การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)  

ข้อ  1  นางหง็อกเกิดในราชอาณาจักรไทย  เมื่อปี  พ.ศ.2493  จากบิดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ส่วนมารดามีสัญชาติไทย  นางหง็อกมีสามีชื่อนายกู๋โง  ชาวญวนอพยพ  เกิดบุตรในประเทศไทยสองคน  เมื่อปี  พ.ศ.2513  และ  2516  ตามลำดับ  ให้วินิจฉัยว่าบุตรทั้งสองคนได้สัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1)  ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

มาตรา  10  บทบัญญัติมาตรา  7(1)  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3)  ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

ข้อ  2  บุคคลตามข้อ  1  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว  ไม่ได้สัญชาติไทย  เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

บุตรทั้งสองคนได้สัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  นางหง็อกเกิดในราชอาณาจักรไทย  เมื่อปี  พ.ศ.2493  นางหง็อกย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)

เมื่อปี  พ.ศ. 2513  นางหง็อกได้เกิดบุตรคนแรกในประเทศไทย  กรณีเช่นนี้บุตรคนแรกย่อมได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  เพราะเป็นผู้เกิดในขณะที่มารดามีสัญชาติไทย  ทั้งนี้โดยผลของมาตรา  10  ของ  พ.ร.บ.  ดังกล่าว  ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา  7(1)  มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  พ.ร.บ.  นี้ใช้บังคับด้วย

ต่อมาวันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ. 2515  ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับ  นางหง็อกจึงถูกถอนสัญชาติไทย  เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว  และในขณะที่เกิดนั้น  บิดาได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  นางหง็อกจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  อนึ่งการที่นางหง็อกถูกถอนสัญชาติไทยดังกล่าว  ก็ไม่มีผลกระทบถึงบุตรคนแรก  เนื่องจากในขณะที่บุตรคนแรกเกิด  นางหง็อกมารดายังมีสัญชาติไทยอยู่และการได้สัญชาติไทยของบุตรคนแรกเป็นการได้มาตามหลักสายโลหิต  มิใช่หลักดินแดน  ดังนั้นแม้ต่อมานางหง็อกจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติก็ตาม  ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติของบุตรด้วยแต่ประการใด 

(ฎ. 1204  1205/2533  ฎ.1513  1514/2531)

และในปี  พ.ศ. 2516  นางหง็อกได้เกิดบุตรคนที่สองในประเทศไทย  กรณีถือว่าบุตรคนที่สองเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับแล้ว  (มีผลใช้บังคับ  วันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ. 2515)  บุตรคนที่สองย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  เนื่องจากเข้าข้อยกเว้นตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  2  และข้อ  1(3)  เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว  และในขณะที่เกิดนั้น  ทั้งบิดาและมารดาได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

แต่ครั้นถึงวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2535  ซึ่งเป็นวันที่  พ.ร.บ.  สัญชาติ  ฉบับที่  2  มีผลใช้บังคับ  นางหง็อกกลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด  ทั้งนี้โดยมาตรา  10  ของ  พ.ร.บ.  ดังกล่าว ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา  7(1)  มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  อันเป็นวันที่  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  ใช้บังคับด้วย  ดังนั้น  นางหง็อกจึงได้รับสัญชาติไทยโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด  เพราะมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  และกรณีนี้ย่อมมีผลให้บุตรคนที่สองกลับได้รับสัญชาติไทยตามหลักสาบโลหิตตามมาตรา  7(1)  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นด้วยเช่นกัน

สรุป  บุตรทั้งสองคนได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  ทั้งนี้โดยผลของมาตรา  10  ซึ่งให้นำไปใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  พ.ร.บ.  ดังกล่าวใช้บังคับด้วย

 

ข้อ  2  นายลีเป็นคนสัญชาติเกาหลีมีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย  ได้ทำการสละสัญชาติเกาหลีเพื่อยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย  จึงเป็นผลให้นายลีได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา  10  แห่ง  พ.ร.บ.สัญชาติ  พ.ศ.2508  ต่อมานายลีถูกถอนสัญชาติไทยตามมาตรา  19  แห่ง  พ.ร.บ.สัญชาติ  พ.ศ.2508  หลังจากนั้นเกิดคดีขึ้นสู่ศาลไทยโดยประเด็นข้อพิพาทมีว่านายลีมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องสีข้าวระบบคอมพิวเตอร์จำนวน  5  เครื่องจากนายสวัสดีที่กรุงเทพฯหรือไม่  ให้ท่านวินิจฉัยว่าในประเด็นข้อพิพาทที่ว่านี้ ศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่านี้

ธงคำตอบ

มาตรา  6  วรรคสาม  สำหรับบุคคลผู้ไรสัญชาติ  ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ  ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ  ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

มาตรา  10  วรรคแรก  ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัย  เห็นว่า  ประเด็นข้อพิพาทที่ว่านายลีจะมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องสีข้าวระบบคอมพิวเตอร์จากนายสวัสดีได้หรือไม่นั้น  ถือว่าเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล  ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มารา  1 0  วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  นายลีคนสัญชาติเกาหลี  มีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศออสเตรเลีย  ได้สละสัญชาติเกาหลีและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ  ซึ่งในขณะเกิดข้อพิพาทที่ว่านี้นายลีได้ตกเป็นบุคคลไร้สัญชาติ  เพราะนายลีได้ถูกถอนสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  ดังนี้  การจะนำกฎหมายประเทศใดมาปรับแก่ข้อพิพาทดังกล่าว  จึงต้องบังคับตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  6  วรรคสาม  ซึ่งมีหลักคือ

1       ถ้าปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ  ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับหรือ

2       ถ้าไม่ปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ  ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายลีเป็นบุคคลไร้สัญชาติ  และไม่ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด  กรณีเช่นนี้จึงต้องใช้กฎหมายประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นกฎหมายที่นายลีมีถิ่นที่อยู่บังคับตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481  มาตรา  6  วรรคสาม 

ผลจึงเป็นว่า  ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายประเทศออสเตรเลียขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายลีที่ว่านี้

สรุป  ศาลไทยควรนำกฎหมายประเทศออสเตรเลียขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายลี

 

ข้อ  3  เรือแบล็คเพิร์ลทำการปล้นสินค้าและทรัพย์สินของเรือสินค้าในทะเลหลวง  หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกตำรวจน้ำของไทยจับได้  โดยห่างจากชายฝั่งกระบี่  3  กิโลเมตร  การกระทำของเรือแบล็คเพิร์ลถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่  จงอธิบาย  และศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง  ค.ศ. 1958  (Geneva  Convention  on  High  Sea  1958)  มาตรา  15  ได้ให้ความหมายของคำว่า  การโจรสลัด  ว่าต้องประกอบด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1       การกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย  โดยการใช้กำลัง  การกักขัง  หรือการกระทำอันเป็นการปล้นสะดม  ซึ่งกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว  โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือเอกชนมุ่งกระทำ

(ก)  ในทะเลหลวง  ต่อเรือหรืออากาศยานลำหนึ่ง  หรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือหรืออากาศยานเช่นว่านั้น

(ข)  ต่อเรือ  อากาศยาน  บุคคลหรือทรัพย์สินในที่ที่อยู่ภายนอกอำนาจของรัฐใด

2       การกระทำใดอันเป็นการเข้าร่วมด้วยใจสมัครในการดำเนินการของเรือ

3       การกระทำอันเป็นการยุยงหรืออำนวยความสะดวกโดยเจตนาต่อการกระทำที่ได้กล่าวไว้ในวรรค  1  หรืออนุวรรค  2  ของมาตรานี้

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  การที่เรือแบล็คเพิร์ลปล้นสินค้าและทรัพย์สินของเรือสินค้าในทะเลหลวง  ถือว่าเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยการกระทำอันเป็นการปล้นสะดมซึ่งกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว  โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือเอกชนมุ่งกระทำในทะเลหลวง  ต่อเรือหรืออากาศยานอีกลำหนึ่งจึงเป็นความผิดฐานโจรสลัดตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง  ค.ศ. 1958 มาตรา  15  ดังกล่าวข้างต้น

ส่วนการที่แบล็คเพิร์ลถูกตำรวจน้ำของไทยจับได้  ซึ่งห่างจากชายฝั่งจังหวัดกระบี่  3  กิโลเมตรนั้น  กรณีเช่นนี้ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดีได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  7(3)  ที่บัญญัติว่า  ผู้ใดกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา  339  และปล้นทรัพย์ตามมาตรา  340  ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง  จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  ซึ่งมาตรา  7(3)  นี้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้ทุกประเทศร่วมมือกันปราบปรามโจรสลัด  โดยถือหลักว่าประเทศใดจับตัวผู้กระทำผิดไว้ประเทศนั้นมีอำนาจพิพากษาลงโทษ

สรุป  การกระทำของเรือแบล็คเพิร์ลเป็นความผิดฐานโจรสลัด  และศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว

 

ข้อ  4  ถ้าผู้กระทำความผิดที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนมีสัญชาติของประเทศที่สาม  มีหลักพิจารณาในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างไร

ธงคำตอบ

อธิบาย

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดน  มีสัญชาติของประเทศที่สาม  มีหลักในการพิจารณา  ซึ่งแยกพิจารณาได้  3 ประการ  คือ

1       ฝ่ายประเทศผู้ร้องขอ

โดยอาศัยหลักสากลที่ว่า  เกิดการกระทำผิดอาญาขึ้นในดินแดนของประเทศใด  ศาลแห่งประเทศเจ้าของท้องที่  (ดินแดน)  ที่เกิดเหตุย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษบุคคลผู้กระทำความผิดได้  โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัญชาติของบุคคลนั้นแต่ประการใด  ดังนั้นเมื่อนำหลักดังกล่าวมาพิจารณา  ก็มีผลทำให้ประเทศผู้ร้องขอ  (มีคำขอ)  มีเขตอำนาจศาลเหนือคดีนั้น  จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากประเทศที่ผู้กระทำผิดมีสัญชาติ  (ประเทศที่สาม)  แต่ประการใด

2       ฝ่ายประเทศผู้รับคำขอ

โดยอาศัยหลักจุดมุ่งหมายรวมของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาในปัจจุบันที่ว่า  ประเทศต่างๆควรร่วมมือกันและปราบปรามผู้กระทำผิดอาญาและอาชญากรรมระหว่างประเทศ  มาพิจารณาก็จะมีผลให้ประเทศผู้รับคำขออาจส่งผู้กระทำความผิดให้ประเทศผู้ร้องขอ  (มีคำขอ)  มาได้  แต่อย่างไรก็ตาม  ต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมระหว่างประเทศโดยการแจ้งให้ประเทศที่สาม  (ประเทศที่ผู้กระทำความผิดมีสัญชาติ)  ทราบเสียก่อน  เพื่อวัตถุประสงค์ของการรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ  และเพื่อป้องกันตลอดจนหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหานี้อันอาจเกิดขึ้นได้ในกาลข้างหน้า

3       ฝ่ายประเทศที่สาม  (ประเทศที่ผู้กระทำความผิดมีสัญชาติ)

ภายหลังจากได้รับแจ้งจากประเทศผู้รับคำขอแล้ว  ประเทศที่สามมีสิทธิที่จะดำเนินการเกี่ยวกับปัญหานี้เพียงการสอบถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้นไปยังประเทศผู้รับคำขอเท่านั้น  โดยไม่อาจห้ามประเทศผู้รับคำขอมิให้ทำการส่งตัว  เว้นแต่ถ้าเป็นกรณีที่ห้ามส่งข้ามแดน  เช่น  คดีการเมือง  ประเทศที่สามอาจตั้งข้อสังเกตไปให้ประเทศผู้รับคำขอ  เพื่อพิจารณาทบทวนการพิจารณาส่งตัวข้ามแดนได้    

Advertisement