การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  4  ข้อ

ข้อ  1  การสัมภาษณ์พยานหมายความว่าอย่างไร  มีข้อปฏิบัติในการสัมภาษณ์พยานอย่างไร

ธงคำตอบ

การสัมภาษณ์พยาน  คือ  การสนทนาเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ที่สืบสวนพยาน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อได้ข้อมูลจากผู้ถูกสัมภาษณ์ว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและสถานที่ในคดี  และมีความรู้ถึงอาชญากรรมหรือสถานการณ์เกี่ยวกับคดีนั้นๆว่าเป็นอย่างไร

การสัมภาษณ์พยานจะต้องกระทำโดยยึดหลักดังนี้

1       จะไม่ถามเชิงแนะนำที่ดูเหมือนว่าต้องการคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง  เจ้าหน้าที่สืบสวนต้องมีแผนในการสัมภาษณ์เพื่อประหยัดเวลา

2       จะไม่ป้อนข่าวและข้อมูลให้แก่พยานที่ไม่รู้มาก่อน  เพราะพยานอาจจะเพิ่มเติมเรื่องของตนเข้าไปผสมผสานกับคำแนะนำหรือความเห็นจากการป้อนข่าวของเจ้าหน้าที่  ซึ่งอาจเป็นไปโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  ทำให้ผลที่ได้ในเรื่องดังกล่าวไม่ตรงกับที่พยานได้เห็นเหตุการณ์ในสถานที่เกิดเหตุนั้น

3       สิ่งที่ต้องการได้แก่เรื่องจริงที่จำได้เท่านั้นจึงจะเป็นลักษณะของงานสืบสวนที่กำลังปฏิบัติอยู่

4       ต้องไม่ย่อท้อเมื่อสัมภาษณ์พยานแต่ละคน  จนกว่าจะสามารถรู้เรื่องที่พยานรู้และได้เห็นโดยตลอด  และเข้าใจชัดเจนปรากฏเป็นรูปร่างขึ้นในความคิดขนาดที่ผู้สืบสวนคดีสามารถจินตนาการได้ว่าเป็นคนเห็นหรือได้ยินด้วยตนเองหรือเสมือนกับว่าตนได้อยู่ในที่นั้นด้วย

5       พิจารณาโดยมิให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกว่าพยานเชื่อถือได้  ไว้ใจได้  และมีความสามารถขนาดไหน  ควรรู้จักธรรมชาติของพยานเพื่อสรุปอย่างตรงประเด็นว่าพยานรู้อะไร  เห็นอะไร  และไม่รู้อะไร  ไม่เห็นอะไร

6       รักษามารยาทที่ดีงามตามแบบแผนและประเพณีของสังคม  ทั้งต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน  (Human  Rights)  ด้วย

 

ข้อ  2  AFIS  คืออะไร  มีขอบข่ายการทำงานอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ระบบพิมพ์ลายนิ้วมืออัตโนมัติ  หรือ  AFIS  คือ  เครื่องตรวจลายพิมพ์นิ้วมือโดยอัตโนมัติ  (ลายนิ้วมือ  ฝ่ามือ  ฝ่าเท้า)  ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในวิชาการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคล

เครื่องตรวจลายนิ้วมืออัตโนมัตินี้  เป็นเครื่องมือที่สามารถทำประโยชน์อย่างมากให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนสอบสวนและติดตามตัวผู้กระทำความผิด  โดยเฉพาะคดีที่ยังหาตัวผู้ต้องสงสัยไม่ได้และคาดว่าผู้ต้องสงสัยน่าจะเคยกระทำความผิดมาก่อน  โดยลายนิ้วมือแฝงที่เก็บได้จากสถานที่เกิดเหตุสามารถนำมาตรวจเปรียบเทียบกับข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือของอาชญากรที่เก็บไว้ในสารบบได้ด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง  ซึ่งผลของการปฏิบัติงานมีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดได้เป็นจำนวนมาก

ขอบเขตการทำงานของเครื่องตรวจลายนิ้วมืออัตโนมัติ

1       ตรวจเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือแฝงที่เก็บได้จากสถานที่เกิดเหตุ  กับลายพิมพ์นิ้วมือ  10  นิ้วของคนร้ายที่เก็บไว้ในสารบบ  เป็นงานในหน้าที่ของกองพิสูจน์หลักฐาน  ซึ่งเป็นจุดประสงค์สำคัญในการใช้งานของ  AFIS  วิธีนี้เรียกว่า  Latent  to  Inquiry (LI)

2       ตรวจเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือ  10  นิ้ว  ของอาชญากรหรือผู้ต้องสงสัยกับลายนิ้วมือแฝงที่เก็บไว้ในสารบบ เป็นงานในหน้าที่ของกองพิสูจน์หลักฐาน  ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า  Ten  Prin  to  Inquiry  (TLI)

3       ตรวจเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือ  10  นิ้ว  กับลายพิมพ์นิ้วมือ  10  นิ้วในสารบบ  เป็นการตรวจยืนยันตัวบุคคลเพื่อตรวจสอบประวัติ  ซึ่งเป็นงานของกองทะเบียนประวัติอาชญากร  ซึ่งหากขยายเรื่อง  AFIS  ปัจจุบันให้รับข้อมูลพื้นฐานได้  6,000,000  แผ่น  แล้วจะสามารุเปลี่ยนงานตรวจสอบประวัตินี้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน  วิธีการนี้เรียกว่า  Ten  Prin  to  Ten  Inquiry  (TI)

4       ตรวจเปรียบเทียบลายนิ้วมือแฝงในคดีหนึ่งกับลายนิ้วมือแฝงในคดีอื่นๆที่เก็บไว้ในสารบบ  เนื่องจากยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้  เพื่อจะได้ทราบว่าคดีต่างคดีกันได้เกิดขึ้นโดยบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ วิธีการนี้เรียกว่า  Latent  to  Latent  Inquiry  (LLI)  ประโยชน์ที่จะได้รับในการตรวจประเภทนี้ยังมีน้อย  เนื่องจากเป็นวิธีการซึ่งยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้แต่อย่างใด

 

ข้อ  3  เจ้าหน้าที่ของธนาคารไทยพัฒนาได้นำเงินฝากจำนวนหนึ่งล้านบาทของนายชาติซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งของธนาคารไทยพัฒนาเข้าบัญชีของนายช่วงโดยผิดพลาด  ปรากฏว่านายช่วงรู้ว่ามีการนำเงินของผู้อื่นเข้าบัญชีของตนโดยผิดพลาด  แต่นายช่วงก็ยังเบิกเงินจำนวนดังกล่าวนั้นออกมาใช้จ่ายจนหมด  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ในส่วนของความผิดอาญาที่นายช่วงได้กระทำลงไปนั้น  ใครเป็นผู้เสียหาย  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)  ในประมวลกฎหมายนี้

(4) ผู้เสียหาย  หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6

วินิจฉัย

การที่เจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพัฒนาได้นำเงินฝากจำนวนหนึ่งล้านบาทของนายชาติซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งของธนาคารเข้าบัญชีของนายช่วงโดยผิดพลาด  และนายช่วงได้ถอนเงินดังกล่าวออกไปใช้จนหมด  ถือว่า  ธนาคารเป็นผู้เสียหาย  เพราะเงินที่จ่ายไปเป็นของธนาคาร กล่าวคือ  ธนาคารเป็นที่รับฝากเงิน  ธนาคารสามารถนำเงินที่ฝากนั้นออกไปใช้ได้  แต่ธนาคารต้องคืนเงินที่ฝากให้กับผู้รับฝากจนครบจำนวน  แม้เงินที่ฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ดังนั้น  ธนาคารจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(4)

ข้อ  4  จากข้อเท็จจริงตามข้อสอบในข้อ  3  ข้างต้นนั้น  ถ้าต่อมาปรากฏว่านายชาติซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารไทยพัฒนาได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายช่วงในความผิดฐานยักยอกตาม  ป.อาญา  มาตรา  352  วรรคสอง  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)  ในประมวลกฎหมายนี้

(5) ผู้เสียหาย  หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6

มาตรา  2(7)  ในประมวลกฎหมายนี้

(7) คำร้องทุกข์  หมายความถึง  การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดรับโทษ

มาตรา  121  วรรคสอง  แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว  ห้ามมิให้ทำการสอบสวน  เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

วินิจฉัย

นายชาติไม่เป็นผู้เสียหาย  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(4)  นายชาติจึงร้องทุกข์ไม่ได้  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชาติได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายช่วง  การร้องทุกข์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  2(4)  และ (7)  และเมื่อการร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม  ป.วิ.อาญา  มาตรา  121  วรรคสอง

Advertisement