การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4002 การว่าความและการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยในฐานะทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกเป็นมูลค่า รวม 50 ล้านบาท จำเลยได้รับหมายเรียกของศาลและสำเนาคำฟ้องของโจทก์จากเจ้าพนักงานเดินหมาย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 และครบกำหนดที่จำเลยจะต้องยื่นคำให้การต่อศาลในวันที่ 21 มีนาคม 2551 แต่จำเลยเพิ่งมาติดต่อให้นายสมศักดิ์เป็นทนายแก้ต่างเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551 นายสมศักดิ์ ทนายความมีเวลาที่จะเตรียมเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนร่างคำให้การต่อสู้คดีเพี่อยื่นต่อศาลเพียงวันเดียว เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซึ่งนายสมศักดิ์จะต้องสอบหาข้อเท็จจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง หลายฝ่าย อีกทั้งยังต้องค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ จึงจะร่างคำให้การได้ นายสมศักดิ์ ทนายความจึงไม่สามารถที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
ดังนั้น จึงให้ท่านซึ่งเป็น นายสมศักดิ์ ทนายจำเลยในคดีนี้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การต่อศาลในวันที่ 21 มีนาคม 2551 ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดเดิม
(ให้ร่างแต่ใจความในคำร้องเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ของศาล)
ธงคำตอบ
คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ
ข้อ 1. คดีนี้ จำเลยได้รับหมายเรียกของศาลและสำเนาคำฟ้องของโจทก์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 และครบกำหนดที่จำเลยจะต้องยื่นคำให้การต่อศาลในวันนี้ ดังรายละเอียดปรากฏในสำนวนแล้ว
ข้อ 2. เนื่องจากจำเลยเพิ่งมาติดต่อให้ทนายจำเลยเป็นทนายแก้ต่างให้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551 ทนายจำเลยจึงมีเวลาที่จะสอบข้อเท็จจริงเพื่อยื่นคำให้การต่อศาลเพียงวันเดียวเท่านั้น เนื่องจากคดีนี้มี ปัญหาข้อเท็จจริงที่ยุ่งยาก ซึ่งทนายจำเลยจะต้องสอบหาข้อเท็จจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อีกทั้งยัง ต้องค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ทนายจำเลยจึงไม่สามารถที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ทันภายใน กำหนดระยะเวลาดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยจึงขอความกรุณาศาลได้โปรดมีคำสั่งขยาย ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดเดิม ขอศาลได้โปรดอนุญาตด้วย
ควรมีควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนายสมศักดิ์)…….ทนายจำเลย
คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า นายสมศักดิ์ ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนายสมศักดิ์)……ผู้เรียงและพิมพ์
ข้อ 2. นางหวาน แช่มช้อย เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายชื่น แช่มช้อย ซึ่งได้ถึงแก่กรรมด้วย โรคไตวายเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลรามคำแหง เลขที่ 111 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 ปรากฏตามใบมรณบัตร ขณะที่นายชื่น แช่มช้อย ถึงแก่กรรมมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 222 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้าน ก่อนนายชื่น แช่มช้อย ถึงแก่กรรม ได้ทำพินัยกรรมไว้โดยยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่นางหวาน แช่มช้อย ผู้เป็นภริยาแต่เพียงผู้เดียว และในพินัยกรรมยังได้ แต่งตั้งให้ นางหวาน แช่มช้อย ภริยาของตนเป็นผู้จัดการมรดกด้วย
ขณะที่ นายชื่น แช่มช้อย ถึงแก่กรรม มีทรัพย์มรดก คือ บัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาหัวหมาก จำนวน 3 ล้านบาท ปรากฏตามบัญชีทรัพย์ นายชื่นและนางหวาน แช่มช้อย ไม่มีทายาทอื่นใด ส่วนบิดาและมารดา ของนายชื่น แช่มช้อย ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้านี้นานแล้ว ปรากฏตามบัญชีเครือญาติ หลังจาก นายชื่น แช่มช้อย ได้ถึงแก่กรรมแล้ว นางหวาน แช่มช้อย ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ไปติดต่อขอรับเงิน จากธนาคารกรุงเทพ สาขาหัวหมาก ซึ่งเป็นของนายชื่น แช่มช้อย แต่ทางธนาคารฯ ได้แจ้งว่า นางหวาน แช่มช้อย จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของ นายชื่น แช่มช้อย เสียก่อน
ทางธนาคารจึงจะจ่ายเงินได้ จึงทำให้การจัดการทรัพย์มรดกของ นายชื่น แช่มช้อย มีเหตุขัดข้อง นางหวาน แช่มช้อย ต้องการ ยื่นต่อศาลขอให้ทำการไต่สวนและขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของ นายชื่น แช่มช้อย ผู้ตาย ทั้งนี้ นางหวาน แช่มช้อย ไม่ได้เป็นบุคคลวิกลจริต บุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่ประการใด
ฉะนั้นให้ท่านในฐานะทนายความ ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายชื่น แช่มช้อย ให้กับ นางหวาน แช่มช้อย ตามความประสงค์ ของตัวความ (ให้ร่างแต่ใจความในคำร้องเท่านั้น โดยไม่ต้อง คำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)
ธงคำตอบ
คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
ข้อ 1. ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายชื่น แช่มช้อย ซึ่งได้ถึงแก่กรรมด้วย โรคไตวายเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลรามคำแหง เลขที่ 111 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 ปรากฏตามสำเนาใบมรณบัตร เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 ขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรมมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 222 ถนนรามคำแหงแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ปรากฏตามสำเนา ทะเบียนบ้านเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2
ก่อนที่ นายชื่น แช่มช้อย จะถึงแก่กรรมได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง แต่เพียงผู้เดียว และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ปรากฏตามสำเนาพินัยกรรม เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3
ข้อ 2. ในขณะที่ นายชื่น แช่มช้อย เจ้ามรดกถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากที่ธนาคาร กรุงเทพ สาขาหัวหมาก จำนวน 3 ล้านบาท ปรากฏตามบัญชีทรัพย์ เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4 เจ้ามรดก ไม่มีทายาทอื่นใดนอกจากผู้ร้องแต่ผู้เดียว ส่วนบิดามารดาของเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ปรากฏตามบัญชี เครือญาติเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 5
ข้อ 3. หลังจากที่ นายชื่น แช่มช้อย ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ตามพินัยกรรมได้ไปติดต่อขอรับเงินจากธนาคารกรุงเทพ สาขาหัวหมาก ซึ่งเป็นของนายชื่น แช่มช้อย ผู้ตาย แต่ทางธนาคารฯ แจ้งว่าผู้ร้องต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ นายชื่น แช่มช้อย จากศาลก่อน จึงจะจ่ายเงินให้ จึงทำให้การจัดการทรัพย์มรดกของ นายชื่น แช่มช้อย ผู้ตายมีเหตุขัดข้อง
ด้วยเหตุดังที่ผู้ร้องได้ประทานกราบเรียนต่อศาลมาแล้วข้างต้น ผู้ร้องมีความจำเป็นต้องมายื่น คำร้องต่อศาล เพื่อขอความกรุณาศาลได้โปรดทำการไต่สวนและมีค่าสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ นายชื่น แช่มช้อย ผู้ตายต่อไป ทั้งนี้ ผู้ร้องไม่ได้เป็นบุคคลวิกลจริต บุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว อันเป็นผู้ตองห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก แต่ประการใด ขอศาลได้โปรดอนุญาตด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนักศึกษา)……ทนายผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายผู้ร้องเป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนักศึกษา)…..ผู้เรียงและพิมพ์
ข้อ 3. ในสำนวนการสอบสวนเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา ประมาณ 05.00 นาฬิกา นายยุด ผู้ต้องหาที่ 1 กับนายหมัก ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นคนสวนและคนขับรถลูกจ้างของนายสยามตามลำดับ ได้ร่วมกันลักเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จำนวน หนึ่งเส้นราคา 14,000 บาท กับแหวนเพชรอีกวง ราคา 35,000 บาท ของนายสยามที่ถอดวางไว้บนโต๊ะทำงานในบ้านพักเลขที่ 111 ตำบลศาลายา อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม แล้วพากัน หลบหนีไป ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 15.00 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม นายยุดมาได้ พร้อมกับยึดสร้อยคอทองคำที่ผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันลักเอาไปเป็นของกลางนำส่ง พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ชั้นสอบสวนนายยุดให้การรับสารภาพและยังให้การว่านายหมัก เป็นคนเอาแหวนเพชรที่ลักไป พนักงานสอบสวนจึงสรุปสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และได้ขอออกหมายจับนายหมักต่อไป และควบคุมตัวนายยุดพร้อมส่ง สำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐมดำเนินคดีต่อไป
สมมติว่านักศึกษาเป็นพนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม ให้นักศึกษาเรียงคำฟ้องคดีอาญาเรื่องนี้ เฉพาะเนื้อหาคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น
กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(7) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่…
ธงคำตอบ
คำฟ้องอาญา
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยที่ 1 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหนึ่งคนซึ่งเป็นลูกจ้างของนายสยาม ผู้เสียหาย ได้บังอาจร่วมกันลักเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จำนวนหนึ่งเส้นราคา 14,000 บาท กับแหวนเพชรอีกวง ราคา 35,000 บาท ซึ่งเก็บรักษาในบ้านพัก อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย รวม 2 รายการ ราคา 39,000 บาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต
เหตุเกิดที่ตำบลศาลายา อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม
ข้อ 2. ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยนี้มาได้ พร้อมกับยึดสร้อยคอทองคำที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักเอาไปเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ของกลางพนักงานสอบสวนเก็บรักษาไว้
ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวตลอดมาได้ส่งตัวจำเลยมาพร้อมฟ้องนี้เพื่อให้ศาล พิจารณาพิพากษาต่อไป
ข้อ 4. นักศึกษามีความเข้าใจในข้อบังดับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พุทธศักราช 2529 เรื่อง มรรยาทต่อศาลและในศาล อย่างไร มีอะไรบ้าง ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
อธิบาย
ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พุทธดักราช 2529 เรื่องมรรยาทต่อศาล และในศาล มีบัญญัติไว้ในหมวด 2 ข้อ 5 ถึงข้อ 8 ดังต่อไปนี้
ข้อ 5 ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่จะ มีข้อแก้ตัวโดยสมควร
ข้อ 6 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา ในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา
ข้อ 7 กล่าวความหรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลงหรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย
ข้อ 8 สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยาน ให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาลหรือสัญญาจะให้สินบน แก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน