การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) มีแนวความคิดสำคัญในการวิเคราะห์กฎหมาย ความเป็นจริงของกฎหมาย ตลอดจนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายโดยฝ่ายตุลาการอย่างไร และเหตุใดนักสัจนิยมทางกฎหมายบางท่าน (J. Frank) จึงคัดค้านเรื่องการลงโทษประหารชีวิต
ธงคำตอบ
สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) มีที่มาจากงานความคิดของโอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Wendel Holmes) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดนับแต่ปี ค.ศ. 1902
โฮล์มส์ ไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาจะสามารถตัดสินคดีตามใจชอบ โดยมองจากประสบการณ์การทำงานของตน ซึ่งไม่อาจปรุงแต่งกฎหมายให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ เป้าหมายสำคัญที่โฮล์มส์ วิพากษ์วิจารณ์คือ ความคิดที่เชื่อว่าบทบัญญัติทั้งหมดในกฎหมายล้วนมีเหตุผลอันชอบธรรม
โฮล์มส์ เชื่อว่า กฎหมายจำนวนมากถูกเขียนขึ้นบนบริบททางประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในภายหลัง ดังนี้แล้วจึงสมควรให้มีการตรวจสอบทบทวนอย่างสม่ำเสมอต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่ายังมีความเหมาะสมดีอยู่หรือไม่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะนี้จึงไม่มีกรณีใดๆซึ่งสมควรกล่าวอ้าง (ตามกระบวนการอนุมานความคิด) กฎหมายว่าเป็นเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแน่นอน หากว่าในทางปฏิบัติ ศาลแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แท้จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจากความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความเป็นจริงของสังคมดังนี้เองทีทำให้เห็นว่ามีเพียงผู้พิพากษา (หรือทนายความ) ซึ่งเข้าใจดีถึงบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจเท่านั้นจึงจะทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมต่อบทบาทของตน
นอกเหนือจากโฮล์มส์ ก็ยังมี จอห์น ชิปแมน เกรย์ ที่ยืนยันว่ากฎหมายประกอบด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆซึ่งศาลยุติธรรมได้กำหนดไว้ บรรดาพระราชบัญญัติเป็นเพียงที่มาของกฎหมายดังกล่าวนี้เท่านั้น
คาร์ล ลูเวลลิน (Karl Llewellyn) ในฐานะสมาชิกคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง กล่าวในทำนองเดียวกันไม่ให้ไว้วางใจนักต่อ “กฎเกณฑ์ในกระดาษ” ควรเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมหรือแบบแผนการวินิจฉัยตีความกฎหมายของศาลซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันตามแต่กาละและสถานที่ ตลอดจนสนใจต่อข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคำตัดสินที่ปรากฏจริงๆ
เยโรม แฟรงค์ (Jerome Frank) ผู้พิพากษาที่ถือว่าเขาเป็น “ผู้ที่ไม่เชื่อใจต่อข้อเท็จจริง” หมายความว่า แม้ในกรณีที่กฎเกณฑ์มีความชัดเจนง่ายดายต่อการตีความแล้วก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจส่งผลสะเทือนน้อยเต็มทีในคำตัดสินของศาลระดับล่าง เฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบลูกขุน เนื่องจากบุคคลดังกล่าวสามารถยกข้อเท็จจริงใดๆ ที่ตนพึงพอใจมาปรับเข้ากับกฎเกณฑ์ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ตามที่ตนต้องการในที่สุดได้ นอกจากนี้ เหตุปัจจัยเรื่องความสมบูรณ์หรือบกพร่องของพยานหลักฐาน ความสามารถของทนายความหรือผู้พิพากษาก็เป็นตัวกำหนดอันสำคัญต่อผลของคำพิพากษา ความลื่นไหล ความไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมนับเป็นอุปสรรคในการคาดทำนายการตัดสินใจของศาล
นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1957 แฟรงค์ยังได้ร่วมเขียนงานชิ้นหนึ่งเรื่อง “ไร้ความผิด” (Notquilty) ซึ่งเป็นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องคดีความผิดจำนวนหนึ่ง ซึ่งบรรดาจำเลยต่างถูกตัดสินพิพากษาว่า ประกอบอาชญากรรม แต่ได้รับการตัดสินใหม่ว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในศาลชั้นหลัง การค้นพบประจักษ์หลักฐานในความไม่แน่นอนแห่งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาลและความผิดพลาดต่างๆอันเกิดขึ้นได้ เหล่านี้นับเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาคัดค้านเรื่องการลงโทษประหารชีวิต อีกทั้งยังทำให้เขายืนยันความสำคัญของความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี วึ่งไม่อาจนำไปแลกกับประสิทธิภาพ (ความรวดเร็ว) ในทางตุลาการ
ดังนั้น จะเห็นว่า สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกันจะใส่ใจเรื่องธรรมชาติกฎหมายในแง่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง วิพากษ์ความไม่แน่นอนของกฎหมาย ช่องว่างของกฎหมายในตัวบทและความเป็นจริงในแง่การบังคับใช้ รวมทั้งการวิพากษ์เบื้องหลังการใช้อำนาจของผู้พิพากษาเพื่อให้เกิดความยุติธรรม โดยอาจมีปัจจัยทางอัตวิสัยแนวความคิดการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
การคัดค้านการลงโทษประหารชีวิต สัมพันธ์กับประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนของกฎหมายหรือกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาล
ข้อ 2 ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) แตกต่างจากความยุติธรรมตามกฎหมาย (Legal Justice) หรือไม่ อย่างไร และนักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่กับบทสรุปที่ว่า การตีความกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อตัวบทกฎหมายหรือถือตัวอักษรเป็นหลัก เป็นผลสืบเนื่องจากอิทธิพลของระบบประมวลกฎหมายหรือระบบกฎหมาย Civil Law
ธงคำตอบ
ประเด็นแรก
ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) หรือ ความยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วน (Distributive Justice) หรือ ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Justice) เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีทางจำแนกหรือแบ่งปันสิ่งซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งอันมีคุณค่าในสังคมให้แก่สมาชิกของสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออย่างเป็นธรรมนั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์และภาระหน้าที่ของสมาชิกทั่วทั้งสังคม ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากสถาบันทางสังคมอันสำคัญ อาทิ ระบบทรัพย์สินหรือเศรษฐกิจหรือการจัดองค์การสาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์ และคงไว้ ซึ่งความสมานฉันท์กลมกลืนของสังคมโดยทั้งหมด
ซึ่งสิ่งอันมีคุณค่าในสังคมทั้งหลาย อันเป็นวัตถุแห่งการแบ่งสันปันส่วนนี้ หาใช่จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งที่มีคุณค่าทางวัตถุ เช่น ความมั่งคั่ง ทรัพย์สินหรือรายได้ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่เท่านั้นไม่ แต่หากยังอาจหมายรวมถึงผลประโยชน์ซึ่งเป็นนามธรรมด้วย อาทิ ความสุข การได้รับความพึงพอใจในสิ่งที่ต้องการ การได้รับการศึกษา เป็นต้น และในแง่นี้ จอห์น รอลส์ (John Rawls) ก็ได้กล่าวไว้คล้ายคลึงกันว่า นอกจากรายได้และความมั่งคั่งสมบูรณ์แล้ว อิสรภาพ โอกาสและสิ่งอันเป็นรากฐานของการเคารพนับถือตัวเอง (The base of self-respect) ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งอันมีคุณค่าในสังคม ซึ่งเป็นวัตถุอันควรแก่การแบ่งสันปันส่วนในสังคมอย่างเป็นธรรม กล่าวคือ ต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค เว้นแต่การแบ่งสันปันส่วนใดๆอย่างไม่เสมอภาคในสิ่งดังกล่าวนี้จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนทุกคน
ส่วนความยุติธรรมตามกฎหมาย (Legal Justice) คือ การใช้กฎหมายหรือการตีความกฎหมายโดยปราศจากความลำเอียงใดๆ แนวคิดเรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายนี้มีปรากฏมาตั้งแต่ครั้งกฎหมายโมเสส (Mosaic Law) ของพวกยิวสมัยโบราณ อีกทั้งในคริสต์ธรรมคัมภีร์ฉบับเก่า ก็เป็นเอกสารอ้างอิงแรกๆของตะวันตกที่กล่าวถึงความยุติธรรมในแง่ของการเคารพปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตว่า แนวคิดในยุคโบราณเรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายเช่นนี้ผูกพันอยู่กับความเชื่อทางศาสนาเรื่อง พระเจ้าของพวกยิวหรือคริสต์ศาสนิก โดยถือว่ากฎหมายและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันเนื่องจากต่างล้วนมีกำเนิดที่มาจากพระเจ้า (เช่นเดียวกับคติของฮินดูโบราณ ดังปรากฏในคัมภีร์สัตธัม) พระเจ้าตามความเชื่อนี้จึงเป็นทั้งผู้พิพากษาความยุติธรรมเป็นทั้งผู้บัญญัติกฎหมาย และเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองทวยราษฎร์อีกด้วย ความยุติธรรมตามกฎหมายในยุคแรกเริ่ม จึงกอปรด้วยท่าทีที่ให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมและกฎหมายอย่างเสมอกัน พร้อมๆกับพิจารณาว่าเป็นหลักคุณค่าหรือบรรทัดฐานอุดมคติซึ่งมีความเป็นภววิสัย (Objectivity) ในฐานะเป็นผลิตผลแห่งเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า
ทรรศนะและท่าทีซึ่งมองความยุติธรรมและกฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นอุดมคติเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่า นับว่าเป็นจุดแตกต่างกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายในยุคสมัยหลังหรือในปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนรวมแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสำคัญต่างๆ ของสำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย Legal Positivism) หรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง อาทิ Hans Kelsen (ความยุติธรรม คือ การรักษาไว้ซึ่งคำสั่งที่เป็นกฎหมาย อันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทำสิ่งใดตามอำเภอใจ) กล่าวโดยสรุป ความยุติธรรมตามกฎหมายในแง่นี้ หมายถึง การใช้กฎหมายหรือการตีความกฎหมายโดยปราศจากความลำเอียงใดๆ
ดังนั้น ความยุติธรรมทางสังคมจึงแตกต่างจากความยุติธรรมตามกฎหมาย กล่าวคือ ความยุติธรรมทางสังคมเกี่ยวพันกับความถูกต้องเป็นธรรมในการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ในสังคม หรือเรื่องความเสมอภาค – เสรีภาพที่บุคคลพึงได้รับ ขณะที่ความยุติธรรมตามกฎหมายเป็นเรื่องการใช้ – ตีความกฎหมายโดยเคร่งครัดปราศจากความลำอียง
ประเด็นที่สอง
ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับบทสรุปที่ว่า การตีความกฎหมายโดนเคร่งครัดต่อตัวบทกฎหมายหรือถือตัวอักษรเป็นหลัก เป็นผลสืบเนื่องจากอิทธิพลของระบบประมวลกฎหมายหรือระบบกฎหมาย Civil Law เพราะการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามตัวบทหรือตัวอักษร (ความยุติธรรมตามกฎหมาย) มีเหตุปัจจัยจากแนวคิดทางนิติปรัชญาแบปฏิฐานนิยมหรือระบบการเมืองมากกว่าอิทธิพลของระบบกฎหมาย Civil Law ซึ่งจะเห็นแจ้งได้หากพิจารณาข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อผลร้ายหรือความบกพร่องของการตีความหรือยึดมั่นแต่หลักความยุติธรรมตามกฎหมายภายใต้รัฐบาลเผด็จการบางประเทศ อาทิ กรณีกฎหมายของซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็ดี หรือกรณีของแอฟริกาใต้ในอดีต ซึ่งมีคำกล่าวว่าเป็น “สังคมที่ไม่เป็นธรรมมากที่สุดในโลก” เนื่องจากยึดถือ
นโยบายกดขี่คนผิวดำ (Apartheid) และมีการออกกฎหมายไม่เป็นธรรมจำนวนมากเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ในทั้งสองกรณีตัวอย่างนี้ต่างก็มีระบบกฎหมายที่ไม่เหมือนกันทีเดียว กล่าวคือ เยอรมันจัดเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย ส่วนแอฟริกาใต้ใช้ระบบผสมโดยมีระบบคอมมอนลอว์เป็นพื้นฐานระบบกฎหมายในที่นี้จึงมิใช่โจทย์หรือจำเลย (มีส่วน) ร่วมรับผิดชอบต่อความไม่เป็นธรรมของสังคมซึ่งส่วนหนึ่งอ้างคติความยุติธรรมตามกฎหมายขึ้นปิดปากเสียงผู้คัดค้าน หากแต่ปรัชญากฎหมายแบบปฏิฐานนิยมต่างหากที่นักนิติศาสตร์สากลหลายๆท่านเห็นว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของการใช้อำนาจรัฐ (อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายข้างต้นนี้ ขอให้เข้าใจว่าเป็นการวิจารณ์ความจำกัดหรือความบกพร่องของการยึดมั่นอยู่แต่เพียงความยุติธรรมดังกล่าวเท่านั้น)
ข้อ 3 จงสรุปย่อสาระสำคัญของอัคคัญญสูตร ธัมมิกสูตร และจักกวัตติสูตร พระสูตรสำคัญเหล่านี้มีหลักการสำคัญที่สนับสนุนการใช้อำนาจที่เป็นธรรม (ทางกฎหมาย) ของผู้ปกครองหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
อัคคัญญสูตร มีสาระสำคัญในเรื่องกำเนิดโลก – สังคมมนุษย์ – รัฐ – กฎหมาย โดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของมนุษย์ – ธรรมชาติ ความเสื่อมของมนุษย์ และบทบาทของรัฐ / ผู้ปกครองในการรักษาสังคมไม่ให้ตกเสื่อมมากขึ้นโดยอาศัยธรรม
ธัมมิกสูตร คือ พระสูตรที่กล่าวเน้นย้ำความสัมพันธ์ของพฤติกรรมใช้อำนาจของผู้ปกครองกับความเป็นไปของธรรมชาติโดยตรง สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องอุดมการณ์ความคิดดั้งเดิมในสังคมไทย ความในพระสูตรนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะเป็นต้นเหง้าแห่งความคิดหรือความเชื่อเรื่องอาเพธแห่งบ้านเมืองขณะเดียวกัน อาเพธหรือเหตุอันเกิดขึ้นอย่างผิดปกติในธรรมชาติก็มักกลายเป็นคำอ้างเพื่อวิพากษ์กล่าวโทษการปกครองบ้านเมืองที่ไม่เป็นธรรมต่างๆมาช้านานแล้ว เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงปลายอาณาจักรอยุธยา ก่อนจะเสียกรุงแก่พม่า นับเป็นตัวอย่างสำคัญที่นำเอาคติเรื่องอาเพธในพุทธศาสนามาวิจารณ์กษัตริย์และความเสื่อมทรามของสังคมอย่างรุนแรง จนแม้กระทั่งในยุคสมัยการบริหารของรัฐบาลสมัยใหม่ ประเด็นเรื่องอาเพธของธรรมชาติก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่บ่อยครั้ง น่าเชื่อว่าคติเรื่องอาเพธนี้คงมีผู้เลื่อมใสเชื่อถืออยู่มิน้อยมาโดยตลอด หาไม่ก็คงไม่มีการเอ่ยอ้างถึงสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
จริงอยู่ที่ลักษณะอาเพธของธรรมชาติ เป็นเรื่องผลร้ายต่อส่วนรวมหรือประชาชนทั่วไปหากแต่เคราะห์กรรมอันเกิดต่อส่วนรวมก็ย่อมเป็นการสั่นคลอนความสงบสุขของสังคมอันจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐในท้ายที่สุด ยิ่งสังคมใดมีศรัทธาเชื่อถือต่อคติดังกล่าวแรงกล้าเพียงใด เหตุอาเพธ (หรือความเชื่อว่าเป็นเหตุอาเพธ) ที่เกิดย่อมมีโอกาสที่จะกลายเป็นพยานหลักฐานให้ประชาชนพิพากษาความผิดและลงโทษผู้ปกครองมากเพียงนั้นแม้ส่วนใหญ่จะเพียงอยู่ในรูปของการติฉินนินทาก็ตามที คติความเชื่อเรื่องอาเพธจึงเป็นเครื่องมือเชิงอุดมการณ์ที่มีบทบาทกำกับควบคุมกษัตริย์หรือผู้ปกครองมิให้ล่วงละเมิดต่อธรรมโดยเฉพาะทศพิธราชธรรมอันมีฐานะดั่งหลักธรรมสูงสุดทางกฎหมายด้วย
จักกวัตติสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยความประพฤติหรือหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ จัดได้ว่าเป็นรากฐานของปรัชญาด้านการเมืองการปกครองของพุทธรัฐทั้งหลาย โดยพระสูตรได้กล่าวถึงหลักปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองที่ทรงธรรม ซึ่งยังความสงบร่มเย็นแก่สังคม ซึ่งความในอย่างพระสูตรแยกย่อยเป็นข้อๆรู้จักกันในนามของจักรวรรดิวัตร 10 หรือ 12 ซึ่งหากพิจารณาสรุปรวบรัด หลักจักรวรรดิวัตร ก็อาจย่อความเหลือเพียง 3 ข้อก็ได้ กล่าวคือ
1 ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์และสัตว์ ไม่ปล่อยให้มีผู้ทำการอันเป็นอธรรมในแผ่นดิน
2 มอบทรัพย์ให้แก่ผู้ยากไร้
3 เข้าหาสมณพราหมณ์ ถามถึงสิ่งที่เป็นกุศลเป็นธรรมและน้อมนำมาปฏิบัติ
หากเรานับเนื่องให้ทศพิธราชธรรมเป็นส่วนหนึ่งแห่งหลักธรรมอุดมคติของปรัชญากฎหมายแบบธรรมนิยมของไทยเรา หลักธรรมข้ออื่นๆซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับทศพิธราชธรรมก็ไม่น่าจะมีสถานะทางปรัชญากฎหมายที่ห่างไกลกันนัก จักรวรรดิวัตรจึงย่อมจัดได้เป็นหลักธรรมอุดมคติทางปรัชญากฎหมายของไทยด้วย พร้อมๆกับเป็นแม่บทแห่งระเบียบแบบแผนในการปกครองที่ผู้ปกครองพึงยึดถือปฏิบัติตาม ข้อที่น่าสังเกตอีกประการคือ จักกวัตติสูตร ซึ่งเป็นที่มาของจักรวรรดิวัตรยังย้ำให้เห็นถึงภัยพิบัติหรือความเดือดร้อนวุ่นวายของสังคมที่ไม่ยึดมั่นในหลักธรรมดังกล่าว อีกทั้งกล่าวถึงการชุมนุมรวมตัวกันของประชาชนระดับต่างๆ
เพื่อเรียกร้องให้ผู้ปกครองยึดมั่นปฏิบัติตามหลักจักรวรรดิวัตร คติธรรมจากพระสูตรนี้จึงน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญอย่างมากของหลักธรรมข้อนี้ ซึ่งมิได้เป็นพียงหลักธรรมส่วนตัวของกษัตริย์ หากเป็นหลักธรรมที่คนทั่วไปในสังคมยึดถือเป็นกรอบร่วมแห่งการใช้อำนาจในสังคม
แม้ว่ากรอบบังคับทางสังคมลักษณะนี้จะมีค่าเป็นเพียงกรอบบังคับทางศีลธรรมก็ตามที กระนั้นก็ตามพุทธศาสนาก็พยายามจะทำให้กรอบทางศีลธรรมนี้มีชีวิตมีพลังขึ้นมาให้ได้ ในจักกวัตติสูตรจึงมีการสร้างภาพความเสื่อมของสังคมที่ผู้ปกครองไม่ยึดมั่นในจักรวรรดิวัตร ทั้งในแง่การเฟื่องฟูของอาชญากรรมในสังคม การลดน้อยถอยลงในอายุของผู้คนจนกระทั่งเข้าสู่ยุคแห่งมิคสัญญีที่สังคมมนุษย์จะเสื่อมอย่างถึงที่สุดมนุษย์จะฆ่ากันอย่างไม่เลือกหน้าแม้ระหว่างแม่กับลูก ราวกับเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นเนื้อเป็นกวาง (มิคสัญญีแปลว่า สำคัญว่าเป็นเนื้อ)
ดังนั้นพระสูตรทั้งสามจึงล้วนสนับสนุนการใช้อำนาจที่เป็นธรรม (ทางกฎหมาย) ของผู้ปกครองซึ่งถือเป็นส่วนสามัญของหลักปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม