การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 ชัยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งตีใช้หนี้ให้เชิดเจ้าหนี้ แต่ทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากชัยส่งมอบที่ดินให้เชิดครอบครองได้สามปี เกียรติเจ้าหนี้ของชัยได้ฟ้องศาลให้ชัยชำระหนี้และศาลพิพากษาให้เกียรติชนะคดี เกียรติจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดที่ดินแปลงที่ชัยเคยทำสัญญาตีใช้หนี้ให้เชิดไปแล้ว เพื่อออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้เกียรติ
เชิดรู้เรื่องจึงร้องขัดทรัพย์โดยอ้างว่าเชิดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น เพราะชัยเอาที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้ตนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีสิทธินำออกขายทอดตลาด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า เชิดจะร้องขัดทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1299 วรรคแรก ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่า การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคแรก)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ชัยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งตีใช้หนี้ให้แก่เชิดนั้น ถือว่าเชิดเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ เชิดจะยกสัญญานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้ แต่ยังคงมีผลบังคับระหว่างชัยกับเชิดในฐานะบุคคลสิทธิตามมาตรา 1299 วรรคแรก
ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เกียรติเจ้าหนี้ของชัยได้ฟ้องศาลให้ชัยชำระหนี้ และศาลได้พิพากษาให้เกียรติชนะคดี เกียรติจึงสามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดที่ดินแปลงที่ชัยเคยทำสัญญาตีใช้หนี้ ให้เชิดเพื่อออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้เกียรติได้ เชิดจะร้องขัดทรัพย์โดยอ้างว่าเชิดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น เพราะชัยเอาที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้ตนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีสิทธินำออกขายทอดตลาดไม่ได้ เพราะสัญญานำอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ การโอนกรรมสิทธิ์จึงถือว่าไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ เชิดจึงเอาสัญญาดังกล่าวขึ้นต่อสู้เกียรติไม่ได้ ดังนั้นเกียรติซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเป็นบุคคลภายนอกจึงมีสิทธิในที่ดินดีกว่าเชิด และสามารถนำยึดที่ดินพิพาทได้
สรุป เชิดจะร้องขัดทรัพย์ไม่ได้
ข้อ 2 นายดำซื้อแหวนวงหนึ่งราคา 2,000 บาท จากร้านขายของหลุดจำนำของนายขาว ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่า และนายขาวทำการขายของเก่าทุกชนิดที่หลุดจำนำ หลังจากซื้อได้ประมาณ 10 วันจึงทราบว่าแหวนวงนี้เป็นแหวนของนายเขียว แต่ถูกนายแดงผู้เป็นลูกจ้างขโมยมาจำนำที่โรงรับจำนำแห่งหนึ่ง
และแดงไม่ได้ไปไถ่จึงหลุดจำนำ ต่อมาร้ายขายของเก่าของนายขาวได้ไปประมูลสินค้าหลุดจำนำจากโรงรับจำนำและขายต่อ นายเขียวเจ้าของแหวนจึงขอแหวนคืนจากนายดำ ดังนี้ นายดำจะต่อสู้ว่าตนซื้อมาจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ได้หรือไม่ และนายดำจะต้องคืนแหวนแก่นายเขียวหรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
วินิจฉัย
โดยหลัก การซื้อขายทรัพย์สินที่จะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1332 อันจะทำให้บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินได้รับการคุ้มครองนั้น ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดำซื้อแหวนจากร้านขายของหลุดจำนำของนายขาว ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่านั้น มิได้เป็นกรณีที่นายดำซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น นายดำผู้ซื้อจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 แม้นายดำจะซื้อโดยสุจริตเพราะไม่รู้ว่าแหวนวงดังกล่าวเป็นของนายเขียว ซึ่งถูกนายแดงขโมยมาจำนำที่โรงรับจำนำแห่งหนึ่งจนหลุดจำนำก็ตาม
ดังนั้น เมื่อนายเขียวเจ้าของแหวนขอแหวนคืนจากนายดำ นายดำจะต่อสู้ว่าตนซื้อมาจากพ่อค้าขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ไม่ได้ และนายดำจะต้องคืนแหวนให้แก่นายเขียว ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
สรุป นายดำจะต่อสู้ว่าตนซื้อแหวนมาจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ไม่ได้ และนายดำจะต้องคืนแหวนให้แก่นายเขียว
ข้อ 3 พุธครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งร่วมกับนายศุกร์ เมื่อครอบครองไปได้หนึ่งปี พุธกับศุกร์ทำสัญญาเป็นหนังสือตกลงขายส่วนของตนให้กับศุกร์ โดยพุธตกลงกับศุกร์ว่าตนยังไม่ต้องรื้อถอนบ้านออกไป คงอยู่อาศัยในที่ดินนั้นต่อไปได้ พุธอยู่ต่อมาได้หนึ่งปี พุธได้ขายที่ดินแปลงนั้นให้จันทร์ โดยจันทร์สุจริต เพราะเห็นพุธอยู่ในที่ดินแปลงนั้นมานานแล้ว และจันทร์เชื่อที่พุธบอกว่าศุกร์เช่าที่ดินแปลงนั้นจากพุธ ต่อมาเมื่อศุกร์ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดิน จันทร์ได้มาคัดค้าน ตามข้อเท็จจริงนี้ ถ้าท่านเป็นศาล จะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา 1368 บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้
มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง
มาตรา 1380 การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน
ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่ การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธทำสัญญาเป็นหนังสือตกลงขายที่ดินมือเปล่าส่วนของตนให้กับศุกร์นั้น ถือว่าพุธได้สละการครอบครองในที่ดินแล้ว สิทธิการครอบครองที่ดินของพุธจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1377 วรรคแรก และถึงแม้พุธจะยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวต่อไป การโอนที่ดินดังกล่าวก็เป็นผลแล้ว เพราะเป็นการโอนตามมาตรา 1380 ซึ่งบัญญัติว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน และกรณีนี้ถือเป็นกรณีที่ศุกร์ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยมีผู้อื่นยึดถือไว้ให้ตามมาตรา 1368
ดังนั้น แม้พุธจะยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนั้นต่อไป ก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1367 ศุกร์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นดีกว่าพุธ
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ต่อมาศุกร์ได้ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น กรณีนี้ถึงแม้พุธจะขายที่ดินแปลงนั้นให้จันทร์แล้ว โดยจันทร์สุจริต เพราะเห็นพุธอยู่ในที่ดินแปลงนั้นมานานแล้ว และเชื่อที่พุธบอกว่าศุกร์เช่าที่ดินแปลงนั้นจากพุธก็ตาม แต่เมื่อที่ดินแปลงนั้นเป็นของศุกร์ซึ่งมีสิทธิยื่นขอออกโฉนดได้ จันทร์จึงไม่มีสิทธิคัดค้าน เพราะถือว่าจันทร์รับโอนที่ดินแปลงนั้นมาจากผู้ที่ไม่มีสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะวินิจฉัยคดีนี้ว่าศุกร์มีสิทธิที่จะยื่นขอออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ได้ เพราะที่ดินเป็นของศุกร์ จันทร์ไม่มีสิทธิคัดค้าน
ข้อ 4 แดงเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง แดงให้ดำเช่าที่ดินปลูกบ้านอาศัยอยู่ เมื่อเข้าไปปลูกบ้านบนที่ดินแปลงนั้น ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แดงได้บอกให้ดำวางเสา สายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาวเข้าไปใช้ในที่ดินได้ โดยแดงบอกกับดำว่าตนได้ขออนุญาตขาวเจ้าของที่ดินแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ แดงไม่เคยขอหรือบอกขาวเลย ดำจึงได้วางเสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาว นอกจากนั้นยังได้สร้างศาลาที่พักไว้หน้าที่ดินของขาว ดำเช่าที่ดินปลูกบ้านและวางสายไฟฟ้ามาได้ห้าปี เหลืองได้มาขอซื้อบ้านหลังนี้จากดำและเช่าที่ดินของแดงต่อ เหลืองซื้อบ้านและอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนี้ ใช้เสาสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาว และใช้ศาลาที่พักหน้าที่ดินของขาวเพื่อขึ้นรถยนต์โดยสารประจำมาได้เจ็ดปี ขาวได้มาแจ้งให้เหลืองรื้อเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า และศาลาที่พักออกไปจากที่ดินของตน และทำที่ดินให้เป็นดังเดิม มิฉะนั้นจะฟ้องร้องต่อศาล ให้ท่านให้คำแนะนำต่อเหลืองว่า เหลืองจะต้องรื้อเสา สายไฟฟ้า และศาลาออกไปหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
โดยหลัก การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของและครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม ภาระจำยอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่าสามยทรัพย์เท่านั้น ตามมาตรา 1387 ดังนั้น ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทำให้เกิดภาระจำยอมโดยอายุความขึ้นได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงได้บอกให้ดำวางเสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาวเข้าไปใช้ในที่ดินได้ โดยแดงบอกกับดำว่าตนได้ขออนุญาตขาวเจ้าของที่ดินแล้ว แต่ความจริงแดงไม่เคยขอหรือบอกขาวเลย ดำจึงได้วางเสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาวนั้น ถือเป็นกรณีที่ดำไม่ได้มีเจตนาจะยึดถือเป็นเจ้าของที่ดินของขาว เพื่อให้ได้ภาระจำยอมแต่อย่างใด เพราะการที่แดงบอกกับดำว่าตนได้ขออนุญาตขาวแล้วนั้น แสดงว่าการวางเสาและสายไฟฟ้าของดำ เป็นการแสดงเจตนาขออาศัยวางผ่านที่ดินของขาวเท่านั้น จึงไม่ก่อให้เกิดเจตนาปรปักษ์ อันจะทำให้ได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
ส่วนกรณีศาลาที่พักนั้น ถือเป็นการที่ดำสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่เป็นการใช้ที่ดินของขาวเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นแต่อย่างใด จึงไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม ดังนั้นแม้ว่าดำจะใช้ศาลาที่พักนั้นนานเท่าใด ก็ไม่ทำให้ได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของขาวโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 และมาตรา 1387
ดังนั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหลืองได้มาขอซื้อบ้านต่อจากดำและเช่าที่ดินแดงต่อโดยยังคงใช้เสาและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของขาว และใช้ศาลาที่พักหน้าที่ดินของขาวเพื่อขึ้นรถยนต์โดยสารประจำมาได้เจ็ดปีก็ตาม เหลืองก็ไม่สามารถนับอายุความภาระจำยอมต่อจากดำได้ เพราะการใช้ที่ดินของขาววางเสาและสายไฟฟ้าดำไม่ได้มีเจตนาปรปักษ์ ส่วนการใช้ศาลาที่พักก็ไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม ดังนั้นเมื่อขาวเจ้าของที่ดินได้มาแจ้งให้เหลืองรื้อเสาและสายไฟฟ้า รวมทั้งศาลาที่พักออกไปจากที่ดินของตน และทำที่ดินให้เป็นดังเดิม เหลืองจะต้องรื้อเสาไฟ สายไฟฟ้า และศาลาที่พักออกไป
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำต่อเหลืองว่า เหลืองจะต้องรื้อเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า และศาลาออกไปจากที่ดินของขาว