การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. สนธิสัญญาใดบ้างที่ในการจัดทำตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา ประเทศไทย จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และถ้าสนธิสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบจากการ ปฏิบัติตามภายหลังเกิดความผูกพันแล้ว ต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการชนาดกลาง ขนาดย่อม รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 190 วรรคสองว่า หนังสือสัญญาใดที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติก่อน ทั้งนี้รัฐสภา จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวได้แก่

1.         สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือ

2.         สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ

3.         สนธิสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือ

4.         สนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่าง กว้างขวาง หรือ

5.         สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมี นัยสำคัญ

และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล) จะต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสมและเป็นธรรม (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรคสี่)

 

ข้อ 2. กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในสามารถอธิบายได้โดย

ทฤษฎี 2 ทฤษฎีคือ

1.         ทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เป็นกฎหมายคนละระบบแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แตกต่างกันทั้งที่มา การบังคับใช้ และความผูกพัน ในการนี้ถ้ากฎหมายภายในขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ยังถือว่ากฎหมายภายในสมบูรณ์อยู่ใช้บังคับได้ภายในรัฐ แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายภายในดังกล่าวก่อให้เกิด ความเสียหายต่อรัฐอื่น รัฐนั้นในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นด้วย นอกจากนี้รัฐที่นิยมในทฤษฎีดังกล่าว เมื่อเข้าผูกพันในกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในกรณีที่จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้บังคับภายในประเทศ จะนำมาใช้บังคับเลยไมได้ จะต้องนำกฎหมายนั้นมาแปลงให้ เป็นกฎหมายภายในเสียก่อน เช่น ออกประกาศ หรือ พ.ร.บ. รองรับ เป็นต้น

2. ทฤษฎีเอกนิยม (Monism) อธิบายว่า กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน ไม่แตกต่างกัน มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศต่างมีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ เพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไมว่าจะเป็นสังคมภายในหรือระหว่างประเทศ แต่ก็เห็นว่ากฎหมายระหว่าง ประเทศมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า ดังนั้นรัฐที่นิยมทฤษฎีนี้จึงไม่ต้องทำการแปลงรูปกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะกฎหมายระหว่างประเทศจะเข้ามามีผลเป็นกฎหมายภายในโดยอัตโนมัติ เพราะกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า จะขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าไมได้

 

ข้อ 3. จงอธิบายวิธีการได้ดินแดนของรัฐ โดยการครอบศรองดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศให้ชัดเจน และหากเปรียบเทียบกับการได้ดินแดนของรัฐโดยการใช้กำลังจะแตกต่างกันในสาระสำคัญตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร หรือไม่

ธงคำตอบ

การครอบครองดินแดนที่ไมมีเจ้าของ คือ การเข้าครอบครองดินแดนที่ยังไม่ได้อยู่ภายใต้ อำนาจอธิปไตยของรัฐใด หรืออาจเคยอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น แต่รัฐนั้นได้ทอดทั้งไปแล้ว ซึ่งการเข้าครอบครองต้องกระทำโดยรัฐหรือในนามของรัฐ เอกชนหรือองค์กรของเอกชนไมสามารถเข้าครอบครองดินแดนได้ อนึ่งการครอบครองต้องกระทำติดต่อมีลักษณะถาวร ไม่ใช่ชั่วคราว

มีหลักเกณฑ์ที่ยอมรับนับถือเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่า การครอบครองดินแดนที่ ไม่มีเจ้าของต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ

1.         ต้องแจ้งการครอบครองดินแดนต่อรัฐอื่น

2.         ต้องมีการครอบครองอย่างแท้จริง โดยสามารถที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย และสิทธิ ต่าง ๆ เหนือดินแดนดังกล่าว ใช้อำนาจอธิปไตยบนดินแดนนั้น และสามารถให้บริการ สาธารณะที่จำเป็นแก่ประชาชนด้วย

3.         ต้องเป็นการครอบครองในนามของรัฐหรือโดยองค์กรของรัฐ

ซึ่งปัจจุบันการครอบครองดินแดนที่ไม่มีเจ้าของยังสามารถดำเนินการได้ ต่างจากการได้ดินแดน โดยการใช้กำลังเข้ายึดครอง ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้องหรือความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ และถือว่าการครอบครองดินแดนด้วยกำลังทางทหาร ไม่ก่อให้เกิดการโอนอำนาจอธิปไตย อย่างเด็ดขาด ทั้งยังเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย

 

ข้อ 4. จงอธิบายการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศ โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่ามีลักษณะการ ดำเนินงานอย่างไร ใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาคดี และเมื่อตัดสินชี้ขาดไปแล้ว จะมีผลผูกพันคู่กรณีอย่างไร หรือไม่

ธงคำตอบ

การระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เป็นการระงับข้อพิพาททางศาล ตามความหมายที่แท้จริง เนื่องจากเป็นลักษณะของการเสนอข้อพิพาทให้ศาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถาวร โดยมี ผู้พิพากษาประจำอยู่ มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาความของตนเอง แตกต่างจากศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการระงับข้อพิพาทในทางกฎหมาย และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น และต้องการเกิดจากความสมัครใจของรัฐคู่กรณีด้วย มีเขตอำนาจในเรื่องดังต่อไปนี้คือ

1.         การตีความสนธิสัญญา

2.         ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ

3.         ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ

4.         กรณีเกิดการเสียหายเพราะละเมิดพันธะระหว่างประเทศ

นอกจากนี้คู่พิพาทอาจจะขอให้ศาลพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญา และ ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายแก่คณะมนตรีและสมัชชาของสันนิบาตชาติด้วย ในกรณีที่ถูกร้องขอ

ในการตัดสินคดี ศาลจะใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นหลักในการพิจารณาคดี

1.         สนธิสัญญา

2.         จารีตประเพณีระหว่างประเทศ

3.         หลักกฎหมายทั่วไป

4.         คำพิพากษาของศาล

5.         ความเห็นของนักนิติศาสตร์

6.         หลักเกณฑ์อื่น ๆ เช่น หลักความยุติธรรม หลักมนุษยธรรม เป็นต้น

การนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยปกติเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง นอกจากจะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณีทำไว้บังคับให้ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลนี้ คำตัดสินของศาลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติ และถือเป็นที่สุดไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา คำพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นพันธกรณีที่คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม และคำพิพากษาถือเป็นสินสุด และผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ถ้ารัฐใดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา รัฐอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษา

Advertisement