การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 (LA 406),(LW 405) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสุนัยเกิดที่จังหวัดมุกดาหารเมื่อ  18  กรกฎาคม  พ.ศ. 2510  จากบิดาคือ  นายวัน  คนสัญชาติญวณ  ซึ่งลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี  พ.ศ.  2497  และมารดาคือ  นางวันดี  คนสัญชาติไทย  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นายสุนัยได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

มาตรา  10  บทบัญญัติมาตรา  7(1)  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

วินิจฉัย

นายสุนัยได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  นายสุนัยเกิดที่จังหวัดมุกดาหาร  เมื่อวันที่  18  กรกฎาคม  พ.ศ. 2510  กรณีถือว่านายสุนัยเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตาม  พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)

ต่อมาวันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ. 2515  ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับ  นายสุนัยจึงถูกถอนสัญชาติไทย  เพราะในขณะที่นายสุนัยเกิด  นายวันบิดาได้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอันถือว่าบิดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อ  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535) และได้บัญญัติให้ถูกยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ย่อมมีผลทำให้นายสุนัยกลับมาได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร  ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด  ทั้งนี้โดยผลของมาตรา  10  ของ  พ.ร.บ.  ดังกล่าวที่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา  7(1)  มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  อันเป็นวันที่  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  ใช้บังคับด้วย ดังนั้นนายสุนัยจึงได้รับสัญชาติไทยโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด  เพราะมารดา  คือ  นางวันดีเป็นผู้มีสัญชาติไทย

สรุป  นายสุนัยได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  และถูกถอนสัญชาติไทย  ตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  แต่เมื่อ  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มีผลใช้บังคับ  นายสุนัยกลับได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่เกิดเพราะมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย

 

ข้อ  2  นายหู  เกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติจีน  แต่เกิดและมีภูมิลำเนาในประเทศเวียดนาม  ตามกฎหมายจีน  บุคคลย่อมได้สัญชาติจีนหากเกิดจากบิดาเป็นจีนไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศจีนและตามกฎหมายเวียดนาม  บุคคลย่อมได้สัญชาติเวียดนามหากเกิดในประเทศเวียดนาม  กฎหมายจีนยังกำหนดไว้อีกว่า  บุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆได้เมื่ออายุครบ  19  ปีบริบูรณ์  แต่กฎหมายเวียดนามต้องมีอายุครบ  21  ปีบริบูรณ์  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ในขณะที่นายหูมีอายุ  20  ปีบริบูรณ์ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องแยกเมล็ดข้าวจำนวน  8  เครื่องจากนายอวยชัยคนสัญชาติไทยในประเทศไทย  หลังจากนั้นนายหูและนายอวยชัยมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย  โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่า  นายหูมีความสามารถทำสัญญาที่ว่านี้หรือไม่  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าศาลไทยควรวินิจฉัยอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  6  วรรคสอง  ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ  และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป  อันได้รับมาคราวเดียวกัน  ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่บังคับ  ถ้าบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่  ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ  ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ  ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ  ในกรณีใดๆที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล  ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย  กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่  กฎหมายแห่งประเทศสยาม

มาตรา  10  วรรคแรกและวรรคสอง  ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม  ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น  ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม  ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  19  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์

วินิจฉัย

ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร  เห็นว่า  ปัญหาข้อพิพาทที่ว่านายหูมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องแยกเมล็ดข้ามจากนายอวยชัยคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น  ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล  ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  10  วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายหูมีทั้งสัญชาติจีนและเวียดนามซึ่งได้รับมาในขณะเดียวกัน(ได้รับมาพร้อมกัน)  กรณีเช่นนี้  กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ  คือ  กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายหูมีภูมิลำเนาอยู่  อันได้แก่  กฎหมายเวียดนามตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  6  วรรคสอง  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายเวียดนามแล้ว  นายหูย่อมไม่มีความสามารถทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้  เนื่องจากตามกฎหมายเวียดนามกำหนดว่า  บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆ  ได้เมื่อมีอายุครบ  21 ปีบริบูรณ์  เมื่อในขณะทำนิติกรรมนายหูมีอายุเพียง  20  ปี  จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี  แม้นายหูจะไร้ความสามารถในการทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ  แต่อาจถือได้ว่านายหูคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้  หากเข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังนี้คือ

1)    คนต่างด้าวนั้นได้ทำนิติกรรมขึ้นในประเทศไทย  ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2)    ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น  ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดในการทำนิติกรรมตาม  ข้อ  1

3)    แต่ตามกฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมตามข้อ  1)  ได้

ฉะนั้นแล้ว  การที่นายหูได้ทำนิติกรรมในประเทศไทย  ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก  และตามกฎหมายสัญชาติของนายหู  (เวียดนาม)  ก็ถือว่านายหูไร้ความสามารถหรือมมีความสามารถอันจำกัด  แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว  นายหูมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้  เพราะถือว่านายหูบรรลุนิติภาวะแล้วตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  19  ดังนั้นศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่านายหูมีความสามารถทำสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  10  วรรคสอง

สรุป  ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายหูมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องแยกเมล็ดข้าวดังกล่าวได้

 

ข้อ  3  อยากทราบว่าข้อบกพร่องที่สำคัญของอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน  ค.ศ. 1971  มีอยู่หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

อธิบาย

ในปัจจุบัน  มีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินและการก่อวินาศกรรมอยู่  3  ฉบับด้วยกัน  คือ

1       อนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  (The  Tokyo  Convention  of  Offences  Committed on  board  Aircraft  of  1963)

2       อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  (The  Hague  Convention  for  the  Suppression of  Unlawful  Seizure  of  Aircraft  1970)

3       อนุสัญญามอลทรีล  ว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน  ค.ศ. 1971  (The  Montreal  Convention  for  the  Suppression  of  Unlawful  Acts  Against  the  Safety  of  Civil  Aviation  1972)

อนุสัญญา  2  ฉบับแรกนั้นเกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินโดยเฉพาะ  ส่วนอนุสัญญาหลังกว้างครอบคลุมถึงการกระทำทุกชนิดที่กระทบต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ

อนุสัญญาทั้ง  3  ฉบับนี้  แม้จะได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความผิด  เขตอำนาจศาล  และสร้างพันธะให้แก่รัฐภาคีในอันที่ต้องลงโทษผู้กระทำความผิด  แต่อย่างไรก็ตาม  ก็มิได้หามาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะลงโทษรัฐภาคีที่ทำการละเมิดพันธะที่กำหนดไว้  กรณีจึงถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญของอนุสัญญาทั้ง  3  ฉบับดังกล่าว

 

ข้อ  4  จงอธิบายเจตนารมณ์และผลทางกฎหมายของ  Attentat  Clause

ธงคำตอบ

อธิบาย

โดยเหตุที่มีความผิดบางประเภทซึ่งมีลักษณะทางการเมือง  แต่หลายประเทศกำหนดไว้ไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง  ข้อกำหนดหรือบทบัญญัติในเรื่องนี้เรียกว่า  Attentat  Clause  ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า  บทบัญญัติเกี่ยวกับการประทุษร้าย  ซึ่งประเทศเบลเยียมนำมาใช้เป็นประเทศแรก  โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของตนเมื่อ  ค.ศ. 1865  หลังจากที่ศาลเบลเยียมปฏิเสธไม่ส่งตัวผู้กระทำความผิดฐานพยายามปลงพระชนม์พระเจ้านโปเลียนที่  3  ไปให้ฝรั่งเศสในคดี  Jacquin  ค.ศ. 1854

กล่าวคือ  ข้อกำหนดหรือบทบัญญัติ  Attentat  Clause  นี้  เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา  6  แห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเบลเยียม  ค.ศ. 1833  ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม  โดยเพิ่มข้อความลงไปอีกวรรค  (Clause)  หนึ่ง  ซึ่งมีข้อความดังนี้  การประทุษร้ายต่อบุคคลผู้เป็นประมุขของรัฐบาลต่างประเทศหรือบุคคลซึ่งอยู่ในเครือญาติหรือราชสกุลของประมุขนั้น  ไม่ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดทางการเมืองหรือเป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเมือง  หากปรากฏว่าเป็นการประทุษร้ายที่เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  หรือลอบฆาตกรรม  หรือเป็นฆาตกรรมด้วยพยายามมาดหมายหรือด้วยการวางยาพิษ

สำหรับเจตนารมณ์ทางการกฎหมายของ  Attentat  Clause  นี้  มุ่งหมายที่จะไม่ให้ถือว่าความผิดฐานประทุษร้ายต่อชีวิตที่กระทำต่อประมุขของประเทศหรือบุคคลในครอบครัวประมุขของประเทศเป็นความผิดทางการเมือง

ส่วนผลของ  Attentat  Clause  นั้น  ทำให้ความหมายของคดีการเมืองแคบลง  กล่าวคือ  เมื่อมีฆาตกรรมเข้าในลักษณะนี้แล้วย่อมส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้

Advertisement