การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  4  ข้อ

ข้อ  1  การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสืบสวนคดีอาญา  ดังนั้น  ให้ท่านอธิบายความหมายของการตรวจสถานที่เกิดเหตุ  และปัจจัยที่ทำให้สถานที่เกิดเหตุเสียหาย

ธงคำตอบ

การตรวจสถานที่เกิดเหตุ  หมายถึง  การตรวจสถานที่ที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น  และอาจหาพยานวัตถุได้ด้วย  ซึ่งจะทำให้ผู้ไปตรวจอ่านสภาพได้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด  ทำอย่างไร  ด้วยวิธีการใด  เมื่อเวลาอะไร  และประสงค์ต่ออะไร

ปัจจัยที่ทำให้สถานที่เกิดเหตุเสียหาย

1       ไทยมุง

2       ผู้มาเฝ้าสถานที่เกิดเหตุมาช้าไป

3       มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่เกิดเหตุด้วยความตั้งใจของคนร้าย

4       มีการเปลี่ยนแปลงรูปคดีด้วยเหตุผลของคนบางคน

5       สภาพภูมิประเทศ

ข้อ  2  ให้ท่านอธิบายหลักการทำงานของเครื่องจับเท็จ  และหลักการนำบุคคลเข้าตรวจสอบด้วยเครื่องจับเท็จ

ธงคำตอบ

หลักการทำงานของเครื่องจับเท็จ  คือ  การบันทึกข้อมูลความดันโลหิต  การเต้นของหัวใจ  การหายใจ  มาเปลี่ยนแปลงความต้านทานกระแส  ไฟฟ้าที่ผิวหนัง  และนำข้อมูลซึ่งแสดงเป็นรูปภาพมาวิเคราะห์

หลักการนำบุคคลเข้าตรวจสอบด้วยเครื่องจับเท็จมีดังนี้

1       ต้องได้รับความยินยอมด้วยความสมัครใจ

2       ชี้แจงการทำงานให้ทราบ

3       แนะนำให้เข้าใจ

4       ก่อนตรวจสอบควรสังเกตกริยาผู้รับการตรวจสอบซักระยะ

5       เมื่อผู้รับการตรวจสอบเข้าตรวจสอบ  ผู้คุมคดีควรแยกไปเสีย

 

ข้อ  3  ปลารับฝากนาฬิกาข้อมือ  2  เรือนจากป้อม  โดยรับฝากที่ประเทศมาเลเซียเพื่อนำไปให้ภรรยาของป้อมที่อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่  ปรากฏว่าปลาไม่ได้นำนาฬิกาข้อมือ  2  เรือนนั้นไปให้ภรรยาของป้อม  ต่อมาป้อมทราบเรื่องจึงไปทวงถามปลา  โดยป้อมได้ทวงถามปลาที่อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่  แต่ปลาปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝาก  ป้อมจึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับปลา  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้หรือไม่   

ธงคำตอบ

มาตรา  18  ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่  ปลัดอำเภอและข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป  มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้าง  หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน  หรือผู้ต้องหามีที่อยู่  หรือถูกจับในเขตอำนาจของตนได้

มาตรา  121  วรรคสอง  แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว  ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริง  การที่ป้อมไปทวงถามปลาที่  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  แต่ปลาปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากทรัพย์  มูลความผิดฐานยักยอกทรัพย์เกิดเมื่อปลาปฏิเสธว่าไม่ดีรับฝากทรัพย์  เหตุจึงเกิดที่  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  18  วรรคแรก  เมื่อปลาผู้เสียหายร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง  จ.เชียงใหม่  ดังนั้น  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่  จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  121  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  18  วรรคแรก  (ฎ. 1573/2535)

ข้อ  4  สนิทออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์แก่สนอง  แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงิน  สนองได้นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นที่ธนาคาร  ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน  อ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย  ต่อมาสนองได้โอนเช็คฉบับดังกล่าวนั้นให้แก่สนั่น  และสนั่นได้นำเช็คนั้นไปยื่นที่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีก  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ใครเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับสนิทในข้อหาความผิดตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คได้  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)    ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา  4  ,  5     และ   6

วินิจฉัย

สนองเป็นผู้เสียหาย  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(4)  สนองจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับสนิทได้  เพราะเป็นผู้ทรงเช็คอยู่ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  เนื่องจากการออกเช็คแต่ละฉบับหากจะเป็นความผิดก็เป็นได้เพียงครั้งเดียว  คือครั้งแรกที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  (ฎ. 2703/2523) 

Advertisement