การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ประกอบหรือเต่ย เกิดที่จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. 2483 จากบิดามารดาเป็นญวนอพยพ ต่อมาประกอบได้สมรสกับนางสาวเหงียนทิ ญวนอพยพและมีบุตรชื่อสมจร เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 อยากทราบว่า ประกอบและสมจร บุตรจะได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไร หรือไม่ ยกเหตุผลประกอบคำตอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรา 11 บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ก่อนวันที่พะราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
วินิจฉัย
ประกอบและสมจรได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ประกอบเกิดที่จังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2483 จากบิดามารดาซึ่งเป็นญวนอพยพ กรณีจึงถือได้ว่าประกอบเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)
เมื่อประกอบสมรสกับนางสาวเหงียนทิ ญวนอพยพและเกิดบุตรคือ สมจร ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ก่อนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515) กรณีเช่นนี้ สมจรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิต ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) เพราะในขณะที่สมจรเกิดนั้น ประกอบบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ ประกอบจึงถูกถอนสัญชาติไทย เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว และในขณะเกิดนั้น บิดาได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)
อนึ่งการที่ประกอบถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ก็ไม่มีผลกระทบถึงสมจร เนื่องจากในขณะที่สมจรเกิด ประกอบบิดายังมีสัญชาติไทยอยู่ และการได้สัญชาติไทยของสมจรเป็นการได้มาตามหลักสายโลหิต มิใช่หลักดินแดน ดังนั้นแม้ต่อมาประกอบจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติของบุตรด้วยแต่ประการใด (ฎ. 1204 –1205/2533 ฎ. 1513 – 1514/2531) สมจรจึงยังคงได้สัญชาติไทย
แต่ครั้นถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ ยอมทำให้ประกอบไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก เพราะในขณะที่เกิด บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว และทั้งบิดาและมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกำหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 11 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ซึ่งทำให้ประกอบไม่ได้รับสัญชาติไทยถือว่าเป็นผลร้ายยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดโดยตรง กรณีจึงไม่ย้อนกลับไปใช้บังคับ บังคงบังคับตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เพราะในข้อเท็จจริงเดียวกันมีกฎหมายเป็นโทษบังคับหลายฉบับ ให้บังคับตามกฎหมายที่เป็นโทษน้อยที่สุด
สรุป ประกอบได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ต่อมาถูกถอนสัญชาติตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ส่วนสมจร ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด
ข้อ 2 นายสมชาติคนสัญชาติไทยทำสัญญาซื้อกระเป๋าเอกสารฝังมุกจากนายเจียง คนสัญชาติจีน และขณะทำสัญญากระเป๋าเอกสารนั้นก็อยู่ที่ประเทศจีน นายสมชาติและนายเจียงตกลงกันว่าหากกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของจีนกำหนดว่า แบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นทำขึ้น และกฎหมายภายในของจีนกำหนดว่าการซื้อขายเครื่องประดับที่ประดับด้วยทองคำ เพชร หรือมุกต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
ปรากฏว่าการซื้อขายรายนี้ทำเป็นหนังสือแต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายสมชาติผิดสัญญาไม่ยอมชำระราคาและรับมอบกระเป่านั้น นายเจียงจึงฟ้องนายสมชาติต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายเพราะผิดสัญญา นายสมชาติต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ เพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตนจึงไม่ผูกพันหรือต้องรับผิดตามสัญญา หากท่านเป็นศาลไทยจะวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายรายนี้เป็นโมฆะหรือไม่ เพราะเหตุใด พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 9 วรรคแรก นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้น
มาตรา 13 วรรคแรกและวรรคท้าย ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น
สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลแห่งสัญญานั้น
วินิจฉัย
นายสมชาติคนสัญชาติไทยทำสัญญาซื้อขายกระเป๋าเอกสารฝังมุกจากนายเจียง คนสัญชาติจีน และขณะทำสัญญา นายสมชาติและนายเจียงตกลงกันว่าหากกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย กรณีเช่นนี้แม้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 9 วรรคแรก จะกำหนดให้ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคท้าย กำหนดว่าสัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ
หากได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของสัญญา ในกรณีนี้กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาจึงได้แก่ กฎหมายไทยตามเจตนาของคู่กรณีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคแรก
สำหรับกรณีนี้แม้การซื้อขายกระเป๋าดังกล่าวจะได้ทำเป็นหนังสือแต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยมิได้มีบทมาตราใดบังคับว่าการซื้อขายเครื่องประดับหรือกระเป๋าที่ประดับด้วยทองคำ เพชร หรือมุก ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ตกลงด้วยวาจาก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว
ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างนายสมชาติและนายเจียงจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ การที่นายเจียงได้มาฟ้องนายสมชาติต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุผิดสัญญา นายสมชาติสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ ข้อต่อสู้ของนายสมชาติจึงฟังไม่ขึ้น นายสมชาติต้องรับผิดตามสัญญา
สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาลไทย จะวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายรายนี้สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ
ข้อ 3 บริษัท ไทย – อิตาลี ซับพลายเออร์ จำกัด เป็นบริษัทรับจัดหาสินค้าส่งต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีนายโทนี่คนสัญชาติอิตาลีเป็นผู้จัดการบริษัท ปรากฏว่า นายโทนี่ยักยอกรายได้ของบริษัท โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารของตนที่ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 5 ปี ดังนี้ กากระทำของนายโทนี่เป้นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
การที่นายโทนี่ ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทได้ทำการยักยอกรายได้ของบริษัทฯ โดยโอนเข้าบัญชีของตนที่ธนาคารในประเทศอิตาลี กากระทำของนายโทนี่ดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes” ซึ่งหมายถึงการกระทำความผิดโดยบุคคลที่แต่งตัวสะอาดโก้หรู มีตำแหน่งหน้าที่การงานและใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนมาเป็นประโยชน์ในการประกอบความผิด
ซึ่งลักษณะของการกระทำผิดประเภทนี้ มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทุจริต การยักยอกหรือฉ้อโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่างๆ รวมตลอดการขโมย หรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือปลอมแปลงสัญญาหรือตั๋วเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค เป็นต้น ตัวอย่างเช่นพวกพ่อค้าหรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่างๆ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด เป็นต้น
สรุป กากระทำของนายโทนี่ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes”
ข้อ 4 นาย John คนสัญชาติอังกฤษ เป็นหัวหน้ากลุ่มต่อต้านระบบนายทุนต่างชาติที่มาทำธุรกิจในประเทศของตน ได้วางระเบิดห้างสรรสินค้าต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดใน London ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แล้วหลบหนีความผิดไปประเทศฝรั่งเศส ต่อมาประเทศอังกฤษได้ขอให้ประเทศฝรั่งเศสส่งตัวนาย John กลับมารับการพิจารณาคดีในความผิดที่ได้ทำไว้ นาย John ได้ต่อสู้คดีว่าสการกระทำดังกล่าวเป้นความผิดทางการเมืองจึงห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนและสามารถขอลี้ภัยทางการเมืองได้ อยากทราบว่าประเทศฝรั่งเศสจะตัดสินใจอย่างไร และเพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศฝรั่งเศสนั้น เป็นไปตามหลักว่าด้วยการกระทำที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ ซึ่งหมายถึง การกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อธรรมนูญการปกครอง หรือส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐอันประกอบด้วยอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร รวมทั้งรัฐบาลด้วย โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างระบบการปกครองของประเทศในหลักใหญ่
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นว่าการกระทำของนาย John คนสัญชาติอังกฤษที่ได้วางระเบิดห้างสรรพสินค้าจนมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น เป็นเพียงการกระทำความผิดของผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านระบบนายทุนต่างชาติเท่านั้น ไม่ได้มีรูปแบบการปกครองในอุดมคติ หรือต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างระบบการปกครองแต่ประการใด กากระทำของนาย John ดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง ตามหลักการของประเทศฝรั่งเศส
ดังนั้น เมื่อนาย John ได้หลบหนีความผิดเข้ามายังประเทศฝรั่งเศส กรณีเช่นนี้ประเทศฝรั่งเศสจึงสามารถตัดสินใจส่งนาย John กลับประเทศอังกฤษตามคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ เพราะเป็นความผิดอาญาที่ไม่ได้ห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่ประการใด
สรุป ประเทศฝรั่งเศสสามารถตัดสินใจส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้