การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระชวนวิชา  LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1 

ก.      กฎหมายมหาชนคืออะไร  มีความสัมพันธ์กับหลักความยุติธรรม  และหลักประโยชน์สาธารณะ  (Public  Interest)  อย่างไร  จงอธิบายข.      กฎหมายที่ดี  (Good  Law)  มีลักษณะอย่างไรบ้าง  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  มาตรา  309  ขัดกับหลักการดังกล่าวอย่างไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ก.      “กฎหมายมหาชน”  ได้แก่  กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐ  อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการปกครองหรือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองภายในรัฐ  กล่าวคือ  กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ  หน่วยงานของรัฐ  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎรในลักษณะที่รัฐ  หน่วยงานของรัฐรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นฝ่ายปกครองมีเอกสิทธิ์หรือมีสถานะเหนือกว่าราษฎรซึ่งเป็นเอกชน

ความสัมพันธ์ของกฎหมายมหาชนกับความยุติธรรม

ความยุติธรรมคืออะไร  เป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างมาก  เพราะกฎหมายนั้นตราออกมาใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรมในสังคม  ความยุติธรรมนี้จะเอาอะไรมาเป็นปทัสถานของความยุติธรรมว่าพอดี  หรือเพียงพอแล้ว  เพราะเวลาพูดถึงความยุติธรรมถ้าใช้สามัญสำนึกของตัวเองเป็นหลัก  บางเรื่องก็อาจจะเห็นว่าไม่เป็นธรรม  แต่ถ้าเอาสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้งก็อาจเป็นธรรม  เช่น  กรณีออกกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ  หากใช้บังคับแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกใช้เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว  เช่นนี้ก็ย่อมถือว่ากฎหมายนั้นมีความยุติธรรมแล้ว

โดยทั่วไป  ความยุติธรรมเป็นสิ่งบางอย่างที่  “รู้สึกได้”  หรือรับรู้ได้โดย “สัญชาตญาณ”  แต่ก็ยากที่จะอธิบาย  หรือให้นิยามความหมายของสิ่งที่รู้สึกได้ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ความหมายของคำว่า  ความยุติธรรม”  มีความหลากหลาย  รายละเอียดต่างๆอาจศึกษาหาอ่านได้โดยตรงในวิชานิติปรัชญา  ในที่นี้จะเพียงยกคำจำกัดความของนักกฎหมายหรือนักปราชญ์เพียงบางท่าน  เช่น

เดวิด  ฮูม  (David  Hume)  อธิบายไว้ว่า  ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่มิได้ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ  แต่เป็นคุณธรรมที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์  (Artificial  Virtue)

เพลโต  (Plato : 427 – 347 B.C.)  ปรัชญาเมธีชาวกรีกในงานเขียนเรื่อง  “อุดมรัฐ”  (The  Republic)  ได้ให้คำนิยามความยุติธรรมว่า  หมายถึง  การทำความดี  (Doing  well  is  Justice)  หรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง  (Right  Conduct) 

อริสโตเติล  (Aristotle)  มองว่าความยุติธรรม  คือ  คุณธรรมทางสังคม  (Social  Virtue)  ประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  และ คุณธรรมเรื่องความยุติธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ได้ ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

อริสโตเติล  แบ่งความยุติธรรมออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ  (Natural  Justice)  หมายถึง  หลักความยุติธรรม  ซึ่งมีลักษณะเป็นสากล  ไม่เปลี่ยนแปลง  ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคน  ไม่มีขอบเขตจำกัด  และอาจค้นพบได้โดย  “เหตุผลบริสุทธิ์”  ของมนุษย์

2       ความยุติธรรมตามแบบแผน  (Conventional  Justice)  หมายถึง  ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง  หรือธรรมนิยมปฏิบัติของแต่ละสังคมหรือชุมชน  ความยุติธรรมลักษณะนี้  อาจเข้าใจแตกต่างกันตามสถานที่และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาหรือตามความเหมาะสม

กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กัน  ดังที่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  9  ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต  สมัยที่  33  ปีการศึกษา  2523  ณ  อาคารใหม่สวนอัมพร  24 ตุลาคม  2524  ตอนหนึ่งว่า  “ตัวกฎหมายก็ไม่ใช่ความยุติธรรมเป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ใช้ในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมเท่านั้น  ดังนั้นนักกฎหมายในการใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาและอำนวยความยุติธรรม  และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย  หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา  ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย” 

ความสัมพันธ์ของกฎหมายมหาชนกับหลักประโยชน์สาธารณะ

กฎหมายมหาชน  เป็นกฎหมายที่มีหลักการเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ตอบสนองความต้องการของประชนชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ  เน้นการปกครองโดยกฎหมายตามหลักนิติรัฐ  และเน้นการใช้การตีความกฎหมายตามหลักนิติธรรม  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและสร้างดุลยภาพขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ

ดังนั้น  ถ้าผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองออกกฎหมายที่คุ้มครองตนเองหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว  จึงไม่ถือว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ  และเป็นการเขียนกฎหมายที่เห็นแก่ตัว  เห็นแก่ได้  โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของปะเทศชาติ  และประชาชน

 ข.      กฎหมายที่ดี  (Good  Law)

การปกครองบ้านปกครองเมืองโดยกฎหมายที่เป็นธรรมนั้น  ก็คือ  ต้องมีกฎหมายที่ดี  (Good  Law)  ซึ่งกฎหมายที่ดีจะมีลักษณะสำคัญอยู่  5  ประการ  คือ

1       กฎหมายต้องมีลักษณะเป็นการทั่วไป  กล่าวคือ  กฎหมายมีผลใช้บังคับทั่วไป  มิได้มุ่งหมายใช้กับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
2       กฎหมายต้องมีความชัดเจนแน่นอน

3       กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลัง

4       กฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน

5       กฎหมายต้องไม่กระทบต่อเนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ของสิทธิและเสรีภาพ
กฎหมายใดก็ตามที่มุ่งให้เกิดผลแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น  ย่อมขัดต่อหลักแห่งความเสมอภาคและย่อมขัดกับหลักกฎหมายที่ดี  ความไม่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนก็มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสมดุลที่เป็นธรรม  เพื่อให้ทุกฝ่ายดำรงอยู่ได้  ส่วนที่ว่ากฎหมายต้องไม่ขัดแย้งต่อเนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ของสิทธิและเสรีภาพนั้น  ก็คือ  พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะกระทำหรือดำเนินการอย่างใดๆได้ รวมทั้งสิทธิดำเนินการในทางการเมือง

ดังนั้น  กฎหมายใดก็ตามที่จำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยมุ่งหมายให้เกิดผลร้ายกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น  ย่อมไม่ใช่กฎหมายที่ดี

มาตรา  309  แห่งรัฐธรรมนูญ 2550  ขัดกับหลักกฎหมายที่ดี  เพราะเป็นกฎหมายที่เขียนขัดต่อหลักนิติรัฐ  หลักนิติธรรม  และหลักประโยชน์สาธารณะ  คือ  ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน  และประเทศชาติ  แต่เป็นประโยชน์กับผู้ทำการรัฐประหาร  และพวกของผู้ทำรัฐประหาร  หรือพรรคการเมืองที่ร่วมกับการรัฐประหาร  การเขียนกฎหมายดังกล่าวจึงขัดกับหลักกฎหมาย  หลักความรับผิด  และหลักความยุติธรรม  ซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดการแตกแยก  การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  ใครอยู่ฝ่ายตรงข้าม  คิดไม่เหมือน  คิดต่าง  คือ  ศัตรูทางความคิด  ทางการเมืองต้องขจัด  ทำให้ประเทศชาติไม่สงบ  ประชาชนไม่ได้ประโยชน์

 

ข้อ  2  จงอธิบายว่า  “กฎหมายมหาชน”  มีความสำคัญต่อการบริหารบ้านเมืองในทุกระดับอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ  ระบอบการปกครอง  การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย  กล่าวคือ  เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งแบ่งออกเป็น  3  อำนาจ  คือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้  คือ  ศาลกฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  “การจัดระเบียบราชการบริหาร”  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  “บริการสาธารณะ”  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ราชการบริหารส่วนกลาง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

หน่วยงานปกครอง  ได้แก่  หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  ส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ  และหน่วยงานอื่นๆที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง  รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับสอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  เช่น สำนักงานรังวัดเอกชน  สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์  สภาทนายความ ฯลฯ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้แก่  บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจในทางปกครองของรัฐ  ได้แก่  ข้าราชการ  พนักงานเจ้าหน้าที่  ลูกจ้าง  คณะบุคคล  หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง  ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป  กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครองมีความสัมพันธ์กับการปกครองของไทยในทุกระดับในแง่ที่ว่า  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ  รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ  เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ  หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้  ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้  เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้ว  ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น

 

ข้อ  3  กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค  กล่าวคือ  รัฐมีเอกสิทธิ์ ทางปกครองอยู่เหนือเอกชน  คำกล่าวนี้หมายความว่าอย่างไร  จงอธิบาย  และยกตัวอย่างประกอบ  และจากหลักกฎหมายมหาชนดังกล่าวจึงนำไปสู่การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ  ให้นักศึกษาอธิบายถึงรูปแบบ  ประเภท  ชนิด  ของการควบคุมการใช้อำนาจรัฐมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

คำกล่าวที่ว่า  กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค  กล่าวคือ  รัฐมีเอกสิทธิ์ทางปกครองอยู่เหนือเอกชนนั้น  เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของกฎหมายมหาชนที่มีความเหนือกว่าในอำนาจรัฐ  ซึ่งได้มาจากประชาชนในการที่รัฐย่อมมีอำนาจในการแก้ไข  เปลี่ยนแปลง  หรือยกเลิกนิติกรรมหรือสัญญาทางปกครองที่รัฐเห็นว่าเป็นนิติกรรมหรือสัญญาทางปกครองที่ไม่เกิดประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ  หรือไม่เกิดผลดีแก่สาธารณะชนได้  แต่การใช้อำนาจรัฐดังกล่าวต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

และเนื่องจากกฎหมายมหาชน  เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐ  หน่วยงานของรัฐ  เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอยู่เหนือประชาชน  ดังนั้นหากไม่มีการควบคุม  เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้  ซึ่งการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ  องค์กรของรัฐ  หน่วยงานของรัฐกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกำหมาย  หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมายอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

ส่วนวิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายปกครอง  แบ่งออกเป็น  2  รูปแบบ  คือ

1       การควบคุมแบบป้องกัน  หมายถึง  ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีการกระทำในทางปกครอง  ที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมีระบบป้องกันเสียก่อน  กล่าวคือ  มีกฎหมายกำหนดกระบวนการ  หรือขั้นตอนต่างๆก่อนที่จะมีคำสั่งออกไปกระบวนการควบคุมดังกล่าวในกฎหมายของต่างประเทศมีตัวอย่างเช่น

– การโต้แย้งคัดค้าน  คือ  ผู้ที่อาจเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองจะต้องสามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ก่อนมีการกระทำนั้น  เพื่อหลีกเลี่ยง  “การปกครองที่ดื้อดึง”

– การปรึกษาหารือ  เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

– การให้เหตุผล  เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง

– หลักการไม่มีส่วนได้เสีย  กล่าวคือ  ผู้มีอำนาจสั่งการทางปกครองต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สั่งการนั้น

-การไต่สวนทั่วไปเป็นวิธีการที่กำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง  โดยทำการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย  แล้วทำเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะตัดสินใจกระทำการที่จะมีผลกระทบผู้มีส่วนได้เสียการควบคุมแบบป้องกัน  จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุมโดยทางศาล  เพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง  ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย

2       การควบคุมแบบแก้ไข  หรือการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง  หลังการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว  สามารถกระทำได้หลายวิธี  ดังนี้ 1)    การควบคุมโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหารเอง  เช่น

 – การร้องทุกข์

– การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยทางปกครอง 2)    การควบคุมโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร  เช่น

 – การควบคุมโดยทางการเมือง  ได้แก่  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

– การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ  ได้แก่  ผู้ตรวจการแผ่นดิน

– การควบคุมโดยศาลปกครองการควบคุมแบบแก้ไขนี้  เป็นการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว  และเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางปกครองนั้นขึ้น  จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้

Advertisement