การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นาย ก. มีบุตรชายสองคนคือ นาย ข. และนาย ค. ต่อมา นาย ก. ได้ถึงแก่กรรมลงโดยมิได้ทำ พินัยกรรมไว้ และไม่ได้กำหนดให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก นาย ค. บุตรต่างมารดาของนาย ก. ได้ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก. เจ้ามรดก นาย ข. ทราบเรื่องจึงมีความประสงค์ที่จะคัดค้านความไม่เหมาะสมของการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ค. โดยมีเหตุผล ดังนี้
1. นาย ค. เป็นบุคคลที่ชอบเล่นการพนันและเมาสุราเป็นอาจิณ เป็นเหตุที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถของผู้ร้องที่จะจัดการมรดกให้เป็นไปโดยสุจริต
2. นาย ค. เป็นบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718(3) เป็นการแสดงให้เห็นความขาดคุณสมบัติของผู้ร้องตามกฎหมาย
ดังนั้น ให้ท่านในฐานะทนายความของนาย ข. ยื่นคำร้องคัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดกของ
นาย ค. ตามความประสงค์ของตัวความ
(ให้ร่างแต่ใจความในคำร้องโดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)
ธงคำตอบ
ข้อ 1. คดีนี้ ผู้ร้องได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก. ผู้ตาย โดยนาย ก. ผู้ตายไม่ได้ ทำพินัยกรรมไว้ และไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ดังความแจ้งแล้วนั้น
ข้อ 2. ผู้ร้องคัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายและเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอร้องคัดค้าน ความไม่เหมาะสมของการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง ทั้งนี้ผู้ร้องคัดค้านมีเหตุผลดังต่อไปนี้
2.1 ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ชอบเล่นการพนันและเมาสุราเป็นอาจิณ เป็นเหตุที่แสดงให้เห็น ถึงความไม่สามารถของผู้ร้องที่จะจัดการมรดกให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม
2.2 ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 1718(3) เป็นการแสดงให้เห็นความขาดคุณสมบัติของผู้ร้องตามกฎหมาย
ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ร้องคัดค้านจึงขอคัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง โดยขอศาลได้โปรดยกคำร้องของผู้ร้องเสีย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนาย ข.)……ผู้ร้องคัดค้าน
คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ…….(ลายมือชื่อนักศึกษา)…….ผู้เรียงและพิมพ์
ข้อ 2. ในคดีฟ้องล้มละลายระหว่างธนาคาร ก. โจทก์กับนาย ข. จำเลย ในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณา ธนาคาร ก. ได้อ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันฉบับ ทำให้การคัดสำเนา เอกสารเพื่อส่งให้กับจำเลยเป็นไปด้วยความลำบากเพราะต้องใช้เวลามาก ซึ่งจะทำให้กระบวน พิจารณาคดีของศาลล่าช้า ธนาคาร ก. จึงมีความประสงค์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตไม่ส่ง สำเนาพยานเอกสารให้กับนาย ข. โดยขอส่งต้นฉบับทั้งหมดต่อศาลและให้นาย ข. มาตรวจพยาน เอกสารที่ศาลเอง ดังนั่น ให้ท่านในฐานะทนายความของธนาคาร ก. ร่างคำร้องยื่นต่อศาลตาม ความประสงค์ของตัวความ (ให้ร่างแต่ใจความในคำร้องเท่านั้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)
ธงคำตอบ
คำร้องขอให้คู่ความตรวจเอกสารเพราะเหตุสำเนาให้ไม่ทัน
ข้อ 1. คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย คดีอยู่ระหว่างการนัดสืบพยาน แต่เนื่องจากพยานเอกสารที่โจทก์ยื่นต่อศาลนั้นมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันฉบับ การคัดสำเนาเอกสารเพื่อส่งให้กับจำเลย เป็นไปด้วยความลำบากเพราะต้องใช้เวลามากอาจทำให้กระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า โจทก์จึงขอส่งต้นฉบับ เอกสารทั้งหมดต่อศาล และขอให้จำเลยมาตรวจเอกสารที่ศาลเอง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาล ได้โปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ…..(ลายมือชื่อธนาคาร ก.)……ผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนักศึกษา)…..ผู้เรียงและพิมพ์
ข้อ3. ข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เวลาประมาณ 03.00 น.ขณะที่นายชัยเดินผ่านร้านสะดวกเอแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้พบเห็นนางสาวน้อยสวมสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 17,000 บาท นายชัย จึงเดินเข้าไปทางด้านหลังของนางสาวน้อย แล้วเอื้อมมือไปกระชากสร้อยคอทองคำของนางสาวน้อย แต่นางสาวน้อยไหวตัวทันจึงคว้ามือนายชัยไว้มิให้นายชัยกระชากสร้อยคอไปพร้อมร้องตะโกนให้ คนช่วย นายชัยตกใจจึงปล่อยมือออกจากสร้อยคอแล้ววิ่งหนีไป ระหว่างนั้นเองมีตำรวจสายตรวจ สองนายขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมา จึงไล่ติดตามและจับนายชัยมาได้นำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี ชั้นสอบสวนนายชัยให้การรับสารภาพ ระหว่างพนักงานสอบสวนได้ นำตัวนายชัยไปฝากขังที่ศาลจังหวัดชลบุรี ตามคดีหมายเลขดำที่ ฝ. 125/2553
สมมุติว่านักศึกษาเป็นพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ได้มีคำสั่งฟ้อง
นายชัยในข้อหาพยายามวิ่งราวทรัพย์ ให้นักศึกษาเรียงคำฟ้องคดีดังกล่าวเฉพาะเนื้อคำฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานวิงราวทรัพย์…
มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ธงคำตอบ
ถ้าข้าพเจ้าเป็นพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี ผู้รับผิดชอบของสำนวนคดีนี้ ข้าพเจ้าจะเรียงคำ ฟ้องคดีนายชัยในข้อหาพยายามวิ่งราวทรัพย์ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้กระทำผิดต่อ กฎหมายกล่าวคือ จำเลยได้บังอาจลักเอาสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 17,000 บาท ของนางสาวน้อย ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า จำเลยได้ลงมือกระทำความผิด ไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายไหวตัวทันแล้วขัดขวางมิให้จำเลยเอาสร้อยคอทองคำ ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงไม่ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายสมดังเจตนาของจำเลย
เหตุเกิดที่ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ข้อ 2. ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1. ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในฟ้อง ข้อ 1. แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ และได้นำส่งพนักงานสอบสวน
ชั้นสอบสวน จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างสอบสวน จำเลยถูกควบคุมตัวตลอดมา ขณะนี้ต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลนี้ในคดี หมายเลขดำที่ ฝ. 125/2553 ขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยมาเพื่อพิจารณาลงโทษต่อไป
ข้อ 4. นายสมชาย ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายเก่งและนายอ้วนเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอม จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ศาลออกหมายบังคับคดี นายชัยรัตน์ ทนายความได้รับการแต่งตั้งจากโจทก์ ให้มีหน้าที่ดูแลและบังคับคดีแทนโจทก์ โจทก์ได้โอนเงินเข้าบัญชี เงินฝากของนายชัยรัตน์ เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) เพื่อให้ไปดำเนินการประมูลทรัพย์สินในคดีที่ถูกนำออกขายทอดตลาด เจ้าพนักงาน บังคับคดี ได้ขายทอดตลาดที่ดินในคดีนี้ไปโดยที่นายชัยรัตน์ไม่ได้ไปติดตามดูแลการขายทอดตลาด แต่อย่างใด หลังจากนั้น โจทก์จึงได้ทวงถามเงินจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) จาก นายชัยรัตน์คืน แต่นายชัยรัตน์ไม่ยอมคืนเงินที่ได้มาให้แก่โจทก์แต่อย่างใด
ให้วินิจฉัยว่า นายชัยรัตน์ ทนายความ มีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ พ.ศ. 2529 หรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 3 เรื่องมรรยาท
ต่อตัวความ
ข้อ 12. การกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์
ของลูกความ
(1) จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี
(2) จงใจละเว้นหน้าที่ ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ
ข้อ 15. กระทำการอันใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับ ความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชัยรัตน์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายโจทก์ และได้รับเงินจาก โจทก์จำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) เพื่อไปดำเนินการประมูลทรัพย์สินในคดีที่ถูกนำออกขายทอดตลาด แต่นายชัยรัตน์ไม่ได้ไปติดตามดูแลการขายทอดตลาด จนทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินไป การกระทำของนายชัยรัตน์ดังกล่าว ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีของ ลูกความ เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 12.
และนอกจากนั้น เมื่อโจทก์ขอให้นายชัยรัตน์คืนเงินจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) แต่นายชัยรัตน์ไม่ยอมคืนเงินที่ได้มาให้แกโจทก์ถือได้ว่า เป็นการยักยอกเงิน หรือตระบัดสินลูกความ อันเป็น การประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 15. อีกข้อหนึ่งด้วย (เทียบได้ตามคำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 9/2547)
สรุป นายชัยรัตน์ ทนายความ มีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 12. และข้อ 15.