การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  4  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายถึงวิธีการสืบสวนคดีอาญาว่ามีอะไรบ้าง

ธงคำตอบ

วิธีการสืบสวนคดีอาญามี  5  วิธีคือ

1       การซักถามบุคคล

2       การตรวจสถานที่เกิดเหตุ

3       การเฝ้าตรวจบุคคลสิ่งของและสถานที่โดยวิธีปิด

4       การใช้สายลับ

5       ข่าวกรองตำรวจ

ข้อ  2  การสอบสวนมีความสำคัญต่อการฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการอย่างไร  ให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบคำอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  120  ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใด  โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  120  อำนาจของพนักงานอัยการในการฟ้องคดีอาญาทั้งปวงนั้นหมายถึงคดีอาญาทุกความผิด  ไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือต่ออาญาแผ่นดินก็ตาม  พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนในความผิดนั้นแล้วเท่านั้น  อนึ่ง  การสอบสวนนั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย  ถ้าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นไปโยไม่ชอบ  พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้อง  (ฎ. 3831/2532)

 

ข้อ  3  นายสนิทเป็นทนายความของนายสนอง  (ตัวความ)  ต่อมาปรากฏว่านายสนิทรับชำระเงินจำนวนหนึ่งแสนบาทจากฝ่ายตรงข้าม โดยที่นายสนองไม่ได้มอบหมายให้นายสนิทมีอำนาจรับเงินจากฝ่ายตรงข้าม  และนายสนิทได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของตนโดยทุจริต  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ในความผิดอาญาที่นายสนิทได้กระทำไปนั้นใครคือผู้เสียหาย  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)  ในประมวลกฎหมายนี้

(4) ผู้เสียหาย  หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6

วินิจฉัย

นายสนอง  (ตัวความ)  ไม่เป็นผู้เสียหาย  ผู้เสียหายในกรณีนี้คือฝ่ายตรงข้ามที่เป็นเจ้าของเงิน  ตาม  ป.วิ. อ. มาตรา  2 (4)  เนื่องจากเงินดังกล่าวนายสนิททนายความไม่ได้รับมอบอำนาจจากนายสนองให้มีอำนาจรังเงินจากฝ่ายตรงข้าม  เมื่อฝ่ายตรงข้ามมอบเงินให้แก่นายสนิท  เงินนั้นก็ยังคงเป็นของฝ่ายตรงข้าม  ไม่ได้เป็นของนายสนิทแต่อย่างใด  ดังนั้น  นายสนองไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์  (ฎ. 815/2535 (ที่ประชุมใหญ่))

ข้อ  4  จากข้อเท็จจริงตามข้อสอบในข้อ  3  ข้างต้นนั้น  ถ้าต่อมาปรากฏว่านายสนองได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายสนิทในความผิดอาญาดังกล่าว  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2(4)  ในประมวลกฎหมายนี้

(4) ผู้เสียหาย  หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5 และ  6

มาตรา  2(7)  ในประมวลกฎหมายนี้

(7) คำร้องทุกข์  หมายความถึง  การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดรับโทษ

มาตรา  121  วรรคสอง  แต่ถ้าเป็นคดีความผิดโดยส่วนตัว  ห้ามมิให้ทำการสอบสวน  เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

วินิจฉัย

นายสนอง  (ตัวความ)  ไม่เป็นผู้เสียหาย  ตาม  ป.วิ.อ. มาตรา  2(4)  นายสนองจึงร้องทุกข์ไม่ได้  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสนองได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายสนิท  การร้องทุกข์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตาม  ป.วิ.อ มาตรา  2(4)  และ  (7)  และเมื่อการร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม  ป.วิ.อ  มาตรา  121  วรรคสอง

Advertisement