การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4007 นิติปรัชญา 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย  (Legal  Positivism)  ในแบบฉบับของ  John  Austin  แตกต่างจาก  H.L.A.  Hart  หรือไม่  อย่างไร  และนักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่ที่  Hart  ยืนยันว่า  จุดยืนสำคัญของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายและศีลธรรม  แท้จริงแล้วมีลักษณะสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม

ธงคำตอบ

ปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของออสติน  (Austin)  มองกฎหมายในแง่อำนาจ  คำสั่ง  รัฐาธิปัตย์  กล่าวคือ  เขาได้สรุปว่ากฎหมาย  คือ  คำสั่งของรัฐาธิปัตย์  ที่มีสภาพบังคับ  ซึ่งกำหนดมาตรฐานความประพฤติให้กับผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองของตน  ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามแล้วจะต้องได้รับโทษ

จากข้อสรุปดังนี้ทำให้เห็นว่ากฎหมายอันแท้จริง  (Positive  Law)  ซึ่งเป็นเรื่องของคำสั่งจะประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ

1       ความประสงค์หรือความปรารถนาของผู้สั่ง

2       บทลงโทษ  หรือสภาพบังคับ

3       การแสดงออกซึ่งความประสงค์หรือความปรารถนา

4       การมีผลบังคับทั่วไป

5       การประกาศใช้โดยรัฐาธิปัตย์    ซึ่งออสตินให้นิยามว่าหมายถึง  บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด  ซึ่งประชาชนให้การเคารพเชื่อฟังคำสั่งโดยสม่ำเสมอเพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว

ออสตินเน้นพิจารณากฎหมายจากลักษณะภายนอก  คือ  ประสิทธิภาพของคำสั่งและบทกำหนดโทษ  โดยไม่คำนึงถึงลักษณะภายในกฎหมายที่เป็นความชอบธรรมของตัวบทกฎหมายนั้น 

กฎหมายกับเรื่องของอำนาจของรัฐาธิปัตย์  เป็นเสมือนสิ่งเดียวกัน  กฎหมายมีที่มาจากอำนาจหรืออำนาจก็คือตัวกฎหมาย  ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับอำนาจในทัศนะของออสตินจึงดำเนินไปอย่างใกล้ชิดและค่อนข้างหยาบ

นอกจากนี้ออสตินยังมุ่งอธิบายอย่างแจ้งชัดว่า  ความเป็นหรือความสมบูรณ์ของกฎหมายสามารถแยกขาดออกได้จากเรื่องศีลธรรมหรือหลักคุณค่าความถูกผิดใดๆ  กระทั่งเชื่อว่า  อย่าเอากฎหมายไปปนกับความดีความชั่วหรือความยุติธรรม

ขณะที่แนวคิดปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของฮาร์ท  (H.L.A.  Hart)  มีจุดร่วมกันกับออสตินในประเด็นเรื่องกฎหมายกับศีลธรรมที่ฮาร์ทยืนยันว่า  กฎหมายและศีลธรรมไม่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงกันเสมอไป  และการดำรงอยู่หรือความสมบูรณ์ของกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากเรื่องความชอบหรือไม่ชอบธรรมภายในกฎหมายนั้นๆ

แต่ในกรณีของฮาร์ทเน้นให้ความสำคัญต่อเรื่องอำนาจอันชอบธรรมหรืออำนาจที่ได้รับการยอมรับ  (Authority)  โดยที่อำนาจอันชอบธรรมในการบัญญัติกฎนั้นจะต้องได้มาจากกฎเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวกับการมอบอำนาจนั้นๆ  (กฎทุติยภูมิ)  ซึ่งสะท้อนออกมาจากคำอธิบายเรื่องระบบกฎเกณฑ์  ที่ถือว่าเป็นธรรมชาติกฎหมายในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นนิติรัฐหรือสังคมที่มีระบบกฎหมาย  โดยฮาร์ทถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคมที่สลับซับซ้อนซึ่งมีความจำเป็นทางธรรมชาติในทุกสังคมจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดพันธะในรูปกฎหมาย  ซึ่งจำกัดควบคุมความรุนแรง  พิทักษ์รักษาทรัพย์สินหรือระบบทรัพย์สิน  และป้องกันควบคุมการหลอกลวงกัน  เสมือนเป็น  เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมาย  แต่ก็ได้มองเห็นข้อจำกัดของการมีแต่กฎเกณฑ์ที่กำหนดพันธะหน้าที่เพียงลำพัง  จึงได้สร้างแนวคิดเรื่อง  ระบบกฎหมาย  แยกออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       กฎปฐมภูมิ  หมายถึง  กฎเกณฑ์ทั่วไปซึ่งวางบรรทัดฐานการประพฤติให้คนทั่วไปในสังคมและก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม  (Rule  of  Obligation)  ในลักษณะเป็นกฎหมายเบื้องต้นทั่วไป

2       กฎทุติยภูมิ  หมายถึง  กฎเกณฑ์พิเศษที่สร้างขึ้นมาเสริมความสมบูรณ์ของกฎปฐมภูมิเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากยิ่งขึ้น  ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดหน้าที่โดยทั่วไปเหมือนกฎปฐมภูมิ  แต่เป็นกฎที่ผู้ใช้กฎหมายต้องพิจารณาและคำนึงถึง  โดยสามารถแยกออกเป็นองค์ประกอบย่อยได้ดังนี้

1)    กฎกำหนดเกณฑ์การรับรองความเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์หรือเกณฑ์การพิสูจน์ว่ากฎใดคือกฎหมาย

2)    กฎกำหนดเกณฑ์การบัญญัติและแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

3)    กฎที่กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเมื่อมีการละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย

จะเห็นว่า  กฎหมายหรือระบบกฎหมายตามทฤษฎีของฮาร์ท  มิใช่เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ล้วนๆ  แต่ยังมีองค์ประกอบเรื่องคุณค่าหรือคุณค่าทางศีลธรรมแฝงอยู่คล้ายเป็นรากฐานในตัวด้วย  อันเป็นจุดยืนเชิงประนีประนอมมากขึ้นเกี่ยวกับกฎหมายกับศีลธรรม  อาทิประเด็นเรื่อง

–                    เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติ  หรือกฎหมายขั้นมูลฐาน

–                    การเน้นความสำคัญต่อเรื่อง  กฎที่กำหนดเกณฑ์การรับรองความเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์

–                    การเน้นเรื่องพันธะอันเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายในการเคารพต่อกฎทุติยภูมิ

สำหรับการยืนยันของฮาร์ทว่าจุดยืนสำคัญเกี่ยวกับการแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมที่มีลักษณะเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบวิจารณ์กฎหมายซึ่งอาจดีหรือเลว  ถือเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือไม่  เห็นว่า  ถึงแม้ว่าฮาร์ทจะยอมรับว่าบางเรื่องของกฎหมายและศีลธรรมจะมีความคาบเกี่ยวกัน  แต่ก็มิได้หมายความว่ากฎหมายจะมีที่มาจากหลักทางศีลธรรมเสมอไป  การดำรงอยู่ของกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางสังคมที่ซับซ้อนหลายๆประการ  ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงเปิดช่องให้ทำการวิจารณ์เชิงศีลธรรมได้  เนื่องจากไม่มีพื้นฐานแนวความคิดที่จะทำให้ถือว่า  กฎหมายตามที่เป็นอยู่  (Is)  และกฎหมายที่ควรจะเป็น  (Ought)  นั้นเป็นสิ่งๆเดียวกัน

จากจุดนี้เองที่ฮาร์ทยอมรับว่าโดยพื้นฐานแท้จริงแล้ว  การยึดมั่นของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในบทสรุปของแนวความคิดเรื่องการแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมนั้น  ในตัวของมันวางอยู่บนเหตุผลทางศีลธรรมจากจุดที่ว่าแนวคิดดังกล่าวมิได้ถือว่ากฎหมายมีความสำคัญเหนือกว่าศีลธรรม  แต่กลับเป็นการปล่อยให้กฎหมายอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ทางศีลธรรมตลอดไป  โดยเหตุผลของการสนับสนุนการวิจารณ์เชิงศีลธรรมนี้เกิดเนื่องแต่บทสรุปในแนวของปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย  ที่มิได้ยืนยันว่ากฎหมายที่ดำรงอยู่นั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกับศีลธรรมที่จะต้องถูกต้องดีงามเสมอไป  บทสรุปเช่นนี้ยังนับเป็นการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เปิดกว้าง ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และปฏิรูปแก้ไขกฎหมายที่ตราขึ้นได้เสมอ

 

ข้อ  2  จงสรุปอธิบายประเด็นสำคัญทางความคิดของสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน  (American  Legal  Realism)  และนักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่กับข้อวิจารณ์ต่อสำนักคิดนี้ว่า  มีลักษณะสนับสนุนท่าที  ความคิดในเชิงปฏิเสธ  ไม่ยอมรับต่อคุณค่าของกฎหมาย  ความแน่นอนของกฎหมาย  ตลอดจนการใช้อำนาจพิพากษาของฝ่ายตุลาการ

ธงคำตอบ

สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน  (American  Legal  Realism)   มีที่มาจากงานความคิดของโอลิเวอร์  เวนเดลล์  โฮล์มส์  (Oliver  Wendel  Holmes)  ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดนับแต่ปี  ค.ศ. 1902 

โฮล์มส์  ไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาจะสามารถตัดสินคดีตามใจชอบ  โดยมองจากประสบการณ์การทำงานของตน  ซึ่งไม่อาจปรุงแต่งกฎหมายให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ  เป้าหมายสำคัญที่โฮล์มส์  วิพากษ์วิจารณ์คือ  ความคิดที่เชื่อว่าบทบัญญัติทั้งหมดในกฎหมายล้วนมีเหตุผลอันชอบธรรม

โฮล์มส์  เชื่อว่า  กฎหมายจำนวนมากถูกเขียนขึ้นบนบริบททางประวัติศาสตร์ต่างๆ  ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในภายหลัง  ดังนี้แล้วจึงสมควรให้มีการตรวจสอบทบทวนอย่างสม่ำเสมอต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่ายังมีความเหมาะสมดีอยู่หรือไม่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป  ในลักษณะนี้จึงไม่มีกรณีใดๆซึ่งสมควรกล่าวอ้าง  (ตามกระบวนการอนุมานความคิด)  กฎหมายว่าเป็นเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแน่นอน  หากว่าในทางปฏิบัติ  ศาลแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แท้จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  และจากความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความเป็นจริงของสังคมดังนี้เองทีทำให้เห็นว่ามีเพียงผู้พิพากษา  (หรือทนายความ)  ซึ่งเข้าใจดีถึงบริบททางประวัติศาสตร์  สังคม  และเศรษฐกิจเท่านั้นจึงจะทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมต่อบทบาทของตน

นอกเหนือจากโฮล์มส์  ก็ยังมี  จอห์น  ชิปแมน  เกรย์  ที่ยืนยันว่ากฎหมายประกอบด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆซึ่งศาลยุติธรรมได้กำหนดไว้  บรรดาพระราชบัญญัติเป็นเพียงที่มาของกฎหมายดังกล่าวนี้เท่านั้น

คาร์ล  ลูเวลลิน  (Karl  Llewellyn)  ในฐานะสมาชิกคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง  กล่าวในทำนองเดียวกันไม่ให้ไว้วางใจนักต่อ  กฎเกณฑ์ในกระดาษ  ควรเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมหรือแบบแผนการวินิจฉัยตีความกฎหมายของศาลซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันตามแต่กาละและสถานที่  ตลอดจนสนใจต่อข้อมูลต่างๆ  เกี่ยวกับคำตัดสินที่ปรากฏจริงๆ

เยโรม  แฟรงค์  (Jerome  Frank)  ผู้พิพากษาที่ถือว่าเขาเป็น  ผู้ที่ไม่เชื่อใจต่อข้อเท็จจริง  หมายความว่า  แม้ในกรณีที่กฎเกณฑ์มีความชัดเจนง่ายดายต่อการตีความแล้วก็ตาม  กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจส่งผลสะเทือนน้อยเต็มทีในคำตัดสินของศาลระดับล่าง  เฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบลูกขุน  เนื่องจากบุคคลดังกล่าวสามารถยกข้อเท็จจริงใดๆ  ที่ตนพึงพอใจมาปรับเข้ากับกฎเกณฑ์ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ตามที่ตนต้องการในที่สุดได้  นอกจากนี้  เหตุปัจจัยเรื่องความสมบูรณ์หรือบกพร่องของพยานหลักฐาน  ความสามารถของทนายความหรือผู้พิพากษาก็เป็นตัวกำหนดอันสำคัญต่อผลของคำพิพากษา  ความลื่นไหล  ความไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมนับเป็นอุปสรรคในการคาดทำนายการตัดสินใจของศาล

นอกจากนี้ในปี  ค.ศ. 1957  แฟรงค์ยังได้ร่วมเขียนงานชิ้นหนึ่งเรื่อง  ไร้ความผิด  (Notquilty)  ซึ่งเป็นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องคดีความผิดจำนวนหนึ่ง  ซึ่งบรรดาจำเลยต่างถูกตัดสินพิพากษาว่า  ประกอบอาชญากรรม  แต่ได้รับการตัดสินใหม่ว่า  เป็นผู้บริสุทธิ์ในศาลชั้นหลัง  การค้นพบประจักษ์หลักฐานในความไม่แน่นอนแห่งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาลและความผิดพลาดต่างๆอันเกิดขึ้นได้ เหล่านี้นับเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาคัดค้านเรื่องการลงโทษประหารชีวิต  อีกทั้งยังทำให้เขายืนยันความสำคัญของความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี  วึ่งไม่อาจนำไปแลกกับประสิทธิภาพ  (ความรวดเร็ว)  ในทางตุลาการ

ดังนั้น  จะเห็นว่า  สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกันจะใส่ใจเรื่องธรรมชาติกฎหมายในแง่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง  วิพากษ์ความไม่แน่นอนของกฎหมาย  ช่องว่างของกฎหมายในตัวบทและความเป็นจริงในแง่การบังคับใช้  รวมทั้งการวิพากษ์เบื้องหลังการใช้อำนาจของผู้พิพากษาเพื่อให้เกิดความยุติธรรม  โดยอาจมีปัจจัยทางอัตวิสัยแนวความคิดการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยพื้นฐานแล้ว  สัจนิยมทางกฎหมายจัดอยู่ในฝ่ายเสรีนิยมทางกฎหมายที่ตั้งคำถาม  วิพากษ์ความไม่แน่นอนของกฎหมาย  หรืออำนาจตุลาการ  เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสู่ความยุติธรรมอันแท้จริงมากกว่าจะปฏิเสธคุณค่าของกฎหมาย  กระบวนการยุติธรรม

 

ข้อ  3  ปรัชญากฎหมายไทยแบบดั้งเดิมมีความคิดพื้นฐานทางกฎหมายเป็นแบบอำนาจนิยม  หรือธรรมนิยมและปรัชญากฎหมายไทยดังกล่าวสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้  (พระราช) อำนาจที่ไม่ชอบธรรมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ลักษณะที่สำคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม  คือ  ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะธรรมนิยม  หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรม  ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม  พระธรรมศาสตร์  ทศพิธราชธรรม  รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย  อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธขณะเดียวกันก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอำนาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู  หลักเทวราชและความเป็นกระแสหลักในสมัยสุโขทัย  เห็นได้จากมีการแปลความธรรมมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคำสั่งของพ่อขุนรามคำแหง  ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม  มีปรากฏในหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม  ซึ่งมีสระสำคัญ  4  ประการ  คือ

1       กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ

2       กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรม

3       จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4       การใช้อำนาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทำบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

เหตุที่ทำให้มีการสรุปยืนยันว่าปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมือง  และสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้ (พระราช)อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม  ก็เพราะนอกจากกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรมแล้ว  พระมหากษัตริย์ยังต้องตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมอันมีค่าเป็นธรรมมะ  10  ประการ  ที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย  (อาจเรียกว่าเป็นราชธรรม  10  ประการก็ได้  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1       ทาน  คือ  การสละวัสดุสิ่งของและวิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น

2       ศีล  คือ  การควบคุมพฤติกรรมทางกาย  วาจา  และใจ  ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3       ปริจจาคะ  คือ  การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4       อาชชวะ  คือ  ความซื่อตรง

5       มัททวะ  คือ  ความสุภาพอ่อนโยน

6       ตบะ  คือ  ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสำเร็จโดยไม่ลดละ

7       อักโกธะ  คือ  ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใครๆ

8       อวิหิงสา  คือ  ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์ร้อน

9       ขันติ  คือ  ความอดทนต่อความยากลำบาก  ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม

10  อวิโรธนะ  คือ  ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทำนองคลองธรรม

ด้วยเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณล้วนนับถือศาสนาพุทธ  ทศพิธราชธรรมนี้ก็มีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ชาดกในพุทธศาสนานั่นเอง  จึงทำให้พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องตั้งพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมข้างต้นนี้  และรูปธรรมชัดเจนของข้อสรุปดังกล่าวก็คือหลักการในทศพิธราชธรรมก็ได้ถูกนำไปตราเป็นกฎมณเฑียรบาล   บทที่  106  และ  113  ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ  ดังนี้

กฎมณเฑียรบาล   บทที่  106  ความว่า  อนึ่ง  พระเจ้าอยู่หัวดำรัสตรัสด้วยกิจราชการคดีถ้อยความประการใดๆ ต้องกฎหมายประเวนีเป็นยุติธรรมแล้วให้กระทำตาม  ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทาน 1,2,3  ครั้ง  ถ้าหมีฟังให้งดอย่าเพ่อสั่งไปให้ทูลในที่ระโหถาน  ถ้าหมีฟังจึงให้กระทำตาม  ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระอายการดังนี้  ท่านว่าผู้นั้นละมิดพระราชอาญา

กฎมณเฑียรบาล   บทที่  106  นี้ก็เป็นการยืนยันหลักการทางทฤษฎีที่ถือเอาธรรมมะหรือกฎหมายเป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมืองอันเป็นการสอดรับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่  10  อวิโรธนะ  อันหมายถึงการไม่ประพฤติไปจากทำนองคลองธรรม

ส่วนกฎมณเฑียรบาลบทที่  113  ก็มีความว่า อนึ่ง  ธรงพระโกรธแก่ผู้ใด  แลตรัสเรียกพระแสงอย่าให้เจ้าพนักงานยื่น  ถ้ายื่นให้โทษถึงตาย  อันนี้ก็สอดรับกับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่  10  อวิโรธนะ  ดังที่กล่าวแล้วกับข้อที่  7  คือ  อักโกธะ  อันหมายถึง  การไม่แสดงความเกรี้ยวโกรธแค้นต่อผู้ใด

Advertisement