การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. จงอธิบายถึงผลของสนธิสัญญา เมื่อสนธิสัญญานั้นขัดต่อหลักเกณฑ์บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ (Jus Cogens) และกรณีที่ 2 สนธิสัญญานั้นถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ไปขัดต่อ หลักกฎหมายภายใน
ธงคำตอบ
ในกรณีที่มีการทำสนธิสัญญา และปรากฏว่าสนธิสัญญานั้นขัดต่อหลักเกณฑ์บังคับของ กฎหมายระหว่างประเทศ (Jus Cogens) ดังนี้ ย่อมมีผลทำให้สนธิสัญญานั้นตกเป็นโมฆะทันที ตามบทบัญญัติ ของอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญามาตรา 53 ทั้งนี้เพราะหลักเกณฑ์บังคับของกฎหมาย- ระหว่างประเทศ (Jus Cogens) นั้น ถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ยอมรับและรับรองโดยประชาคมระหว่างประเทศ ของรัฐโดยส่วนรวมในฐานะที่เป็นหลักเกณฑ์
หลักเกณฑ์บังคับทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นที่ยอมรับกันโดยทัว่ไปและไม่มี ข้อยกเว้น เช่น หลักเกณฑ์การไม่ใช้กำลังระงับข้อพิพาท หลักการไม่รุกรานประเทศอื่น หลักการเกี่ยวกับ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หลักการเกี่ยวกับศีลธรรม เช่น ห้ามการค้าทาส ห้ามเป็นโจรสลัด ห้ามค้ายาเสพติด เป็นต้น
และสำหรับกรณีที่มีการทำสนธิสัญญา และสนธิสัญญานั้นได้ทำถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแต่ไปขัดกับกฎหมายภายใน ดังนี้ ถือว่าสนธิสัญญายังคงสมบูรณ์มีผลบังคับเป็นกฎหมาย รัฐจะ อ้างเหตุของการขัดกันนี้เพื่อไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่ได้ ทั้งนี้เพราะสนธิสัญญานั้นเป็นการกำหนดข้อผูกพัน ระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น โดยรัฐมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดในสนธิสัญญา และแม้ว่าสนธิสัญญา ที่ไปขัดกับกฎหมายภายในจะไม่สามารถใช้บังคับแก่ประชาชนได้โดยตรงเหมือนกับกฎหมายภายใน รัฐก็อาจจะ ออกเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับภายในเพื่อให้สนธิสัญญานั้นมีผลใช้บังคับโดยตรงแก่พลเมืองของตน หรือบางที รัฐอาจจะประกาศใช้สนธิสัญญาให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เลยก็ได้
ข้อ 2. กรณีการเกิดสงครามขึ้นระหว่างรัฐภาคีสนธิสัญญา ผลชองสนธิสัญญาจะเป็นอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
กรณีเมื่อเกิดสงครามขึ้นระหว่างรัฐภาคีสนธิสัญญา ผลของสนธิสัญญาจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น จะต้องแยกพิจารณาว่า เป็นสนธิสัญญาสองฝ่าย (ทวิภาคี) หรือสนธิสัญญาหลายฝ่าย (พหุภาคี)
สำหรับสนธิสัญญาสองฝ่าย (ทวิภาคี) โดยหลักการแล้วถือว่าสนธิสัญญาที่ทำไว้ก่อนเกิด สงครามของรัฐคู่สงคราม (รัฐภาคีสนธิสัญญา) สิ้นสุดลง เว้นแต่
1. สนธิสัญญาที่ทำขึ้นเพี่อบังคับใช้โดยตรงในเวลาสงคราม เช่น อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วย กฎหมายและจารีตประเพณีในการทำสงครามทางบก ค.ศ. 1907, อนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก ค.ศ. 1949
2. สนธิสัญญาบางชนิด เช่น การยกดินแดน
3. สนธิสัญญานั้นเองได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าให้คงดำเนินต่อไปแม้เมื่อเกิดสงคราม เช่น สนธิสัญญาลงวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1815 ระหว่างอังกฤษ ฮอลแลนด์ และ รัสเซีย ซึ่งกำหนดว่าอังกฤษจะต้องจ่ายเงินให้รัสเซียแม้ว่าจะทำสงครามกับรัสเซียก็ตาม ในสงครามไคเมียระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย อังกฤษก็ยังชำระหนี้ให้รัสเซียต่อไป
สำหรับสนธิสัญญาหลายฝ่าย (พหุภาคี) ซึ่งมีทั้งรัฐคู่สงคราม (รัฐภาคีสนธิสัญญา) และ รัฐเป็นกลางเป็นภาคีในสนธิสัญญา ผลของสนธิสัญญาระหว่างคู่สงครามเป็นแต่เพียงระงับไปชั่วคราวจนกว่า สงครามสงบ โดยมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญานั้นยังไม่ถือว่าสิ้นสุดลง แต่ผลระหว่างรัฐเป็นกลาง กับรัฐคู่สงคราม หรือระหว่างรัฐเป็นกลางที่เป็นภาคีสนธิสัญญายังใช้บังคับอยู่เช่นเดิม เช่น สงครามในปี ค.ศ. 1870 ไม่ได้ทำให้สนธิสัญญาปารีสวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1856 สิ้นสุดลง และสนธิสัญญาวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1839 ที่ค้ำประกันความเป็นกลางของเบลเยียมไม่ได้สิ้นสุดลง เมื่อเยอรมนีบุกเบลเยียมในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 แต่ยังคงใช้อยู่จนกระทั่งได้มีการทำสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เช่นเดียวกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1939 ก็ไม่ได้ทำให้องค์การสันนิบาตชาติเลิกล้มไป จนกระทั่งเกิดองค์การสหประชาชาติขึ้นมาแทน
ข้อ 3. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจะบัญญัติในมาตรา 1 ว่า “ประเทศไทยเป็น ราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ในทำนองเดียวกันโดยตลอด นักศึกษาจงอธิบายว่า ประเทศไทยมีลักษณะของรัฐในรูปแบบใด และหากเปรียบเทียบกับรูปแบบของรัฐของประเทศมาเลเซีย จะแตกต่างและคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญอย่างไร
ธงคำตอบ
รูปแบบของรัฐ อาจแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ รัฐเดี่ยว และรัฐรวม
1. รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐซึ่งมีภารปกครองเป็นเอกภาพไม่ได้แบ่งแยกออกจากกัน มีรัฐบาลกลางปกครองประเทศเพียงรัฐบาลเดียว แม้จะมีการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นแต่ก็ยังอยู่ใน ความควบคุมของรัฐบาลกลาง มีประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว และมีองค์กรนิติบัญญัติเพียงองค์กรเดียว
ตัวอย่างของรัฐเดี่ยว ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม อิตาลี และประเทศไทยเป็นต้น
2. รัฐรวม หมายถึง รัฐหลายรัฐมารวมกันโดยเหตุการณ์หรือผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐรวมระหว่างหลายรัฐดังกล่าวอาจจะเป็นรัฐรวมแบบสมาพันธรัฐ หรือแบบสหพันธรัฐก็ได้
สำหรับรัฐรวมแบบสหพันธรัฐหรือสหรัฐ เป็นการรวมกันของรัฐหลายรัฐในลักษณะที่ ก่อให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว ซึ่งรัฐเดิมที่เข้ามารวมนี้จะสูญสภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป โดยยอมสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่รัฐบาลกลางของสหพันธรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการภายนอก เช่น อำนาจในการป้องกันประเทศ อำนาจในการติดต่อกับต่างประเทศ ส่วนกิจการภายในรัฐสมาชิกยังคงมีอิสระเช่นเดิม
ลักษณะสำคัญของสหพันธรัฐ มีดังต่อไปนี้
1. การรวมในรูปสหพันธรัฐไมใช่การรวมแบบสมาคมระหว่างรัฐ แต่เป็นการรวมที่ก่อให้เกิด รัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว และจะมีรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทใน การปกครอง กำหนดหน้าที่ของรัฐบาลกลางและหน้าที่ของรัฐสมาชิก
2. รัฐที่มารวมจะหมดสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป ซึ่งรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นมา จะมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศเพียงรัฐเดียว
3. อำนาจการติดต่อภายนอก เช่น การทำสนธิสัญญา การรับส่งผู้แทนทางการทูต การป้องกันประเทศ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางแต่ผู้เดียว แต่รัฐสมาชิกก็ยังมี อำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในกิจการภายในของตนเอง แต่รัฐธรรมนูญของมลรัฐ จะขัดกับรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐไม่ได้
4. มลรัฐมีส่วนในการบริหารงานของสหพันธรัฐ โดยสภาสูงจะประกอบด้วยผู้แทนของแต่ละมลรัฐ
5. ในกรณีที่มลรัฐไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่างประเทศ สหพันธรัฐจะเป็นผู้รับ ผิดชอบแต่ผู้เดียว
สหพันธรัฐอาจจะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดจากหลายรัฐมารวมกันในรูปของสหพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ หรือเกิดการเปลี่ยนรูปจากรัฐเดียวมาเป็นสหพันธรัฐ เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น โดยปกติแล้วรัฐสมาชิกของสหพันธรัฐจะไม่สามารถถอนตัวออกไปได้ เว้นแต่จะกำหนดไวในรัฐธรรมนูญ ของสหพันธรัฐให้รัฐสมาชิกถอนตัวออกได้
ในปัจจุบันมีรัฐเป็นจำนวนมากที่มีรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และมาเลเซีย เป็นต้น
ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญฯ ทุกฉบับที่บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” นั้น แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีรูปแบบของรัฐเป็นลักษณะของรัฐเดี่ยว โดยมีประมุขคนเดียวกันและมีรัฐบาลกลางบริหารปกครองประเทศรัฐบาลเดียว
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียที่มีลักษณะของรัฐเป็นรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ ซึ่งจะ คล้ายคลึงกัน คือมีประมุขและรัฐบาลกลางเดียวกัน เพียงแต่รัฐบาลกลางของสหพันธรัฐจะรับผิดชอบการบริหาร กิจการภายนอกหรือกิจการระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ส่วนรัฐที่มารวมกันยังคงมีอำนาจอิสระในการบริหารปกครอง การดำเนินกิจการภายในของตน มีผู้ปกครองเขตแดนและมีประชากรของตนเองอยู่เช่นเดิม
ข้อ 4. จงอธิบายวิธีการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เรียกว่า “การแทรกแซง” (Intervention) ว่า มีลักษณะสำคัญอย่างไร และการแทรกแซงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักการ ของกฎหมายระหว่างประเทศมีหรือไม่ และ “การแทรกแซง” จะแตกต่างจาก “การตัดความสัมพันธ์ ทางการทูต” อย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
วิธีการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เรียกว่า “การแทรกแซง” (Intervention) หมายถึง การที่รัฐหนึ่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในหรือภายนอกของรัฐอื่น เพื่อบังคับให้รัฐนั้นปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความต้องการของรัฐที่เข้าแทรกแซง โดยรัฐที่ถูกแทรกแซงนั้นต้องเป็นรัฐที่เป็นเอกราช
การแทรกแซงจะต้องมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ
1. เป็นการกระทำที่แทรกแซงต่อกิจการภายในหรือภายนอกของรัฐอื่น
2. รัฐที่ถูกแทรกแซงต้องเป็นอิสระ มีอำนาจอธิปไตยของตนเองทั้งภายในและภายนอก
3. มีวัตถุประสงค์ที่จะบังคับให้รัฐนั้นกระทำตามความประสงค์ของตน
และการแทรกแซงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมีได้ แต่จะต้องเป็นการแทรกแซงในกรณีดังต่อไปนี้
1. การแทรกแซงโดยมีสนธิสัญญาต่อกันให้ดำเนินการได้
2. กาวแทรกแซงโดยอ้างว่ารัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายร้องขอ
3. การแทรกแซงโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลในสัญชาติตนในรัฐอื่น แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังนี้
1) รัฐนั้นไม่ให้ความคุ้มครองหรือไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน ของชาติที่ทำการแทรกแซง และองค์การสหประชาชาติก็ไม่สามารถจะให้ความ คุ้มครองได้ทันที
2) มีการคุกคามซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
3) การปฏิบัติการแทรกแซงต้องสมเหตุสมผลกับความเสียหายที่ได้รับ และต้องหยุดการกระทำเมื่อทำการคุ้มครองเป็นผลสำเร็จหรืออพยพประชาชนหมดสิ้นแล้ว
4. การแทรกแซงโดยเหตุผลของมนุษยธรรม เป็นกรณีที่รัฐที่ถูกแทรกแซงกระทำการป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม หรือไม่ยุติธรรมต่อบุคคลในสัญชาติชองรัฐที่ถูกแทรกแซงเอง
ส่วนการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นวิธีการที่เปรียบเสมือนเป็นการเตือนรัฐคู่กรณีว่าข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกันนั้นได้ถึงระดับที่ทำให้ไม่สามารถจะคงความสัมพันธ์ทางการทูตกันตามปกติได้ จึงจำเป็นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ปกติจะเป็นวิธีการขั้นต้นก่อนที่จะมีมาตรการรุนแรงอื่นตามไปอีก
การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นวิธีการบังคับทางอ้อมที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามคำเรียกร้องของตน และจะได้ผลถ้าเป็นการกระทำซองรัฐที่มีอิทธิพลสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นทางทหารหรือเศรษฐกิจ ก็ตาม อนึ่งวิธีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นเป็นสิทธิของรัฐที่จะกระทำได้ ไม่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะการมีความสัมพันธ์ทางการทูตอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “การแทรกแซง” จะแตกต่างกับ “การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต” เพราะการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการ ภายในและภายนอกของรัฐอื่น แต่เป็นการกระทำเพื่อกดดันเบื้องต้นให้รัฐอื่นที่ถูกตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ให้ปฏิบัติตามความต้องการของรัฐตน มิฉะนั้นแล้วความเป็นมิตรประเทศต่อกันก็ไม่อาจจะดำรงอยู่อีกต่อไป