การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา HIS 1201 พื้นฐานวัฒนธรรมไทย
คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)
1. ข้อใดไม่ใช่วัฒนธรรมอินเดียที่รัฐโบราณในประเทศไทยรับเข้ามา
(1) ตัวอักษรปัลลวะ
(2) ภาษาบาลี
(3) ศิลปกรรม
(4) ศาสนาคริสต์
ตอบ 4 หน้า 11 -13 วัฒนธรรมอินเดียที่รัฐโบราณในประเทศไทยรับเข้ามาได้แก่
1. ด้านศาสนา เช่น ศาสนาพุทธและพราหมณ์
2. ด้านภาษาและวรรณคดี เช่น ตัวอักษรปัลลวะ อักษรเทวนาศรี ภาษาบาลี-สันสกฤต ฯลฯ
3. ด้านการปกครอง เช่น ระบบเทวราชา และกฎหมายธรรมศาสตร์
4. ด้านศิลปกรรม เช่น รูปแบบทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม
2. ข้อใดคือลักษณะสำคัญซองแคว้นศรีวิชัย
(1) นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน
(2) ใช้กลองมโหระทึก
(3) ทาฟันสีดำ
(4) นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ตอบ 1 หน้า 15 แคว้นศรีวิชัย เจริญขึ้นตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 – 18 ในบริเวณที่เป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน โดยมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการค้า ที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้น ทำหน้าที่เป็นคนกลางติดต่อระหว่างอินเดียและจีน จึงทำให้ รับวัฒนธรรมอินเดียเอาไว้หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนานิกายมหายาน เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ส่วนศาสนาฮินดูก็มีผู้นับถือเช่นกัน
3. “แคว้นเสียม” คือชื่อที่จีนใช้เรียกแว่นแคว้นใด
(1) ละโว้
(2) สุพรรณภูมิ
(3) เชลียง
(4) ทวารวดี
ตอบ 2 หน้า 18 แคว้นสุพรรณภูมิ หรือที่จีนเรียกว่า “แคว้นเสียม” ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้า เจ้าพระยาในบริเวณที่เป็นแคว้นนครชัยศรีแต่เดิม โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี เมืองแพรกศรีราชา (สรรคบุรี) เพชรบุรี และราชบุรี
4. แคว้นเงินยางเชียงแสน สถาปนาขึ้นโดยราชวงศ์ใด
(1) ลาวจก (2) ศรีนาวนำถม (3) พระร่วง (4) อู่ทอง
ตอบ 1 หน้า 20 แคว้นเงินยางเชียงแสน หรือหิรัญนครเงินยาง สถาปนาขึ้นโดยราชวงศ์ลาวจกในพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งในสมัยของพระยาเจื๋อง ขอบข่ายของแคว้นเงินยางได้ขยายขึ้นไป ถึงสิบสองปันนา หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ต่อมาลูกหลานของพระยาเจื๋องได้ปกครอง อีก 4 – 5 คน ก็ถึงสมัยของพระยามังราย
5. พระนามเดิมของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์คือข้อใด
(1) พ่อขุนรามคำแหง (2) พ่อขุนบางกลางหาว (3) พ่อขุนผาเมือง (4) พ่อขุนศรีนาวนำถม
ตอบ 2 หน้า 23, (คำบรรยาย) หลักฐานสุโขทัยเท่าที่มีปรากฏ ได้กล่าวถึงกษัตริย์พระองศ์แรกของกรุงสุโขทัย คือ พ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพ่อขุนผาเมือง ผู้ปกครองเมืองราด ส่วนกษัตริย์สุโขทัยพระองศ์ต่อมา คือ พ่อขุนครีอินทราทิตย์ หรือมีพ6ระนามเดิมว่า พ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งเป็นพระสหายของพ่อขุนผาเมือง
6. แว่นแคว้นใดต่อไปนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลังกามากที่สุด
(1) ล้านนา (2) นครศรีธรรมราช (3) สุโขทัย (4) อยุธยา
ตอบ 2 หน้า 25 แคว้นศรีธรรมราช หรือนครศรีธรรมราช พัฒนาไปจากแคว้นศรีวิชัย ภายหลังที่ แคว้นศรีวิชัยเสื่อมอำนาจไปแล้ว โดยแคว้นศรีธรรมราชจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลังกา มากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาเข้ามามีอิทธิพลแทนที่พุทธศาสนามหายานของศรีวิชัย
7. สมัยกษัตริย์พระองค์ใดของสุโขทัยที่มีความรุ่งเรืองทั้งทางศาสนาและวรรณกรรม
(1) พ่อขุนรามคำแหง (2) พ่อขุนศรีนาวนำถม (3) พระมหาธรรมราชาลิไทย (4) พระยางั่วนำถม
ตอบ 3 หน้า 27, 105, 584 ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย สุโขทัยมีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา และวรรณกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์ไทยที่ได้รับยกย่องว่าเป็นจอมปราชญ์ ในทางพระพุทธศาสนาพระองค์แรกของไทย นอกจากนี้ยังทรงแต่งคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเรื่อง ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พระสุมณเถระไปเผยแผ่พุทธศาสนา ในอาณาจักรล้านนา
8. สมัยใดถือว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านนา
(1) พระยามังราย (2) พระยากือนา (3) พระยาติโลกราช (4) พระยาสามฝั่งแกน
ตอบ 3 หน้า 32 สมัยของพระยาติโลกราช (พ.ศ. 1984 – 2030) ถือได้ว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านนา เพราะสามารถฟื้นฟูอำนาจของล้านนาขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ พระยาติโลกราชยังเป็นผู้มีความสามารถในการรบและขยันรบ จึงมีนโยบายขยายอำนาจ ออกไปอย่างกว้างขวาง เช่น ทางเหนือขึ้นไปถึงเขตไทยใหญ่ คือ เมืองเชียงรุ้ง ส่วนทางใต้ ลงมาถึงเมืองแพร่และน่าน
9. ข้อใดหมายถึง “มหาชนสมมุติ”
(1) กษัตริย์เป็นองค์อวตารของเทพเจ้า
(2) กษัตริย์ คือ บุคคลที่มีคุณธรรมที่ได้รับการเลือกสรรจากประชาชน
(3) กษัตริย์ คือ ผู้สืบเชื้อสายจากพระพุทธเจ้า (4) กษัตริย์เป็นผู้ที่สามารถขยายอำนาจทั้ง 8 ทิศ
ตอบ 2 หน้า 92 ผู้นำที่ดีควรเป็น “มหาชนสมมุติ” เป็นหลักการของพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ตอนอัคคัญสูตร ซึ่งได้กล่าวถึงผู้นำที่ดีว่า ผู้นำหรือกษัตริย์ควรเป็นมนุษย์เหมือน ประชาชนมิใช่เทพเจ้า โดยต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูงกว่าผู้อื่น รวมทั้งได้รับการยอมรับ และเลือกสรรจากประชาชน จึงจะเรียกว่าเป็นมหาชนสมมุติ
10. ข้อใดหมายถึงการปกครองแบบนครรัฐ
(1) เมืองหลวงสามารถควบคุมส่วนภูมิภาคได้อย่างแท้จริง (2) การรวมศูนย์อำนาจมีประสิทธิภาพ
(3) เมืองลูกหลวงก่อการกบฏหลายครั้งในช่วงต้นอยุธยา (4) เมืองส่วนภูมิภาคไม่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ
ตอบ 3 หน้า 104 7- 105, 160, (คำบรรยาย) การปกครองแบบนครรัฐ (City State) คือ การที่เมือง หรือนครต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคมีอิสระดุจเป็นรัฐของตัวเอง แว่นแคว้นจึงรวมตัวกันแต่เพียงหลวม ๆ ในลักษณะสมาพันธรัฐ ส่งผลให้การรวมศูนย์อำนาจไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเมืองหลวง ไม่สามารถควบคุมเมืองส่วนภูมิภาคได้อย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อโอกาสอำนวย เจ้าเมืองชั้นนอก (เมืองลูกหลวง) อาจแยกตัวเป็นอิสระ หรือเข้ามาแย่งชิงอำนาจที่เมืองหลวง เช่น กรณีที่พญาลิไทย เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยมาชิงราชย์ที่สุโขทัย หรือการที่เมืองลูกหลวงก่อกบฏหลายครั้งในล้านนา และอยุธยาตอนต้น
11. ข้อใดที่แสดงว่าสุโขทัยมีการปกครองแบบนครรัฐ
(1) เจ้านายที่เมืองศรีสัชนาลัยมาชิงราชย์ที่เมืองสุโขทัยได้
(2) สุโขทัยมีนโยบายกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง
(3) ไม่มีการกบฏในสมัยสุโขทัย
(4) สุโขทัยถูกอยุธยาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 10. ประกอบ
12. จตุโลกบาล หมายถึงอะไรในคติพราหมณ์
(1) เทวดาหรีอยักษ์ผู้รักษาทิศทั้ง 4 ของจักรวาล
(2) พระมหากษัตริย์
(3) ไศเลนทร์ หรือราชาแห่งภูเขา
(4) พระจักรพรรดิราช
ตอบ 1 หน้า 99, (คำบรรยาย) ในคติพราหมณ์มีความเชื่อว่า ในระบบจักรวาล (Universe or Macrocosmos) มีทิศหลักที่สำคัญอยู่ 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และ ทิศตะวันตก ซึ่งแต่ละทิศจะมีเทวดาหรือยักษ์ผู้รักษาทิศทั้ง 4 ของจักรวาลอยู่ประจำ รวมทั้งหมด 4 ตน เรียกว่า “โลกาปะละ หรือจตุโลกบาล”
13. ข้อใดถูกในสมัยสุโขทัย
(1) ไม่ปรากฏอิทธิพลลัทธิเทวราชาในสมัยสุโขทัย
(2) สุโขทัยนำลัทธิเทวราชาเต็มรูปแบบมาใช้
(3) สุโขทัยนำลัทธิเทวราชามาใช้ในยามที่อาณาจักรแตกแยก หรือมีการแย่งชิงอำนาจ
(4) ลัทธิเทวราชามีความสำคัญที่สุดในสมัยสุโขทัย
ตอบ 3 หน้า 100 สถาบันกษัตริย์สุโขทัยในสมัยพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คงมีการนำคติบางอย่าง ของลัทธิเทวราชามาใช้ แต่อาจใช้ไม่เต็มรูปแบบหรือตลอดเวลา เช่น อาจนำลัทธิเทวราชามาใช้ ในยามที่อาณาจักรแตกแยกและต้องรวบรวมดินแดนขึ้นใหม่ หรือใช้ในยามที่มีการทำรัฐประหาร แย่งชิงอำนาจกษัตริย์พระองค์ก่อน
14. ในช่วงแรกของสุโขทัย ผู้ช่วยในการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์คือใคร
(1) กรมพระราชวังบวรฯ หรือวังหน้า (2) จตุสดมภ์
(3) ลูกเจ้าลูกขุน (4) ประชาชนชาวกรุงสุโขทัย
ตอบ 3 หน้า 101 ในช่วงแรกของสุโขทัยนั้น ผู้ช่วยในการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ (พ่อขุน) หรือข้าราชการ ได้แก่ บรรดาเชื้อพระวงค์ที่เป็นญาติใกล้ชิดเป็นส่วนใหญ่ และอีกส่วนหนึ่ง คงเป็นบริวารที่ไม่ใช่ญาติ โดยเรียกข้าราชการเหล่านี้รวมๆ กันไปว่า “ลูกเจ้าลูกขุน” ทั้งนี้ เพราะยังไม่มีการแยกกลุ่มบุคคลอย่างชัดเจนว่าเป็นเจ้านายหรือขุนนางเหมือนในสมัยอยุธยา
15. ระบบจตุสดมภ์ถูกยกเลิกไปในรัชกาลใด
(1) พระเพทราชา (2) พระเจ้ากรุงธนบุรี
(3) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (4) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตอบ 4 หน้า 147, (คำบรรยาย) อยุธยามีการจัดแบ่งส่วนราชการในระยะแรกเริ่มเป็นแบบจตุสดมภ์ (หลักทั้ง 4) คือ มีกรมสำคัญอยู่ 4 กรม ได้แก่ กรมเวียงหรือกรมเมือง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา แต่ต่อมาระบบจตุสดมภ์ซึ่งถือเป็นระบบการปกครองที่มีอายุยืนยาวที่สุดก็ได้ถูกยกเลิกอย่าง เป็นทางการในสมัยปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยทรงจัดแบ่งส่วนราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยประเทศ
16. พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาทรงควบคุมอำนาจเจ้านายอย่างไร
(1) ไม่ให้เจ้านายมีไพร่ในสังกัด (2) ให้ขุนนางกำกับราชการแทนเจ้านาย
(3) เมื่อเจ้านายตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหมดต้องถูกริบราชบาตร
(4) ลดความสูงศักดิ์ของเจ้านายทุกชั่วคน และไม่ให้เจ้านายดำรงตำแหน่งสำคัญทางราชการ
ตอบ 4 หน้า 141, 313 – 314 พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงควบคุมอำนาจของเจ้านาย ดังนี้
1. กำหนดความสูงศักดิ์ของเจ้านายให้มีอยู่เพียง 3 ชั่วอายุคน และลดความสูงศักดิ์ของ เจ้านายลงทุกชั่วอายุคน 2. ไม่ให้เจ้านายดำรงตำแหน่งสำคัญทางราชการ เช่น ตำแหน่งเสนาบดี และเจ้าเมือง 3. ควบคุมจำนวนไพร่สมของเจ้านายไม่ให้มีมากเกินไป 4. ออกกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหวของเจ้านาย ฯลฯ
17. ข้อใดคือนโยบายการปฏิรูประบบราชการของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(1) แบ่งงานบริหารออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือน (2) แบ่งการปกครองออกเป็นภูมิภาค
(3) กระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง (4) จัดตั้งเมืองลูกหลวงในเขตเมืองชั้นใน
ตอบ 1 หน้า 148 นโยบายการปฏิรูประบบราชการของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีดังนี้
1. แบ่งแยกงานบริหารออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือน รวมทั้งตั้งกรมสำคัญขึ้นใหม่ 2 กรม คือ กรมกลาโหมทำหน้าที่ดูแลฝ่ายทหาร และกรมมหาดไทยทำหน้าที่ดูแลฝ่ายพลเรือน
2. จัดการปกครองในรูปรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และยกเลิกระบบเมืองลูกหลวง (แต่มิได้ยกเลิก เด็ดขาด) โดยจัดให้เขตเมืองชั้นในเป็นเขตมณฑลราชธานีซึ่งเมืองหลวงเข้าไปควบคุมโดยตรง
18. เหตุใดการแบ่งงานตามลักษณะหน้าที่ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถจึงไม่สมบูรณ์
(1) กรมใหญ่มีงานในความรับผิดชอบหลายประเภท
(2) เวลาเกิดศึกสงคราม ข้าราชการทุกกรมกองต้องออกไปรบได้เหมือนกันหมด
(3) กรมที่มีลักษณะงานเป็นแบบทหารถูกจัดไว้ฝ่ายพลเรือน
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 155 – 156 สาเหตุที่ทำให้ระบบแบ่งงานตามลักษณะหน้าที่เฉพาะอย่างในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่สมบูรณ์ มีดังนี้
1. กรมใหญ่ เช่น กรมพระคลังมีงานในความรับผิดชอบหลายประเภทในเวลาเดียวกัน
2. เวลาเกิดศึกสงคราม ข้าราชการทุกกรมกองต้องออกไปรบได้เหมือนกันหมดถ้าได้รับคำสั่ง
3. กรมที่มีลักษณะงานเป็นแบบทหารถูกจัดไว้ในฝ่ายพลเรือน ส่วนกรมที่มีลักษณะงาน เป็นพลเรือนกลับถูกจัดไว้ในฝ่ายทหาร
19. การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการส่วนกลางในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลักษณะแบบใด
(1) แบ่งงานตามหน้าที่โดยเคร่งครัด (2) ยกเลิกกรมสำคัญ 6 กรม
(3) แบ่งหน้าที่บริหารราชการออกเป็นภูมิภาค (4) กระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง
ตอบ 3 หน้า 157 – 158 การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการส่วนกลางในสมัยอยุธยาตอนปลาย คือ ระบบแบ่งงานตามหน้าที่เฉพาะอย่าง (Functional Basis) ออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือนสลายไป กลายเป็นระบบแบ่งหน้าที่บริหารราชการออกเป็นส่วนภูมิภาค (Territorial Basis) แทน ดังนี้
1. กรมกลาโหมปกครองทหารและพลเรือนในหัวเมืองภาคใต้
2. กรมมหาดไทยปกครองทหารและพลเรือนในหัวเมืองภาคเหนือ
3. กรมพระคลังปกครองทหารและพลเรือนในหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก
20. ข้อใดคือผลจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะงานของกรมกองในส่วนกลาง
(1) เกิดการทำงานซ้ำซ้อนกัน (2) กรมที่เคยมีหน้าที่เฉพาะอย่างเสื่อมอำนาจลง
(3) กรมย่อยทำงานเป็นอิสระจากกรมใหญ่มากขึ้น (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 158 – 159 ผลจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะงานของกรมกองส่วนกลางในสมัยอยุธยา ตอนปลาย มีดังนี้
1. เกิดการทำงานซ้ำซ้อนกับกรมที่เคยรับผิดชอบงานเฉพาะบางกรมเป็นเหตุให้กรมที่เคยมีหน้าที่เฉพาะอย่างเสื่อมอำนาจลง
2. กรมย่อยทำงานเป็นอิสระจากกรมใหญ่มากขึ้นทุกที
3. การจัดให้กรมเล็กขึ้นสังกัดกรมใหญ่สับสนกันมากขึ้น
21 เขตมณฑลราชธานี จัดตั้งขึ้นในรัชกาลใด
(1) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
(2) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(3) สมเด็จพระนเรศวร
(4) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 17. ประกอบ
22. การปรับปรุงระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในสมัยสมเด็จพระนเรศวร มีลักษณะอย่างไร
(1) มีการจัดตั้งเมืองลูกหลวงและเมืองพระยามหานคร
(2) มีการแบ่งหัวเมืองในเขตชั้นนอกเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามลำดับ
(3) มีการกระจายอำนาจสู่ส่วนภูมิภาค
(4) มีการจัดตั้งเขตมณฑลราชธานี
ตอบ 2 หน้า 162 – 164 การปรับปรุงระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในสมัยสมเด็จพระนเรศวร มีดังนี้ 1. รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อเพิ่มอำนาจให้เมืองหลวงควบคุมเขตภูมิภาคได้มั่นคงขึ้น (แต่มิได้มีผลถาวร) 2. ยกเลิกระบบเมืองลูกหลวงและเมืองพระยามหานครในเขตเมืองชั้นนอก และจัดแบ่งหัวเมืองในเขตชั้นนอกเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามลำดับ
3. จัดส่งขุนนางออกไปเป็นเจ้าเมืองเหล่านี้ และให้แต่ละเมืองขึ้นตรงต่อเมืองหลวง ฯลฯ
23. ธรรมศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร
(1) เป็นกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา
(2) เป็นแม่บทของพระราชบัญญ้ติ
(3) เป็นหลักการของระบบเทวราชา
(4) เป็นแนวทางปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
ตอบ 2 หน้า 134 – 135 กฎหมายที่ใช้ตัดสินคดีในสมัยอยุธยา ได้แก่
1. พระธรรมศาสตร์ ถือเป็นกฎหมาย-หลักอันศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุด ต่อมาได้มีการดัดแปลง ตามคติของพุทธศาสนา และเรียกว่า “ธรรมสัตถัม”
2. พระราชศาสตร์ คือ พระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นผู้ตราขึ้นโดยใช้พระธรรมศาสตร์เป็นแม่บท จะใช้เมื่อมีกรณีที่มิได้มีข้อตัดสินระบุไว้ ในพระธรรมศาสตร์ จึงต้องอาศัยพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์เป็นทางตัดสินแทน
24. ข้อใดที่แสดงว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยึดอุดมการณ์ธรรมราชา
(1) การตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม (2) การสังคายนาพระไตรปิฎก
(3) การลดเวลาเกณฑ์แรงงานราษฎร (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 183 – 186 พระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทรงยึดอุดมการณ์ธรรมราชา เป็นหลักสำคัญที่สุด โดยมีแนวทางดังนี้ 1. ทรงตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม ซึ่งมิได้เกี่ยวกับราชการบ้านเมืองโดยตรงแต่อย่างใด 2. ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยการสังคายนา พระไตรปิฎก ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและพระพุทธรูปจำนวนมาก 3. ทรงปกป้องคุ้มครอง ประชาชน โดยการลดเวลาเกณฑ์แรงงานราษฎร และดูแลมิให้มูลนายข่มเหงรังแกราษฎร ฯลฯ
25. การบริหารราชการแผ่นดินสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีลักษณะแบบใด
(1) มีการแบ่งงานตามลักษณะงานโดยไม่เคร่งครัด (2) มีการแบ่งงานออกเป็นภูมิภาค
(3) มีการแบ่งงานตามลักษณะงานโดยเคร่งครัด (4) มีการแบ่งออกเป็นมณฑลต่าง ๆ
ตอบ 2 หน้า 158, 194 – 195 โครงสร้างระบบบริหารราขการแผ่นดินทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังเป็นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยาตอนปลาย คือ จัดระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบบแบ่งงานออกเป็นเขตแดนหรือภูมิภาค (Territorial Basis) เพียงแต่จะมีการเพิ่มจำนวน หรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของกรมกองไปบ้าง (ดูคำอธิบายข้อ 19. ประกอบ)
26. ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงใช้มาตรการใดในการควบคุมอำนาจเจ้าเมืองในเขตหัวเมืองชั้นนอก
(1) ให้ขุนนางในเมืองหลวงเป็นผู้แต่งตั้งกรมการเมือง (2) ให้กรมการเมืองรับเงินเดือนจากเมืองหลวง
(3) ให้เจ้านายไปกำกับราชการหัวเมืองชั้นนอก (4) ยกเลิกระบบกินเมือง
ตอบ 1 หน้า 195 ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นไป ได้มีการใช้นโยบายแบ่งแยก ความจงรักภักดีออกเป็นสองทาง (Dual Allegiance) กล่าวคือ ให้ขุนนางในเมืองหลวงเป็น ผู้แต่งตั้งกรมการเมืองตำแหน่งต่าง ๆ แทนที่จะให้เจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้งดังแต่ก่อน เพื่อให้เมืองหลวง มีอำนาจควบคุมเจ้าเมืองในเขตหัวเมืองชั้นนอกได้มากขึ้น เพราะกรมการเมืองย่อมเกิดความภักดีต่อขุนนางในเมืองหลวงซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งตนด้วย มิใช่ภักดีต่อเจ้าเมืองเพียงคนเดียว
27. การเปิดประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 มีผลต่อการปกครองในแง่ใด
(1) ไทยเริ่มพัฒนาประเทศไปตามแบบตะวันตก (2) ระบบไพร่ทวีความสำคัญขึ้น
(3) ระบบพระคลังสินค้าทวีความสำคัญขึ้น (4) ชาวตะวันตกเดินทางมาไทยน้อยลง
ตอบ1 หน้า 53 – 55, 196 ในสมัยพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่การทำสัญญาเปิดประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นไปนั้น ได้ส่งผลให้ไทยเริ่มพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้าน การปกครอง นโยบายต่างประเทศ ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยใช้วิชาการความรู้และแนวความคิดทางตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับแนวทางของสังคมไทย เพื่อป้องกันการคุกคามของมหาอำนาจทางตะวันตกที่เข้ามายึดครองดินแดนในเอเชียเป็นอาณานิคม
28. ข้อใดคืออุปสรรคที่ทำให้การปฏิรูปราชการแผ่นดินในช่วงแรกของรัชกาลที่ 5 ต้องหยุดชะงัก
(1) การขัดขวางจากพวกอนุรักษนิยม (2) การแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก
(3) การขาดประสบการณ์ของกลุ่มสยามหนุ่ม (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 227 – 229 อุปสรรคที่ทำให้การปฏิรูปราชการแผ่นดินในระยะแรกของรัชกาลที่ 5ต้องหยุดชะงักลง ได้แก่
1. การขัดขวางจากฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งในลักษณะของการดื้อแพ่งและการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ
2. การแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก
3. การขาดประสบการณ์ของกลุ่มสยามหนุ่ม โดยเฉพาะบรรดาสมาชิกสภาที่ปรึกษา ราชการแผ่นดิน ซึ่งยังไม่คุ้นเคยกับการแสดงความคิดเห็น และยังเกรงกลัวต่ออิทธิพลของ ฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่
29. ข้อใดคือผลงานเด่นของการปฏิรูปช่วงที่ 2 ของรัชกาลที่ 5
(1) การตั้งกรมสำคัญ 6 กรม (2) การพื้นฟูการปกครองแบบนครรัฐ
13) การจัดตั้งกระทรวงแบบใหม่ 12 กระทรวง (4) การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์
ตอบ 3 หน้า 229 – 231 ผลงานเด่นของการปฏิรูปในระยะที่สองของรัชกาลที่ 5 คือ การออกประกาศ พระบรมราชโองการจัดตั้งกระทรวงแบบใหม่ 12 กระทรวง โดยเพิ่มจากเดิม 6 กระทรวง แต่ละกระทรวงมีหน้าที่เฉพาะอย่าง ซึ่งการจัดตั้งกระทรวงในครั้งนี้จะเห็นได้ถึงการสูญอำนาจ ของขุนนางตระกูลบุนนาค และการขึ้นมามีอำนาจของฝ่ายเจ้านายที่ได้เป็นเสนาบดีถึง 10 กระทรวง
30. ผลสำเร็จในการปฏิรูประบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดจากข้อใด
(1) การใช้ระบบ “กินเมือง” (2) การเพิ่มอำนาจให้เมืองประเทศราช
(3) การจัดตั้งระบบมณฑลเทศาภิบาล (4) การฟื้นฟูระบบเมืองลูกหลวง
ตอบ 3 หน้า 56, 234 – 235 รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูประบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในรูปรวมอำนาจ เข้าสู่ศูนย์กลาง โดยการจัดตั้งระบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น เพื่อให้เมืองหลวงสามารถควบคุม อาณาจักรและประเทศราชได้อย่างทั่วถึง ทำให้ประเทศไทยสามารถผนวกดินแดนในเขตชั้นนอก และเขตประเทศราชให้เป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกับส่วนกลางในลักษณะรัฐประชาชาติ (National State) ได้สำเร็จ
31. ในสังคมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา ธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นใด
(1) เจ้านาย
(2) ขุนนาง
(3) ไพร่
(4) ข้าหรือทาส
ตอบ 3 หน้า 270 – 271, 283, 336 – 337, 416, (คำบรรยาย) ในสังคมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา ธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นไพร่หรือสามัญชน ซึ่งถือเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุด แต่จำนวนไพร่ที่มีก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการแรงงานของรัฐ ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ดังนั้นรัฐจึงต้องมีระบบควบคุมแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เรียกว่า “ระบบไพร่” เพื่อให้รัฐได้ใช้แรงงานไพร่ได้อย่างเต็มที่
32. ในสังคมไทยสมัยใดที่พระสงฆ์นั่งร่วมพิจารณาคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐ
(1) สุโขทัย
(2) ล้านนา
(3) อยุธยา
(4) ธนบุรี
ตอบ 2 หน้า 280 ในสมัยล้านนา พระสงฆ์จะทำหน้าที่นั่งพิจารณาตัดสินคดีความร่วมกับเจ้าหน้าที่ ของบ้านเมืองหรือเจ้าพนักงานของรัฐโดยอาศัยอิงกับหลักเกณฑ์ในชาดกหรือวินัยสงฆ์ที่เข้ากันได้ ซึ่งบทบาทหน้าที่ดังกล่าวนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยพญากือนา (พ.ศ. 1898 – 1928)
33. “ผู้ใดมีคุณต่อพ่อแม่มาก ได้มรดกมาก” เป็นกฎหมายสมัยใด
(1) สุโขทัย
(2)ล้านนา
(3) อยุธยา
(4) ต้นรัตนโกสินทร์
ตอบ 2 หน้า 295, (คำบรรยาย) สังคมสมัยล้านนามีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ว่า เมื่อพ่อแม่ตายไปให้จัดมรดกแก่ลูกที่แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ได้มากกว่าคนอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อตอบแทนความดีและให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นด้วย ดังข้อความในกฎหมายมังรายศาสตร์ ของล้านนาที่ว่า “ผิลูกหลานมีอยู่หลายคน ผู้ใดมีคุณต่อพ่อแม่มาก ก็ให้มรดกมาก…”
34. “เบื้องหัวนอน” ที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย หมายถึงทิศใด
(1) ตะวันออก (2) ตะวันตก (3) ทิศเหนือ (4) ทิศใต้
ตอบ 4 หน้า 589, (คำบรรยาย) ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้กล่าวถึงทิศทั้ง 4 ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างจากปัจจุบัน กล่าวคือ เบื้องตีนนอน (ทิศเหนือ),เบื้องหัวนอน (ทิศใต้), เบื้องตะวันออก (ทิศตะวันออก) และเบื้องตะวันตก (ทิศตะวันตก)
35. “บริเวณเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนสมัยสุโขทัยนั้น ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำใด
(1) เจ้าพระยา (2) ปิง (3) ยม (4) น่าน
ตอบ 3 หน้า 23 – 24, (คำบรรยาย) บริเวณเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่นํ้ายม ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมือง โดยมีศูนย์กลางของชุมชนเมื่อแรกตั้งอยู่ที่เมืองเก่า สุโขทัย บริเวณวัดพระพายหลวง หลังจากนั้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงจึงย้ายศูนย์กลางของ ราชธานีมาอยู่ในตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน บริเวณวัดมหาธาตุ
36. ศูนย์กลางของอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้แก่วัดใด
(1) วัดพระพายหลวง (2) วัดศรีสวาย (3) วัตศรีชุม (4) วัดมหาธาตุ
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 35. ประกอบ
37. ด้วยเหตุใดทรัพย์สินของเจ้าขุนจะได้รับการตีราคาสูงกว่าทรัพย์สินของไพร่ในสมัยล้านนา
(1) เพี่อให้เจ้าขุนมีฐานะสูงกว่าไพร่ (2) เพื่อให้เจ้าขุนมีอำนาจเหนือไพร่
(3) เพื่อให้เจ้าขุนสามารถปกครองไพร่ได้ (4) เพื่อให้เจ้าขุนเป็นที่เคารพยำเกรงไม่ถูกลบหลู่ง่าย ๆ
ตอบ 4 หน้า 275, (คำบรรยาย) สิทธิประการหนึ่งของเจ้าขุนในสมัยล้านนา คือ ทรัพย์สินของเจ้าขุน จะได้รับการตีราคาไว้สูงกว่าทรัพย์สินของไพร่หรือสามัญชน ถึงแม้ว่าจะเป็นทรัพย์สินชนิดเดียวกัน ดังนั้นใครที่ไปลักขโมยของเจ้าขุนจึงต้องจ่ายค่าปรับมากกว่าขโมยของสามัญชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ เจ้าขุนเป็นที่เคารพยำเกรงไม่ถูกลบหลู่ง่าย ๆ เจ้าขุนจะได้ทำงานสะดวกขึ้น
38. พระมหากษัตริย์สุโขทัยมีวิธีควบคุมอำนาจของลูกเจ้าลูกขุนอย่างไร
(1) ไม่ให้ลูกเจ้าลูกขุนครองเมือง (2) ไม่ให้ลูกเจ้าลูกขุนเป็นแม่ทัพ
(3) ให้ราษฎรฟ้องร้องลูกเจ้าลูกขุนได้ (4) มีกฎหมายบังคับให้ลูกเจ้าลูกขุนเป็นขุนธรรม
ตอบ 3 หน้า 276 พระมหากษัตริย์สุโขทัยมีวิธีควบคุมอำนาจของลูกเจ้าลูกขุน ดังนี้
1. ให้ไพร่หรือราษฎรฟ้องร้องกล่าวโทษลูกเจ้าลูกขุนได้โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ และ พยายามตัดสินคดีความให้อย่างยุติธรรม 2. ปลูกฝังให้ลูกเจ้าลูกขุนทำตัวเป็นขุนธรรม มิใช่ขุนมาร เพราะขุนธรรมเท่านั้นจึงจะอยู่ในอำนาจได้นาน (แต่ไม่ได้ออกเป็นกฎหมายบังคับ)
39. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับระบบไพร่ของสุโขทัยและล้านนา
(1) ทำให้รัฐได้ใช้แรงงานไพร่ได้เต็มที่ (2) ทำให้ไพร่ไม่ต้องเสียภาษี
(3) ทำให้ไพร่มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 31. ประกอบ
40. มูลนายมีหน้าที่ต่อไพร่อย่างไร
(1) เกณฑ์ไพร่ออกรบถ้ามีข้าศึก
(2) ควบคุมไพร่ให้อยู่ในภูมิลำเนา
(3) คุ้มครองไพร่ไม่ให้ถูกรังแก (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 273 หน้าที่สำคัญของมูลนายที่มีต่อไพร่ ได้แก่ 1. ควบคุมไพร่ให้อยู่ในภูมิลำเนา
2. เกณฑ์ไพร่มาทำงานตามกำหนดเวลา 3. ควบคุมไพร่ให้อยู่ในกฎหมาย
4. ควบคุมเรื่องการเก็บภาษีอากรจากไพร่ 5. คุ้มครองไพร่ไม่ให้ถูกรังแก หรือไม่ให้ถูกข้าศึกกวาดต้อนเอาไป 6. เกณฑ์ไพร่ออกรบถ้ามีข้าศึก ฯลฯ
41. ความเชื่อที่ว่ามีเทวดารักษาสถานที่หรือสิ่งของต่าง ๆ อยู่ เช่น เทวดาประจำเมือง เรียกว่า “เสื้อเมือง” เทวดาประจำนา เรียกว่า “เสื้อนา” เกิดขึ้นในสังคมใด
(1) สุโขทัย
(2) ล้านนา
(3) ธนบุรี
(4) รัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตอบ 2 (คำบรรยาย) สังคมล้านนามีความเชื่อว่า มีเทวดารักษาสถานที่หรือสิ่งของต่าง ๆ อยู่เช่น เทวดาประจำเมือง เรียกว่า “เสื้อเมือง”เทวดาประจำบ้าน เรียกว่า “เสื้อเรือน” และ เทวดาประจำนา เรียกว่า “เสื้อนา” ฯลฯ โดยจะมีประเพณีสร้างศาลให้เป็นที่สิงสถิตของเทวดา และมีการบวงสรวงต่าง ๆ
42. กฎหมายล้านนาที่กำหนดให้นายม้าหลีกทางให้นายช้าง แสดงถึงสิ่งใด
(1) ความสำนึกต่อส่วนรวม
(2) การปกครองแบบทหาร
(3) ม้าตัวเล็กวิ่งเร็วกว่าช้าง
(4) ความสำนึกในฐานะสูงต่ำของบุคคล
ตอบ 4 หน้า 295, (คำบรรยาย) กฎหมายล้านนาได้กำหนดให้ผู้น้อยต้องหลีกทางให้แก่ผู้ใหญ่กว่าตน ซึ่งแสดงถึงความสำนึกในฐานะสูงต่ำของบุคคล ดังปรากฏในมังรายศาสตร์ตอนหนึ่งว่า “มาตรา 1 ในการเดิน นั่ง หรือนอนก็ดี ให้นายม้าหลีกให้นายช้างผู้มียศสูงกว่าตน…”
43. เจ้านายในสมัยอยุธยามีหน้าที่อย่างไร
(1) เป็นเสนาบดี
(2) บังคับบัญชาไพร่สม
(3) บังคับบัญชาไพร่หลวง
(4) เป็นเจ้าเมืองในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ตอบ 2 หน้า 308 ในสมัยแรกของอยุธยา เจ้านายมีหน้าที่ปกครองเมือง ต่อมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงมีนโยบายไม่ให้เจ้านายออกไปปกครองเมืองอีก แต่ให้ปกครอง กรมย่อย ๆ ที่ไม่ใช่กรมใหญ่เทียบเท่ากระทรวงแทน เรียกว่า “การทรงกรม” ทำให้เจ้านาย ได้บังคับบัญชากรมและได้ปกครองไพร่สมจำนวนหนื่ง ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับศักดินาของเจ้านาย
44. ยศขุนนางสูงสุดในสมัยอยุธยาคือ “เจ้าพระยา” ถามว่ามีศักดินากี่ไร่
(1) 5,000ไร่ (2) 10,000ไร่ (3) 30,000ไร่ (4) 100,000ไร่
ตอบ 2 หน้า 319 – 320, 405, (คำบรรยาย) ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ขุนนางจะมียศเจ้าพระยา เพิ่มเข้ามาเป็นยศสูงสุดของขุนนาง ซึ่งส่วนใหญ่จะดำรงตำแหน่งเอกอัครมหาเสนาบดี มีศักดินา 10,000 ไร่ ต่อมาในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ขุนนางจะมียศเพิ่มขึ้นเป็นยศสูงสุด คือ สมเด็จเจ้าพระยา มีศักดินา 30,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นยศของขุนนางที่มีศักดินาสูงสุด ในประวัติศาสตร์ไทย
45. ข้อใดมิใช่คุณสมบัติในการถวายตัวเป็นขุนนาง
(1) วุฒิ 4 (2) พรหมวหาร 4 (3) อธิบดี 4 (4) คุณานุรูป
ตอบ 2 หน้า 316 คุณสมบัติของผู้ที่จะถวายตัวเป็นขุนนางในสมัยอยุธยา มีอยู่ 9 ประการ ดังนี้
1. วุฒิ 4 ประการ ได้แก่ ชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และปัญญาวุฒิ
2. อธิบดี 4 ประการ ได้แก่ ฉันทาธิบดี วิริยาธิบดี จิตาธิบดี และวิมังสาธิบดี
3. คุณานุรูป 1 ประการ หมายถึง เป็นผู้มีบุคลิกลักษณะดี น่าไว้วางพระทัยแก่พระมหากษัตริย์ และน่าเคารพนับถือแก่ประชาชนทั่วไป
46. การกำหนดศักดินามีประโยชน์อย่างไร
(1) ใช้กำหนดบทลงโทษของบุคคล (2) ใช้กำหนดความสูงศักดิ์ของบุคคล
(3) ใช้กำหนดไพร่ในสังกัดของบุคคล (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 309, 359 – 360 ระบบศักดินามีประโยชน์ในการกำหนดฐานะบุคคลในทางสังคม และกำหนดระเบียบใบการปกครองด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. เป็นเครื่องมือกำหนดความสูงศักดิ์ ของบุคคล อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบของสังคม
2. เป็นเครื่องกำหนดบทลงโทษของบุคคลที่มีความผิด 3. เป็นเครื่องวัดและกำหนดไพร่พล ในสังกัดของบุคคลที่เป็นมูลนาย 4. เป็นเครื่องกำหนดอภิสิทธิ์และสิทธิพิเศษบางอย่าง
47. กรมใดมีหน้าที่ดูแลชาวจีนในสมัยอยุธยา
(1) กรมท่าซ้าย (2) กรมท่าขวา (3) กรมพระคลัง (4) กรมลูกขุน
ตอบ 1 หน้า 151, 364, 504 ในสมัยอยุธยา หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลชาวต่างขาติ คือ กรมท่า ซึ่งขึ้นกับ กรมพระคลัง แบ่งออกเป็น 1. กรมท่าซ้าย มีหลวงโชฎึกราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรม ทำหน้าที่ดูแลชาวจีน ญี่ปุ่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส และโปรตุเกส 2. กรมท่าขวา มีพระยาจุฬาราชมนตรี เป็นเจ้ากรม ทำหน้าที่ดูแลชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ชาวอินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ เตอร์ก มลายู ฯลฯ
48. เหตุใดเจ้านายในสมัยอยุธยาจึงได้ “ทรงกรม”
(1) เพื่อให้เจ้านายเป็นเจ้าเมือง (2) เพื่อให้เจ้านายได้เป็นเสนาบดี
(3) เพื่อให้เจ้านายได้ปกครองไพร่หลวงจำนวนหนึ่ง (4) เพื่อให้เจ้านายได้ปกครองไพร่สมจำนวนหนึ่ง
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 43. ประกอบ
49. ไพร่ในสมัยอยุธยาทำสิ่งใดไม่ได้
(1) ยกมรดกให้ลูกหลาน (2) เดินทางย้ายถิ่นเสรี
(3) เข้าหาผลประโยขน์จากที่ดินที่หักร้างถางพงไว้ (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 2 หน้า 345, 350, (คำบรรยาย) สิทธิของไพร่ในสมัยอยุธยามีอยู่หลายประการ เช่น ไพร่มีสิทธิ ในที่ดินที่ได้หักร้างถางพงไว้ และมีสิทธิเข้าหาผลประโยชน์จากที่ดินนั้น รวมถึงมีสิทธิที่จะขาย หรือยกเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานได้ ฯลฯ แต่เมื่อไพร่ต้องอยู่ในระบบไพร่ ทำให้สิทธิบางอย่าง ของไพร่ถูกลิดรอนไป เช่น ไพร่ถูกควบคุมเรื่องการเคลื่อนไหว จึงไม่สามารถเดินทางย้ายถิ่น อย่างเสรี และต้องมาให้แรงงานตามกำหนด ฯลฯ
50. แต่เดิมผู้ที่จะถวายตัวเป็นขุนนางต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากอัครมหาเสนาบดี ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนเป็นว่ามาจากเชื้อสายไหนก็ได้ แต่ต้องมีความประพฤติดี มีความรู้ความสามารถ ก็เข้าถวายตัว เป็นขุนนางได้ ถามว่าเริ่มในสมัยใด
(1) รัชกาลที่ 1 (2) รัชกาลที่ 2 (3) รัชกาลที่ 3 (4) รัชกาลที่ 4
ตอบ 1 หน้า 316, 408, (คำบรรยาย) ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การถวายตัวเป็นขุนนางให้มาจากเชื้อสายไหนก็ได้ โดยไม่มีข้อขีดคั่นเรื่องชาติวุฒิ คือ ต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจาก อัครมหาเสนาบดี เหมือนดังเช่นในสมัยอยุธยาอีก ทำให้ไพร่หรือสามัญชนที่มีความประพฤติดี มีความรู้ความสามารถ มีโอกาสเข้าถวายตัวเป็นขุนนางได้ แต่ไพร่ก็เข้ามาสู่ระบบขุนนางได้ยาก เพราะลูกหลานของขุนนางก็มักจะได้เป็นขุนนางต่อมานั่นเอง
51. ข้อใดถูกต้องในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
(1) ขุนนางได้เลือกสรรพระมหากษัตริย์
(2) ขุนนางตระกูลบุนบาคหมดบทบาทไป
(3) ขุนนางไม่ได้ประโยชน์จากเจ้าภาษีเลย
(4) ไพร่หลวงในสังกัดขุนนางหนีไปเป็นไพร่สมกันมาก
ตอบ 1 หน้า 400 – 404 ปัจจัยที่ทำให้ขุนนางในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ได้แก่
1. ขุนนางมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระมหากษัตริย์
2. ไพร่หลวงในสังกัดขุนนางที่หลบหนีไปเป็นไพร่สมมีจำนวนลดลง ทำให้ขุนนางมีความมั่นคงมากขึ้น
3. คณะเสนานดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นขุนนางได้เลือกสรรพระมหากษัตริย์
4. ขุนนางจำนวนหนึ่งได้ประโยชน์จากระบบเจ้าภาษีนายอากร
5. ขุนนางตระกูลบุนนาคมีอำนาจโดดเด่นที่สุดตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 ฯลฯ
52. การยกเลิกตำแหน่งวังหน้า โดยแต่งตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท เริ่มเกิดขึ้นในรัชกาลใด
(1) รัชกาลที่ 3
(2) รัชกาลที่ 4
(3) รัชกาลที่ 5
(4) รัชกาลที่ 6
ตอบ 3 หน้า 395, (คำบรรยาย) ในสมัยรัชกาลที่ 5ได้โปรดให้มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้าโดยสถาปนาตำแหน่งองค์รัชทายาทหรือตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นมาแทนที่ ทำให้การสืบราชสมบัติของไทยถูกกำหนดเป็นแบบแผนตามกฎหมาย และมีกฎเกณฑ์ ที่แน่นอนในการสืบสันตติวงศ์
53. ยศสูงสุดของขุนนางในประวัติศาสตร์ไทย คือ ยศ “สมเด็จเจ้าพระยา” ถามว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใด ในประวัติศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
(1) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ
(2) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
(3) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
(4) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ตอบ 4 หน้า 405, (คำบรรยาย) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับสถาปนา เป็นสมเด็จเจ้าพระยาองศ์ที่ 4 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยตามประวัติท่านผู้นี้ เป็นบุตรชายชองสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิส บุนนาค หรือสมเด็จองค์ใหญ่)ต่อมาได้รับราชการเป็นสมุหกลาโหมใบสมัยรัชกาลที่ 4 และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 5
54. ทาสในสังคมไทยถูกยกเลิกไปในรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ทรงใช้เวลากว่ากี่ปี จึงดำเนินการเลิกทาสได้แล้วเสร็จ โดยไม่เสียเลือดเนื้อ
(1) 10 ปี (2) 20 ปี (3) 30 ปี (4) 40 ปี
ตอบ 3 หน้า 433, (คำบรรยาย) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงดำเนินการเลิกทาสจนสำเร็จ โดยพระองค์ ทรงใช้นโยบายทางสายกลาง คือ ดำเนินการเลิกทาสไปทีละขั้นตอน มิใช่รวบรัดเลิกทาสทั้งหมด ในคราวเดียวกัน รวมเวลาที่ใช้ทั้งหมดกว่า 30 ปี จึงทรงสามารถเลิกทาสได้อย่างเด็ดขาด โดยไม่มีการนองเลือดเหมือนการเลิกทาสในประเทศสหรัฐอเมริกา
55. เฉกอะหมัด กุมมี (Sheikh Ahmad Gomi) ต้นตระกูล “บุนนาค” เข้ามาในไทยในปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ถามว่าเป็นชาวอะไร
(1) อินเดีย (2) เปอร์เซีย (3) กรีก (4) ชวา
ตอบ 2 หน้า 368, (คำบรรยาย) เฉกอะหมัด กุมมี (Sheikh Ahmad Gomi) เป็นชาวเปอร์เซียที่มาจากอิหร่าน และเป็นต้นตระกูล “บุนนาค” ได้เข้ามาในประเทศไทยช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร และเข้ารับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็น “พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าขวา ต่อมาได้เลือนยศเป็นถึง “เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี” ในตำแหน่งสมุหนายก
56. อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้คนจีนที่เรียกว่า พวกอั้งยี่ ลอยนวลอยู่เหนือกฎหมายไทย
(1) มีพวกมาก (2) มีฐานะทางการเงินดี
(3) เป็นคนในบังคับต่างชาติ (4) มีขุนนางหนุนหลัง
ตอบ 3 หน้า 439 ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมาคมลับของชาวจีนหรืออั้งยี่ได้เกิดขึ้นหลายกลุ่ม และมีกิจกรรม หลายด้านที่ทำผิดกฎหมายไทย แต่พวกอั้งยี่ก็สามารถลอยนวลอยู่เหนือกฎหมายไทยได้ เพราะคนจีนจำนวนมากได้ไปจดทะเบียนเป็นคนในบังคับตะวันตกชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะอังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นก็สามารถขึ้นศาลกงสุลของชาติที่ตนได้ไปขึ้นทะเบียนไว้ และตำรวจไทยจะจับกุมตัวได้ก็ต่อเมื่อกงสุลของชาตินั้นอนุมัติแล้วเท่านั้น
57. การไหว้แบบไทยโดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดส่วนบนของหน้าผาก ผู้หญิงให้ย่อเข่าลงให้ต่ำ โดยถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับประนมมือไหว้ ถามว่าลักษณะการไหว้ดังกล่าวเป็นการไหว้ผู้ใด
(1) ไหว้พระ (2) ไหว้ผู้อาวุโส (3) ไหว้คนทั่วไป (4) ไหว้เจ้านาย
ตอบ 1 (คำบรรยาย) การไหว้พระภิกษุสงฆ์ ผู้ไหว้จะยกมือประนมขึ้นให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้วปลายนิ้วชี้จรดตีนผมหรือจรดส่วนบนของหน้าผาก ผู้ชายให้ค้อมตัวลงและประนมมือไหว้ ส่วนผู้หญิงให้ย่อเข่าลงให้ต่ำ โดยถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับประนมมือไหว้
58. เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ฝรั่งคนหนึ่งชื่อ นิโกลาส์ แชรแวส เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า“อาขีพที่อัตคัดที่สุดในราชอาณาจักรสยาม คือ อาชีพ”
(1) ช่างตัดเสื้อ (2) ช่างตัดผม (3) ช่างทอง , (4) ช่างไม้
ตอบ 1 (คำบรรยาย) นิโกลาส์ แชรแวส เป็นชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะทูตเข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ. 2228 หรือตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ โดยเขาได้เขียนหนังสือมีชื่อไทยว่า “ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “อาชีพที่อัตคัดที่สุด ในราชอาณาจักรสยาม คือ อาชีพช่างตัดเสื้อ เพราะพลเมืองสามัญเขาไม่สวมเสื้อกัน…”
59. ในรัชกาลใดที่โปรดให้ขุนนางสวมเสื้อเข้าเฝ้า
(1) รัชกาลที่ 3 (2) รัชกาลที่ 4 (3) รัชกาลที่ 5 (4)รัชกาลที่6
ตอบ 2 (คำบรรยาย) ในปี พ.ศ. 2395 รัชกาลที่ 4 ทรงสั่งให้ยกเลิกการเข้าเฝ้าแบบตัวเปล่าไม่สวมเสื้อ ตามแบบราชประเพณีโบราณ โดยพระองค์มีพระราชดำรัสให้เจ้านายและขุนนางสวมเสื้อ เวลาเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก ตามแบบอารยธรรมตะวันตก
60. รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นศักราชที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยถือเอาปีตั้งกรุงเทพมหานครฯ เป็นร.ศ. 1 แต่ศักราชดังกล่าวถูกยกเลิกไปในรัชกาลที่ 6 ถามว่าถ้า ร.ศ. ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2556)จะตรงกับ ร.ศ. ใด
(1) ร.ศ. 230 (2) ร.ศ. 231 (3) ร.ศ. 232 (4) ร.ศ. 233
ตอบ 3 (คำบรรยาย) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้ใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นศักราช โดยถือเอาปีที่ตั้งกรุงเทพมหานครฯ พ.ศ. 2325 เป็น ร.ศ. 1 ดังนั้นรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) จึงเกิดภายหลัง พุทธศักราช (พ.ศ.) 2,324 ปี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ยกเลิกศักราชดังกล่าว และเปลี่ยนให้ ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) เพียงอย่างเดียวมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นหาก ร.ศ. ยังคงใช้อยู่ พ.ศ. 2556 จะตรงกับ ร.ศ. 232 (2556 – 2324 = 232) *ดูพจนาบุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หน้า 943
61. ระบบเศรษฐกิจไทยปัจจุบันสัมพันธ์กับข้อใดมากที่สุด
(1) การเกษตร
(2) อุตสาหกรรม
(3) การค้าส่งออก
(4) เศรษฐกิจยังชีพ
ตอบ 3 หน้า 469 – 471, 558 พื้นฐานระบบเศรษฐกิจไทยมีวิวัฒนาการ ดังนี้ 1. เริ่มต้นมาจาก เศรษฐกิจแบบหมู่บ้านในสมัยสุโขทัย ซึ่งผลิตเพื่อการบริโภคและแลกเปลี่ยน 2. เศรษฐกิจ แบบตลาดในสมัยอยุธยา ซึ่งผูกพันกับการแสวงหาตลาดการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ
3. เศรษฐกิจแบบเงินตรา ซึ่งเริ่มปรากฏชัดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐเก็บส่วยจากไพร่ในรูปแบบเงินตรา 4. เศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบการผลิตเพื่อการค้าส่งออกในปัจจุบัน
62. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับการกสิกรรมสมัยสุโขทัย
(1) พื้นที่เพาะปลูกด้านเกษตรมีจำนวนมาก
(2) พื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด
(3) มีนํ้าพอเพียงต่อการทำเกษตรกรรม
(4) ข้าวเป็นสินค้าออกสำคัญ
ตอบ 2 หน้า 473 – 474 การกสิกรรมในสมัยสุโขทัยจะมีข้อจำกัดในเรื่องผลผลิต โดยเฉพาะผลิตผล ที่สำคัญที่สุด คือ ข้าวนั้นคงจะกระทำกันได้ในปริมาณที่พอกินพอใช้ในอาณาจักรเท่านั้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด กำลังคนก็มีจำกัด และงาบชลประทานก็ทำในปริมาณจำกัดเช่นกัน จึงเป็น เหตุให้ในบางครั้งบางคราวเกิดขาดแคลนข้าวขึ้นในสุโขทัย จนต้องสั่งซื้อข้าวมาจากอยุธยา
63. ข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทานสมัยสุโขทัย
(1) ท่อปู่พระญาร่วง
(2) ตริภังค์
(3) สรีดภงส์
(4) ตระพัง
ตอบ 2 หน้า 474 ผู้ปกครองสุโขทัยได้ช่วยเหลือด้านระบบชลประทาน ดังนี้
1. การสร้างสรีดภงส์ คือ เขื่อนเก็บกักนํ้า ซึ่งเป็นทำนบเก็บกักนํ้าไว้ภายในหุบเขา
2. การขุดสระที่เรียกว่า “ตระพัง” 3. แห่ง คือ ตระพังทอง ตระพังเงิน และตระพังสอ
3. การสร้างเหมืองฝาย ดังหลักฐานที่กล่าวถึงการพบท่อระบายนํ้าเพื่อนำนํ้าเข้านาที่มีชื่อว่า “ท่อปู่พระญาร่วง”
64. การบริโภคข้าวในสมัยสุโขทัย ข้อใดถูกต้อง
(1) อยุธยาซื้อข้าวจากสุโขทัยมากที่สุด (2) จีนซื้อข้าวจากสุโขทัยมากที่สุด
(3) ลังกาซื้อข้าวจากสุโขทัยมากที่สุด (4) ไม่มีข้อถูก
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 62. ประกอบ
65. ข้อใดคือลักษณะเศรษฐกิจสมัยสุโขทัย
(1) การตลาด . (2) การค้าเสรี (3) ยังชีพ (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 2 หน้า 287, 480 ลักษณะเศรษฐกิจสมัยสุโขทัยเป็นแบบการค้าเสรี โดยผู้ปกครองได้ส่งเสริม ให้ราษฎรสามารถค้าขายสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างเสรีตามความต้องการ ดังข้อความในศิลาจารึก ที่ว่า “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า…”
66. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจสมัยสุโขทัย
(1) มีธนบัตรใช้ในการแลกเปลี่ยน (2) ใช้ระบบทองคำในการแลกเปลี่ยน
(3) ใช้เงินในการซื้อขายสินค้า (4) ยังไม่มีระบบเงินตรา
ตอบ 3 หน้า 482 ในสมัยสุโขทัย เงินตราที่ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนในการซื้อขายสินค้า มีดังนี้
1. เงินพดด้วง ซึ่งสันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น โดยนำแร่เงินมาจาก ต่างประเทศ แล้วเอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตรา 2. เบี้ย (เปลือกหอย) นำมาจาก ชาวต่างประเทศที่เที่ยวเสาะหาตามชายทะเลแล้วเอามาขายในเมืองไทย
67. ปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพของคนสมัยอยุธยา คือข้อใด
(1) ที่ดิน (2) สินทรัพย์ (3) เงินทุน (4) ตลาด
ตอบ 1 หน้า 487 – 488 ปัจจัยพี้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพของคนสมัยอยุธยา ได้แก่
1. กรรมสิทธิ์ที่ดิน 2. แรงงานไพร่และทาส
68. ราษฎรที่ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินต้องปฏิบัติอย่างไร
(1) ให้เข้าไปใช้ที่ดินได้ทันที (2) แจ้งเรื่องต่อกษัตริย์
(3) แจ้งเรื่องต่อผู้ใหญ่บ้าน (4) แจ้งเรื่องต่อกรมนาเจ้าสัด
ตอบ4 หน้า 488 – 489 การจับจองที่ดินทำนาในสมัยอยุธยานั้น ราษฎรที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก ที่ดินต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ คือ ผู้ใดปรารถนาที่จะ “โก่นซ่าง เลิกรั้ง ทำนา” จะต้อง ไปแจ้งเรื่องแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งได้แก่ กรมนาเจ้าสัด เพื่อไปตรวจสอบว่ามีนามากน้อยเพียงใด
69. ข้อใดไม่ใช่นโยบายของผู้ปกครองที่สนับสนุนการทำนาในสมัยอยุธยา
(1) ขยายพื้นที่การทำนา (2) การป้องกันภัยที่จะเกิดกับต้นข้าว เช่น การออกกฎหมาย
(3) มีพิธีกรรมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ (4) รับประกันราคาข้าว
ตอบ 4 หน้า 489 – 491, (คำบรรยาย) ผู้ปกครองอยุธยามีนโยบายสนับสนุนการทำนาปลูกข้าว ดังนี้
1. ขยายพื้นที่ทำนาเพาะปลูก
2. คุ้มครองป้องกันภยันตรายที่จะเกิดกับต้นข้าว โดยมีกฎหมายลงโทษผู้ทำลายต้นข้าวอย่างรุนแรง
3. ให้กำลังใจแก่ชาวนา โดยอาศัยพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ
4. ส่งเสริมแรงงานในการเพาะปลูก 5. ขจัดปัดเป่าการทะเลาะวิวาท
6. การชลประทาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รัฐบาลอยุธยาให้ความสำคัญน้อยที่สุด
70. พืชไร่พืชสวนชนิดใดที่กฎหมายสมัยอยุธยาระบุให้ความคุ้มครองมากที่สุด
(1) มะม่วงมหาชนก (2) ทุเรียน (3) แก้วมังกร (4) หมาก
ตอบ 2 หน้า 493, (คำบรรยาย) ทุเรียน เป็นพืชมีผลที่กฎหมายสมัยอยุธยาให้ความคุ้มครองมากที่สุด และถือว่ามีคุณค่าทางกฎหมายสูงกว่าพืชมีผลชนิดอื่น ๆ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดค่าปรับแก่ ผู้ที่ลักตัดต้นทุเรียนไว้ด้วยอัตราที่สูงที่สุด คือ ถ้าลักตัดต้นใหญ่มีผล ปรับต้นละ 200,000 เบี้ย และถ้าลักตัดต้นใหญ่แต่โกร๋น ปรับต้นละ 100,000 เบี้ย เป็นต้น
71. เกี่ยวกับ “สัตว์มีคุณ” ข้อใดผิด
(1) ได้แก่ นกยูง ช้าง ม้า ควาย
(2) ตัวเมียมีค่ามากกว่าตัวผู้
(3) ซื้อขายได้
(4) กฎหมายคุ้มครองผู้ที่รับจ้างเลี้ยงสัตว์มีคุณด้วย
ตอบ 1 หน้า 493 – 494, (คำบรรยาย) ในสมัยอยุธยา สัตว์ที่มีความสำคัญจนถึงกับระบุไว้ใน กฎหมายว่าเป็น “สัตว์มีคุณ” ได้แก่ ช้าง ม้า โค และกระบือ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้
1. มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์มีคุณหลายมาตรา และมีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่รับจ้างเลี้ยงสัตว์มีคุณด้วย
2. ค่าตัวของสัตว์มีคุณตัวเมียมีค่ามากกว่าตัวผู้
3. นิยมเลี้ยงโคและกระบือตัวผู้ไว้ไถนา ส่วนแม่โคนั้นสามารถซื้อขายได้ ฯลฯ
72. ข้อใดกล่าวถึง “การจับสัตว์นํ้า” ในสมัยอยุธยาได้ถูกต้องที่สุด
(1) สามารถจับได้ตลอดทั้งปี เพราะมีแหล่งนํ้ามาก
(2) ห้ามจับในวันเฉลิมพระชนม์ฯ
(3) ห้ามจับในวันพระ
(4) ข้อ 2 และ 3 ถูก
ตอบ 3 หน้า 494 – 495 การจับสัตว์นํ้าในสมัยอยุธยา ได้มีประกาศของทางการที่กำหนดวันและเวลาที่ห้ามจับปลา แต่ก็เป็นนโยบายของกษัตริย์บางรัชกาล หาได้ยึดเป็นหลักปฎิษัติทุกรัชกาลไม่ เช่น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีประกาศห้ามทำประมงในวันพระ 8ค่ำ และ 15ค่ำ ทั้งในเขตเมืองและนอกเขต
73. “พระคลังสินค้า” ไม่ได้ทำหน้าที่ใด
(1) รวบรวมสินค้าที่หายากและมีน้อยทั้งหมด
(2) ดำเนินการค้าผูกขาด
(3) กำหนดประเภทของสินค้าต้องห้าม
(4) ไม่มีข้อใดถูก
ตอบ 4 หน้า 504 – 505 ในระยะที่อยุธยามีชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายกับไทย ทำให้ทางราชการไทย ต้องตั้ง “กรมพระคลังสินค้า” ซึ่งขึ้นกับกรมพระคลัง เพื่อทำหน้าที่ดังนี้ 1. ดำเนินการค้า แบบผูกขาด 2. รวบรวมสินค้าพื้นเมืองที่หายากและมีน้อยทั้งหมด 3. กำหนดประเภทของสินค้าต้องห้าม ซึ่งต้องซื้อขายกับกรมพระคลังสินค้าเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ฯลฯ
74. การอนุญาตให้ไพร่กลับไปทำนาเกิดขึ้นในสมัยใด
(1) รัชกาลที่ 2 (2) รัชกาลที่ 3 (3) รัชกาลที่ 4 (4) รัชกาลที่ 5
ตอบ 3 หน้า 518 นโยบายการส่งเสริมการทำนาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีดังนี้
1. ทรงส่งเสริมแรงงานในการทำนา โดยอนุญาตให้ไพร่หลวงขณะมารับราชการลากลับบ้าน ไปทำนาของตนในหน้านาได้ 2. ทรงเปิดให้ขายข้าวออกนอกประเทศ เพื่อช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีกว่าแต่ก่อน 3. ทรงแนะนำพันธุ์ข้าวที่จะทำรายได้ให้กับชาวนา 4.ทรงขจัดอุปสรรคเรื่องนํ้าและแก้ปัญหาคดีความต่าง ๆ ที่จะขัดขวางการทำนา
5. ทรงยินดีรับความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการของชาวตะวันตก
75. ข้อใดไม่ใช่นโยบายส่งเสริมการทำนาในสมัยรัชกาลที่ 5
(1) การอนุญาตให้ไพร่กลับไปทำนา (2) ขุดคลองขยายพื้นที่เพาะปลูก
(3) จัดหาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ (4) นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใข้ในการปลูกข้าว
ตอบ 1 หน้า 519 – 521 นโยบายการส่งเสริมการทำนาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีดังนี้
1. การขุดคลองขยายพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากขึ้น
2. การจัดหาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ 3. การจัดหาเครื่องมือทำนาที่ทันสมัย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการปลูกข้าว (ดูคำอธิบายข้อ 74. ประกอบ)
76. คลองใดไม่ได้ขุดในสมัยรัชกาลที่ 5
(1) คลองรังสิต (2) คลองแสนแสบ (3) คลองประเวศบุรีรมย์ (4) คลองทวีวัฒนา
ตอบ 2 หน้า 519 – 520, (คำบรรยาย) การขุดคลองในสมัยรัชกาลที่ 5 มีทั้งที่รัฐบาลขุดเอง เช่น คลองนครเนื่องเขตร์ (พ.ศ. 2419) คลองประเวคบุรีรมย์และคลองทวีวัฒนา (พ.ศ. 2421) ฯลฯ และคลองที่พระราชทานพระบรมราชาบุญาตให้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามขุด เช่น คลองรังสิตประยูรศักดิ์(พ.ศ. 2433) ฯลฯ รวมทั้งคลองที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เอกชนขุดเป็นราย ๆ ไป เช่น คลองหลวงแพ่ง (พ.ศ. 2431) คลองบางพลีใหญ่ (พ.ศ. 2441) ฯลฯ
77. องค์กรหรือหน่วยงานใดมีบทบาทในการขุดคลองสมัยรัชกาลที่ 5
(1) กรมพระคลังข้างที่
(2) บริษัทคูโบต้า (3) บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม (4) บริษัทขุดคลองสยาม
ตอบ 3 ดูคำอธิบายข้อ 76. ประกอบ
78. ข้อใดไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมการทำนาสมัยรัชกาลที่ 6
(1) ขยายการถือครองที่ดินกว้างขวางขึ้น (2) ให้ชายฉกรรจ์ไม่ต้องรับราชการทหาร
(3) ออก พ.ร.บ. ชั่งตวงวัด (4) ใช้ระบบชักกันโฮในการชั่งตวงวัด
ตอบ 4 หน้า 521 – 522 นโยบายการส่งเสริมการทำนาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีดังนี้
1. ขยายการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่มณฑลภาคใต้
2. แก้ปัญหาแรงงาน โดยให้ชายฉกรรจ์อายุ 25 – 30 ปี ไม่ต้องไปรับราชการทหาร
3. แก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบในเรื่องความไม่เที่ยงตรงของเครื่องชั่งตวงวัดโดยการออก พ.ร.บ. ชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 และให้ใช้มาตราเมตริกซ์แบบสากลแทน ฯลฯ
79. พืชที่ส่งออกมากที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือพืชชนิดใด
(1) ข้าว (2) หมาก (3) อ้อย (4) พริกไทย
ตอบ 3 หน้า 523 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญที่สุด และผู้ปกครองก็ให้ การสนับสนุนมากที่สุด เพราะนํ้าตาลที่ทำจากอ้อยได้ทำกำไรงามให้กับประเทศ จนได้ชื่อว่า เป็นพืชส่งออกมากที่สุดและเป็นสินค้าออกอันดับ 1 ของไทย ดังปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 3 และต้นรัชกาลที่ 4 ไทยส่งนํ้าตาลออกเฉลี่ยปีละ 50,000 – 90,000 หาบ
80. ตลาดค้าโคที่สำคัญของสยาม คือข้อใด
(1) จีน (2) ญี่ปุ่น (3) อินเดีย (4) สิงคโปร์
ตอบ 4 หน้า 526 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการส่งโคกระบือไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งตลาดสินค้าโค ที่สำคัญ คือ สิงคโปร์โดยมีการส่งโคกระบือเป็นสินค้าออกใน ร.ศ. 116 เป็นจำนวน 4,891 ตัว และใน ร.ศ. 117 ส่งไปขายมากกว่าคือ 14,310 ตัว
81. วิวัฒนาการด้านความเชื่อของมนุษย์ เริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องใด
(1) การนับถือเทพเจ้าองค์เดียว
(2) การนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ
(3) การนับถือธรรมชาติ
(4) การนับถือเทพเจ้าหลายองค์
ตอบ 3 หน้า 570 – 571 วิวัฒนาการด้านความเชื่อของมนุษย์มีลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. การบูชานับถือธรรมชาติ 2. การนับถือผีสางเทวดาหรือลัทธิวิญญาณนิยม
3. การบูชาบรรพบุรุษ 4. การนับถือเทพเจ้าหลายองค์
5. การนับถือเทพเจ้าหลายองค์ แต่แบ่งแยกหน้าที่ของเทพเจ้าแต่ละองค์ให้ต่างกัน
6. การนับถือพระเจ้าองค์เดียว 7. การละจากความงมงายไปสู่ความคิดที่มีเหตุมีผล ซึ่งทำให้เกิดพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่ศาสนาหนึ่งของโลก
82. เหตุใดลัทธิมหายานในอินเดียจึงรุ่งเรือง
(1) ลัทธิเถรวาทเสื่อมไปจากอินเดีย
(2) ได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้ากนิษกะ
(3) หลักคำสอนคล้ายกับลัทธิเถรวาท
(4) ได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศก
ตอบ 2 หน้า 576 พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานเจริญรุ่งเรืองในอินเดีย และมีศาสนิกชนเพิ่มขึ้น เป็นลำดับ เนื่องจากได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์อินเดียแห่งราชวงศ์กุษาณะที่ทรงเลื่อมใสลัทธิมหายาน และโปรดให้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยโดยใช้ภาษา สันสกฤตจารึกพระไตรปิฎก ส่งผลให้พระพุทธศาสนามีพระไตรปิฎก 2 ฉบับ คือ 1. ฉบับภาษามคธของฝ่ายหินยาน 2. ฉบับภาษาสันสกฤตชองฝ่ายมหายาน
83. เหตุใดพระสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัยไปศึกษาพุทธศาสนาที่ลังกา
(1) เพราะการเดินทางสะดวก
(2) เพราะลังกาเป็นศูนย์กลางของลัทธิมหายาน
(3) กษัตริย์ลังกาบำรุงพุทธศาลนาจนรุ่งเรือง
(4) กษัตริย์ลังกาส่งทูตมาเชิญพระสงฆ์ไทย
ตอบ 3 หน้า 581 – 582 ในพุทธศตวรรษที่ 17 พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราช กษัตริย์ลังกาทรงทำสังคายนาครั้งที่ 7 เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์รุ่งเรือง ส่งผลให้พระสงฆ์ไทย สมัยสุโขทัย มอญ และเขมรต่างพากับเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยตามลัทธิเถรวาทอย่าง ลังกาวงศ์ที่ลังกาอย่างแพร่หลาย
84. วัดป่ามะม่วงเป็นวัดที่สร้างในเขตใด
(1) พาราณสี (2) อัมพวนาราม (3) คามวาสี (4) อรัญญวาสี
ตอบ 4 หน้า 585 การสร้างวัดในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยส่วนใหญ่เป็นวัดเล็ก และแบ่ง การสร้างออกเป็น 2 เขต คือ 1. เขตคามวาสี คือ วัดที่สร้างอยู่ในหมู่บ้านหรือในเมือง
2. เขตอรัญญวาสี คือ วัดที่ปลูกสร้างไว้ในป่า เช่น วัดป่ามะม่วง วัดอรัญญิก เป็นต้น
85. ลัทธิมหายานเจริญอยู่ในสุโขทัย เห็นได้จากอะไร
(1) ลัทธิเถรวาทหมดสิ้นไปจากสุโขทัย (2) พุทธเจดีย์ต่าง ๆ สร้างตามคติมหายาน
(3) ใช้ภาษาสันสกฤตในพระธรรม (4) ข้อ 2 และ 3 ถูก
ตอบ 4 หน้า 576, 581, (คำบรรยาย) พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานคงจะเป็นที่นับถืออย่างแพร่หลาย และเจริญอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งของสมัยสุโขทัย ทั้งนี้เพราะพุทธเจดีย์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น สร้างตามคติมหายานแทบทั้งสิ้น และพระธรรมก็ใช้อรรถภาษาสันสกฤตจนแพร่หลาย
86. สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระอุบาลิกับพระอริยมุนีไปลังกาเพื่ออะไร
(1) สร้างวัดไทยในลังกา (2) อัญเชิญพระศรีรัตนมหาธาตุจากลังกา
(3) ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่ชาวลังกา (4) ไปรับพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกที่อยุธยา
ตอบ 3 หน้า 595 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าเกียรติคิริราชสิงหะแห่งลังกาทรงเห็นว่าพระพุทธศาสนาลังกาสิ้นสมณวงษ์ จึงทรงแต่งราชทูตเชิญพระราชสาสน์เข้ามาเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพื่อทูลขอพระมหาเถระกับคณะสงฆ์ไทย คือ พระอุบาลีกับ พระอริยมุนีและพระสงฆ์อีก 12 รูป เดินทางไปยังประเทศลังกา เพื่อไปให้การบรรพชาอุปสมบท แก่ชาวสิงหล (ลังกา)
87. การสร้างวัดอนุสาวริย์มีจุดมุ่งหมายอะไร
(1) เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของวงศ์ตระกูล (2) เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
(3) เป็นที่บรรจุทั้งพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิธาตุ (4) ไม่มีข้อใดถูก
ตอบ 1 หน้า 587, (คำบรรยาย) ในสมัยสุโขทัยได้มีการสร้างวัดอนุสาวรีย์ขึ้นมากมาย ทั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงฃนาดใหญ่ตามกำลังของผู้สร้าง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นที่บรรจุอัฐธาตุของวงศ์ตระกูล ดังจะเห็นได้จากวัดในเขตเมืองสวรรคโลกที่ปรากฏว่ามีวัดอนุสาวรีย์อยู่หลายวัด
88. กษัตริย์ที่ทรงออกผนวชขณะครองราชย์ คือข้อใด
(1) พระมหาธรรมราชาลิไทย (2) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(3) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (4) ข้อ 1 และ 2 ถูก
ตอบ 4 หน้า 584. 594 พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จออกผนวช เป็นพระภิกษุขณะครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1905 ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็น กษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 2 ที่ออกผนวชขณะครองราชย์ โดยทรงประกอบพระราชพิธีอุปสมบท ณ วัดจุฬามณี เมื่อ พ.ศ. 2008
89. กษัตริย์องค์ใดทรงตรา “กฎหมายพระสงฆ์” เป็นองค์แรก
(1) รัชกาลที่ 1 (2) รัชกาลที่ 2 (3) รัชกาลที่ 3 (4) รัชกาลที่ 4
ตอบ 1 หน้า 185 – 186, 598 รัชกาลที่ 1 ทรงตรากฎหมายสำหรับพระสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เพื่อใช้บังคับลงโทษพระภิกษุสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักรที่ไม่ประพฤติ อยู่ในพระธรรมวินัยอันดี เนื่องจากในระยะนั้นมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่มีความประพฤติ เสื่อมเสียต่าง ๆ จึงทรงประณามพระสงฆ์เหล่านั้นว่าเป็น “มหาโจรปล้นทำลายพระศาสนา”
90. รัชกาลที่ 2 ทรงพื้นฟูการประกอบพิธีใดเป็นครั้งแรก
(1) พิธีฉัตรมงคล (2) พิธีวิสาขบูชา (3) พิธีมาฆบูชา (4) พิธีอาสาฬหบูชา
ตอบ 2 หน้า 599 – 600 รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ดังนี้ 1. การปฏิสังขรณ์วัด 2. การปฏิรูปการสอบพระปริยัติธรรม
3. การสร้างพระไตรปิฎกฉบับรดนํ้าแดง 4. การส่งสมณทูตไปลังกา
5. การพื้นฟูการประกอบพิธีวิสาขบูชาเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์
6. การเรียบเรียงหนังสือโอวาทานุศาสนี
91. ข้อใดไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเป็นธรรมราชาของรัชกาลที่ 3
(1) การแจกหรือขายข้าวในราคาต่ำ
(2) การสร้างและบำรุงวัด
(3) การเก็บภาษีในท้องที่ข้าวยากหมากแพง
(4) การสร้างเก๋งโรงทานเพื่อแจกทาน
ตอบ 3 หน้า 95, 601 ในสมัยรัชกาลที่ 3 กษัตริย์ทรงยึดหลักธรรมราชา คือ การที่ผู้นำทำนุบำรุง ศาสนาและสมณชีพราหมณ์ รักษาศีล อบรมสั่งสอนศีลธรรมให้แก่ประชาชน และเอาใจใส่ ทำนุบำรุงประชาชนมิให้มีการกดขี่ข่มเหงจนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งปรากฎหลักฐานหลายแห่ง เช่น การสร้างและบำรุงวัด การสร้างเก๋งโรงทานเพื่อแจกทาน การงดเก็บภาษีจากราษฎร ในท้องที่ข้าวยากหมากแพง และการแจกจ่ายหรือจำหน่ายข้าวในราคาตํ่า
92. “ทรงมีคุณลักษณะเหมาะสมในการเป็นผู้นำปฏิรูปพระศาสนา” หมายถึงใคร
(1) รัชกาลที่ 1
(2) รัชกาลที่ 2
(3) รัชกาลที่ 3
(4) รัชกาลที่ 4
ตอบ 4 หน้า 602 – 603 เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา)ทรงมีคุณลักษณะเหมาะสม หลายประการในการเป็นผู้นำปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ทรงเป็นเจ้านายที่มี ความฉลาดรอบรู้ ได้ทรงศึกษาภาษาลาติน ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังทรงรอบรู้ เกี่ยวกับศาสนาคริสต์เป็นอย่างดี และโดยเฉพาะทรงเป็นเจ้านาย จึงทรงมั่นพระทัยว่าจะได้รับ การสนับสบุนในงานปฏิรูปยิ่งกว่าผู้ใด
93. ตามพระราชบัญญัติ ร.ศ. 121 กำหนดให้ใครเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์เรื่องศาสนา
(1) สมเด็จพระสังฆราช
(2) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
(3) มหาเถรสมาคม
(4) เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุติ
ตอบ 3 หน้า 606 พ.ร.บ. ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 4 ได้รวมตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ทั้ง4และพระราชาคณะเจ้าคณะรองทั้ง 4ให้เป็น “มหาเถรสมาคม” ที่กษัตริย์ ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ทั่วไป โดยพระเถระทั้ง 8 ตำแหน่งนี้ จะประชุมกันเป็นมหาเถรสมาคมพิจารณาตัดสินการพระศาสนาถือเป็นเด็ดขาด
94. การเกิดภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด เป็นเพราะคนไม่รู้จักใช้หลักอะไร
(1) สมชีวิตา (2) อารักขสัมปทา (3) อุฏฐานสัมปทา (4) นิรามิสสุข
ตอบ 1 หน้า 622 – 623 หลักสมชีวิต 1 คือ การเลี้ยงชีพให้พอดีแก่กำลังทรัพย์ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้ใช้จ่ายตามควรแก่กำลัง ซึ่งตรงกับหลักเศรษฐกิจเรื่องบริโภคกรรม (Consumption) ที่ว่า ถ้ามีการบริโภคน้อยเกินไปก็จะเกิดภาวะเงินฝืด สินค้าขายไม่ได้ แต่ถ้ามีการบริโภค มากเกินไปก็อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ประชาชนเดือดร้อน
95. “สังฆสภา” ของคณะสงฆ์เทียบได้กับหน่วยงานใดของคณะรัฐบาล
(1) สภาผู้แทนราษฎร (2) คณะรัฐมนตรี (3) นายกรัฐมนตรี (4) ฝ่ายตุลาการ
ตอบ 1 หน้า 617 เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างของคณะสงฆ์และคณะรัฐบาลตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 จะประกอบด้วย 1. สมเด็จพระสังฆราช เทียบได้กับนายกรัฐมนตรี
2. สังฆสภา เทียบได้กับสภาผู้แทนราษฎร 3. คณะวินัยธร เทียบได้กับฝ่ายตุลาการ
4. สังฆมนตรี เทียบได้กับคณะรัฐมนตรี
96. ประเพณีใดสะท้อนคติความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาของคนไทย
(1) แห่นางแมว (2) บุญบั้งไฟ (3) การสร้างศาลพระภูมิ (4) ถกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 640, 653, (คำบรรยาย) ความเชื่อถือเดิมของคนไทยเกี่ยวกับผีสางเทวดาได้มีอิทธิพล ต่อประเพณีบางอย่าง เช่น แห่นางแมว และบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นพิธีอ้อนวอนขอฝนจากผีสางเทวดา ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์จะได้อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ประเพณีการสร้างศาลพระภูมิ เมื่อปลูกเรือนใหม่ก็สะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์และผีสางเทวดาควบคู่กัน
97. ประเพณีที่มีระเบียบแบบแผน เรียกว่าอะไร
(1) จารีตประเพณี (2) วิถีประชาชน (3) ขนบประเพณี (4)ธรรมเนียมประเพณี
ตอบ 3 หน้า 653 – 654 ประเพณีโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. จารีตประเพณี หมายถึง ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม ซึ่งมีค่าแก่สังคมโดยส่วนรวม
2. ขนบประเพณี หรือระเบียบประเพณี หมายถึง ประเพณีที่มีระเบียบแบบแผน ซึ่งอาจจะ
กำหนดไว้โดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้
3. ธรรมเนียมประเพณี หมายถึง ประเพณีที่เกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่มีผิดถูกดีชั่ว และไม่มีระเบียบแบบแผน หรือเป็นประเพณีที่มีผู้กำหนดขึ้น และเป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น การพูดจา มารยาทในสังคม การแสดงความเคารพ ฯลฯ
98. ข้อห้ามที่ว่า “เผาผีวันศุกร์ ตัดจุกวันอังคาร แต่งงานวันพฤหัสบดี” ตรงกับข้อใด
(1) ความเชื่อตามประเพณี (2) ความเชื่อเพราะเคยชิน
(3) ความเชื่อที่ล้าสมัย (4) ความเชื่อที่มีเหตุผล
ตอบ 1 (คำบรรยาย) ความเชื่อบางอย่างนั้นในบางครั้งก็หาเหตุผลไม่ได้ แต่เป็นความเชื่อกันมาตาม ประเพณี เช่น คำพูดติดปากบทหนึ่งซึ่งเป็นข้อห้ามไม่ให้ทำคือ “เผาผีวันศุกร์ ตัดจุกวันอังคาร แต่งงานวันพฤหัสบดี”
99. ประเพณีใดสะท้อนอิทธิพลตะวันตก
(1) การทำบุญวันขึ้นปีใหม่
(2) วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม (3) วันสงกรานต์ (4) การทอดกฐิน
ตอบ 2 หน้า 653, 655, 662 การที่คนไทยมีการติดต่อสมาคมกับชนชาติอื่น ๆ อยู่เป็นประจำ ทำให้ประเพณีไทยมีอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมกลมกลืนอยู่ไม่น้อย เช่น ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ตามหลักสากลนิยม การเป่าเทียนและ ตัดขนมเค้กในวันเกิด การส่งการ์ดอวยพร ฯลฯ
100. ประเพณีใดเกี่ยวข้องกับศีลธรรม
(1) จารีตประเพณี (2) วิถีประชาชน (3) ขนบประเพณี (4) ธรรมเนียมประเพณี
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 97. ประกอบ
101. ข้อใดไม่ตรงกับศิลปกรรมแบบทวารวดี
(1) ศาลนสถานทรงปราสาทยอด
(2) พระพุทธรูปมักสลักจากศิลา
(3) พุทธศิลประยะแรกแสดงการรับอิทธิพลศิลปะคุปตะ
(4) นิยมสร้างภาพสลักเกี่ยวกับพุทธประวัติ
ตอบ 1 หน้า 686 – 689, 710, 715 สถาปัตยกรรมแบบทวารวดีมีอยู่น้อยมาก เพราะได้เสื่อมชำรุดไปตามเวลาที่ผ่านไปกว่าพันปี เหลือแต่ซากฐานที่ก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลง โดยสถาปัตยกรรม ที่เหลืออยู่ ได้แก่ วัดถํ้า ซึ่งเป็นการดัดแปลงถ้ำธรรมชาติให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา (ส่วนศาสนสถานทรงปราสาทยอดมักพบในศิลปะสมัยสุโขทัย และสมัยล้านนาหรือเชียงแสน ในขณะที่ตัวเลือกข้ออื่นเป็นศิลปกรรมแบบทวารวดีทั้งหมด)
102. สิ่งใดใช้ในการศึกษาลักษณะศิลปะแบบช่างคุปตะในศิลาสลักรูปธรรมจักร
(1) ขนาดของวงธรรมจักร
(2) ลวดลาย
(3) เรื่องพระพุทธประวัติ
(4) การจารึกคาถา เย ธัมมา
ตอบ 2 หน้า 689, (คำบรรยาย) ศิลาสลักรูปธรรมจักรที่พบในศิลปะสมัยทวารวดี จะมีลวดลายเครื่องประดับ คล้ายคลึงกับฝีมือของช่างคุปตะ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าศิลาสลักรูปธรรมจักรเหล่านี้คงจะเป็น ฝีมือของช่างทวารวดีทีทำขึ้น เพื่อเลียนแบบวัตถุที่สมณทูตครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชนำเข้ามา
103. บริเวณใดค้นพบเทวรูปศิลาศิลปะร่วมสมัยกับทวารวดีในราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 14
(1) เชียงแสน
(2) ปราจีนบุรี
(3) สิงห์บุรี
(4) สุพรรณบุรี
ตอบ 2 หน้า 683, 691, (คำบรรยาย) ศิลปะแบบเทวรูปรุ่นเก่า หรือวัตถุรุ่นเก่า (พุทธศตวรรษที่ 12 – 14) สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู และมีอายุร่วมสมัยกับศิลปะทวารวดีที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา โดยเทวรูป ศิลารุ่นเก่าส่วนใหญ่มักพบในภาคใต้ของไทยแถบเขต จ.สุราษฎร์ธานี และทางภาคตะวันออก แถบดงศรีมหาโพธ จ.ปราจีนบุรี นอกจากนี้ที่เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ก็พบด้วยเช่นกัน
104. การพบศิวลึงค์หลายองค์ในภาคใต้ของไทย แสดงถึงการนับถือศาสนาใด
(1) พราหมณ์ (2) ฮินดู (3) ฮินดู ไศวนิกาย (4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 636, 691 ในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นใหญ่)จะกราบไหว้บูชารูปพระศิวะ ซึ่งนิยมสร้างในรูปสัญลักษณ์เป็นศิวลึงค์ โดยจะพบทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เช่น เอกามุขลึงค์ พบที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี มีอายุราว พุทธศตวรรษที่ 11-12
105. พระโพธิสัตว์ที่เป็นที่นิยมนับถือในช่วงศิลปะศรีวิชัย คือข้อใด
(1) วัชรปาณี (2) ศรีอารยเมตไตรย (3) มัญชุศรี (4) อวโลกิเตศวร
ตอบ 4 หน้า 685, 694 – 695 ศิลปะศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 – 18) จะสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา มหายานทั้งสิ้นโดยเฉพาะความนิยมสร้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ประจำกัลป์ปัจจุบัน และเป็นที่นิยมนับถือมาก เช่น ประติมากรรมพระอวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ (สำริด) พบที่หน้าวัดพระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานิ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15
106. พระพุทธรูปนาคปรกองค์สำคัญพบที่วัดเวียง อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี แสดงปางอะไร
(1) สมาธิ (2) มารวิชัย (3) ปฐมเทศนา (4) ประทานพร
ตอบ 2 หน้า 695 ประติมากรรมศรีวิชัยในระยะหลังเป็นสมัยอิทธิพลศิลปะขอม ซึ่งมีการสร้างพระพุทธรูปด้วย เช่น พระพุทธรูป,นาคปรกสัมฤทธิ์ (สำริด) พบที่วัดเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งแสดงพระหัตถ์ทำปางมารวิชัยแปลกจากทั่วไปที่นิยมทำปางสมาธิ
107. โบราณวัตถุสมัยลพบุรี มักสร้างขึ้นในศาสนาใดมากที่สุด
(1) มหายาน (2) หินยาน (3) พราหมณ์ (4) ฮินดู
ตอบ 1 หน้า 699, (คำบรรยาย) โบราณวัตถุในศิลปะขอมในประเทศไทย หรือศิลปะสมัยลพบุรีนิยมสลักจากศิลาหรือหล่อด้วยสัมฤทธิ์ (สำริด) และสร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางศาสนาพุทธ มหายานมากที่สุด รองลงมาคือ ศาสนาฮินดู
108. ปางใดเป็นพุทธศิลป์ที่นิยมสร้างในสมัยศิลปะลพบุรี
(1) ปางมารวิชัย (2) ปางมารวิชัยนาคปรก (3) ปางสมาธิ (4) ปางสมาธินาคปรก
ตอบ 4 หน้า 701, (คำบรรยาย) พระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยศิลปะลพบุรี คือ พระพุทธรูปปางสมาธิ นาคปรก (มีนาคประกอบ หรือมีขนดนาคสอบลงเบื้องล่าง) ประทับนั่งขัดสมาธิราบ และมัก จะสลักด้วยศิลาทราย ต่อมาในสมัยหลังประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 17 มักนิยมสลักเป็น พระพุทธรูปนาคปรกแบบทรงเครื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นศิลปะลพบุรีอย่างแท้จริง ไม่ใช่ศิลปะขอม
109. สถาปัตยกรรมในศิลปะแบบลพบุรี มีลักษณะเด่นคืออะไร
(1) สร้างจากศิลาหรืออิฐ (2) สร้างจากศิลาหรืออิฐเป็นพุทธสถาน
(3) สร้างจากศิลาหรืออิฐเป็นเทวสถาน (4) สร้างจากศิลาหรืออิฐเป็นพุทธสถานและเทวสถาน
ตอบ 4 หน้า 699 สถาปัตยกรรมสำคัญในศิลปะแบบลพบุรี ได้แก่ ปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นจากศิลาหรืออิฐ เพื่อเป็นประธานของพุทธสถานและเทวสถาน (เทวาลัย) โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เทวรูป หรือถวายบรรพบุรุษ ตลอดจนเป็นศาสนสถานประจำชุมชน
110. สถาปัตยกรรมใดที่ปรากฏในเขตวัฒนธรรมสุโขทัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
(1) วัดพระพายหลวง (2) วัตกำแพงแลง (3) วัดตระพังเงิน (4) วัดตระพังทอง
ตอบ 1 หน้า 708 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ได้ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบขอมในเขตวัฒนธรรมสุโขทัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย เช่น ศาลตาผาแดงที่เมืองเก่าสุโขทัย นอกจากนี้พื้นที่นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยยังพบปราสาทแบบขอมที่วัดพระพายหลวง ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง และวัดศรีสวายที่มีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยา
111. ที่เวียงกาหลง และสันกำแพง พบศิลปกรรมเชียงแสนที่คล้ายคลึงสุโขทัยคืออะไร
(1) เจดีย์ทรงปราสาท
(2) เครื่องถ้วยชามสังคโลก
(3) พระพุทธรูปทรงเครื่อง
(4) เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม
ตอบ 2 หน้า 717 แหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามสังคโลกในสมัยศิลปะล้านนาหรือเชียงแสน ได้แก่เตาสันกำแพง จ.เชียงใหม่ และเตาเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึง กับเครื่องถ้วยของสุโขทัย แต่ต่างกันที่คุณภาพ ความแกร่งของเนื้อดิน และการเคลือบสีน้ำตาล หรือสีเขียวนวลกับนํ้าตาล ส่วนลวดลายบนเครื่องถ้วยมักวาดเป็นรูปปลาคู่ หรือลายพืชนํ้า
112. พระพุทธรูปปูนปั้นในซุ้มมณฑปวัดตระพังทองหลางที่สวยงามยิ่งของสุโขทัย คือข้อใด
(1) พระพุทธรูปปางลีลา
(2) พระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก
(3) พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์
(4) ข้อ 1 และ 3 ถูก
ตอบ 4 (คำบรรยาย) พระพุทธรูปปางลีลาปูนปั้นอยู่ในซุ้มมณฑปวัดตระพังทองหลาง นอกเมืองสุโขทัยเก่าเป็นรูปพระพุทธองค์ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ เสด็จดำเนินด้วยทิพยลีลา ทรวดทรงของ พระพุทธรูปแบบอุดมคติองค์นี้ดูมีชีวิตจิตใจ เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปองค์นี้แล้วย่อมจะเกิด ความสะเทือนใจอยางลึกซึ้งและคงทนอยู่ตลอดกาล
113. การแสดงออกของพุทธศิลป์สุโขทัยคืออะไร
(1) ความหลุดพ้น
(2) ความเป็นอุดมคติ
(3) การตรัสรู้
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 (คำบรรยาย) การแสดงออกของพุทธศิลป์สุโขทัย คือ ศิลปินจะสร้างพระพุทธรูปตามอุดมคติ และความศรัทธาเชื่อมั่นในพระธรรมของพระองค์ ซึ่งเป็นลักษณะแบบไทยโดยเฉพาะ ทั้งนี้ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะแสดงถึงการตรัสรู้และความหลุดพ้นไปจากโลกนี้ สีพระพักตร์แสดง ความลึกซึ้งทางจิตใจอย่างน่าพิศวง และส่วนลสัดให้ความรู้สึกตรึงใจน่าเลื่อมใสที่สุด
114. วัดใดเป็นตัวอย่างศิลปะก่อนอยุธยาได้
(1) วัตพนัญเชิง (2) วัดใหญ่ชัยมงคล (3) วัดราชบูรณะ (4) วัดพุทไธสวรรย์
ตอบ 1 (คำบรรยาย) วัดพนัญเชิง จ.อยุธยา ถือเป็นตัวอย่างของศิลปะสมัยก่อนอยุธยา เพราะปรากฏ หลักฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี (ก่อน พ.ศ. 1893) โดยมีพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระเจ้าพนัญเชิง (หลวงพ่อโต) เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ (สำริด) ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะ ของพระพุทธรูปอู่ทองแบบที่ 2
115. ข้อใดคือมหาปราสาทสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(1) พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (2) พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์
(3) พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท (4) พระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์
ตอบ 4 (คำบรรยาย) ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา ได้โปรดให้สร้างวังขึ้นใหม่ซึ่งประกอบด้วยพระมหาปราสาท ได้แก่ พระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ และพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท รวมทั้งตำหนักใหญ่น้อยจำนวนมาก
116. ภาพเทพชุมนุมที่งดงามสมัยอยุธยาตอนปลาย มีตัวอย่างให้ศึกษาได้ที่ใด
(1) วัดใหญ่ชัยมงคล (2) วัดใหญ่สุวรรณาราม
(3) วัดมหาธาตุ (4) วัดราชบูรณะ
ตอบ 2 หน้า 727, (คำบรรยาย) จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามที่สุดภาพหนึ่ง คือ ภาพเทพชุมนุมและภาพยักษ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งหน้าตาของยักษ์และเทวดา ตลอดจนเครื่องอาภรณ์ที่ประดับวาดได้สวยงามมาก
117. ชามเบญจรงค์สมัยอยุธยา สีพื้นข้างในเป็นสีอะไร
(1) ขาว (2)เหลือง (3)แดง (4)เขียว
ตอบ 4 หน้า 727, (คำบรรยาย) ในสมัยอยุธยานิยมสั่งเครื่องถ้วยชามจากจีน โดยส่งลายไทย ออกไปเป็นแบบ และเขียนบนเครื่องถ้วย เรียกว่า “เครื่องเบญจรงค์” ซึ่งเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ในสมัยอยุธยามักจะมีสีพื้นข้างในเป็นสีเขียว มีทั้งลายเทพนมนรสิงห์ เทพนมยักษ์ และลายหน้าสิงห์
118. เรื่องใดไม่ปรากฏอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิ
(1) สวรรค์ (2) นรก (3) ทศชาดก (4) พระเจ้าห้าร้อยชาติ
ตอบ 4 หน้า 726, (คำบรรยาย) จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางอาจศึกษาได้จากภาพเขียนในสมุดข่อยซึ่งรู้จักกันในนาม “สมุดภาพเรื่องไตรภูมิ” มีความหนาประมาณ 100 หน้า และวาดขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ 22 – 23 ส่วนมากเป็นเรื่องในไตรภูมิมีทั้งภาพนรกและสวรรค์ นอกจากนี้ ยังมีภาพพุทธประวัติ (ชาดก) และเรื่องทศชาติ (ทศชาดก) ทั้ง 13 กัณฑ์ฯลฯ
119. วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา เป็นศิลปะแบบใด
(1) แบบจีน (2) แบบโกธิก (3) แบบนีโอคลาสสิก (4) แบบญี่ปุ่น
ตอบ 2 หน้า 730 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างวัดไว้น้อยแห่ง แต่บางแห่งแสดงถึงศิลปกรรมตะวันตก เช่น วัดนิเวศธรรมประวัติ อ.บางปะอิน จ.อยุธยา สร้างเลียนแบบศิลปะโกธิกในยุโรป และวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ สร้างด้วยหินอ่อนจากอิตาลี ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง วัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก
120. รัชกาลที่ 4 ทรงแก้ไขลักษณะพระพุทธรูปขึ้นใหม่ให้มีลักษณะคล้ายสามัญชน คือข้อใด
(1) จีวรบางแนบเนื้อ (2) ขัดสมาธิราบ (3) ไม่มีพระเกตุมาลา (4)มีขนาดใหญ่
ตอบ 3 หน้า 732, (คำบรรยาย) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงแก้ไขลักษณะพระพุทธรูปขึ้นใหม่ เพื่อให้มีลักษณะคล้ายสามัญชนยิ่งขึ้น คือ ไม่มีพระเกตุมาลาหรืออุษณีษะ จีวรเป็นริ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร และรายละเอียดของพระวรกายเป็นไปตามสรีระของมนุษย์ ตามปกติ จึงจัดเป็นพระพุทธรูปแบบสมจริง เช่น พระพุทธนิรันตรายที่โปรดให้สร้างขึ้น แต่ไม่เป็นที่นิยมกันนัก