การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 เบี้ยวทำสัญญาอนุญาตให้กลมทำทางภาระจำยอมเป็นถนนผ่านที่ดินของเบี้ยว โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากกลมใช้ทางภาระจำยอมได้ 5 ปี เบี้ยวก็ถึงแก่ความตาย แบนบุตรของเบี้ยวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้นในฐานะทายาทโดยธรรม และแบนได้ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้กับสมปอง
หลังจากจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว สมปองจึงห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมอีกต่อไป แต่กลมอ้างสัญญาที่ตนทำไว้กับเบี้ยวขึ้นต่อสู้ว่า ตนยังสามารถใช้ทางภาระจำยอมได้ต่อไป ดังนี้สมปองจะห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมต่อไปได้หรือไม่ และข้อต่อสู้ของกลมรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่า การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคแรก)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เบี้ยวทำสัญญาอนุญาตให้กลมทำทางภาระจำยอมเป็นถนนผ่านที่ดินของเบี้ยวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น กลมจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม แต่เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้ แต่ยังคงมีผลบังคับระหว่างเบี้ยวกับกลมซึ่งเป็นคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิตามมาตรา 1299 วรรคแรก
ต่อมาเมื่อเบี้ยวถึงแก่ความตาย แบนบุตรของเบี้ยวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้นในฐานะทายาทโดยธรรม อันเป็นการรับทรัพย์มรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดก ดังนั้น แบนผู้รับมรดกจึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเบี้ยวเจ้ามรดกที่มีต่อกลมดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า แบนได้ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้กับสมปอง และสมปองได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว สมปองย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น และถือเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น เมื่อภาระจำยอมดังกล่าวไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ จึงไม่สามารถบังคับใช้กับสมปองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ สมปองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมต่อไปได้ และข้อต่อสู้ของกลมที่ว่าตนทำสัญญาไว้กับเบี้ยวจึงยังสามารถใช้ทางภาระจำยอมได้ต่อไปนั้นรับฟังไม่ได้ เพราะกลมไม่สามารถยกสัญญาที่ไม่บริบูรณ์นั้นขึ้นต่อสู้กับสมปองได้ตามเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างต้น
สรุป สมปองจะห้ามไม่ให้กลมใช้ทางภาระจำยอมต่อไปได้ และข้อต่อสู้ของกลมรับฟังไม่ได้
ข้อ 2 มั่นได้ซื้อพระเครื่ององค์หนึ่งในราคา 5,000 บาท จากร้านพุทธศิลป์ซึ่งเปิดร้านจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ข้างวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ โดยมั่นไม่รู้ว่าพระเครื่ององค์ดังกล่าวเป็นของเมฆที่ถูกคนร้ายขโมยไป
และนำไปขายที่ร้านพุทธศิลป์ในราคา 2,000 บาท หลังจากซื้อพระเครื่องดังกล่าวแล้ว มั่นได้นำไปใส่กรอบทองคำเป็นเงิน 20,000 บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับคนร้ายได้ และสืบทราบว่าพระของกลางอยู่ที่มั่น ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า เมฆจะเรียกให้มั่นคืนพระเครื่ององค์นั้นพร้อมกรอบทองให้กับตนได้หรือไม่ และระหว่างมั่นกับเมฆมีสิทธิเรียกร้องใดๆต่อกันได้บ้าง เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 144 ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น
มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน ก็ไม่จำต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มั่นซื้อพระเครื่องดังกล่าวจากร้านพุทธศิลป์ซึ่งเปิดร้านจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ข้างวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ โดยมั่นไม่รู้ว่าพระเครื่ององค์นั้นเป็นของเมฆที่ถูกคนร้ายขโมยไปและนำไปขายที่ร้านพุทธศิลป์นั้น มั่นย่อมเป็นบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากท้องตลาด และจากพ่อค้าซึ่งขายสินค้าชนิดนั้น ดังนั้นมั่นจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ มั่นไม่จำต้องคืนพระเครื่ององค์นั้นให้กับเมฆ แม้เมฆจะเป็นเจ้าของที่แท้จริงก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าเมฆจะชดใช้ราคาพระเครื่องที่มั่นได้ซื้อมา คือ 5,000 บาท เมฆจึงจะสามารถเรียกให้มั่นคืนพระเครื่ององค์นั้นได้
ส่วนกรณีที่มั่นนำพระเครื่องไปใส่กรอบทองคำเป็นเงิน 20,000 บาทนั้น เมื่อปรากฏว่ากรอบพระทองคำไม่ใช่สาระสำคัญในความเป็นอยู่ของพระเครื่อง จึงไม่ถือเป็นส่วนควบของพระเครื่อง ตามมาตรา 144 อันจะทำให้เมฆเจ้าของทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในกรอบพระทองคำด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น กรอบพระทองคำจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของมั่น เมฆไม่มีสิทธิเรียกเอากรอบพระทองคำจากมั่น
สรุป หากเมฆต้องการจะเรียกให้มั่นคืนพระเครื่อง จะต้องชดใช้เงินให้แก่มั่น 5,000 บาท ส่วนกรอบพระทองคำนั้น เมฆไม่มีสิทธิเรียกเอากรอบพระทองคำจากมั่น
ข้อ 3 นายแมนเข้าไปทำนาในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนางมั่งมีมาได้ 4 ปี ต่อมานายแมนถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน เมื่อออกจากคุกแล้ว นายแมนได้เข้าไปครอบครองทำนาในที่ดินของนางมั่งมีอีก 4 ปี 6 เดือน ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายแมนอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของนางมั่งมีได้หรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันขาดยึดถือ หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
- เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น โดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
- ได้ครอบครองโดยความสงบ
- ครอบครองโดยเปิดเผย
- ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
- ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี
สำหรับการครอบครองติดต่อกันนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองหรือยึดถือทรัพย์สินนั้นตลอดเรื่อยมาโดยไม่มีเจตนาสละการครอบครอง หรือขาดการยึดถือโดยใจสมัครในบางช่วงบางตอน และถ้าหากเป็นการขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจ เพราะมีเหตุมาขัดขวาง กฎหมายถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้อายุความการครอบครองสะดุดหยุดลง หากได้ทรัพย์สินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ ทั้งนี้ตามมาตรา 1384
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายแมนจะอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของนางมั่งมีได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายแมนเข้าไปครอบครองปรปักษ์ทำนาในที่ดินมีโฉนดของนางมั่งมีมาได้ 4 ปี และต่อมาได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกนั้น ถือเป็นกรณีที่นายแมนขาดการยึดถือที่ดินโดยไม่สมัครใจ เนื่องจากมีเหตุมาขัดขวางหรือไม่มีเจตนาสละการครอบครอง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายแมนไม่อาจกลับเข้าครอบครองที่ดินอีกได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ เนื่องจากศาลพิพากษาจำคุกนายแมน 1 ปี 6 เดือน จึงมีผลทำให้การครอบครองของนายแมนสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1384
ดังนั้น แม้ต่อมานายแมนจะพ้นโทษจำคุก และกลับเข้าครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนางมั่งมีอีก นายแมนก็ไม่สามารถจะนำระยะเวลาการครอบครองเดิม (4 ปี) มานับรวมกับการครอบครองขณะตนถูกจำคุก (1 ปี 6 เดือน) และภายหลังออกจากคุก (4 ปี 6 เดือน) ได้ หากนายแมนจะนับก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่เมื่อออกจากคุกแล้วมาครอบครองใหม่ จึงเท่ากับนายแมนเพิ่งครอบครองปรปักษ์ได้เพียง 4 ปี 6 เดือน ซึ่งยังไม่ครบ 10 ปี นายแมนจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนางมั่งมีตามมาตรา 1382 ดังนั้น นายแมนจะอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนางมั่งมีไม่ได้
สรุป นายแมนอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของนางมั่งมีไม่ได้
ข้อ 4 จันทร์จดทะเบียนภาระจำยอมให้อังคารใช้น้ำในบ่อน้ำซึ่งอยู่ในที่ดินของจันทร์ได้ หลังจากที่อังคารใช้น้ำจากบ่อของจันทร์มาได้ 5 ปี อังคารก็ไม่เคยมาใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้อีกถึง 5 ปี ต่อมาอังคารขายที่ดินให้กับพุธ เมื่อพุธซื้อที่ดินแล้วจึงมาใช้น้ำในที่ดินของจันทร์ ดังนี้ จันทร์จะไม่อนุญาตให้พุธนำน้ำจากบ่อน้ำของตนไปใช้ได้หรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1399 ภาระจำยอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย ภาระจำยอมนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์กับอสังหาริมทรัพย์อื่น (มาตรา 1387) ดังนั้น ภาระจำยอมจึงตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งภารทรัพย์และสามยทรัพย์เสมอ ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองนั้นจะโอนไปเป็นของบุคคลใด เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น และหากไม่ได้ใช้ภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ภาระจำยอมนั้นย่อมระงับสิ้นไปตามมาตรา 1399 ซึ่งถือเป็นอายุความเสียสิทธิ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์จดทะเบียนภาระจำยอมให้อังคารมีสิทธิใช้น้ำในบ่อน้ำ ซึ่งอยู่ในที่ดินของจันทร์ได้นั้น ภาระจำยอมดังกล่าวย่อมบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ (มาตรา 1299 วรรคแรก) และการที่อังคารได้ใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์เพียง 5 ปี แล้วก็ไม่เคยมาใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้อีกเลยเป็นเวลาถึง 5 ปีนั้น เมื่อปรากฏว่าการที่ไม่ได้ใช้ภาระจำยอมนั้นยังไม่ถึง 10 ปี จึงยังไม่มีผลทำให้ภาระจำยอมที่มีอยู่ระงับไปตามมาตรา 1399
และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาอังคารขายที่ดินให้กับพุธ พุธผู้รับโอนที่ดินมาจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและมีสิทธิในภาระจำยอมดังกล่าว คือ มีสิทธิเข้าไปใช้น้ำจากบ่อน้ำในที่ดินของจันทร์ได้ (มาตรา 1387) ดังนั้น เมื่อภาระจำยอมดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิ ผูกพันอยู่กับทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ จันทร์จึงไม่มีสิทธิห้ามพุธไม่ให้มาใช้น้ำจากบ่อน้ำซึ่งอยู่ในที่ดินของตนได้
สรุป จันทร์จะไม่อนุญาตให้พุธนำน้ำจากบ่อน้ำของตนไปใช้ไม่ได้