การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายคืออะไร  Hart  ได้เสนอความคิดของเขาว่าอย่างไร  และ  Fuller  กับ  Dworkin  ได้วิจารณ์ความคิดนั้นว่าอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย  หรือ  Legal  Positiism  เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่  19  โดยคำว่า  ปฏิฐานนิยม  แปลโดยรวมคือ  แนวความคิดที่มีหลักสวนกลับหรือโต้ตอบกลับ  ซึ่งในที่นี้ก็คือ  แนวคิดที่มีหลักสวนกลับหลักกฎหมายธรรมชาติ  ที่มีอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม  เมื่อลงลึกในเนื้อหาแล้วจะเห็นว่า  ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายเป็นทฤษฎีความเห็นซึ่งยืนยันว่ากฎหมายเป็นผลผลิตหรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจปกครองในสังคม  นักทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายจะยืนยันถึงการแยกจากกันโดนเด็ดขาดระหว่างกฎหมายกับจริยธรรม  ศีลธรรมต่างๆ  รวมทั้งมีความโน้มเอียงที่จะชี้ว่าความยุติธรรม  หมายถึง  การเคารพปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่รัฐตราขึ้นอย่างเคร่งครัด

แนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย  แบ่งออกเป็น  3  ประการคือ

1       กฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม  คือ  ความสมบูรณ์ของกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาแยกออกต่างหากจากความยุติธรรมหรือหลักคุณค่าทางจริยธรรมใดๆ  ดังที่จอห์น  ออสติน  นักคิดคนสำคัญของสำนักนี้ได้กล่าวไว้ว่า  การดำรงอยู่ของกฎหมายเป็นคนละเรื่องกับปัญหาความถูกต้องชอบธรรมของกฎหมาย  ความสมบูรณ์ของกฎหมายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่โดยตัวของมันเองจากสภาพบังคับที่ปรากฏอยู่อันเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณค่าทางจริยธรรม  ศีลธรรม  หรือหลักความยุติธรรม  ซึ่งเราสามารถหาคำตอบว่ากฎหมายที่ดำรงอยู่คืออะไร  โดยไม่ต้องคิดหรือตัดสินใจทางศีลธรรมใดๆ

2       กฎหมายมาจากรัฏฐาธิปัตย์  คือ  การดำรงอยู่ของกฎหมายขึ้นอยู่กับการที่มันถูกสร้างขึ้นหรือผ่านการตกลงปลงใจของมนุษย์ในสังคม  คือถือว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างกฎหมายขึ้นเอง  เป็นข้อสรุปที่เชื่อมั่นในเจตจำนง  อำนาจ  หรือความชอบธรรมของมนุษย์ในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา  การปรากฏตัวของกฎหมายจึงมิได้มาจากการถ่ายทอดคำสั่งหรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่พระเจ้าหรือสิ่งที่มีอำนาจลึกลับหรือธรรมชาติแต่อย่างใด  หากแต่เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางกฎหมายหรือรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้สร้างขึ้น

3       กฎหมายเป็นสิ่งที่มีสภาพบังคับหรือมีบทลงโทษ  คือ  เน้นที่สภาพบังคับของกฎหมายความสมบูรณ์ของกฎหมาย  ความถูกต้องของกฎหมายปรากฏจากสภาพบังคับของกฎหมาย  กฎหมายของรัฏฐาธิปัตย์ยุติธรรมเสมอ  เพราะสิ่งที่ถือว่าความยุติธรรมหรืออยุติธรรมหรือความถูกผิดเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายของรัฏฐาธิปัตย์ไปโดยปริยายแล้ว

ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในแบบฉบับของฮาร์ท

ฮาร์ท  (Hart)  ถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง  โดยเกี่ยวข้องกับสังคมในสองความหมาย

ความหมายแรก  มาจากการที่มันเป็นกฎเกณฑ์ปกครองการกระทำของมนุษย์ในสังคม

ความหมายที่สอง  สืบแต่มันมีแหล่งที่มา  และดำรงอยู่จากการปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์โดยเฉพาะ

ฮาร์ทเห็นว่าเป็นความจำเป็นทางธรรมชาติที่ในทุกสังคมมนุษย์จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดพันธะหน้าที่ในรูปกฎหมาย  ซึ่งจำกัดควบคุมความรุนแรง  พิทักษ์รักษาทรัพย์สินหรือระบบทรัพย์สินและป้องกันควบคุมการหลอกลวงกัน  โดยฮาร์ทถือว่ากฎเกณฑ์ซึ่งจำเป็นเหล่านี้เสมือน  เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ  ที่ชี้ให้ยอมรับแก่นความหมายในแง่ดีของทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ  จนถึงกับกล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เวลาพิจารณากฎหมาย  ต้องพิจารณาถึงสัจธรรมข้อนี้ไว้ด้วย  ทำให้เกิดการคาบเกี่ยวบางเรื่องระหว่างกฎหมายและศีลธรรม  กลายเป็นการดำรงอยู่ของกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางสังคมที่ซับซ้อนหลายๆประการ  ด้วยเหตุนี้กฎหมายทั้งหมดจึงเปิดช่องให้ทำการวิจารณ์เชิงศีลธรรมได้  แต่อย่างไรก็ตามจุดนี้เองที่ฮาร์ทยอมรับอย่างเปิดเผยในท้ายที่สุดว่า  โดยพื้นฐานแท้จริงแล้วการยึดมั่นของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในบทสรุปของแนวคิดเรื่องการแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมนั้น  ในตัวของมันวางอยู่บนเหตุผลทางศีลธรรม

ฮาร์ทมองเห็นข้อจำกัดของการที่มีแต่กฎเกณฑ์ที่กำหนดพันธะหน้าที่เพียงลำพัง  จึงได้สร้างแนวคิดที่เรียกว่า  ระบบกฎหมาย  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       กฎปฐมภูมิ  หมายถึง  กฎเกณฑ์ทั่วไปซึ่งวางบรรทัดฐานการประพฤติให้คนทั่วไปในสังคมและก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม  (Rule  of  Obligation)  ในลักษณะเป็นกฎหมายเบื้องต้นทั่วไป

2       กฎทุติยภูมิ  หมายถึง  กฎเกณฑ์พิเศษที่สร้างขึ้นมาเสริมความสมบูรณ์ของกฎปฐมภูมิเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากยิ่งขึ้น  ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดหน้าที่โดยทั่วไปเหมือนกฎปฐมภูมิ  แต่เป็นกฎที่ผู้ใช้กฎหมายต้องพิจารณาและคำนึงถึง  โดยสามารถแยกออกเป็นองค์ประกอบย่อยได้ดังนี้

1)    กฎกำหนดเกณฑ์การรับรองความเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์หรือเกณฑ์การพิสูจน์ว่ากฎใดคือกฎหมาย

2)    กฎกำหนดเกณฑ์การบัญญัติและแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

3)    กฎที่กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเมื่อมีการละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย

กฎปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิในทรรศนะของฮาร์ทถือว่าเป็นกฎหลักสองประการที่ทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีความสมบูรณ์จนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น  ระบบกฎหมาย ที่สมบูรณ์และได้มาตรฐานอย่างแท้จริง

ข้อวิจารณ์ของฟุลเลอร์ (Fuller)  ที่มีต่อระบบกฎหมายของฮาร์ท

ศาสตราจารย์ฟุลเลอร์  นักทฤษฎีฝ่ายกฎหมายธรรมชาติ  ยอมรับข้อเสนอของฮาร์ทที่ว่า  กฎหมายคือระบบของกฎเกณฑ์  แต่ก็ยังยืนยันความสำคัญของเรื่องวัตถุประสงค์ภายในตัวกฎหมาย  ฟุลเลอร์กล่าวว่าเราไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า  กฎเกณฑ์แต่ละเรื่องคืออะไร  จนกว่าเราจะได้ทราบว่ากฎเกณฑ์นั้นๆมีจุดมุ่งหมายอย่างไร  อีกทั้งเราไม่อาจเข้าใจเรื่องระบบของกฎเกณฑ์ได้  ถ้าเรามองเพียงในแง่ข้อเท็จจริงทางสังคมล้วนๆจุดสำคัญอยู่ที่ต้องพิจารณากฎเกณฑ์หรือระบบแห่งกฎเกณฑ์ในแง่ของการกระทำที่มีจุดมุ่งหมาย  กล่าวคือ  การควบคุมการกระทำของมนุษย์ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์  เมื่อพิจารณากันในประเด็นนี้ก็จะเข้าใจได้ว่ากฎเกณฑ์นั้นไม่สามารถดำรงได้โดยปราศจากคุณภาพทางศีลธรรมภายในตัวกฎนั้น

ฟุลเลอร์ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการที่ฮาร์ทสรุปว่า  กฎหมายเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ล้วนๆ  และไม่จำต้องเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมหรือหลักคุณค่านามธรรมเสมอไป  กล่าวคือ  ฟุลเลอร์เห็นว่า  กฎหมายนั้น  ต้องสนองตอบความจำเป็นหรือวัตถุประสงค์ทางศีลธรรม  กฎหมายและศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้  กฎหมายจะต้องมีสิ่งที่อาจเรียกว่า  ศีลธรรมภายในกฎหมาย  บรรจุอยู่เสมอ

นอกจากนี้ฟุลเลอร์ไม่เห็นด้วยกับฮาร์ทที่แยกกฎปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิออกจากกันโดยเด็ดขาด  เพราะในบางสถานการณ์กฎอันเดียวกันอาจให้ทั้งอำนาจและกำหนดหน้าที่ไม่จำกัดบทบาทเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดหากแต่ต้องแปรผันไปตามสภาพแวดล้อม

ข้อวิจารณ์ของดวอร์กิ้น  (Dworkin)  ที่มีต่อระบบกฎเกณฑ์ของฮาร์ท

ดวอร์กิ้นวิจารณ์แนวคิดเรื่องระบบกฎเกณฑ์ของฮาร์ทแบบตรงไปตรงมา  โดยดวอร์กิ้นเห็นว่าการถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเรื่องระบบแห่งกฎเกณฑ์ตามความคิดของฮาร์ทนั้น  เป็นข้อสรุปที่ไม่สมบูรณ์และคับแคบเกินไป  เพราะจริงๆแล้ว  กฎเกณฑ์  ไม่ใช่เนื้อหาสาระเดียวในกฎหมาย  การมองกฎหมายว่าเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์เท่านั้นไม่เป็นสิ่งเพียงพอ  กฎเกณฑ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายเท่านั้น  แท้จริงแล้วยังมีเนื้อหาสาระสำคัญอื่นๆซึ่งประกอบอยู่ภายในกฎหมาย  ที่สำคัญคือเนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องของ  หลักการ  ทางศีลธรรมหรือความเป็นนามธรรม

หลักการ  นี้  ดวอร์กิ้น  ถือว่าเป็นมาตรฐานภายในกฎหมายซึ่งต้อองเคารพรักษาไว้  หลักการเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม  ความเที่ยงธรรมหรือมิติทางคุณค่าด้านศีลธรรมอื่นๆกล่าวอีกนัยหนึ่ง  หลักการเป็นมาตรฐานอันพึงเคารพเนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นของความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมเป็นสิ่งคุ้มครองสิทธิปัจเจกชน  โดยหลักการที่ว่านี้อาจค้นพบได้ในคดีความ  พระราชบัญญัติ หรือศีลธรรมของชาวชุมชนต่างๆ

ดวอร์กิ้นกล่าวว่า  หลักการ  ต่างกับ  กฎเกณฑ์  ตรงที่กฎเกณฑ์มีลักษณะใช้ได้ทั่วไปมากกว่า  ขณะที่หลักการต้องเลือกปรับใช้ในบางคดี  นอกจากนี้หลักการยังมีมิติเรื่องน้ำหนักหรือความสำคัญที่ต้องพิจารณาในการปรับใช้  ขณะที่กฎเกณฑ์ไม่มีมิติเช่นนี้

 

ข้อ  2  นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคืออะไร  Jhering ,  Pound  และ  Duguit  ได้อธิบายความคิดของเขาว่าอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  หมายถึง  การนำเอาสังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์  (นิติปรัชญา)  เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้จะนำไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่งเอง   เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่  19  ของตะวันตก  ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมตะวันตกอยู่ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมประเพณีที่ไม่ซับซ้อนสู่สังคมอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน  เอารัดเอาเปรียบ  ทำให้เกิดชนชั้นกรรมกรผู้ใช้แรงงานซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วย

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยานี้เป็นแนวความคิดหรือทฤษฎีทางนิติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของกฎหมายต่อสังคม  การพิจารณากฎหมายโดยยึดถือคุณค่าทางสังคมวิทยาอันเป็นการพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของกฎหมายหรือการทำงานของกฎหมายมากกว่าการสนใจกฎหมายในแง่ที่เป็นเนื้อหาสาระ  จากนั้นก็ไปเน้นเรื่องบทบาทของนักกฎหมายในการจัดระเบียบผลประโยชน์ของสังคม  เน้นวิธีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆของสังคม  โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม

นักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคนสำคัญหลายท่านได้พยายามแสดงแนวคิดของเขาต่อทฤษฎีนี้อย่างกว้างขวาง  ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

เยียริ่ง  (Jhering)  ได้แสดงความเห็นของเขาว่า  แท้จริงแล้วต้นกำเนิดของกฎหมายวางอยู่ที่เงื่อนไขทางสังคมวิทยา  รากฐานอันแท้จริงของเรื่อง  สิทธิ  อยู่ที่  ผลประโยชน์  และ  วัตถุประสงค์  เป็นประหนึ่งกฎสากลที่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไร้ชีวิต  รวมทั้งเป็นสิ่งที่ครอบงำความเป็นไปของสสารและเจตจำนง  วัตถุประสงค์จึงเป็นเสมือนแหล่งกำเนิดของกฎหมาย  วัตถุประสงค์  จึงเป็นผู้สร้างกฎหมายทั้งหมด  ไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายใดๆ  ที่ไม่มีวัตถุประสงค์  หรือมูลเหตุจูงใจในทางปฏิบัติเป็นกำเนิดที่มา

เยียริ่งได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องอรรถประโยชน์จากเบนแธมและมิลล์  โดนเฉพาะต่อทฤษฎีเรื่องวัตถุประสงค์ของเขา  เยียริ่งยอมรับเอานิยามเรื่อง  ผลประโยชน์  ตามแบบฉบับของเบนแธมในแง่ที่เป็นการแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด  แต่ปรับคำอธิบายเสียใหม่ให้ถือเอาผลประโยชน์ของปัจเจกชนเป็นส่วนหนึ่งในวัตถุประสงค์ของสังคมที่เป็นเรื่องการเชื่อมต่อผลประโยชน์ทั้งหลายเข้าด้วยกัน  ปัญหาสังคมหลักจึงอยู่ที่การไกล่เกลี่ยวัตถุประสงค์ของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวเข้ากับความไม่เห็นแก่ตัวเป็นใหญ่  การไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเข้ากับสังคม  จำเป็นที่จะต้องมีการถ่วงดุลผลประโยชน์ต่างๆซึ่งเยียริ่งแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น  3  ประเภท  คือ  ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล  ของรัฐ  และของสังคม

ต่อพื้นฐานสำคัญนี้  เยียริ่งได้ให้คำตอบโดยอิง  หลักเกี่ยวกับเครื่องคัดง้างการเคลื่อนตัวของสังคม  ซึ่งเขาสร้างขึ้นจากการเชื่อมต่อมูลเหตุจูงใจด้านความเห็นแก่ตัว  และการเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น  เข้าด้วยกันเนื่องจากการดำรงอยู่รอดของสังคมไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากความจำเป็นต้องมีการผสมผสานมูลเหตุจูงใจสองด้านนี้เข้าด้วยกัน  โดยเยียริ่งมองว่า  สังคมจะเคลื่อนตัวได้อย่างราบรื่นต้องอยู่ภายใต้หลักเครื่องคัดง้างอันเหมาะสม  4  ประการดังนี้

1       การได้สิ่งตอบแทน

2       การข่มขู่ลงโทษ

3       หน้าที่

4       ความรัก

รอสโค  พาวนด์  (Roscoe  Pound)  เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีนิติศาสน์เชิงสังคมวิทยาให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นในเชิงปฏิบัติ  โดนพาวนด์ได้สร้างทฤษฎีผลประโยชน์ที่รู้จักกันในนามทฤษฎีวิศวกรรมสังคมขึ้น  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคานผลประโยชน์ต่างๆ  ในสังคมให้เกิดความสมดุล

เขาให้ความหมายของผลประโยชน์ว่าคือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่มนุษย์ต่างยืนยันเพื่อให้ได้มาอย่างแท้จริง  และเป็นภารกิจที่กฎหมายต้องกระทำการอันหนึ่งอันใด  เพื่อสิ่งเหล่านี้หากต้องการธำรงไว้ซึ่งสังคมอันเป็นระเบียบเรียบร้อย

พาวนด์  แบ่งประเภทของผลประโยชน์ตามแนวคิดของเขาออกเป็น  3  ประเภทได้แก่

1       ผลประโยชน์ของปัจเจกชน  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  ความปรารถนา  และความคาดหมายในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน  ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนตัว  ความสัมพันธ์ทางครอบครัว  อันเกี่ยวข้องกับบิดามารดา  สามีภรรยา  และบุตรธิดาต่างๆ  หรือการมีทรัพย์สินส่วนบุคคล  เสรีภาพในการทำสัญญาการจ้างแรงงาน  เป็นต้น

2       ผลประโยชน์ของมหาชน  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  อันได้แก่ผลประโยชน์ของรัฐในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่จะครอบครองหรือเวนคืนทรัพย์สิน  รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสังคม

3       ผลประโยชน์ทางสังคม  คือ  ข้อเรียกร้อง  ความต้องการ  หรือความปรารถนาที่พิจารณาจากแง่ความคาดหมายในการดำรงชีวิตทางสังคม  อันรวมถึงความปลอดภัย  ศีลธรรมทั่วไป  ความเจริญก้าวหน้า

วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์  รอสโค  พาวนด์  ให้นำเอาผลประโยชน์แต่ละประเภทมาคานผลประโยชน์กันให้เกิดการขัดแย้งน้อยที่สุดในสังคมแบบการกระทำวิศวกรรมสังคม  ซึ่งจำต้องมองความสมดุลในแง่ผลลัพธ์ที่จะส่งผลกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุดต่อโครงสร้างแห่งระบบผลประโยชน์ทั้งหมดของสังคม  หรือผลลัพธ์ที่เป็นการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้  พร้อมกับการสูญเสียที่น้อยที่สุดต่อผลประโยชน์รวมทั้งหมดของสังคม

รอสโค  พาวนด์  ถือว่าการคานผลประโยชน์และวิธีการต่างๆ  ในการกระทำวิศวกรรมสังคมที่กล่าวมาของ

พาวนด์  นับว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  ซึ่งพาวนด์ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ของการศึกษา  และเป็นเสมือนการก้าวสู่จุดสุดยอดของนิติปรัชญานับแต่อดีตกาลมา  รวมทั้งเป็นการขยายบทบาทของนักนิติศาสตร์หรือนักทฤษฎีให้ลงมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น  แทนที่จะหมกมุ่นกับการถกเถียงเชิงนามธรรมในปรัชญากฎหมายเท่านั้น

นอกจากนี้เขายังได้เสนอข้อคิดหรือภาระสำคัญ  6  ประการของนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  ไว้ว่า

1       ต้องศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงของสถาบันทางกฎหมายและทฤษฎีกฎหมาย

2       ต้องศึกษาเชิงสังคมวิทยาในเรื่องการตระเตรียมการนิติบัญญัติโดนเฉพาะในเรื่องของผลการนิติบัญญัติเชิงเปรียบเทียบ

3       ต้องศึกษาถึงเครื่องมือหรือกลไกที่จะทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพ  โดยถือว่า  ความมีชีวิตของกฎหมายปรากฏอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

4       ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมวิทยาด้วยการตรวจพิจารณาดูว่า  ทฤษฎีกฎหมายต่างๆได้ส่งผลลัพธ์ประการใดบ้างในอดีต 

5       ต้องสนับสนุนให้มีการตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและยุติธรรม  ซึ่งมักอ้างเรื่องความแน่นอนขึ้นแทนที่มากเกินไป

6       ต้องพยายามทำให้การบรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีผลมากขึ้น

ดิวกี  (Duguit)  เป็นศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ในประเทศฝรั่งเศส  เขาได้เสนอ  ทฤษฎีว่าด้วยความสมานฉันท์ของสังคม  โดยได้รับอิทธิพลความคิดของเยียริ่งเกี่ยวกับทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา  อธิบายบทบาทของกฎหมายทั้งหมดในแง่ของการปกป้องผลประโยชน์ของสังคม  การปฏิเสธแนวคิดดั้งเดิมเรื่องธรรมชาติของรัฐ  อำนาจอธิปไตย  และสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

ทฤษฎีว่าด้วยความสมานฉันท์ของสังคมของดิวกีมีจุดเริ่มจากเรื่องความสมานฉันท์ของสังคมโดยผ่านรูปการแบ่งแยกแรงงาน  และอิงอยู่กับวิธีคิดแบบปรัชญาปฏิฐานนิยมที่มุ่งการเข้าสู่ปัญหาสังคมจากความเปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ  บนพื้นฐานของความต้องการและการทำงานใช้ชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกัน  เฉกเช่นวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมได้นำมาสู่ลักษณะความสมานฉันท์  อันมีรูปแบบใหม่มีลักษณะคล้ายเป็นการรวมตัวขององคาพยพต่างๆ  ดังนั้นในแง่ของกฎหมายหลักนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือชั้นหนึ่งในสังคมที่คอยรักษาและควบคุมการทำงานของระบบการแบ่งงานในสังคมที่ซับซ้อน  ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดได้ก็สามารถดำเนินชีวิตในสังคมภายใต้กฎหมายอันนี้ได้อย่างราบรื่น

การจัดองค์กรหรือระเบียบทั้งหมดในสังคมจึงควรต้องมุ่งสู่การร่วมมือกันอย่างเต็มพร้อมและราบรื่นมากขึ้นระหว่างประชาชน  และเรียกว่า หลักความสมานฉันท์ของสังคม”  ซึ่งอาจจัดเป็นเสมือนหลักนิติธรรมที่สมบูรณ์สูงสุดและไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้านต่อความเป็นภววิสัย

ดิวกีเน้นเรื่องการกระจายอำนาจของรัฐ  โดยเน้นหลักเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐ  ปฏิเสธเรื่องกลไกของรัฐที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อการใช้อำนาจรัฐที่มิชอบและถือว่ารัฐไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้  ดิวกีปฏิเสธการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน  โดยเห็นว่ากฎหมายมหาชนเท่านั้นที่ควรจะใช้ในการบริหาร

นอกจากนั้นดิวกีก็ยังปฏิเสธการดำรงอยู่เรื่อง  สิทธิ (Rights)  ส่วนตัว  นับว่าเป็นการเน้นเรื่องประโยชน์ของสังคมอย่างเดียว  ปฏิเสธความแตกต่างของกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน  ยังผลให้การใช้สิทธิเสรีภาพทางแพ่งหรือทางทรัพย์สินก็ต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมด้วย

 

ข้อ  3  จงอธิบายหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย

ธงคำตอบ

หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสำคัญของพระธรรมศาสตร์  โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย  4  ประการในพระธรรมศาสตร์  หรือหลักกฎหมายทั่วไป  4 ประการในพระธรรมศาสตร์  หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ  4  ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก  ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1        กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ

2       กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรม

3       จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4       การใช้อำนาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทำบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

หลักทศพิธราชธรรม  คือ  หลักธรรมอันสำคัญยิ่งสำหรับกษัตริย์หรือผู้ปกครอง  10  ประการ  ดังนี้

1       ทาน  คือ  การสละวัสดุสิ่งของและวิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น

2       ศีล  คือ  การควบคุมพฤติกรรมทางกาย  วาจา  และใจ  ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3       ปริจจาคะ  คือ  การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4       อาชชวะ  คือ  ความซื่อตรง

5       มัททวะ  คือ  ความสุภาพอ่อนโยน

6       ตบะ  คือ  ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสำเร็จโดยไม่ลดละ

7       อักโกธะ  คือ  ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใครๆ

8       อวิหิงสา  คือ  ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์ร้อน

9       ขันติ  คือ  ความอดทนต่อความยากลำบาก  ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม

10  อวิโรธนะ  คือ  ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทำนองคลองธรรม

หลักธรรมทั้ง  10  ประการนี้  อาจกล่าวว่าเป็นหลักธรรมทางกฎหมายในแง่พื้นฐานของการใช้อำนาจทางกฎหมาย  ถึงแม้โดยเนื้อหา  ทศพิธราชธรรมจะมีลักษณะเป็นจริยธรรมส่วนตัวของผู้ปกครองก็ตาม  เพราะหากเมื่อจริยธรรมนี้เป็นสิ่งที่ถือว่าควรอยู่เบื้องหลังกำกับการใช้อำนาจรัฐ  โดยบทบาทหน้าที่ของธรรมมะแล้ว  บทบาทดังกล่าวย่อมอยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจทางกฎหมาย  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการนิติบัญญัติหรือการบังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน  มองที่จุดนี้  ทศพิธราชธรรมย่อมดำรงอยู่ในฐานะหลักธรรมสำคัญในปรัชญากฎหมายของไทยอีกฐานะหนึ่งด้วย

เกี่ยวกับหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้  ก็คงจัดได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญากฎหมายในพระธรรมศาสตร์  อันเปรียบได้กับกฎหมายธรรมชาติของตะวันตกและสามารถเรียกได้ว่าเป็นประหนึ่งหลักนิติกรรม  ในอุดมการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยโบราณภายใต้ปรัชญาแบบพุทธธรรมนิยม  หลัก  4  ประการนี้ย่อมจัดเป็นรูปธรรมอันเด่นชัดที่สะท้อนความคิด  รากเหง้าแห่งปรัชญากฎหมายไทย

หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย  เป็นปรัชญากฎหมายที่มีอิทธิพลความสำคัญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระมหากษัตริย์  ไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญากฎหมายที่จำกัดอิทธิพลหรือจำกัดวงแห่งการรับรู้เฉพาะกลุ่มนักคิด  หรือสำนักคิดทางปรัชญากฎหมายหนึ่งเท่านั้น  แม้การยึดถือหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยจะปรากฏมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเรื่อยมาก็ตาม  แต่ในทางปฏิบัติ  การยึดถือดังกล่าวจะเป็นไปอย่างจริงจังเพียงใดก็คงเป็นอีกเรื่องเช่นกัน  เพราะแม้ในทางทฤษฎีหรือปรัชญากฎหมายไทยจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้อง  คำนึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ทุกคราวที่ตรากฎหมายก็ตาม  แต่หากในทางปฏิบัติเกิดมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงสนพระทัยต่อคัมภีร์ดังกล่าว  หรือกระทั่งตรากฎหมายโดยขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ผลลัพธ์จะถือเป็นอย่างไรจะถือเป็นโมฆะหรือไม่  

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งจะถือว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมายหรือไม่  เพราะในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตรากฎหมายหรือราชศาสตร์โดยไม่คำนึงถึงพระธรรมศาสตร์หรือกระทั่งขัดแย้งกับ หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย  ก็ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ในทางปฏิบัติจะมีการดึงดันให้กฎหมายนั้นยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่  แต่ก็ย่อมมีผู้ถือว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรมหรือเป็นกฎหมายที่เลวอยู่บ้างอย่างเงียบๆ  และคาดเดาไปว่าจะเป็นกฎหมายที่อยู่ไม่ได้นาน  ทั้งไม่สมควรเป็นเรื่องที่ควรเคารพเชื่อฟัง  หากแต่ในทางปฏิบัติคงหาคนที่จะกล้าออกมาคัดค้านกฎหมายหรือดื้อแพ่งกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้แบบเผชิญหน้าโดยตรงไม่ได้เพราะพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่เป็นเทวราชาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ใครออกมาท้าทายอาจถูกประหารชีวิตได้ง่ายๆ

สรุป  การยึดมั่นในหลักจตุรธรรมทางปรัชญากฎหมายของพระมหากษัตริย์  จึงดูเป็นเรื่องศีลธรรมหรือคุณธรรมส่วนตัวของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์มากกว่าสิ่งอื่น  โดยมีปัจจัยด้านความมั่นคงในการใช้อำนาจของพระองค์เป็นตัวกำหนดภายนอก  ทำนองเดียวกับที่  ร.แลงกาต์  เคยสรุปไว้ว่า  ถ้าราชวงศ์ใดมั่นคงแข็งแกร่งการพิสูจน์พระบรมราชโองการว่าสอดคล้องกับบทบัญญัติในพระธรรมศาสตร์หรือไม่ก็จะทำพอเป็นพิธีเท่านั้น  ในทางปฏิบัติ  เจตจำนงหรือความประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่มีต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินดูจะเป็นกฎหมายหรือแหล่งที่มาอันสำคัญของกฎหมายเหนือสิ่งอื่นใด  กฎหมายตามสภาพที่เป็นจริงจึงกลายเป็นภาพสะท้อนแห่งเจตจำนงขององค์รัฏฐาธิปัตย์หรือพระมหากษัตริย์ ที่มีต่อผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง  แน่นอนว่าสิ่งที่พบก็คือช่องว่างระหว่างอุดมคติทางกฎหมายกับความเป็นจริง.

Advertisement