การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ความยุติธรรมคืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และ John Rawls ได้กล่าวเกี่ยวกับความยุติธรรมว่าอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
“ความยุติธรรม” เป็นคำหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า ความยุติธรรม หมายถึง
1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมมะ
3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนำเสนอความหมายไว้ที่สำคัญๆได้แก่
เพลโต (Plato) ได้ให้คำนิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทำกรรมดีหรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรมอื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้
อริสโตเติล (Aristotle) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคมประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภทคือ
1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคนไม่มีขอบเขตจำกัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์
2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน 2 แบบตามแนวคิดทางทฤษฎี คือ
1 ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากล้วนมีกำเนิดมาจากพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลังๆจนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสำคัญของสำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของสำนักนี้ด้วย อาทิเช่น
ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคำสั่งที่เป็นกฎหมาย โดยการปรับใช้คำสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม”
อัลฟ รอสส์ (Alf Ross) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องอันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทำสิ่งใดตามอำเภอใจ”
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตรัสว่า “ในเมืองไทย คำพิพากษาเก่าๆและคำพิพากษาเดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอๆ แต่คำที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคำไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกันตามนิสัย ซึ่งไม่เป้นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติ จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไร เป็นยุติธรรมไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ ทุกเรื่อง…”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2473 “กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้”
2 ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรมได้รับการเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสรอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็นความคิดอุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรมซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ อันเป็นวิธีคิดในทำนองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ อีกทั้งเป็นวิธีคิดอุดมคติซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน หรือในชื่อที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ” ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือความยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ยังมีแก่นสารของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกำกับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย
แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มีมาช้านานแล้ว ดังเช่น
คดีอำแดงป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อำแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามีตุลาการก็ให้หย่า เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า “หญิงหย่าชาย หย่าได้” ผลของคำพิพากษานี้ รวมทั้งกฎหมายที่สนับสนุนอยู่ เหนือหัวรัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องมีการชำระสะสางกฎหมายใหม่จนกลายเป็นกฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา
ในยุคปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจากบุคคลสำคัญของไทย เช่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีแนวพระราชดำริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพสูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เรื่องเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จึงต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”
ศ. จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางด้ายกฎหมายแนะนำไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่านไว้ว่า “การที่มีคำใช้อยู่ 2 คำ คือ “กฎหมาย” คำหนึ่ง “ความยุติธรรม” คำหนึ่ง ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่สิ่งเดียวกันไปไม่ การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฎหมายไม่คำนึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้นเป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น”
ส่วนความยุติธรรมตามทรรศนะของจอห์น รอลส์ (John Rawls)
จอห์น รอลส์ นำเสนอทฤษฎีความยุติธรรมทางสังคมไว้ในงานเขียนเรื่อง “ทฤษฎีความยุติธรรม” วึ่งเป็นทฤษฎีที่เน้นความสำคัญของอิสรภาพของบุคคล
จอห์น รอลส์ นำเสนอโดยเริ่มจากการมองความยุติธรรมในฐานะที่เป็นความเที่ยงธรรมหรือความเที่ยงตรง ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากขั้นตอนหรือกระบวนการหาจุดยุติปัญหาที่เที่ยงธรรม ปราศจากอคติส่วนตัวโดยเขาได้จินตนาการถึงมนุษย์ในสถานการณ์ที่ทุกคนอยู่ใน “จุดเริ่มต้นภายใต้ม่านอวิชชา” ซึ่งเขาก็ได้กำหนดให้มนุษย์อยู่ใน “จุดเริ่มต้น” รู้ว่าตนเองเป็นผู้มีเหตุผล มีอิสระ สนใจในผลประโยชน์ของตนเองและต่างมีความเสมอกันพร้อมกันนั้นพวกเขาก็ตระหนักว่า พ้นจากฐานะแรกเริ่มอันเสมอกันนั้น มนุษย์ก็มีผลประโยชน์ที่มีทั้งเหมือนและต่างกัน กล่าวคือ รู้ถึงภาวะที่อาจมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันและยังรู้ถึงข้อจำกัดของศีลธรรมและสติปัญญาของมนุษย์ด้วยกันเอง
พ้นจากนี้ จอห์น รอลส์ ก็ให้พวกเขามืดบอดอยู่ภายใต้ “ม่านแห่งอวิชชา” กล่าวคือ ไม่ทราบถึงสถานะทางสังคมของตนที่ดำรงอยู่ ไม่ทราบถึงความสามารถโดยธรรมชาติ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณความดี ไม่รู้ถึงคุณสมบัติทางจิตวิทยา ไม่รู้ว่าตนอยู่ในสังคมยุคไหน เพียงทราบว่าตนอยู่ภายใต้ “เหตุแวดล้อมความยุติธรรม” ซึ่งหมายความว่า รู้ว่าอยู่ในสังคมที่ยังมีปัญหาเรื่องความยุติธรรมหรือรู้ว่าอยู่ในโลกแห่งความจำกัดขาดแคลน
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น จอห์น รอลส์ เชื่อว่ามนุษย์ตามมโนภาพเช่นนี้จะเป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับหลักความยุติธรรมได้อย่างเที่ยงธรรม แท้จริง เนื่องจากพวกเขาไม่ทราบถึงสถานะหรือตำแหน่งทางสังคมของตน ดังนั้นหากให้มนุษย์ในสถานการณ์นี้มาตกลงทำสัญญาประชาคมร่วมกัน มากำหนดหลักความยุติธรรมทางสังคม โดยธรรมชาติของการนึกถึงประโยชน์ของตนเอง ด้วยเหตุผล แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องคิดสร้างหลักความยุติธรรมอย่างรอบคอบที่สุดหรือยุติธรรมอย่างแท้จริง
จากที่ จอห์น รอลส์ นำเสนอไว้ข้างต้น เขาก็สรุปว่าหลักความยุติธรรมที่มนุษย์ในจุดเริ่มต้นจะประกอบด้วยหลักการสำคัญ 2 ข้อ คือ
1 มนุษย์แต่ละคนจำต้องมีสิทธิเท่าเทียมกันในเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างมากที่สุด ซึ่งเทียบเคียงได้กับเสรีภาพอันคล้ายคลึงกันในบุคคลอื่นๆ
2 ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมต้องได้รับการจัดระเบียบให้เป็นธรรม
ทฤษฎีเรื่องความยุติธรรมของ จอห์น รอลส์ นี้มีความเป็นนามธรรมที่ซับซ้อน ยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ก็พอฟังได้ว่าเป็นทฤษฎีที่เน้นความสำคัญสูงสุดของเสรีภาพ
ข้อ 2 นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) คืออะไร “วิศวกรรมสังคม” (Social Engineering) และ “ข้อคิดต่อนักกฎหมาย” ที่ Roscoe Pound เสนอ มีสาระสำคัญอะไรบ้างจงอธิบาย
ธงคำตอบ
นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา หมายถึง การนำเอาสังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้จะนำไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่งเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมตะวันตกอยู่ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมประเพณีที่ไม่ซับซ้อนสู่สังคมอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดชนชั้นกรรมกรผู้ใช้แรงงานซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วย
ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยานี้เป็นแนวความคิดหรือทฤษฎีทางนิติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของกฎหมายต่อสังคม การพิจารณากฎหมายโดยยึดถือคุณค่าทางสังคมวิทยาอันเป็นการพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของกฎหมายหรือการทำงานของกฎหมายมากกว่าการสนใจกฎหมายในแง่ที่เป็นเนื้อหาสาระ จากนั้นก็ไปเน้นเรื่องบทบาทของนักกฎหมายในการจัดระเบียบผลประโยชน์ของสังคม เน้นวิธีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆของสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม
รอสโค พาวนด์ (Roscoe Pound) เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีนิติศาสน์เชิงสังคมวิทยาให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นในเชิงปฏิบัติ โดนพาวนด์ได้สร้างทฤษฎีผลประโยชน์ที่รู้จักกันในนามทฤษฎีวิศวกรรมสังคมขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคานผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุล
ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม เป็นชื่อของทฤษฎีว่าด้วยผลประโยชน์เรื่องหนึ่งที่ รอสโค พาวนด์ นำเสนอ ซึ่งเพราะด้วยแนวคิดที่มุ่งสร้างกฎหมายที่การคานผลประโยชน์ต่างๆในสังคมให้เกิดความสมดุลประการหนึ่ง การก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม” หรือ “Social Engineering Theory”
รอสโค พาวนด์ ให้ความหมายของผลประโยชน์ว่าคือ “ข้อเรียกร้อง ความต้องการ หรือความปรารถนาที่มนุษย์ต่างยืนยันเพื่อให้ได้มาอย่างแท้จริง และเป็นภารกิจที่กฎหมายต้องกระทำการอันใดอันหนึ่ง เพื่อสิ่งเหล่านี้หากต้องการธำรงไว้ซึ่งสังคมอันเป็นระเบียบเรียบร้อย” ผลประโยชน์ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่กฎหมายมีหน้าที่ต้องตอบสนอง แต่จะได้มากน้อยเพียงใดแก่แต่ละบุคคลนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญหรือผลกระทบของผลประโยชน์ที่จะได้รับ จึงต้องนำวิธีการคานผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเขาแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1 ผลประโยชน์ของปัจเจกชน คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ ความปรารถนา และความคาดหมายในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนตัว ความสัมพันธ์ทางครอบครัว อันเกี่ยวข้องกับบิดามารดา สามีภรรยา และบุตรธิดาต่างๆ หรือการมีทรัพย์สินส่วนบุคคล เสรีภาพในการทำสัญญาการจ้างแรงงาน เป็นต้น
2 ผลประโยชน์ของมหาชน คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ หรือความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อันได้แก่ผลประโยชน์ของรัฐในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่จะครอบครองหรือเวนคืนทรัพย์สิน รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสังคม
3 ผลประโยชน์ทางสังคม คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ หรือความปรารถนาที่พิจารณาจากแง่ความคาดหมายในการดำรงชีวิตทางสังคม อันรวมถึงความปลอดภัย ศีลธรรมทั่วไป ความเจริญก้าวหน้า
ผลประโยชน์แต่ละประเภทมีค่าเป็นกลางๆ ไม่มีผลประโยชน์ประเภทใดสำคัญเหนือกว่าผลประโยชน์อีกประเภทหนึ่ง และการแบ่งแยกประเภทของผลประโยชน์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเสมือนบัญชีรายชื่อที่อาจมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
วิธีการคานหรือถ่วงดุลผลประโยชน์ รอสโค พาวนด์ ให้นำเอาผลประโยชน์แต่ละประเภทมาคานผลประโยชน์กันให้เกิดการขัดแย้งน้อยที่สุดในสังคมแบบการกระทำวิศวกรรมสังคม ซึ่งจำต้องมองความสมดุลในแง่ผลลัพธ์ที่จะส่งผลกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุดต่อโครงสร้างแห่งระบบผลประโยชน์ทั้งหมดของสังคม หรือผลลัพธ์ที่เป็นการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมกับการสูญเสียที่น้อยที่สุดต่อผลประโยชน์รวมทั้งหมดของสังคม
รอสโค พาวนด์ ถือว่าการคานผลประโยชน์และวิธีการต่างๆ ในการกระทำวิศวกรรมสังคมที่กล่าวมาของ
พาวนด์ นับว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ซึ่งพาวนด์ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ของการศึกษา และเป็นเสมือนการก้าวสู่จุดสุดยอดของนิติปรัชญานับแต่อดีตกาลมา รวมทั้งเป็นการขยายบทบาทของนักนิติศาสตร์หรือนักทฤษฎีให้ลงมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น แทนที่จะหมกมุ่นกับการถกเถียงเชิงนามธรรมในปรัชญากฎหมายเท่านั้น
นอกจากนี้เขายังได้เสนอข้อคิดหรือภาระสำคัญ 6 ประการของนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ไว้ว่า
1 ต้องศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงของสถาบันทางกฎหมายและทฤษฎีกฎหมาย
2 ต้องศึกษาเชิงสังคมวิทยาในเรื่องการตระเตรียมการนิติบัญญัติโดนเฉพาะในเรื่องของผลการนิติบัญญัติเชิงเปรียบเทียบ
3 ต้องศึกษาถึงเครื่องมือหรือกลไกที่จะทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพ โดยถือว่า “ความมีชีวิตของกฎหมายปรากฏอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย”
4 ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมวิทยาด้วยการตรวจพิจารณาดูว่า ทฤษฎีกฎหมายต่างๆได้ส่งผลลัพธ์ประการใดบ้างในอดีต
5 ต้องสนับสนุนให้มีการตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและยุติธรรม ซึ่งมักอ้างเรื่องความแน่นอนขึ้นแทนที่มากเกินไป
6 ต้องพยายามทำให้การบรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีผลมากขึ้น
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปสาระสำคัญข้อคิดต่อนักกฎหมายของรอสโค พาวนด์ ได้คือ
1 ใส่ใจต่อหลักการใหม่ๆ
2 ใส่ใจต่อพฤติกรรมมนุษย์
3 สนใจเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และปรัชญา
4 ผลักดันกฎหมายในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับตัวบท
ข้อ 3 จงอธิบายหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย โดยละเอียด
ธงคำตอบ
หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสำคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ
2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรม
3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร
4 การใช้อำนาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทำบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม
หลักทศพิธราชธรรม คือ หลักธรรมอันสำคัญยิ่งสำหรับกษัตริย์หรือผู้ปกครอง 10 ประการ ดังนี้
1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและวิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น
2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย
3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
4 อาชชวะ คือ ความซื่อตรง
5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน
6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสำเร็จโดยไม่ลดละ
7 อักโกธะ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใครๆ
8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์ร้อน
9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลำบาก ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม
10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทำนองคลองธรรม
หลักธรรมทั้ง 10 ประการนี้ อาจกล่าวว่าเป็นหลักธรรมทางกฎหมายในแง่พื้นฐานของการใช้อำนาจทางกฎหมาย ถึงแม้โดยเนื้อหา ทศพิธราชธรรมจะมีลักษณะเป็นจริยธรรมส่วนตัวของผู้ปกครองก็ตาม เพราะหากเมื่อจริยธรรมนี้เป็นสิ่งที่ถือว่าควรอยู่เบื้องหลังกำกับการใช้อำนาจรัฐ โดยบทบาทหน้าที่ของธรรมมะแล้ว บทบาทดังกล่าวย่อมอยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจทางกฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการนิติบัญญัติหรือการบังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน มองที่จุดนี้ ทศพิธราชธรรมย่อมดำรงอยู่ในฐานะหลักธรรมสำคัญในปรัชญากฎหมายของไทยอีกฐานะหนึ่งด้วย
เกี่ยวกับหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้ ก็คงจัดได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญากฎหมายในพระธรรมศาสตร์ อันเปรียบได้กับกฎหมายธรรมชาติของตะวันตกและสามารถเรียกได้ว่าเป็นประหนึ่งหลักนิติกรรม ในอุดมการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยโบราณภายใต้ปรัชญาแบบพุทธธรรมนิยม หลัก 4 ประการนี้ย่อมจัดเป็นรูปธรรมอันเด่นชัดที่สะท้อนความคิด รากเหง้าแห่งปรัชญากฎหมายไทย
หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย เป็นปรัชญากฎหมายที่มีอิทธิพลความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญากฎหมายที่จำกัดอิทธิพลหรือจำกัดวงแห่งการรับรู้เฉพาะกลุ่มนักคิด หรือสำนักคิดทางปรัชญากฎหมายหนึ่งเท่านั้น แม้การยึดถือหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยจะปรากฏมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเรื่อยมาก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ การยึดถือดังกล่าวจะเป็นไปอย่างจริงจังเพียงใดก็คงเป็นอีกเรื่องเช่นกัน เพราะแม้ในทางทฤษฎีหรือปรัชญากฎหมายไทยจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้อง “คำนึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์” ทุกคราวที่ตรากฎหมายก็ตาม
แต่หากในทางปฏิบัติเกิดมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงสนพระทัยต่อคัมภีร์ดังกล่าว หรือกระทั่งตรากฎหมายโดยขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ผลลัพธ์จะถือเป็นอย่างไรจะถือเป็นโมฆะหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งจะถือว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมายหรือไม่ เพราะในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตรากฎหมายหรือราชศาสตร์โดยไม่คำนึงถึงพระธรรมศาสตร์หรือกระทั่งขัดแย้งกับ “หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย” ก็ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ในทางปฏิบัติจะมีการดึงดันให้กฎหมายนั้นยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่ แต่ก็ย่อมมีผู้ถือว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรมหรือเป็นกฎหมายที่เลวอยู่บ้างอย่างเงียบๆ
และคาดเดาไปว่าจะเป็นกฎหมายที่อยู่ไม่ได้นาน ทั้งไม่สมควรเป็นเรื่องที่ควรเคารพเชื่อฟัง หากแต่ในทางปฏิบัติคงหาคนที่จะกล้าออกมาคัดค้านกฎหมายหรือดื้อแพ่งกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้แบบเผชิญหน้าโดยตรงไม่ได้เพราะพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่เป็นเทวราชาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครออกมาท้าทายอาจถูกประหารชีวิตได้ง่ายๆ
สรุป การยึดมั่นในหลักจตุรธรรมทางปรัชญากฎหมายของพระมหากษัตริย์ จึงดูเป็นเรื่องศีลธรรมหรือคุณธรรมส่วนตัวของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์มากกว่าสิ่งอื่น โดยมีปัจจัยด้านความมั่นคงในการใช้อำนาจของพระองค์เป็นตัวกำหนดภายนอก ทำนองเดียวกับที่ ร.แลงกาต์ เคยสรุปไว้ว่า ถ้าราชวงศ์ใดมั่นคงแข็งแกร่งการพิสูจน์พระบรมราชโองการว่าสอดคล้องกับบทบัญญัติในพระธรรมศาสตร์หรือไม่ก็จะทำพอเป็นพิธีเท่านั้น ในทางปฏิบัติ เจตจำนงหรือความประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่มีต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินดูจะเป็นกฎหมายหรือแหล่งที่มาอันสำคัญของกฎหมายเหนือสิ่งอื่นใด กฎหมายตามสภาพที่เป็นจริงจึงกลายเป็นภาพสะท้อนแห่งเจตจำนงขององค์รัฏฐาธิปัตย์หรือพระมหากษัตริย์ ที่มีต่อผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง แน่นอนว่าสิ่งที่พบก็คือช่องว่างระหว่างอุดมคติทางกฎหมายกับความเป็นจริง