การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายถ่าย  ฮวางวัน  เกิดที่จังหวัดสกลนคร  เมื่อปี  พ.ศ. 2512  จากบิดาคือนายยุง  ฮวางวัน  ซึ่งเป็นญวนอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิชอบ  และมารดาคือ  นางเวียง  ห่อตัน  บุตรณวนอพยพ  นางเวียง  ห่อตัน  เกิดที่จังหวัดนครพนม  มีใบต่างด้าวเลขที่  7/2498  และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายยุง  ฮวางวัน  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายถ่าย  ฮวางวัน  ได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย  ถ้าในขณะที่เกิด  บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

มาตรา  11  บทบัญญัติมาตรา  7  ทวิ  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย  เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ลงวันที่  13  ธันวาคม  2515  ก่อนวันที่พะราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3)  ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

วินิจฉัย

นายถ่าย  ฮวางวัน  ได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  นายถ่าย  ฮวางวัน  เกิดที่จังหวัดสกลนคร  เมื่อ  พ.ศ. 2512  กรณีนี้ถือว่านายถ่าย  ฮวางวัน  เป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ย่อมได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)

ต่อมาวันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ.2515  ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับ  นายถ่าย  ฮวางวัน  ก็ไม่ถูกถอนสัญชาติไทย  ตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  เพราะนางเวียง  ห่อตัน  มารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  โดยมีใบสำคัญคนต่างด้าวด้วย  (ในกรณีนี้  บิดา  คือ  นายยุง  ฮวางวัน  เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ  ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางเวียง  ห่อตัน  จึงไม่จำต้องพิจารณาตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  ซึ่งจำกัดเฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น)

อนึ่งเมื่อ  พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535)  ย่อมมีผลทำให้นายถ่าย  ฮวางวัน  ไม่ได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่เกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ (ฉบับที่  2) พ.ศ.2535  มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  เพราะนายถ่าย  ฮวางวัน  เป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว  และในขณะที่เกิดบิดาเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ทั้งนี้โดยผลของมาตรา  11  ของ  พ.ร.บ.  ดังกล่าวได้กำหนดให้บทบัญญัติมาตรา  7  ทวิ  มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  อันเป็นวันที่  พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  ใช้บังคับด้วย           

แต่อย่างไรก็ตาม  การบังคับใช้มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  ซึ่งทำให้นายถ่าย  ฮวางวัน  ไม่ได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่เกิดเลยนั้น  ถือว่าเป็นผลร้ายยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดโดยตรง  กรณีจึงไม่ย้อนกลับไปใช้บังคับด้วย  ยังคงบังคับตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  เพราในข้อเท็จจริงเดียวกัน  ถ้ามีกฎหมายเป็นโทษบังคับหลายฉบับ  ให้บังคับตามกฎหมายที่เป็นโทษน้อยที่สุด  ดังนั้น  นายถ่าย  ฮวางวัน  จึงยังคงได้รับสัญชาติไทย  ตาม  พ.ร.บ.  สัญญาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)

สรุป  นายถ่าย  ฮวางวัน  ยังคงได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)

 

ข้อ  2  นายชาญชัยคนสัญชาติไทยได้ทำสัญญาซื้อเครื่องปรับอากาศจำนวน  40  เครื่องจากนายเอคนสัญชาติอเมริกันซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ  โดยทำสัญญาฉบับนี้กันที่สิงคโปร์และขณะทำสัญญาเครื่องปรับอากาศทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่สิงคโปร์  เมื่อซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าคอมเพรสเซอร์ตัวควบคุมความเย็นของเครื่องปรับอากาศทั้ง  40  เครื่องนั้นอยู่ในสภาพชำรุดใช้การไม่ได้  นายชาญชัยจึงขอเปลี่ยน  แต่นายเอไม่ยอมเปลี่ยนให้  โดยโต้แย้งว่าตนในฐานะผู้ขายไม่จำต้องรับผิดในกรณีการชำรุดที่ว่านี้  ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่าคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่พิพาทที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  หากศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ของสัญญาฉบับนี้ไว้พิจารณา  ศาลไทยควรจะนำกฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านี้  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

  มาตรา  13  วรรคแรก ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น  ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี  ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสำคัญหรือผลของสัญญานั้น  กรณีเป็นไปตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคแรก  ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็นกรณีตามลำดับได้ดังนี้

1       กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง  หรือโดยปริยายให้นำมาใช้บังคับ  ก็ให้นำกฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ

2       กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่สัญญา

(ก)  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ

(ข)  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

ศาลไทยควรจะนำกฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านายเอ  (ผู้ขาย)  จะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สิน  (เครื่องปรับอากาศ)  ที่ซื้อขายกันหรือไม่นั้น  เห็นว่า  กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าให้นำกฎหมายประเทศใดมาใช้บังคับแก่สัญญา  จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ว่าคู่สัญญาจะให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ผลของสัญญา  ทั้งนายชาญชัยและนายเอคู่สัญญาก็ไม่ได้มีสัญชาติเดียวกัน  กรณีเช่นนี้กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่  กฎหมายสิงคโปร์  ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาฉบับนี้ขึ้นทำตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคแรก

ดังนั้น  หากได้ความว่าศาลไทยรับข้อพิพาทที่ส่านี้ไว้พิจารณา  ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายสิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าว

สรุป  ศาลไทยควรนำกฎหมายสิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  3  เครื่องบินสายการบินแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องบินจดทะเบียนประเทศอิตาลี  มีกำหนดการเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศอิตาลี  ขณะที่เครื่องบินอยู่เหนือทะเลหลวง  นายเบนคนสัญชาติอังกฤษขู่ว่าตนจะนำระเบิดติดตัวขึ้นมาด้วย  และจะระเบิดเครื่องบินหากนักบินไม่นำเครื่องลงจอดที่ประเทศอังกฤษ  แต่ลูกเรือไม่เชื่อจึงช่วยกันจับตัวนายเบนไว้  ปรากฏว่าไม่พบระเบิดแต่อย่างใด  และเที่ยวบินดังกล่าวก็ถึงประเทศอิตาลีตามเวลาที่กำหนด

กรณีดังกล่าวประเทศใดมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีตามอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยการกระทำผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963

ธงคำตอบ

เขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยกากระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  มีบัญญัติไว้ในมาตรา  3  ซึ่งได้บัญญัติให้อำนาจรัฐซึ่งเครื่องบินนั้นทำการจดทะเบียน  (The  state  of  registration  of  the  aircraft)  หรือรัฐเจ้าของสัญชาติ  เจ้าของธงของเครื่องบินนั้น  มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินของตนได้

นอกจากนี้มาตรา  4  ยังบัญญัติให้อำนาจรัฐอื่นๆ  ซึ่งมิใช่รัฐที่เครื่องบินนั้นทำการจดทะเบียน  มีอำนาจพิจารณาความผิดฐานสลัดอากาศด้วย  ได้แก่

1       ในกรณีที่ความผิดนั้นมีผลบนดินแดนแห่งรัฐใด  รัฐนั้นมีอำนาจพิจารณา

2       รัฐซึ่งผู้กระทำความผิดนั้นมีสัญชาติหรือมีถิ่นที่อยู่เป็นการถาวร  หรือหากเป็นเรื่องที่ความผิดนั้นกระทำต่อคนสัญชาติ  หรือผู้ที่มีถิ่นที่อยู่เป็นการถาวรในรัฐใด  รัฐนั้นๆก็มีอำนาจพิจารณา

3       ในกรณีที่ความผิดกระทบต่อความมั่นคงของรัฐใด  รัฐนั้นมีอำนาจพิจารณา

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า  เครื่องบินสายการบินที่นายเบนขู่ว่าจะระเบิดหากนักบินไม่นำเครื่องลงจอดที่ประเทศอังกฤษนั้น  เป็นเครื่องบินที่จดทะเบียนที่ประเทศอิตาลี  กรณีเช่นนี้  ประเทศอิตาลีจึงมีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินของตนได้ ตามอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยกากระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  มาตรา  3

และในกรณีนี้ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่นายเบนผู้กระทำความผิดมีสัญชาติ  ย่อมมีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินดังกล่าวได้  ตามอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยกากระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  มาตรา  4

สรุป  กรณีดังกล่าวประเทศที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีความผิดอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  ได้แก่ประเทศอิตาลีหรือประเทศอังกฤษ

 

ข้อ  4  จงระบุหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความผิดในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

อธิบาย

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความผิดในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน  มีดังนี้คือ

1       ต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง  เพราะมีหลักห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีการเมือง

2       ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ  หรือคดีที่ศาลของประเทศใด  ได้พิจารณาพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้

3       ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า  1  ปี

4       ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวได้กระทำไปนั้น  ต้องเป้นความผิดต่อกฎหมายอาญาของทั้งสองประเทศ  คือประเทศที่มีคำขอและประเทศที่ถูกขอให้ส่งตัว

Advertisement