การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 (LA 406),(LW 405) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.       นายเก้าคนสัญชาติไทยทำสัญญาซื้อโต๊ะประดับมุกวัตถุโบราณ 1 ตัวจากนายคำคนสัญชาติลาว และขณะทำสัญญาโต๊ะก็อยู่ที่ประเทศลาว   นายเก้าและนายคำตกลงกันว่าหากกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย 

กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของลาวกำหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นทำขึ้น  และกฎหมายภายในของลาวกำหนดว่าการซื้อขายวัตถุโบราณต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การซื้อขายโต๊ะฯ ที่ว่านี้คงทำเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ต่อมานายเก้าผิดสัญญาไม่ยอมชำระราคาและรับมอบโต๊ะ นายคำจึงฟ้องนายเก้าต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญา  นายเก้าต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตนจึงไม่ผูกพันหรือรับผิดตามสัญญา

ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าสัญญาซื้อโต๊ะฯ ที่ว่านี้เป็นโมฆะหรือไม่  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ 

แม้ตาม ม. 9 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 กำหนดให้ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นทำขึ้นตาม แต่ ม. 13 วรรคท้ายกำหนดว่า สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะหากได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของสัญญา ในกรณีนี้ กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาได้แก่ กฎหมายไทยตามเจตนาของคู่กรณี (ม. 13 วรรค 1) ในเมื่อประมวลแพ่งและพาณิชย์ของไทยไม่บังคับว่าการซื้อขายวัตถุโบราณต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ผลจึงเป็นว่า สัญญาซื้อโต๊ะฯ ที่ว่านี้จึงไม่เป็นโมฆะ

ข้อ 2.       นายกรรชัยเป็นนักธุรกิจได้ให้เงินสนับสนุนพรรครักชาติสุดชีวิตเป็นเงิน 10 ล้านบาทเพื่อแลกกับการประมูลสร้างโรงพยาบาล และปรากฏว่านายกรรชัยได้หลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากการขายหุ้นเป็นเงิน 80 ล้านบาทด้วย  ดังนั้นเพื่อมิให้ถูกจับจึงหนีไปประเทศอังกฤษและขอลี้ภัยทางการเมืองด้วย  รัฐบาลไทยขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งตัวนายกรรชัยกลับมาพิจารณาคดี

อยากทราบว่ากรณีตามอุทาหรณ์รัฐบาลอังกฤษจะตัดสินใจอย่างไร  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

กรณีตามอุทาหรณ์ รัฐบาลอังกฤษต้องพิจารณาโดยใช้หลักของประเทศอังกฤษ คือ การกระทำนี้จะเป็นคดีการเมืองของอังกฤษต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ

1. ต้องเป็นการกระทำในขณะไม่มีความสงบทางการเมือง

2. มีความขัดแย้งระหว่างพรรคหรือกลุ่ม

3. ต่างฝ่ายต่างพยายามให้อีกฝ่ายยอมรับรูปแบบการปกครองของคณะ

ดังนั้น การที่นายกรรชัยเพียงแค่ได้กระทำการนี้เป็นเพียงเกี่ยวเนื่องกับพรรคการเมือง ทั้งยังทำความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศโดยการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี รัฐบาลอังกฤษจึงสามารถส่งนายกรรชัยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้กับรัฐบาลไทยตามคำขอได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การเป็นการกระทำความผิดทางการเมืองของประเทศอังกฤษแต่ประการใด

ข้อ 3.       ตามข่าววันที่ 28 กันยายน 2551  จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ฉบับที่ 18513 ที่รายงานว่าได้มีการปล้นเรือสินค้าในเขตน่านน้ำอ่าวเอเดน  และเขตมหาสมุทรอินเดียยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลหลายประเทศต่างร่วมมือกันส่งเรือลาดตระเวนคุ้มกันเรือเดินสมุทรที่แล่นผ่านพื้นที่ดังกล่าว ล่าสุดเรือสินค้าเกรต     ครีเอชั่น สัญชาติฮ่องกงและเรือเซนตัวรีของกรีซ พร้อมลูกเรือลำละ 25 คน ถูกบุกปล้นโดยใช้เรือเร็ว พร้อมอาวุธเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี การปล้นยึดเรือใช้เวลาสั้น ๆ แค่ 20 นาที

จากข่าวดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง (Geneva Convention on High Sea 1958) มาตรา 15 ได้บัญญัติว่า การโจรสลัดประกอบด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. การกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยการใช้กำลัง การกักขัง หรือการกระทำอันเป็นการปล้นสะดม ซึ่งกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือเอกชนมุ่งกระทำ

(ก) ในทะเลหลวง ต่อเรือหรืออากาศยานอีกลำ หรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือ หรืออากาศยานเช่นว่านั้น

(ข) ต่อเรือ อากาศยาน บุคคล หรือทรัพย์สิน ที่อยู่ภายนอกอำนาจของรัฐใด

2. การกระทำใดอันเป็นการเข้าร่วมด้วยใจสมัครในการดำเนินการของเรือ

3. การกระทำใดอันเป็นการยุยงหรืออำนวยความสะดวกโดยเจตนาต่อการกระทำที่ได้กล่าวไว้ในวรรค 1 หรือวรรค 2 ของมาตรานี้

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว การปล้นเรือสินค้าพร้อมลูกเรือลำละ 25 คน ถูกบุกปล้นโดยใช้เรือเร็ว จึงเป็นการกระทำโดนลูกเรือลำหนึ่งทำต่อเรืออีกลำหรือต่อบุคคลในเรืออีกลำ จึงถือเป็นความผิดฐานโจรสลัด

ข้อ 4.       จงอธิบายหลักในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศอังกฤษมาโดยถูกต้อง

แนวคำตอบ

หลักว่าด้วยการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศอังกฤษนั้นมีดังนี้คือ การกระทำความผิดอันจะถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองนั้น จะต้องเป็นความผิดที่กระทำในขณะที่มีความไม่สงบในบ้านเมืองและมีความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือพรรค และความขัดแย้งนั้นคือต่างฝ่ายต่างต้องการให้อีกฝ่ายยอมรับรูปแบบการปกครองของตนนั้นเอง ดังนั้น เมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ดังที่กล่าวมาแล้ว ประเทศอังกฤษจึงถือว่าความผิดนั้นเป็นการกระทำความผิดทางการเมืองซึ่งห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน

Advertisement