การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นางสุนิสาอายุ 24 ปี เป็นลูกจ้างพนักงานบัญชีได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท กำลังตั้งครรภ์ ได้หนึ่งเดือน นายกมลเป็นน้องชายอายุ 19 ปี เป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,600 บาท ทั้งสองทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. (พักเที่ยง 1 ชั่วโมง) นายจ้างให้นางสุนิสาและนายกมลทำงานวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 20.00 น. และ ในวันอาทิตย์ทำงานตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น. เจช่นนี้จะทำได้หรือไม่ ได้รับค่าตอบแทน อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 39/1 “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด
ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรือ งานเที่ยวกับการเงินหรือบัญชีนายจ้างอาจให้ลูกจ้างนั้นทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้เท่าที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ของลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป”
มาตรา 44 “ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง”
มาตรา 45 “ในกรณีที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้าง…”
มาตรา 61 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือ ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย”
มาตรา 62 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือ มาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า หนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้าง ต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย”
มาตรา 68 “เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลา ในวันหยุด ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานหมายถึง ค่าจ้างรายเดือน หารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงทำงานในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ตามมาตรา 39/1 วรรคแรก ได้บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็น หญิงมีครรภ์ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด แต่มีข้อยกเว้นในมาตรา 39/1 วรรคสอง กำหนดว่าสำหรับ ตำแหน่งงานบัญชี นายจ้างอาจให้ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน ดังนั้น นางสุนิสาจึงทำงานล่วงเวลาในวันศุกร์ได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 20.00 น. (2 ชั่วโมง) ซึ่งตามมาตรา 61 กำหนดให้จ่ายค่าล่วงเวลาไนวันทำงานในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ
เมื่อนางสุนิสาเป็นลูกจ้างรายเดือนโดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง เท่ากับค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงในวันทำงานโดยเฉลี่ย (12,000 หารด้วย 30) เท่ากับ 400 บาท เป็นอัตราค่าจ้างรายวัน และ (400 หารด้วย 8) เท่ากับ 50 บาท เป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง (มาตรา 68) คิดเป็นหนึ่งเท่าครึ่ง (50 คูณด้วย 1.5) เท่ากับ 75 บาท ระยะเวลาในการทำงาน 2 ชั่วโมง ในกรณีนี้ นางสุนิสาจะได้รับเป็นจำนวน (75 คูณด้วย 2) เท่ากับ 150 บาท
สำหรับการทำงานในวันอาทิตย์ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น. (เป็นเวลา 3 ชั่วโมง) นั้น นางสุนิสาไม่สามารถทำงานในวันหยุดได้ตามมาตรา 39/1 วรรคแรก ทั้งตามมาตรา 39/1 วรรคสอง อนุญาตให้ ทำงานได้สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเท่านั้น
ส่วนนายกมลอายุ 19 ปี ถือว่าเป็นลูกจ้างปกติไม่ใช่แรงงานเด็ก (มาตรา 44 ประกอบมาตรา 45) การที่นายกมลทำงานในวันศุกร์ (2 ชั่วโมง) จะได้รับค่าล่วงเวลาในวันทำงานตามมาตรา 61 เช่นกัน ดังนั้น เมื่อ นายกมลเป็นลูกจ้างรายเดือนโดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,600 บาท อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงเท่ากับค่าจ้างรายเดือน หารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงในวันทำงานโดยเฉลี่ย (9,600 หารด้วย 30) เท่ากับ 320 บาท เป็นอัตราค่าจ้างรายวัน และ (320 หารด้วย 8) เท่ากับ 40 บาท เป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง (มาตรา 68) คิดเป็น หนึ่งเท่าครึ่ง (40 คูณด้วย 1.5) เท่ากับ 60 บาท ระยะเวลาในการทำงาน 2 ชั่วโมง ในกรณีนี้ นายกมลจะได้รับ เป็นจำนวน (60 คูณด้วย 2) เท่ากับ 120 บาท
สำหรับการทำงานในวันอาทิตย์ของนายกมลระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น. (3 ชั่วโมง) นายกมลจะได้รบค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมง ทีทำ ในกรณีนี้นายกมลจะได้รับค่าทำงานในวันหยุดเป็นจำนวน (40 คูณด้วย 1) เท่ากับ 40 บาท เป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง (40 คูณด้วย 3) เท่ากับ 120 บาท
สรุป นางสุนิสา ได้รับค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน 150 บาท และนางสุนิสาไม่สามารถ ทำงานในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดได้
นายกมล ได้รับค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน 120 บาท และได้รับค่าทำงานในวันหยุด 120 บาท
ข้อ 2. นางอุสาเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นางอุสากำลังตั้งครรภ์ได้ขอลาป่วยเป็น เวลา 20 วัน และต่อมาได้เขียนใบลาป่วยเพื่อไปคลอดบุตรเป็นเวลา 50 รัน นายจ้างเห็นว่านางอุสา ได้เขียนใบลาป่วยรวมเวลาทั้งหมด 70 วัน จึงจ่ายค่าจ้างให้ตลอดระยะเวลาที่ลาตามที่กำหนดไว้ ในมาตรา 57 คือ 30 วัน คิดเป็นจำนวนเงิน 12,000 บาท จากกรณีดังกล่าวท่านเห็นว่าถูกต้อง หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 32 วรรคแรกและวรรคสาม “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงการลาป่วยตั้งแต่ สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาล ของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของ ทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ
วันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการ ทำงาน และวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 มิให้ถือเป็นวันลาป่วยตามมาตรานี้”
มาดรา 41 วรรคแรก “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน
เก้าสิบวัน”
มาตรา 57 วรรคแรก “ไห้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาดรา 32 เท่ากับ อัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน”
มาตรา 59 “ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้าง ในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน”
วินิจฉัย
ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ตลอดเวลาที่ลาป่วยแต่ไม่เกิน 30 วัน (มาตรา 32 วรรคแรก และมาตรา 57 วรรคนรก)
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนางอุสาลาป่วย 20 วัน นางอุสาจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในการลาป่วย เป็นจำนวน 20 วัน นางอุสาได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท (เฉลี่ยวันละ 400 บาท) ในกรณีนี้นางอุสา จึงมิสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยเป็นจำนวน (20 คูณด้วย 400) เท่ากับ 8,000 บาท
ในกรณีลาคลอดตามมาตรา 41 วรรคแรก กำหนดว่าลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดได้ 90 วัน และ จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างลาคลอดเป็นจำนวน 45 วัน ตามมาตรา 59 ดังนั้น การที่นางอุสาลาคลอด 50 วัน นางอุสาจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาคลอดเป็นจำนวน 45 วัน (เฉลี่ยวันละ 400 บาท) ในกรณีนี้นางอุสา จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาคลอดเป็นจำนวน (45 คูณด้วย 400) เท่ากับ 18,000 บาท
และข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างเห็นว่านางอุสาได้เขียนใบลาป่วยรวมเวลาทั้งหมด 70 วัน โดยการเอาวันลาป่วยกับวันลาคลอดรวมกันนั้น นายจ้างไม่อาจทำได้เพราะตามมาตรา 32 วรรคสาม มิให้ถือว่าวันลาคลอดบุตรเป็นวันลาป่วยตามมาตรา 32 วรรคแรก ดังนั้นการกระทำของนายจ้างจึงไม่ถูกต้อง
สรุป นายจ้างไม่สามารถรวมวันลาป่วยกับวันลาคลอดไว้ด้วยกันได้ตามมาตรา 32 วรรคสาม จากกรณีดังกล่าวการกระทำของนายจ้างจึงไม่ถูกต้อง
ข้อ 3. ติ่งเป็นพนักงานขับรถส่งสินค้าของบริษัทศรีสยามเคหะภัณฑ์ จำกัด มีหน้าที่ขับรถไปส่งสินค้าให้ แก่ลูกค้าตามจังหวัดต่าง ๆ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท วันเกิดเหตุติ่งขับรถไปส่งของที่ จ. ขอนแก่น ขณะอยู่ระหว่างทางที่ จ.นครราชสีมา ติ่งเร่งความเร็วของรถเพื่อทำเวลาในการส่งสินค้า เมื่อถึงทางโค้งติ่งไม่สามารถบังคับรถได้ รถเสียหลักพุ่งชนเกาะกลางถนน แล้วไถลไปชนเข้ากับ รถฝั่งตรงข้ามที่สวนทางมา ติ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ติ่งมีภรรยา มารดาและบุตร อายุ 16 ปี ภรรยานายติ่งเรียกร้องเงินทดแทนจากนายจ้าง นายจ้างอ้างว่าติ่งประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำไห้เกิดเหตุครั้งนี้ขึ้น นายจ้างจึงจ่ายเฉพาะค่าทำศพให้ภรรยาของติ่งจำนวน 20,000 บาทเท่านั้น เงินทดแทนที่เหลือจะหักเพื่อจ่ายค่าซ่อมรถ และชดใช้ให้รถคู่กรณี ดังนั้นการที่นายจ้างจ่ายเงิน ทดแทนเฉพาะค่าทำศพนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ภรรยา มารดา และบุตรของติ่งจะมีสิทธิ ได้รับเงินทดแทนอื่นหรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537
มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้
“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง
มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”
มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้ารงหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้
(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
มีกำหนดแปดปี”
มาตรา 20 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคล ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง
(1) บิดามารดา
(2) สามีหรือภรรยา
(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่”
มาตรา 21 วรรคแรก “ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน”
มาตรา 23 “ห้ามมิให้นายจ้างหักเงินทดแทนเพื่อการใด ๆ และเงินทดแทนไม่อยู่ในความรับผิด
แห่งการบังคับคดี”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ติ่งเป็นพนักงานขับรถส่งสินค้าของบริษัทฯ วันเกิดเหตุได้ขับรถไปส่งสินค้า ที่ต่างจังหวัด ติ่งขับรถเร็วเป็นเหตุให้เสียหลักพุ่งชนเกาะกลางถนน แล้วไถลไปชนเข้ากับรถฝั่งตรงข้ามที่สวนทางมา ติ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ติ่งมีทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนได้แก่ ภรรยา มารดา และบุตร อายุ 16 ปี ซึ่ง ตามกฎหมายเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทน ดังนี้ คือ
1. ค่าทำศพเป็นจำนวน 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด (206 บาท) เป็นจำนวน (100 คูณด้วย 206) เท่ากับ 20,600 บาท ตามมาตรา 16
2. ค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนด 8 ปี เมื่อติ่งได้รับค่าจ้าง เดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 เท่ากับ 7,200 บาท ตามมาตรา 18(4)
และต้องจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 คือ ภรรยา มารดาและบุตรอายุ 16 ปี โดยต้อง นำเงินมาแบ่งเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 21 วรรคแรก ดังนั้นการที่นายจ้างอ้างว่าติ่งประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เกิดเหตุครั้งนี้ขึ้น นายจ้างจึงจ่ายเฉพาะค่าทำศพให้ภรรยาของติ่ง จำนวน 20,000 บาทเท่านั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะแม้ว่าติ่งจะมีส่วนผิดอยู่ด้วยในการเกิดเหตุครั้งนี้ นายจ้างก็ไม่สามารถหักเงินทดแทนเพื่อการใด ๆ ได้ ตามมาตรา 23 ภรรยา มารดา และบุตรของติ่งมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอื่นที่เหลือตามกฎหมาย
สรุป การที่นายจ้างจ่ายเฉพาะค่าทำศพให้ภรรยาของติ่ง จำนวน 20,000 บาทเท่านั้น
จึงไม่ถูกต้อง และภรรยา มารดา และบุตรของติ่งมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอื่นที่เหลือตามกฎหมาย
ข้อ 4. ลูกจ้างบริษัทสามารถอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้างเพื่อจัดทำข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้าง มี นิค แมน น้อย เป็นแกนนำ การเจรจาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเป็นไปด้วยดี ทั้งฝายนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้สามารถทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ข้อตกลงฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 2 ปี นายจ้างนำข้อตกลงฯ ไปปิดประกาศและจดทะเบียนตามกฎหมาย ลูกจ้างทำงานกันต่อไปได้เพียง 6 เดือน นายจ้างมีคำสั่ง ย้ายแมนไปเป็นพนักงานทำความสะอาด และย้ายนิคไปอยู่ในตำแหน่งพนักงานส่งเอกสารซึ่งเป็น ตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม และปรับเปลี่ยนสวัสดิการบางอย่างจากที่ตกลงไว้ โดยเพิ่มคูปองอาหาร กลางวันให้แก่ลูกจ้างทุกคนในบริษัท ดังนี้ การที่นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานของแมนและนิค และการเปลี่ยนแปลงด้านสวัสดิการดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
มาตรา 12 “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีผลใช้บังคับภายในระยะเวลาที่นายจ้างและ ลูกจ้างได้ตกลงกัน แต่จะตกลงกันให้มีผลใช้บังคับเกินกว่าสามปีไม่ได้ ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ถือว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับหนึ่งปีนับแต่วันที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกัน หรือนับแต่วันที่ นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพภารจ้างสิ้นสุดลง ถ้ามิได้มีการเจรจา ตกลงกันใหม่ ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละหนึ่งปี”
มาตรา 13 วรรคแรก “การเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่ง ทราบ”
มาตรา 20 เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมีให้นายจ้างทำสัญญา จ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า
มาตรา 123 ‘‘ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรือ อนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกจ้างรวมตัวกันเรียกร้องเพื่อจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา 13 วรรคแรก เมื่อตกลงกันได้ทั้งสองฝ่ายกำหนดระยะเวลาผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว ระยะเวลา 2 ปี จึงมีผลตามกฎหมายตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 20 กล่าวคือ ระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้างมีผลบังคับใช้อยู่ นายจ้างไม่สามารถกระทำการ คือ เลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 123 และไม่สามารถ ทำสัญญาจ้างแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่จะเป็นคุณกับลูกจ้างยิ่งกว่า
ดังนั้น การที่นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานของแมนและนิคซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้อง นายจ้างจึงไม่มีความผิด เพราะตามมาตรา 123 ไม่ได้ห้ามการโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง และการที่นายจ้าง เพิ่มสวัสดิการโดยจัดให้มีคูปองอาหารให้ลูกจ้าง ถือว่าเป็นคุณกับลูกจ้าง ทั้งสองกรณีจึงถือว่านายจ้างสามารถทำได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
สรุป การที่นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงานของแมนและนิคซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องนายจ้าง และการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการดังกล่าวไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย