การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระชวนวิชา  LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ขอให้นักศึกษาอธิบายความหมายของกฎหมายมหาชน  และสาระสำคัญของหลักกฎหมายมหาชนที่สำคัญ  3  ประการ

(1) หลักประโยชน์สาธารณะ

(2) หลักความยุติธรรม

(3) หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐ  อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการปกครองหรือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองภายในรัฐ  กล่าวคือ  กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ  หน่วยงานของรัฐ  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎรในลักษณะที่รัฐ  หน่วยงานของรัฐรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นฝ่ายปกครองมีเอกสิทธิ์หรือมีสถานะเหนือกว่าราษฎรซึ่งเป็นเอกชน  ซึ่งกฎหมายมหาชนมีหลักที่สำคัญ  3  ประการ  คือ  หลักประโยชน์สาธารณะ  หลักความยุติธรรม  และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

(1) หลักประโยชน์สาธารณะ  คือ  การตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม  ไม่ใช่การตอบสนองความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ  และไม่ใช่การตอบสนองความต้องการของผู้ที่ดำเนินการนั้นเอง  ดังนั้น  ประโยชน์สาธารณะก็คือ  ความต้องการของคนแต่ละคนที่ตรงกัน  และมีจำนวนมากจนเป็นคนหมู่มาก  หรือเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั่นเอง  ซึ่งความต้องการของคนส่วนใหญ่นั้นถือเป็นประโยชน์สาธารณะ  และมีความแตกต่างกับประโยชน์ส่วนบุคคลของเอกชนแต่ละคน

องค์กรที่แสดงถึงประโยชน์สาธารณะ  ได้แก่  องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร  องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ  และองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ

 1)    องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร  ในส่วนของรัฐบาลนั้นต้องมีการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในการบริหารประเทศ  ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจัดทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ  นอกจากนั้นประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องดำเนินการ  ถ้าเป็นกิจกรรมที่รัฐสภาได้ตราเป็นกฎหมายออกมาแล้ว  หากฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการย่อมเป็นการไม่ชอบ  เพราะว่าเหตุที่ให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจ  ก็เพราะฝ่ายปกครองมีภาระหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม  ฝ่ายปกครองจึงต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อให้ภาระหน้าที่นั้นบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

 2)    องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ  ได้แก่  รัฐสภา  ทำหน้าที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน  และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  ซึ่งก็เพื่อประโยชน์สาธารณะ

3)    องค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาล  ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  ศาลทหาร  ศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งจะทำหน้าที่ในอำนาจหน้าที่ของแต่ละศาลที่แตกต่างกัน  แต่ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย

(2)  หลักความยุติธรรม  ซึ่งความยุติธรรมเป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างมาก  เพราะกฎหมายนั้นตราออกมาใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรมในสังคม  ความยุติธรรมนี้จะเอาอะไรมาเป็นปทัสถานของความยุติธรรมว่าพอดี  หรือเพียงพอแล้ว  เพราะเวลาพูดถึงความยุติธรรมถ้าใช้สามัญสำนึกของตัวเองเป็นหลัก  บางเรื่องก็อาจจะเห็นว่าไม่เป็นธรรม  แต่ถ้าเอาสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้งก็อาจเป็นธรรม  เช่น  กรณีออกกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ  หากใช้บังคับแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกใช้เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว  เช่นนี้ก็ย่อมถือว่ากฎหมายนั้นมีความยุติธรรมแล้ว

โดยทั่วไป  ความยุติธรรมเป็นสิ่งบางอย่างที่  “รู้สึกได้”  หรือรับรู้ได้โดย “สัญชาตญาณ”  แต่ก็ยากที่จะอธิบาย  หรือให้นิยามความหมายของสิ่งที่รู้สึกได้ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ความหมายของคำว่า  ความยุติธรรม”  มีความหลากหลาย  รายละเอียดต่างๆอาจศึกษาหาอ่านได้โดยตรงในวิชานิติปรัชญา  ในที่นี้จะเพียงยกคำจำกัดความของนักกฎหมายหรือนักปราชญ์เพียงบางท่าน  เช่น

เดวิด  ฮูม  (David  Hume)  อธิบายไว้ว่า  ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่มิได้ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ  แต่เป็นคุณธรรมที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์  (Artificial  Virtue)

เพลโต  (Plato : 427 – 347 B.C.)  ปรัชญาเมธีชาวกรีกในงานเขียนเรื่อง  “อุดมรัฐ”  (The  Republic)  ได้ให้คำนิยามความยุติธรรมว่า  หมายถึง  การทำความดี  (Doing  well  is  Justice)  หรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง  (Right  Conduct) 

อริสโตเติล  (Aristotle)  มองว่าความยุติธรรม  คือ  คุณธรรมทางสังคม  (Social  Virtue)  ประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  และคุณธรรมเรื่องความยุติธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อ มนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

อริสโตเติล  แบ่งความยุติธรรมออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ  (Natural  Justice)  หมายถึง  หลักความยุติธรรม  ซึ่งมีลักษณะเป็นสากล  ไม่เปลี่ยนแปลง  ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคน  ไม่มีขอบเขตจำกัด  และอาจค้นพบได้โดย  “เหตุผลบริสุทธิ์”  ของมนุษย์

2       ความยุติธรรมตามแบบแผน  (Conventional  Justice)  หมายถึง  ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง หรือธรรมนิยมปฏิบัติของแต่ละสังคมหรือชุมชน  ความยุติธรรมลักษณะนี้  อาจเข้าใจแตกต่างกันตามสถานที่และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาหรือตามความเหมาะสม

กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กัน  ดังที่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  9  ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต  สมัยที่  33  ปีการศึกษา  2523  ณ  อาคารใหม่สวนอัมพร  24 ตุลาคม  2524  ตอนหนึ่งว่า  “ตัวกฎหมายก็ไม่ใช่ความยุติธรรมเป็นแต่เพียงเครื่องมือที่ใช้ในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมเท่านั้น  ดังนั้นนักกฎหมายในการใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาและอำนวยความยุติธรรม  และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย  หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา  ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย” 

นอกจากนั้น  ลอร์ดเดนนิ่ง  (Loard  Denning)  และจอห์น  รอลส์  (John  Rawls)  อธิบายความหมายของความยุติธรรมว่าคือสิ่งที่ผู้มีเหตุมีผล  และมีความรับผิดชอบในสังคม  ถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและบุคคลที่มีเหตุผลนั้นต้อง  “เป็นคนกลาง”  ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่วินิจฉัย  โดยความเห็นของ  Lord  Brown – Willkinson  ในคดีปิโนเช่ต์  ได้นำคำพิพากษาของลอร์ด  เฮวาร์ด  มาอ้างด้วยว่า  “เป็นความสำคัญขั้นพื้นฐานที่ว่าไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น  แต่ต้องทำให้คนเห็นปรากฏชัดเจนและปราศจากข้อสงสัยใดๆว่า  มีความยุติธรรมเกิดขึ้นจริง”  ในคำพิพากษานั้น

(3) หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  สาระสำคัญของหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา  3/1  แห่ง  พ.ร.บ  ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  (ฉบับที่  5)  พ.ศ.2545

มาตรา  3/1  “การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  ความมีประสิทธิภาพ  ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ  การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน  การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น  การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น  การกระจายอำนาจตัดสินใจ  การอำนวยความสะดวก  และการตอบสนองความต้องการของประชาชน  ทั้งนี้  โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน

การจัดสรรงบประมาณ  และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงหลักการตามวรรคหนึ่ง

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ  ต้องใช้วิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน  การมีส่วนร่วมของประชาชน  การเปิดเผยข้อมูล  การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน  ทั้งนี้  ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้  จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้

 

ข้อ  2  จงอธิบายว่า  “กฎหมายมหาชน”  มีความสำคัญอย่างไรกับการเมืองการปกครองของไทย

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ  ระบอบการปกครอง  การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย  กล่าวคือ  เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งแบ่งออกเป็น  3  อำนาจ  คือ

1 อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

2 อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

3 อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้  คือ  ศาลกฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  “การจัดระเบียบราชการบริหาร”  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  “บริการสาธารณะ”  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ราชการบริหารส่วนกลาง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

หน่วยงานปกครอง  ได้แก่  หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  ส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ  และหน่วยงานอื่นๆที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง  รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับสอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  เช่น สำนักงานรังวัดเอกชน  สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์  สภาทนายความ ฯลฯ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้แก่  บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจในทางปกครองของรัฐ  ได้แก่  ข้าราชการ  พนักงานเจ้าหน้าที่  ลูกจ้าง  คณะบุคคล  หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง  ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป  กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครองมีความสัมพันธ์กับการปกครองของไทยในทุกระดับในแง่ที่ว่า  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ  รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ  เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ  หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้  ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้  เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้ว  ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น

 

ข้อ  3  จากการศึกษาในเรื่องหลักการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  นักศึกษาสามารถระบุหลักกฎหมายปกครองที่เกี่ยวข้องกับหลักการดังกล่าวได้หรือไม่  พร้อมอธิบายยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า  “การจัดระเบียบราชการบริหาร”  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  “บริการสาธารณะ”  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย  แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

1       ราชการบริหารส่วนกลาง  หมายความถึง  ราชการที่ฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ  เช่น  การรักษาความสงบภายใน  การป้องกันประเทศ  การคมนาคม  การคลัง  เป็นต้น

2       ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  หมายความถึง  ราชการของกระทรวง  ทบวง  กรม  อันเป็นองค์กรของราชการบริหารส่วนกลางที่ได้แบ่งแยกออกไปจัดทำตามเขตการปกครองต่างๆของประเทศ  เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในเขตการปกครองนั้นๆ  โดยมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางซึ่งสังกัดกระทรวง  ทบวง  กรม  ต่างๆออกไปประจำตามเขตการปกครองนั้นๆ  เพื่อบริหารราชการภายใต้การบังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง  ซึ่งราชการบริหารส่วนภูมิภาคของประเทศไทย  ได้แก่  จังหวัด  อำเภอ  รวมตลอดถึงตำบลและหมู่บ้าน  โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในส่วนภูมิภาค

3       ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  หมายความถึง  ราชการบางอย่างที่รัฐมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดทำเอง  เพ่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนเฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้น  โดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง  ซึ่งตามหลักไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย  ได้แก่  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล  เมืองพัทยา  และกรุงเทพมหานครส่วนหลักกฎหมายปกครองที่เกี่ยวข้องกับหลักการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  เป็นดังนี้คือ

1       ราชการบริหารส่วนกลางยึดหลักการรวมอำนาจหลักการรวมอำนาจ  คือ  หลักการปกครองที่อำนาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น  จะไม่มีการมอบอำนาจการตัดสินใจบางระดับบางเรื่องไปให้แก่เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งออกไปประจำอยู่ในภูมิภาค  และไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับท้องถิ่นเลย  มีการรวมกำลังในการบังคับต่างๆ  เช่น  กำลังทหารและกำลังตำรวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลางทั้งสิ้น  รวมทั้งมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่  ซึ่งมีข้อดีคือ  ทำให้รัฐบาลมั่นคง  แต่มีข้อเสียคือ  เกิดความล่าช้าและขาดประสิทธิภาพในการตัดสินใจในท้องถิ่นห่างไกล  และการตัดสินใจย่อมทำได้ไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น  เนื่องจากผู้ตัดสินใจมิใช่คนของท้องถิ่นจึงไม่อาจรู้ถึงความต้องการของคนในท้องถิ่นเท่าที่ควร

2       ราชการบริหารส่วนภูมิภาคยึดหลักการแบ่งอำนาจหลักการแบ่งอำนาจ  คือ  หลักการที่รัฐมอบอำนาจในการตัดสินใจบางประการของรัฐในส่วนกลางให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นตัวแทนองรัฐ  แต่ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง  โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของการปกครองส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา  เช่น  ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ  เป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย  ศึกษาธิการจังหวัด  ป่าไม้จังหวัด  สรรพากรจังหวัด  ฯลฯ  เป็นตัวแทนของกระทรวง  ทบวง  กรมต่างๆในส่วนกลาง  เป็นต้น  โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องรับคำสั่งจากส่วนกลางเพื่อไปปฏิบัติตามแผนและนโยบายที่ส่วนกลางได้ให้ไว้  เพียงแต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจมีอำนาจตัดสินใจในบางเรื่องบางระดับโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้ามาขออนุญาต  อนุมัติจากส่วนกลางเพื่อความสะดวกเท่านั้นเอง

3       ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นยึดหลักการกระจายอำนาจหลักการกระจายอำนาจ  เป็นวิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นนอกจากองค์กรของส่วนกลาง  ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง  และสามารถดำเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ  มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง  มีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมาย  โดยไม่ต้องขอรับคำสั่งจากส่วนกลาง  ส่วนกลางเพียงแต่คอยกำกับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยถูกต้องเท่านั้น  มิได้เข้าไปบังคับบัญชาหรืออำนวยการเอง

นอกจากนี้ยังมีหลักกฎหมายปกครองที่ได้กำหนดความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนราชการอีกด้วย  คือ  หลักการควบคุมแบบบังคับบัญชา  และหลักการควบคุมแบบกำกับดูแล  ดังนี้

1       ราชการบริหารส่วนกลางกับราชการบริหารส่วนภูมิภาคมีการควบคุมแบบบังคับบัญชาการควบคุมบังคับบัญชา  คือ  อำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  เช่น  การที่รัฐมนตีใช้อำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระทรวง  อำนาจบังคับบัญชาเป็นอำนาจที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการใดๆก็ได้ตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม  สามารถกลับ  แก้  ยกเลิก  เพิกถอนคำสั่ง  หรือ  การกระทำของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น  อย่างไรก็ตาม  การใช้อำนาจบังคับบัญชานี้ก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ใช่ว่าจะใช้ไปในทางที่เหมาะสมแต่ขัดต่อกฎหมายได้

2       ราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาคกับราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีการควบคุมแบบกำกับดูแลการควบคุมกำกับดูแล  คือ  การควบคุมที่ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับ  จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข  คือ  จะใช้ได้ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด  ในการควบคุมกำกับนั้น  องค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติตามที่ตนเห็นสมควร องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  ดังนั้นองค์กรควบคุมจึงเป็นแต่ควบคุมกำกับให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น    

Advertisement