การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ให้อธิบายความแตกต่างระหว่างการสืบสวนกับการสอบสวนมาโดยละเอียด พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
การสืบสวน หมายความถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด ตาม ป.วิอาญา มาตรา 2(10)
การสอบสวน หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 2(11)
จากนิยามความหมายดังกล่าว สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการสืบสวนและการสอบสวนได้ดังนี้
1 วิธีการ
– การสืบสวน เป็นลักษณะของการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งอาจจะเป็นขั้นตอนก่อนที่จะมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นก็ได้
– การสอบสวน เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นและมีการกล่าวหาในความผิดนั้น
2 สิ่งที่ต้องการ
– การสืบสวน สิ่งที่ต้องการคือ ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด
– การสอบสวน สิ่งที่ต้องการคือ พยานหลักฐาน ซึ่งแบ่งได้เป็นพยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร
3 วัตถุประสงค์
– การสืบสวน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิด
– การสอบสวน เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา หรือพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ซึ่งอาจจะไม่มีผู้กระทำผิดตามที่กล่าวหาก็ได้
4 เจ้าพนักงานที่มีอำนาจ
– การสืบสวน ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ รวมทั้งเจ้าพนักงานอื่นๆตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น
– การสอบสวน ได้แก่ พนักงานสอบสวน ซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 18, 19, 20 และ 21
5 เงื่อนไข
– การสืบสวน สามารถกระทำก่อน ขณะ หรือหลังจากเหตุเกิดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความผิดเกิดขึ้น
– การสอบสวน ต้องมีความผิดเกิดขึ้น หรือมีการกล่าวหาในความผิดนั้นจึงทำการสอบสวน
ข้อ 2 ผู้เสียหายในคดีอาญามีความหมายว่าอย่างไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง และมีหลักเกณฑ์ใดบ้างที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้เสียหายตามหลักกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
จากตัวบทกฎหมายดังกล่าว สามารแยกอธิบายได้ดังนี้
1 ผู้เสียหายโดยตรง คือ ผู้เสียหายที่แท้จริง ซึ่งการพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่นั้น มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้ คือ
ต้องมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น
บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น
เป็นความเสียหายต่อสิทธิ
บุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
2 ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย คือ แม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหายแท้จริง แต่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้เสียหาย” ด้วย
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามมาตรา 4
ในคดีอาญาผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามีและเป็นผู้เสียหายโดยตรง หญิงมีสามีนั้นสามารถฟ้องคดีอาญาได้เองโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน ตามกฎหมายถือว่าหญิงมีสามีมีอำนาจเต็มทุกประการ ทั้งนี้ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 4 วรรคแรก
และในมาตรา 4 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติต่อไปว่า สามีมีอำนาจจัดการ (ฟ้องคดีอาญา) แทนภริยาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5(2) ด้วย
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามมาตรา 5 บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 5 นั้น ได้แก่
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามมาตรา 6
กรณีที่จะมีการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา 6 นั้น มีอยู่ 2 ประการ คือ
(1) ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด หรือผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์
(2) ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถ ไม่มีผู้อนุบาล หรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด หรือผู้อนุบาลมีผลประโยชน์ขัดกันกับคนไร้ความสามารถ
ข้อ 3 โต้งหลอกลวงเตี้ยว่า จะช่วยให้บุตรของเตี้ยเข้าเป็นเสมียนปกครองได้ตามที่สมัครสอบไว้ เตี้ยหลงเชื่อจึงให้เงินแก่โต้งไป แต่ปรากฏว่าบุตรของเตี้ยสอบเข้าไม่ได้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าเตี้ยจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
วินิจฉัย
โต้งเพียงหลอกลวงเตี้ยว่าจะช่วยให้บุตรของเตี้ยเข้าเป็นเสมียนปกครองได้ตามที่สมัครสอบไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าเตี้ยให้เงินแก่โต้งไปเพื่อให้โต้งนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการสอบคัดเลือกให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่ถือว่าเตี้ยร่วมกับโต้งนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันเป็นการใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด ดังนั้น เตี้ยจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิอาญา มาตรา 2(4) มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงได้ (ฎ. 4744/2537)
ข้อ 4 ชัยเป็นบุตรบุญธรรมขอบชาติ ต่อมาชาติถูกชั่วฆ่าตาย คดีนี้ความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพฯ ชัยจึงได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เพื่อให้มีการสอบสวนดำเนินคดีกับชั่วในข้อหาความผิดฐานฆ่าชาติตายโดยเจตนา ในกรณีดังกล่าวนี้ให้วินิจฉัยว่า การร้องทุกข์ของชัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถ้าต่อมาปรากฏว่าชั่วถูกจับกุมตัวได้ในเขตอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพฯ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพฯ จะมีอำนาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 2(7) ในประมวลกฎหมายนี้
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดรับโทษ
มาตรา 3(1) บุคคลดั่งระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
(1) ร้องทุกข์
มาตรา 5(2) บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
มาตรา 121 วรรคแรก พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
วินิจฉัย
ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิอาญา มาตรา 2(4) ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคล 2 จำพวก คือ ผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง กับบุคคลอื่นที่อำนาจจัดการแทน ซึ่งได้แก่บุคคลดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 ซึ่งตามมาตรา 5(2) นั้น เป็นการจัดการแทนกันระหว่างบุคคลสองคู่ด้วยกัน คือ
1 ผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน
2 สามีกับภริยา
ซึ่งจะเห็นว่าบุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดานและผู้รับบุตรบุญธรรมก็ไม่ใช่บุพการีของบุตรบุญธรรม ชัยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายประเภทเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน ตามมาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 5(2) ชัยจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับชั่วไม่ได้ การร้องทุกข์ของชัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 3(1)
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชั่วถูกจับกุมตัวได้ในเขตอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพฯ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพฯ ย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากในคดีความผิดต่ออาญาแผ่นดินนั้น พนักงานสอบสวนชอบที่จะทำการสอบสวนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคแรก (ฎ. 1681/2535 ฎ. 784/2483)