม่ได้เสียค่าตอบแทนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าตนจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเสือรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  เด็กชายเทียนอายุ  12  ปี  ได้ขายโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งให้แก่นายหนึ่งในราคา  3,000  บาท  โดยขณะขายบิดา มารดาไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วย  ต่อมานายหนึ่งได้นำโทรศัพท์เครื่องนี้ไปมอบให้นางสาวสองคนรักของนายหนึ่งด้วยความเสน่หา

โดยที่นางสาวสองไม่ทราบข้อเท็จจริงว่านายหนึ่งไปซื้อโทรศัพท์มาจากเด็กชายเทียน  ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์  บิดา มารดาของเด็กชายเทียนได้บอกเลิกการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างเด็กชายเทียนกับนายหนึ่ง

และขอให้นางสาวสองคืนโทรศัพท์มือถือกลับคืนมาให้เด็กชายเทียน

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านางสาวสองจะต้องคืนโทรศัพท์แก่เด็กชายเทียนหรือไม่  ระหว่างนางสาวสองกับเด็กชายเทียน  ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่ากัน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1329  สิทธิของบุคคลผู้ได้มา  ซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น  ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ  และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1329  เป็นเรื่องความคุ้มครองสิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน  (ผู้รับโอน)  ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1       ผู้โอนได้ทรัพย์สินมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ

2       บุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน  (ผู้รับโอน)  ต้องรับโอนไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

3       นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นได้ถูกบอกล้างในภายหลัง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายเทียนขายโทรศัพท์มือถือให้แก่นายหนึ่ง  โดยขณะขายบิดามารดาไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วยนั้น  นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ  (ป.พ.พ. มาตรา  21)  และเมื่อปรากฏว่าอีกกนึ่งสัปดาห์ต่อมาบิดามารดาของเด็กชายเทียนได้บอกเลิกการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างเด็กชายเทียนกับนายหนึ่ง  จึงถือเป็นการบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นหลังจากที่นายหนึ่งได้โอนโทรศัพท์ไปให้นางสาวสองแล้ว

และตามข้อเท็จจริง  แม้ว่านางสาวสองจะรับโอนโทรศัพท์มือถือมาจากนายหนึ่งโดยสุจริตคือ  ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่านายหนึ่งไปซื้อโทรศัพท์มาจากเด็กชายเทียนก็ตาม  แต่เมื่อนางสาวสองรับโอนมาจากการให้โดยเสน่หา  ซึ่งถือเป็นการได้มาโดยไม่เสียค่าตอบแทน  ดังนั้น  สิทธิของนางสาวสองจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1329  เด็กชายเทียนจึงมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่านางสาวสอง  และนางสาวสองจะต้องคืนโทรศัพท์ให้แก่เด็กชายเทียน

สรุป  เด็กชายเทียนมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่านางสาวสอง  และนางสาวสองจะต้องคืนโทรศัพท์ให้แก่เด็กชายเทียน

 

ข้อ  3  นายดำครอบครองปรปักษ์ทำนาในที่ดินมีโฉนดของนายแดงมาได้  4  ปี  นายดำถึงแก่กรรมนายเขียวบุตรของนายดำปฏิเสธไม่สนใจที่จะครอบครองต่อจึงปล่อยที่ดินให้รกร้างอยู่  10  เดือน  ต่อมานายเขียวตกงานจึงเปลี่ยนใจเข้าไปทำนาบนที่ดินของนายแดงอีกได้นาน  6  ปี  นายแดงจึงฟ้องขับไล่นายเขียวออกจากที่ดินแปลงนั้น  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายเขียวจะได้สิทธิอย่างใดจากการที่ตนครอบครองที่ดินต่อจากนายดำบิดาของตนหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1377  วรรคแรก  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยุดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้  การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1385  ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน  ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น  และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้  ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2       ได้ครอบครองโดยความสงบ

3       ครอบครองโดยเปิดเผย

4       ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5       ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเขียวบุตรของนายดำปฏิเสธไม่สนใจครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายแดงต่อจากนายดำบิดาซึ่งถึงแก่กรรมนั้น  ย่อมถือว่านายเขียวสละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว  อายุความการครอบครองปรปักษ์จึงสิ้นสุดลงตามมาตรา  1377  วรรคแรก

ดังนั้น  แม้ต่อมาอีก  10  เดือน  หลังจากทิ้งร้างไป  นายเขียวจะเข้ามาครอบครองที่ดินของนายแดงอีก  6  ปีก็ตาม  นายเขียวก็ไม่สามารถนำเอาระยะเวลาการครอบครองของนายดำผู้เป็นบิดามานับรวมกับการครอบครองของตนเองตามมาตรา  1385  ได้  ดังนั้น  เมื่อนายเขียวครอบครองปรปักษ์ที่นาแปลงนี้ได้เพียง  6  ปี  ซึ่งยังไม่ถึง  10  ปี  จึงไม่ครบหลักเกณฑ์ตามมาตรา  1382  ที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นายเขียวจึงยังไม่ได้สิทธิใดๆบนที่ดินแปลงนี้

สรุป  นายเขียวไม่ได้สิทธิใดๆจากการที่ตนครอบครองที่ดินต่อจากนายดำผู้เป็นบิดา

 

ข้อ  4  อาทิตย์เป็นเจ้าของที่นาแปลงหนึ่ง  ทุกๆปีในฤดูทำนาอาทิตย์ต้องใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์เพื่อเข้าไปทำนาในที่นาของอาทิตย์  โดยจันทร์ไม่ทราบมาก่อนว่าอาทิตย์มาเดินผ่านที่ดินของตน  อาทิตย์ใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์มาได้กว่า  10  ปี  โดยมิได้ไปจดทะเบียน  ต่อมาจันทร์ทราบจึงทำรั้วกั้นที่ดินเพื่อไม่ให้อาทิตย์เดินผ่าน  ดังนี้  อาทิตย์จะมีสิทธิอ้างหลักกฎหมายเรื่องใดมาต่อสู้จันทร์เพื่อมิให้จันทร์ทำรั้วกั้นมิให้อาทิตย์เดินผ่านหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1390  ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ  อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป  หรือเสื่อมความสะดวก

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจำยอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1401  นั้น  บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา  1382  มาบังคับใช้โดยอนุโลม  กล่าวคือ  ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์  โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์  โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่อาทิตย์ใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์เพื่อเข้าไปทำนาบนที่ดินของอาทิตย์เอง  โดยจันทร์ไม่ทราบมาก่อนนั้น  ถือเป็นกรณีที่อาทิตย์เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์โดยความสงบ  เปิดเผย  และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์แล้ว  เมื่ออาทิตย์ใช้ทางผ่านบนที่ดินของจันทร์มาได้กว่า  10  ปี  ย่อมทำให้อาทิตย์ได้ภาระจำยอมโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา  1401  ประกอบมาตรา  1382

และเมื่ออาทิตย์ได้ภาระจำยอมบนที่ดินของจันทร์โดยอายุความปรปักษ์  ซึ่งถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา  1299 วรรคสองแล้ว  (แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิก็เป็นทรัพยสิทธิ)  การที่จันทร์ทำรั้วกั้นที่ดินเพื่อไม่ให้อาทิตย์เดินผ่าน  จึงเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดลง  หรือเสื่อมความสะดวกตามมาตรา  1390  ดังนั้น  อาทิตย์จึงมีสิทธิอ้างหลักกฎหมายตามมาตรา  1390 ขึ้นต่อสู้กับจันทร์เพื่อมิให้จันทร์ทำรั้วกั้นระหว่างภารยทรัพย์กับสามยทรัพย์ได้

สรุป  อาทิตย์มีสิทธิอ้างหลักกฎหมายตามมาตรา  1390  ขึ้นต่อสู้กับจันทร์เพื่อมิให้จันทร์ทำรั้วกั้นมิให้อาทิตย์เดินผ่านได้

Advertisement