การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 หลักนิติธรรมและดื้อแพ่ง (Civil Disobedience) คืออะไร มีหลักการสำคัญอะไรบ้าง จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง “การเคารพเชื่อฟังต่อกฎหมาย หรือหมายถึง การที่รัฐบาลต้องปกครองด้วยกฎหมายและอยู่ภายใต้กฎหมาย” ดังวลีสมัยใหม่ที่ว่า “รัฐบาลโดยกฎหมาย มิใช่ตัวบุคคล” ซึ่งหลักนิติธรรมจะสัมพันธ์อยู่กับเรื่องกฎหมาย เหตุผลและศีลธรรม เสรีภาพของประชาชนและรัฐความยุติธรรมความเสมอภาค และเป็นที่เข้าใจกันกว้างๆว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลและความเป็นธรรม
ไดซีย์ (Dicey) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษนำเสนอในหนังสือ “Law of the Constitution” โดยมิได้ให้นิยามความหมายของหลักนิติธรรมไว้โดยตรง แต่เขาบอกว่าหลักนิติธรรมนั้นแสดงออกโดยนัย 3 ประการ คือ (เป็นหลักนิติธรรมที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับระบบกฎหมายของอังกฤษ)
1 การที่ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจลงโทษบุคคลใดได้ตามอำเภอใจ เว้นเพียงในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง และการลงโทษที่อาจกระทำได้นั้นจะต้องกระทำตามกระบวนการปกติของกฎหมายต่อหน้าศาลปกติของแผ่นดิน
2 ไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งหรือเงื่อนไขประการใดๆ ทุกๆคนล้วนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลเดียวกัน
3 หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นผลจากคำวินิจฉัยตัดสินของศาลหรือกฎหมายธรรมดา (ตรงนี้เฉพาะประเทศอังกฤษ) มิใช่เกิดจากการรับรองค้ำประกันเป็นพิเศษโดยรัฐธรรมนูญ
ไดซีย์กล่าวอย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า “หลักนิติธรรมนั้นตรงกันข้ามกับรัฐบาลทุกระบบที่บุคคลผู้มีอำนาจใช้
บังคับจับกุมคุมขังบุคคลใดได้อย่างกว้างขวางโดยพลการหรือตามดุลพินิจของตนเอง”
การดื้อแพ่งกฎหมาย (Civil Disobedience) หมายถึง การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยสันติวิธี เป็นการกระทำเชิงศีลธรรม ในลักษณะของการประท้วงคัดค้านต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือต่อการกระทำของรัฐบาลที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง
จอร์ห รอลส์ (John Rawls) ให้นิยามการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนว่า คือการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยมโนสำนึก ซึ่งกระทำโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นการกระทำในเชิงการเมืองที่ปกติมุ่งหมายจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล
รอลส์ให้ความเห็นชอบในการดื้อแพ่งกฎหมายของประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งความชอบธรรมตามที่กำหนดต่อไปนี้
1 ต้องเป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์ของการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม อันเป็นการกระทำในเชิงการเมือง แต่ต้องมิใช่เป็นการมุ่งทำลายระบบกฎหมายทั้งหมดหรือรัฐธรรมนูญ (Constitution Theory of Civil Disobedience)
2 ต้องเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง อันฝ่าฝืนหลักธรรมขั้นพื้นฐานหรืออิสรภาพขั้นมูลฐาน เช่น เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม (Equal Liberty)
3 ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติการซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย
4 การต่อต้านกฎหมายต้องกระทำโดยสันติวิธีโดยเปิดเผย (Public Act)
ข้อ 2 นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคืออะไร Roscoe Pound ได้อธิบายทฤษฎีวิศวกรรมสังคมว่าอย่างไรจงอธิบาย
ธงคำตอบ
นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา หมายถึง การนำเอาสังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้จะนำไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่งเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมตะวันตกอยู่ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมประเพณีที่ไม่ซับซ้อนสู่สังคมอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดชนชั้นกรรมกรผู้ใช้แรงงานซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วย
ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยานี้เป็นแนวความคิดหรือทฤษฎีทางนิติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของกฎหมายต่อสังคม การพิจารณากฎหมายโดยยึดถือคุณค่าทางสังคมวิทยาอันเป็นการพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของกฎหมายหรือการทำงานของกฎหมายมากกว่าการสนใจกฎหมายในแง่ที่เป็นเนื้อหาสาระ จากนั้นก็ไปเน้นเรื่องบทบาทของนักกฎหมายในการจัดระเบียบผลประโยชน์ของสังคม เน้นวิธีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆของสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม
รอสโค พาวนด์ (Roscoe Pound) เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีนิติศาสน์เชิงสังคมวิทยาให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นในเชิงปฏิบัติ โดนพาวนด์ได้สร้างทฤษฎีผลประโยชน์ที่รู้จักกันในนามทฤษฎีวิศวกรรมสังคมขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคานผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุล
R. Pound ได้นำเสนอทฤษฎีวิศวกรรมสังคม ซึ่งเป็นชื่อของทฤษฎีว่าด้วยผลประโยชน์เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเพราะแนวคิดที่มุ่งสร้างกฎหมายที่การคานผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุลประหนึ่งการก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม จึงเป็นที่รู้จักกันต่อมาในนาม “ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม” หรือ “Social Engineering Theory”
ทฤษฎีวิศวกรรมสังคมของรอสโค พาวนด์ แบ่งอธิบายเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่
1 ความหมายของผลประโยชน์
2 ประเภทของผลประโยชน์
3 วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์
รอสโค พาวนด์ ให้ความหมายของผลประโยชน์ว่าคือ “ข้อเรียกร้อง ความต้องการ หรือความปรารถนาที่มนุษย์ต่างยืนยันเพื่อให้ได้มาอย่างแท้จริง และเป็นภารกิจที่กฎหมายต้องกระทำการอันใดอันหนึ่ง เพื่อสิ่งเหล่านี้หากต้องการธำรงไว้ซึ่งสังคมอันเป็นระเบียบเรียบร้อย” ผลประโยชน์ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่กฎหมายมีหน้าที่ต้องตอบสนอง แต่จะได้มากน้อยเพียงใดแก่แต่ละบุคคลนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญหรือผลกระทบของผลประโยชน์ที่จะได้รับ จึงต้องนำวิธีการคานผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยเขาแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1 ผลประโยชน์ของปัจเจกชน คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ ความปรารถนา และความคาดหมายในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนตัว ความสัมพันธ์ทางครอบครัว อันเกี่ยวข้องกับบิดามารดา สามีภรรยา และบุตรธิดาต่างๆ หรือการมีทรัพย์สินส่วนบุคคล เสรีภาพในการทำสัญญาการจ้างแรงงาน เป็นต้น
2 ผลประโยชน์ของมหาชน คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ หรือความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อันได้แก่ผลประโยชน์ของรัฐในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่จะครอบครองหรือเวนคืนทรัพย์สิน รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสังคม
3 ผลประโยชน์ทางสังคม คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ หรือความปรารถนาที่พิจารณาจากแง่ความคาดหมายในการดำรงชีวิตทางสังคม อันรวมถึงความปลอดภัย ศีลธรรมทั่วไป ความเจริญก้าวหน้า
ผลประโยชน์แต่ละประเภทมีค่าเป็นกลางๆ ไม่มีผลประโยชน์ประเภทใดสำคัญเหนือกว่าผลประโยชน์อีกประเภทหนึ่ง และการแบ่งแยกประเภทของผลประโยชน์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเสมือนบัญชีรายชื่อที่อาจมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์ รอสโค พาวนด์ ให้นำเอาผลประโยชน์แต่ละประเภทมาคานผลประโยชน์กันให้เกิดการขัดแย้งน้อยที่สุดในสังคมแบบการกระทำวิศวกรรมสังคม ซึ่งจำต้องมองความสมดุลในแง่ผลลัพธ์ที่จะส่งผลกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุดต่อโครงสร้างแห่งระบบผลประโยชน์ทั้งหมดของสังคม หรือผลลัพธ์ที่เป็นการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมกับการสูญเสียที่น้อยที่สุดต่อผลประโยชน์รวมทั้งหมดของสังคม
รอสโค พาวนด์ ถือว่าการคานผลประโยชน์และวิธีการต่างๆ ในการกระทำวิศวกรรมสังคมที่กล่าวมาของ
พาวนด์ นับว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ซึ่งพาวนด์ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ของการศึกษา และเป็นเสมือนการก้าวสู่จุดสุดยอดของนิติปรัชญานับแต่อดีตกาลมา รวมทั้งเป็นการขยายบทบาทของนักนิติศาสตร์หรือนักทฤษฎีให้ลงมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น แทนที่จะหมกมุ่นกับการถกเถียงเชิงนามธรรมในปรัชญากฎหมายเท่านั้น
นอกจากนี้เขายังได้เสนอข้อคิดหรือภาระสำคัญ 6 ประการของนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ไว้ว่า
1 ต้องศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงของสถาบันทางกฎหมายและทฤษฎีกฎหมาย
2 ต้องศึกษาเชิงสังคมวิทยาในเรื่องการตระเตรียมการนิติบัญญัติโดนเฉพาะในเรื่องของผลการนิติบัญญัติเชิงเปรียบเทียบ
3 ต้องศึกษาถึงเครื่องมือหรือกลไกที่จะทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพ โดยถือว่า “ความมีชีวิตของกฎหมายปรากฏอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย”
4 ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมวิทยาด้วยการตรวจพิจารณาดูว่า ทฤษฎีกฎหมายต่างๆได้ส่งผลลัพธ์ประการใดบ้างในอดีต
5 ต้องสนับสนุนให้มีการตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและยุติธรรม ซึ่งมักอ้างเรื่องความแน่นอนขึ้นแทนที่มากเกินไป
6 ต้องพยายามทำให้การบรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีผลมากขึ้น
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปสาระสำคัญข้อคิดต่อนักกฎหมายของรอสโค พาวนด์ ได้คือ
1 ใส่ใจต่อหลักการใหม่ๆ
2 ใส่ใจต่อพฤติกรรมมนุษย์
3 สนใจเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และปรัชญา
4 ผลักดันกฎหมายในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับตัวบท
ข้อ 3 ก. จงอธิบายบทบาทของปรัชญา ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในสังคมการเมืองไทยหลัง 2475
ข. จงอธิบายแนวพระราชดำริทางปรัชญากฎหมายขององค์พระมหากษัตริย์ปัจจุบัน
ธงคำตอบ
(ก) บทบาทของปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในสังคมการเมืองไทย หลังปี พ.ศ. 2475 มีประเด็นสำคัญ คือ สถานภาพทางกฎหมายของประกาศคณะปฏิวัติที่มีผู้เห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผลสนับสนุนทางความคิดว่า คณะรัฐประหาร มีการออกคำสั่งหรือประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อประชาชนหลายเรื่อง ที่มีลักษณะไม่ชอบธรรม
ศาลฎีกาในสมัยนั้นเองก็มีคำพิพากษารับรองความชอบธรรมของอำนาจคณะรัฐประหารและสถานภาพทางกฎหมายของประกาศคณะปฏิวัติ อาทิเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1153 – 1154/2495 , 45/2496 , 1512 – 1515/2497 , 1162/2505 , 1234/2523 ฯลฯ ล้วนแต่ยอมรับว่าประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย อันสะท้อนถึงอิทธิพลของทฤษฎีปฏิฐานนิยมที่เน้นความสมบูรณ์ ในตัวธรรมชาติกฎหมายเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นรัฐฎาธิปัตย์ หรือผู้ถืออำนาจปกครองสูงสุดในแผ่นดิน
การแสดงความคิดมีทั้งฝ่ายยอมรับและไม่ยอมรับสภาพความเป็นกฎหมายของคณะปฏิวัติฝ่ายที่ยึดมั่นในปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายก็ยืนยันว่าประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์ขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่ยอมรับก็ใช้เหตุผลหลายหลากในการปฏิเสธ เช่น โดยอ้างกฎหมายธรรมชาติ หรือยืนยันว่าหากมีรัฐธรรมนูญประกาศคณะปฏิวัติย่อมสิ้นผลไป หรือยืนยันว่าประกาศคณะปฏิวัติไม่เป็นธรรมถือว่ามิใช่กฎหมาย ฯลฯ
ในความเป็นจริงอาจเป็นได้ว่า สภาวการณ์ในช่วงนั้นประเทศต้องการความเด็ดขาดความเป็นเอกภาพเข้ามาแก้ไขความรวนเร อ่อนแอ ไม่มั่นคงของกฎหมายไทย อิทธิพลของทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายจึงเข้ามามีบทบาทในการใช้เป็นเหตุผลรองรับการกระทำต่างๆ ของคณะรัฐประหาร โดยอาจต้องย้อนมองเลยไปถึงบทบาทของนักกฎหมายหรือนักวิชาการทางกฎหมายที่เข้ามาช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายปฏิวัติรวมทั้งปัญหาเรื่องจิตสำนึก ค่านิยมหรือจรรยาบรรณในวิชาชีพของนักกฎหมายอีกด้วย
(ข) ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนั้น สืบแต่พระองค์ทรงเป็นประมุขของชาติที่ทรงใส่พระทัยอย่างสูงต่อเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ที่ทรงมีต่อนักกฎหมายหรือคณะบุคคลต่างๆ ในหลายวโรกาสได้สำแดงออกซึ่งความคิดเชิงปรัชญากฎหมายอย่างลึกซึ้ง จนมีผู้เรียกขานว่าเป็น ปรัชญากฎหมายข้างฝ่ายไทย
แนวพระราชดำริทางปรัชญากฎหมายของพระองค์ประกอบด้วยประเด็นทางความคิดหลายเรื่อง เช่น เรื่องความยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมและเสรีภาพ กฎหมายกับความเป็นจริงในประชาสังคม ความสำคัญของการปกครองโดยกฎหมาย ปัญหาเรื่องความไม่รู้กฎหมายของประชาชนและการปรับใช้กฎหมาย ตลอดจนเรื่องบทบาทของกฎหมายและนักกฎหมายในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม หัวใจแห่งพระราชดำริคงอยู่ที่เรื่อง “กฎหมายกับความยุติธรรม” ซึ่งเชื่อมโยงโดยใกล้ชิดกับเรื่องกฎหมายกับความเป็นจริงของชีวิตประชาชนในสังคม
ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดถือธรรมหรือความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย อันเป็นความคิดคนละขั้วกับปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่เน้นย้ำแต่เรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายหรือถือเอากฎหมายเป็นตัวความยุติธรรม ในพระราชดำริของพระองค์ กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรมโดยตรงและผู้ใช้กฎหมายซึ่งคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นใหญ่ ก็ต้องไม่ติดอยู่กับตัวอักษรกฎหมายอย่างเดียว ในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงๆ ความเช่นนี้อาจพิจารณาได้จากพระบรมราโชวาทในหลายๆวโรกาส เช่น
1 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิต ณ เนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ความว่า
“โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญไปยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและผลที่ควรจะได้”
2 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 29 ตุลาคม 2522 ความว่า
“ผู้ที่ได้ผ่านสำนักอบรมกฎหมายทุกคน ควรจะได้รับการชี้แจงเน้นหนักให้ทราบชัดว่า กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม… จึงไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย”
ความที่พระองค์ทรงถือเอาความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมายโดยนัยหนึ่งย่อมหมายถึงพระราชประสงค์ที่จะให้กฎหมายกำเนิดขึ้นหรือเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม หาใช่การปล่อยให้กฎหมายและการใช้กฎหมายเป็นไปในลักษณะที่สวนทางกับความยุติธรรมหรือศีลธรรมจรรยา หรือหาใช่ปล่อยให้กฎหมายเป็นกลไกแห่งการกดขี่ของผู้ปกครองไป หลักคุณค่าเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองหรือเสรีภาพ นับเป็นวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายตามพระราชดำริของพระองค์ที่ว่า
“เราจะต้องพิจารณาในหลักว่ากฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการกลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีภาพและอยู่ได้ด้วยความสงบ”
พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันระพี คณะนิติศาสตร์ จุฬา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516
อนี่ง ที่ละเว้นไปเสียมิได้เลยก็คือ ในพระบรมราโชวาทซึ่งทรงพระราชทานในหลายวโรกาสพระองค์ได้ตรัสพาดพิงไปถึงเรื่องการบุกรุกป่าสงวนของราษฎร ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งกันระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมายกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งในปัจจุบันโดยรวมความตามแนวพระบรมราโชวาทแล้วก็มีสาระสำคัญว่า
“กฎหมายกับความเป็นอยู่จริงอาจขัดกันได้ กฎหมายมีช่องโหว่มาก เพราะไปปรับปรุงกฎหมายและการปกครองโดยลอกแบบต่างชาติมาโดยไม่ดูว่าเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ บางทีการปกครองก็ไปไม่ถึงชุมชนห่างไกล กฎหมายที่รัฐตราขึ้นเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ทำให้เขาตั้งกฎหมายใช้กันเอง ซึ่งบางจุดก็ขัดกับกฎหมายของรัฐ การตราพระราชบัญญัติป่าสงวนที่ผ่านมาปัญหามันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐนั่งเก้าอี้ขีดบนแผนที่ว่าตรงไหนเป็นป่าสงวน โดยไม่ลงพื้นที่ดูว่าเป็นอย่างไร ความจริงก็คือมีราษฎรเขาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว อยู่ๆก็ไปตราเป็นกฎหมาย ไปชี้ว่าเป็นป่าสงวน กลายเป็นว่าราษฎรบุกรุกป่าสงวน แน่นอนว่าถ้าดูตามกฎหมายราษฎรก็ผิดเพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติแล้ว คนที่ทำผิดกฎหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปขีดเส้นว่าป่าที่ราษฎรอยู่เป็นป่าสงวน เพราะว่าราษฎรเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ ความหมายก็คือ ทางราชการนั้นแหละไปรุกรานบุกรุกราษฎรไม่ใช่ราษฎรบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง”
สาระสำคัญโดยรวมคือ เป็นแนวพระราชดำริที่ทรงเตือนสติให้คำนึงถึงเรื่องกฎหมายและความสอดคล้องกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งโดยนัยแล้วก็ไม่แตกต่างกับที่ทรงย้ำว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรมหรืออย่ายึดติดอยู่กับถ้อยคำในกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมคือจุดหมายปลายทางแห่งการใช้อำนาจรัฐทางด้านกฎหมายและความยุติธรรมต้องผูกติดอยู่กับธรรมะ ความถูกต้อง และความเป็นจริง