การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ1. จงอธิบายขั้นตอนการจัดทำสนธิสัญญาให้ชัดเจนและขั้นตอนใดที่จะทำให้สนธิสัญญามีผลผูกพันรัฐ นอกจากนี้สนธิสัญญาหากไม่ได้นำไปจดทะเบียนจะมีผลอย่างไรหรือไม่ อธิบายให้ชัดเจนด้วย

ธงคำตอบ

การจัดทำสนธิสัญญา มีขั้นตอนการจัดทำ ดังนี้ 1. การเจรจา 2. การลงนาม 3. การให้สัตยาบัน

4. การจดทะเบียน

1.         การเจรจา การเจรจาเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทำสนธิสัญญาเพื่อกำหนดเงื่อนไข ต่าง ๆ ในการทำสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอำนาจในการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาจะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญของ แต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอำนาจ ในการเจรจาอาจจะไม่ทำการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอำนาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทน เข้าทำการเจรจาแทน แต่ต้องทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนำมามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย

การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจา จะทำความตกลงกันใน หลักการและข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตร”’ 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2.         การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกำหนดข้อความเด็ดขาดใน สนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทำเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว

การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในภายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐ จะต้องมีการ ให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์ แต่หากว่าเป็นสนธิสัญญาแบบย่อ การลงนามจะมีผลผูกพันรัฐนับแต่มีการลงนาม

3.         การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนา ของรัฐที่จะรับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้น จะต้องมีการ จัดทำสัตยาบันสาร (instrument of Ratification) ซึ่งกระทำในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจจะลงนาม โดยรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคำรับรองที่จะปฏิบัติตาม ข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น

4.         การจดทะเบียน เมื่อมีการทำสนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนำสนธิสัญญานั้น ไปจดทะเบียนไว้กับสำนักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาบางฉบับอาจจะไม่ได้นำไปจดทะเบียนก็ได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าสนธิสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สนธิสัญญาบางฉบับแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

จากขั้นตอนในการจัดทำสนธิสัญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนที่ทำให้สนธิสัญญามีผล ผูกพันกับรัฐ คือขั้นตอนการให้สัตยาบันนั่นเอง เว้นแต่สนธิสัญญาแบบย่อ ที่จะมีผลผูกพันรัฐสมาชิกนับแต่ที่ได้มี การลงนามกัน

ส่วนสนธิสัญญาที่มิได้นำไปจดทะเบียนต่อสหประชาชาตินั้นจะมีผลสมบูรณ์ทุกประการ แต่ถ้า ภาคีสมาชิกไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้น ภาคีสมาชิกที่เหลือจะนำสนธิสัญญาดังกล่าวมาฟ้อง หรือมาอ้างต่อ องค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติหรือต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสนธิสัญญานั้นไม่ได้ เพราะสหประชาชาติมิได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของสนธิสัญญาฉบับนั้น

 

ข้อ 2. จงอธิบายจารีตประเพณีระหว่างประเทศซึ่งถือเป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร และ แตกต่างจากหลักความยุติธรรมในสาระสำคัญอย่างไรให้นักศึกษายกตัวอย่างประกอบการอธิบายด้วย

ธงคำตอบ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มิได้มีการบัญญัติไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร มีลักษณะไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้หรือยกเลิกได้โดยการปฏิบัติหรือไม่รับปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญา การก่อให้เกิดเป็นจารีตประเพณีที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องประกอบด้วย ปัจจัย 2 ประการ คือ

1.         การปฏิบัติ (ปัจจัยภายนอก) หมายถึง รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติอย่างเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง เป็นระยะเวลานานพอสมควร สำหรับระยะเวลานานเท่าใดไม่มีกำหนดแน่นอน แต่ก็คงต้องเป็นระยะเวลา ยาวนานพอควร และไม่มีประเทศใดคัดค้าน แต่การปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องเป็นการปฏิบัติของรัฐทุกรัฐในโลก เพียงแต่เป็นการปฏิบัติของรัฐกลุ่มหนึ่งก็เพียงพอ

2.         การยอมรับ (ปัจจัยภายใน) หมายถึง การจะเปลี่ยนการปฏิบัติให้เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศนั้น จะต้องได้รับการยอมรับการกระทำดังกล่าวจากสมาชิกสังคมระหว่างประเทศ คือ รัฐหรือ องค์การระหว่างประเทศได้ตกลงยอมรับลักษณะบังคับของการปฏิบัติเช่นนั้นว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ แต่ จารีตประเพณีระหว่างประเทศไม่จำต้องยอมรับโดยทุกประเทศ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศแบ่งออกเป็น

1.         จารีตประเพณีทั่วไป ซึ่งรัฐส่วนใหญ่ยอมรับและถือปฏิบัติ สามารถใช้บังคับแก่ทุกรัฐในโลก

2.         จารีตประเพณีท้องถิ่นเป็นกฎเกณฑ์ที่ยอมรับและถือปฏิบัติในภูมิภาคเท่านั้น ซึ่งใช้ บังคับแก่รัฐที่อยู่ในภูมิภาคนั้นเท่านั้น

จารีตประเพณีระหว่างประเทศอาจเกิดจาก

1.         เกิดจากจารีตประเพณีหรือกฎหมายภายในหรือคำตัดสินของศาลยุติธรรมของรัฐหนึ่ง แต่ประเทศอื่นเห็นว่าดีก็นำหลักการดังกล่าวมาปฏิบัติ จนนานเข้าก็กลายเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

2.         เกิดจากสนธิสัญญาประเภทกฎหมาย คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษา ของศาลระหว่างประเทศ

ส่วนหลักความยุติธรรม ถือเป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นรองลงมาจากสนธิสัญญา จารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 38 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระบุว่า ศาลอาจวินิจฉัยคดีโดยอาศัยหลักความยุติธรรมและความรู้สึกผิดชอบอันดี หากคู่ความตกลงให้ปฏิบัติเช่นนั้น

กล่าวคือ เมื่อมีข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลจะวินิจฉัยคดีโดยยึดหลักความยุติธรรมได้ต่อเมื่อไม่มีกฎหมาย ระหว่างประเทศใดที่จะยึดถือเป็นหลักในการพิจารณาคดีได้ เช่น ไม่มีสนธิสัญญา ไม่มีจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไปใด ๆ ที่จะยึดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีได้ และคู่กรณีตกลงยินยอมให้ศาลใช้หลักความยุติธรรม และความรู้สึกผิดชอบอันดีมาใช้พิจารณาตัดสินแทนได้ ซึ่งจะแตกต่างจากจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่า เป็นที่มาหลักหรือโดยทางตรงของกฎหมายระหว่างประเทศที่ศาลสามารถนำไปใช้เป็นหลักพื้นฐานในการตัดสินคดี ได้เลย

 

ข้อ 3. นักศึกษาทราบดีว่าสภาพบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 กำหนดให้เริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก แต่คำถามในข้อนี้ให้นักศึกษาอธิบายให้เข้าใจว่า สภาพบุคคลของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศจะเริ่มเกิดขึ้นได้อย่างไรมีรูปแบบใดบ้าง และ สภาพบุคคลของรัฐจะเป็นที่รับรู้ได้อย่างไรในสังคมระหว่างประเทศ และตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม ระหว่างประเทศในกรณีของไต้หวัน (Taiwan) และกรณีของฮ่องกง (Hong Kong) สามารถอธิบายถึง ประเด็นนี้ให้เข้าใจอย่างชัดเจนอย่างไร

ธงคำตอบ

สภาพบุคคลของรัฐ หรือรัฐในฐานะที่เป็นบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ จะเริ่มเกิดขึ้น ได้เมื่อมีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1.         ดินแดน กล่าวคือ รัฐต้องมีดินแดนให้ประชาชนได้อยู่อาศัย ซึ่งดินแดนของรัฐนั้น รวมทั้งพื้นดิน ผิวน้ำ และท้องฟ้าเหนือดินแดนด้วย ดินแดนไม่จำเป็นต้องเป็นผืนเดียวติดต่อกัน อาจจะเป็น ดินแดนโพ้นทะเลก็ได้ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ไมได้กำหนดขนาดของดินแดนไว้ ฉะนั้นรัฐจะมีดินแดน มากน้อยเพียงใดไม่ใช่ข้อสำคัญ แต่ต้องมีความแน่นอนมั่นคงถาวร และกำหนดเขตแดนไว้แน่นอนชัดเจน

2.         ประชากร กล่าวคือ มีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความแน่นอน ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีจำนวนประชากรมากน้อยเท่าไร เพียงแต่ต้องมีจำนวนมากพอสมควรที่จะสามารถดำรงความเป็นรัฐได้ ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐนี้ไมจำเป็นต้องมีชนชาติเดียวกัน อาจมี เชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่มีความผูกพันทางนิตินัยกับรัฐ คือ มีสัญชาติเดียวกัน

3.         รัฐบาล กล่าวคือ มีคณะบุคคลที่ใช้อำนาจเหนือดินแดนและประชากรมาทำการ บริหารงานทั้งภายในและภายนอกรัฐ จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน จัดระเบียบการปกครองภายใน รักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตน ดำเนินการป้องกันประเทศ ส่งเสริมความเจริญของประเทศ และ รักษาสิทธิผลประโยชน์ของประชาชน

4.         อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อำนาจอิสระภายใน หมายถึง อำนาจของรัฐในการจัดกิจการภายในประเทศได้อย่างอิสรเสรีแต่เพียงผู้เดียว โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ส่วนอำนาจอิสระภายนอก หมายถึง อำนาจของรัฐในการติดต่อ สัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากรัฐอื่น และได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกับรัฐอื่น

รูปแบบของรัฐ อาจแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ รัฐเดี่ยว และรัฐรวม

1.         รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐซึ่งมีการปกครองเป็นเอกภาพไม่ได้แบ่งแยกออกจากกัน มีรัฐบาลกลางปกครองประเทศเพียงรัฐบาลเดียว แม้จะมีการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นแต่ก็ยังอยู่ใน ความควบคุมของรัฐบาลกลาง มีประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว และมีองค์กรนิติบัญญัติเพียงองค์กรเดียว ตัวอย่าง ของรัฐเดี่ยว ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม อิตาลี และประเทศไทย เป็นต้น

2.         รัฐรวม หมายถึง รัฐหลายรัฐมารวมกันโดยเหตุการณ์หรือผลประโยชน์ร่วมกัน บางอย่าง ซึ่งรัฐรวมระหว่างหลายรัฐดังกล่าวอาจจะเป็นรัฐรวมแบบสมาพันธรัฐ หรือแบบสหพันธรัฐก็ได้

เมื่อเป็นรัฐและมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว การมีสภาพบุคคลของรัฐจะ เป็นที่รับรู้ได้ในสังคมระหว่างประเทศ ก็ต่อเมื่อได้รับการรับรองสภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะจาก รัฐที่ตนจะเข้าไปทำการติดต่อสัมพันธ์ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการรับรองความเป็นรัฐโดยรัฐอื่นนั้น มีทฤษฎีเกี่ยวกับ การรับรองรัฐอยู่ 2 ทฤษฎี คือ

1.         ทฤษฎีว่าด้วยเงื่อนไข (การก่อกำเนิดรัฐ) หมายความว่า แม้รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นจะมี องค์ประกอบของความเป็นรัฐครบ 4 ประการแล้วก็ตาม สภาพของรัฐก็ยังไม่เกิดขึ้น สภาพของรัฐจะเกิดขึ้นและ มีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องมีการรับรองรัฐโดยรัฐอื่นด้วย และเมื่อรัฐอื่นได้ให้การรับรองแล้ว รัฐที่เกิดขึ้นใหม่ก็จะมีสภาพบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสามารถที่จะติดต่อกับรัฐอื่นในสังคมระหว่างประเทศได้

2.         ทฤษฎีว่าด้วยการประกาศ (ยืนยัน) ซึ่งทฤษฎีนี้ถือว่าการรับรองนั้นไม่ก่อให้เกิดสภาพ ของรัฐ เพราะเมื่อรัฐที่เกิดขึ้นใหม่มีองค์ประกอบความเป็นรัฐครบถ้วนแล้วก็ย่อมเป็นรัฐที่สมบูรณ์แม้จะไม่มีการ รับรองจากรัฐอื่นก็ตาม และรัฐนั้นก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศทุกประการ การรับรองนั้น ถือว่าเป็นเพียงการยืนยันหรือประกาศความเป็นจริง (ความเป็นรัฐ) ที่เป็นอยู่แล้วเท่านั้น

สำหรับสถานะของ ไต้หวัน” (Taiwan) นั้น ถือว่ามีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะมีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สำคัญครบทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น คือมีดินแดนและมีประชากร ที่อยู่อาศัยในดินแดนที่แน่นอน มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจเหนือดินแดนและประชากรทำการบริหารงานทั้งภายในและ ภายนอกรัฐ และที่สำคัญคือการมีอำนาจอธิปไตย ในอันที่จะดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อาทิเช่น มีอำนาจในการจัดกิจการภายในประเทศได้อย่างอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก และ มีอำนาจในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากรัฐอื่น เป็นต้น

และเช่นเดียวกันเมื่อถือว่า ไต้หวัน” มีสถานะเป็นรัฐและมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว การมีฐานะเป็นรัฐของ ไต้หวัน” จะเป็นที่รับรู้หรือเป็นที่ยอมรับในสังคมระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อ ได้รับการรับรองสภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น โดยเฉพาะจากรัฐที่ตนจะเข้าไปทำการติดต่อสัมพันธ์ด้วยบันเอง (ปัจจุบันความเป็นรัฐของไต้หวันยังมีสถานะไม่มั่นคง เพราะมีการรับรองจากรัฐอื่นไม่มากนัก)

ส่วนกรณีฮ่องกง (Hong Kong) นั้น มีองค์ประกอบของความเป็นรัฐดังกล่าวข้างต้นไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจอธิปไตย เพราะฮ่องกงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของจีน และเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น ดังนั้น ฮ่องกงจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ข้อ 4. จงอธิบายกระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับสงคราม ที่เรียกว่าวิธีการ ‘’แทรกแซง” โดยละเอียด และวิธีการแทรกแซงนี้ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายระหว่างประเทศเสมอไป หรือไม่ อธิบายให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

กระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับสงครามที่เรียกว่า การแทรกแซง” (Intervention) หมายถึง การทีรัฐหนึ่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในหรือภายนอกของรัฐอื่น เพื่อบังคับให้รัฐนั้น ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของรัฐที่เข้าแทรกแซง โดยรัฐที่ถูกแทรกแซงนั้นต้องเป็นรัฐที่เป็น เอกราช

การแทรกแซงจะต้องมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ

1.         เป็นการกระทำที่แทรกแซงต่อกิจการภายในหรือภายนอกของรัฐอื่น

2.         รัฐที่ถูกแทรกแซงต้องเป็นอิสระ มีอำนาจอธิปไตยของตนเองทั้งภายในและภายนอก

3.         มีวัตถุประสงค์ที่จะบังคับให้รัฐนั้นกระทำตามความประสงค์ของตน

และการแทรกแซงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมีได้ แต่จะต้องเป็นการแทรกแซงในกรณีดังต่อไปนี้

1.         การแทรกแซงโดยมีสนธิสัญญาต่อกันให้ดำเนินการได้

2.         การแทรกแซงโดยอ้างว่ารัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายร้องขอ

3.         การแทรกแซงโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลในสัญชาติตนในรัฐอื่น แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังนี้

1)         รัฐนั้นไม่ให้ความคุ้มครองหรือไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน ของชาติที่ทำการแทรกแซง และองค์การสหประชาชาติก็ไม่สามารถจะให้ความ คุ้มครองได้ทันที

2)         มีการคุกคามซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

3)         การปฏิบัติการแทรกแซงต้องสมเหตุสมผลกับความเสียหายที่ไต้รับ และต้องหยุด การกระทำเมื่อทำการคุ้มครองเป็นผลสำเร็จหรืออพยพประชาชนหมดสิ้นแล้ว

4.         การแทรกแซงโดยเหตุผลของมนุษยธรรม เป็นกรณีที่รัฐที่ถูกแทรกแซงกระทำการป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม หรือไม่ยุติธรรมต่อบุคคลในสัญชาติของรัฐที่ถูกแทรกแซงเอง

ดังนั้นวิธีการแทรกแซงที่จะถือว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต่อเมื่อมิได้กระทำให้ถูกต้อง ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น มิได้หมายความว่าวิธีการแทรกแซงจะไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายระหว่างประเทศเสมอไป

Advertisement