การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางปราณีเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นบุตรของนายยิน นางเกียว แซ่ผ่าน สามีภรรยาสัญชาติญวณซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเลขที่ 6 – 7/2497 ออกให้ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาปราณีอยู่กินกับนายกู๋ แซ่โง ญวณอพยพโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรที่ จ.อุบลฯ สามคน เมื่อปี พ.ศ. 2511, 2512 และ 2516 ตามลำดับ เจ้าหน้าที่กิจการญวณอพยพได้ใส่ชื่อนายกู๋นางปราณีและบุตรลงในทะเบียนบ้านคนญวณอพยพเลขที่ 108/8 ถนนอุปราช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2525 ปราณีและบุตรทั้งสามคนขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่ออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าว โดยอ้างว่าตนมีสัญชาติไทย ข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และปัจจุบัน ปราณีและบุตรมีสัญชาติไทยหรือไม่ บกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
มาตรา 10 บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ปัจจุบันปราณีและบุตรทั้ง 3 คน มีสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ปราณีเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีถือว่าปราณีเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(3)
ต่อมาได้ความว่า ปราณีอยู่กินกับนายกู๋ แซ่โง ญวณอพยพโดยไม่จดทะเบียนสมรสและเกิดบุตรที่จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 3 คน สำหรับบุตร 2 คนแรกนั้น เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) จึงได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3))
อนึ่งเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว
1 ปราณีไม่ถูกถอนสัญชาติไทย เพราะแม้ได้ความว่าปราณีจะเกิดจากนายยินและนางเกียว แซ่ผ่าน สามีภรรยาสัญชาติญวณ แต่ในขณะที่ปราณีเกิดนั้น นายยินและนางเกียว แซ่ผ่าน ได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงไม่ต้องด้วยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) แต่อย่างใด ปราณีจึงยังคงมีสัญชาติไทย
2 บุตร 2 คนแรกนั้นไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) เพราะปราณีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนายกู๋บิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 2450/2526) บุตร 2 คนแรกจึงยังคงมีสัญชาติไทย
3 สำหรับบุตรคนที่ 3 แม้จะเกิดภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้ว ก็ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เช่นกัน เพราะไม่เข้าข้อยกเว้น ตามข้อ 2 และข้อ 1(3) เนื่องจากปราณีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนายกู๋บิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวก็มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) บุตรทั้ง 3 คนกลับได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 7(1) มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น บุตรทั้ง 3 คนจึงได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด เพราะมารดา คือ ปราณีเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า การที่ปราณีและบุตรทั้ง 3 คน จะขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่ออกจากทะเบียนบ้านคนญวณอพยพ โดยอ้างว่าตนมีสัญชาติไทยนั้น ข้ออ้างดังกล่าวรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า โดยหลักแล้ว การได้ การเสีย หรือการกลับคืนสัญชาติ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่กิจการญวณอพยพได้ใส่ชื่อปราณีและบุตรทั้ง 3 คนลงในทะเบียนบ้านคนญวณอพยพ ย่อมไม่มีผลทำให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายอยู่แล้ว ต้องสูญเสียสัญชาติไทยและกลายเป็นคนสัญชาติญวณแต่อย่างใด การลงชื่อในทะเบียนคนญวณอพยพเป็นเพียงการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ไม่มีผลลบล้างกฎหมายสัญชาติเป้นอย่างอื่นไปได้ (ฎ. 2318 –2319/2530) ข้ออ้างของปราณีและบุตรทั้ง 3 คน จึงฟังขึ้น
สรุป ปัจจุบันปราณีได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) และบุตรทั้ง 3 คนได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) โดยผลของมาตรา 10 ซึ่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด ส่วนข้ออ้างของปราณีและบุตรทั้ง 3 คนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยนั้นฟังขึ้น
ข้อ 2 นายเฮงเกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติจีน แต่เกิดและมีภูมิลำเนาในประเทศฟิลิปปินส์ ตามกฎหมายจีนบุคคลย่อมได้สัญชาติจีนหากเกิดจากบิดาเป็นจีน ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศจีนและตามกฎหมายฟิลิปปินส์บุคคลย่อมได้สัญชาติฟิลิปปินส์หากเกิดในประเทศฟิลิปปินส์ กฎหมายจีนยังกำหนดไว้อีกว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆได้เมื่ออายุครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่ตามกฎหมายฟิลิปปินส์ต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ในขณะที่นายเฮงมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์ม จำนวน 60 เครื่องจากนายเมตตาคนสัญชาติไทยในประเทศไทย หลังจากนั้นนายเฮงและนายเมตตามีคดีขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่านายเฮงมีความสามารถทำสัญญาที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า ศาลไทยควรวินิจฉัยอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 6 วรรคสอง ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป อันได้รับมาคราวเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ ในกรณีใดๆที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม
มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์
วินิจฉัย
ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่านายเฮงมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มจากนายเมตตาคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเฮงมีทั้งสัญชาติจีนและฟิลิปปินส์ซึ่งได้รับมาในขณะเดียวกัน(ได้รับมาพร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายเฮงมีภูมิลำเนาอยู่ อันได้แก่ กฎหมายฟิลิปปินส์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสอง ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายฟิลิปปินส์แล้ว นายเฮงย่อมไม่มีความสามารถทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆ ได้เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทำนิติกรรมนายเฮงมีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ดี แม้นายเฮงจะไร้ความสามารถในการทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่านายเฮงคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังนี้คือ
1 คนต่างด้าวนั้นได้ทำนิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก
2 ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดในการทำนิติกรรมตาม ข้อ 1
3 แต่ตามกฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมตามข้อ 1) ได้
ฉะนั้นแล้ว การที่นายเฮงได้ทำนิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของนายเฮง (ฟิลิปปินส์) ก็ถือว่านายเฮงไร้ความสามารถหรือมมีความสามารถอันจำกัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว นายเฮงมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้ เพราะถือว่านายเฮงบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้นศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่านายเฮงมีความสามารถทำสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง
สรุป ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายเฮงมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มดังกล่าวได้
ข้อ 3 เครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง มีกำหนดการเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศออสเตรเลียขณะที่เครื่องกำลังจะขึ้นบินนายโรนันโด้คนสัญชาติบราซิลได้อ้างว่าตนมีปืนและจะยิงผู้โดยสารหากนักบินไม่เปลี่ยนเส้นทางไปประเทศบราซิล อย่างไรก็ตามพนักงานบนเครื่องได้ช่วยกันจับตัวนายโรนันโด้ไว้ได้ ปรากฏว่าไม่พบอาวุธที่นายโรนันโด้กล่าวและเที่ยวบินดังกล่าวสามารถถึงประเทศออสเตรเลียได้ตามกำหนดการเดิม
การกระทำของนายโรนันโด้ถือว่าเป็นความผิดตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยบิชอบ ค.ศ. 1970 หรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
วินิจฉัย
อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 ให้นิยามของคำว่า สลัดอากาศ ว่าหมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลำนั้นกระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน โดยใช้กำลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยานหรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน ทั้งนี้ รวมถึงการพยายามกระทำความผิด
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของนายโรนันโด้ถือว่าเป็นความผิดตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 หรือไม่ เห็นว่า การกระทำของนายโรนันโด้ซึ่งอยู่ในเครื่องบินลำนั้นที่เรียกร้องให้นักบินเปลี่ยนทิศทางเครื่องบินไปร่อนลงที่ประเทศบราซิล แทนที่จะไปยังประเทศออสเตรเลียตามกำหนดการเดิม ถือเป็นการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยานซึ่งเป็นการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อที่จะยึดอากาศยานหรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน และแม้นายโรนันโด้จะถูกพนักงานบนเครื่องบินจับตัวได้ และไม่พบอาวุธตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด และเที่ยวบินดังกล่าวก็สามารถไปถึงประเทศออสเตรเลียได้ตามกำหนดการเดิม การกระทำดังกล่าวของนายโรนันโด้ก็ยังถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดดารยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 ทั้งนี้เพราะความผิดดังกล่าวได้บัญญัติให้รวมถึงการพยายามกระทำความผิดด้วย
สรุป การกระทำของนายโรนันโด้ ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1
ข้อ 4 จงบอกเหตุผลสำคัญที่รัฐผู้รับคำขอควรร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องขอของรัฐผู้ร้องขอมาโดยถูกต้องและครบถ้วน
ธงคำตอบ
อธิบาย
การส่งผู้ร้ายข้ามแดน คือ การที่รัฐซึ่งบุคคลนั้นไปปรากฏตัวอยู่ส่งมอบตัวผู้ต้องหาหรือผู้ซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษแล้วไปยังรัฐซึ่งผู้นั้นต้องหาว่าได้กระทำความผิดอาญา หรือถูกพิพากษาให้ลงโทษทางอาญาแล้ว ในดินแดนของรัฐที่ขอให้ส่งตัว
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อประเทศหนึ่งร้องขอแล้วประเทศที่รับคำขอก็ควรจะส่งตัวให้ตามคำขอ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่รัฐผู้รับคำขอควรร่วมมือในการไม่ปฏิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ตามคำขอของรัฐผู้ร้องขอ คือ
1 เพื่อร่วมมือกันระหว่างประเทศในการปราบปรามและป้องกันการกระทำความผิดอาญา เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์ร่วม (Common Goal) คือความสงบสุขของประชากรโลก
2 เพื่อเป็นการยืนยันหลักการที่ว่าผู้กระทำผิดต้องได้รับการลงโทษ
3 เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดอาศัยการหลบหนีเพื่อมิให้ถูกลงโทษได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักการทั่วไปดังกล่าว ก็ยังมีข้อยกเว้นให้ผู้กระทำผิดดังกล่าวไม่ต้องถูกส่งตัว อยู่ 3 ประการ คือ
1 ลักษณะความผิด เช่น เป็นความผิดทางการเมือง ความผิดต่อกฎหมายพิเศษ ความผิดต่อกฎหมายการพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา เป็นต้น
2 สัญชาติของผู้กระทำความผิด
3 ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทำความผิด เช่น บุคคลในคณะทูต บุคคลที่สั่งให้ปล่อยตัวแล้ว เป็นต้น