การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงขั้นตอน เค้าโครงการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่มีการกระทำความผิดอาญาจนถึงศาลมาโดยสังเขป พร้อมอ้างหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ขั้นตอน เค้าโครงการดำเนินคดีอาญา ตาม ป.วิ.อาญา มีดังนี้
1 เริ่มต้นด้วยการมีคำกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น คำกล่าวหาเช่นว่านี้ก็ได้แก่ คำร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย ตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 2(7) หรือคำกล่าวโทษตาม มาตรา 2 (8) โดยอาจเป็นการกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 123 และประกอบมาตรา 127 หรืออาจจะเป็นการกล่าวหาต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 124 และประกอบมาตรา 127 กรณีของคำกล่าวโทษ
2 พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนตามคำกล่าวหา ซึ่งจะมีอำนาจสอบสวนได้ทั้งกรณีความผิดต่อส่วนตัวและความผิดต่ออาญาแผ่นดิน
3 เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดในการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้วก็ต้องสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นทางคดี เช่น งดการสอบสวน ควรให้งดการสอบสวน สั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง แล้วส่งสำนวนต่อไปยังพนักงานอัยการ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 140 , 141 และมาตรา 142)
4 เมื่อสำนวนส่งถึงพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็จะมีความเห็นทางคดี เช่น สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องก็ต้องส่งสำนวนเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 145) และถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณีมีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ก็ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นที่แย้งกันไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด และกฎหมายกำหนดว่าให้แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีนี้ให้ผู้ต้องหาและผู้ร้องทุกข์ทราบด้วย และถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือขังอยู่ให้จัดการปล่อยตัวไปหรือขอให้ศาลปล่อยแล้วแต่กรณี (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 146) และนอกจากนี้ มาตรา 147 ยังกำหนดไว้อีกว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
5 ในกรณีพนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้อง กระบวนการพิจารณาก็จะไปสู่ศาลชั้นต้น คือพนักงานอัยการจะยื่นฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งในกรณีพนักงานอัยการฟ้องนี้จะไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (2)) แต่ถ้ากรณีผู้เสียหายหรือราษฎรฟองกันเองต้องไต่สวนมูลฟ้องทุกกรณี (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (1))
6 เมื่อได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว คดีก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลต่อไป ถึงแม้ว่าจะได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้วก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 39 ก็ได้ บัญญัติคุ้มครองไว้ว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”
ข้อ 2 สิทธิของผู้ต้องหาในการดำเนินคดีอาญามีอะไรบ้าง ให้ตอบเป็นข้อๆพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ในการดำเนินคดีอาญาผู้ต้องหามีสิทธิดังนี้
1 กรณีผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล ย่อมมีสิทธิตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 7
ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหา การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นนิติบุคคลนั้นกฎหมายให้ออกหมายเรียกผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคลนั้นให้ไปยังพนักงานสอบสวนได้ และถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกจะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่เมื่อจับมาแล้วจะใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราวกับผู้นั้นไม่ได้
2 สิทธิของผู้ต้องหา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 7/1
ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขัง มีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย
(1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
(3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
(4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิดังกล่าว
3 สิทธิของผู้ต้องหา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134 ซึ่งโดยสรุปคือ
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
(2) พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหา และแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้
4 สิทธิของผู้ต้องหา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 135 ซึ่งโดยสรุปก็คือ
(1) ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
(2) ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
5 สิทธิของผู้ต้องหา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/3 ซึ่งโดยสรุปก็คือ
ผู้ต้องหามิสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
6 สิทธิของผู้ต้องหา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 135 ซึ่งโดยสรุปก็คือ
ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่ถูกสอบสวนโดยมิชอบด้วย ป.วิอาญา มาตรา 135
7 สิทธิของผู้ต้องหา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2550 อาทิเช่น
(1) ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด (มาตรา 39)
(2) สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง (มาตรา 40 (4))
(3) สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ (มาตรา 40 (5))
ข้อ 3 หนุ่ยกับโหน่งสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันจนได้รับบาดเจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า หนุ่ยจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับโหน่งในข้อหาความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2(4) ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4 5 และ 6
มาตรา 2(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
วินิจฉัย
หนุ่ยจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีกับโหน่งในข้อหาความผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่ได้ เพราะหนุ่ยไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เนื่องจากหนุ่ยเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้กระทำความผิดด้วยจึงไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ดังนั้น หนุ่ยจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และ (7)
ข้อ 4 จากข้อเท็จจริงตามข้อสอบในข้อ 3 ข้างต้นนั้น ให้วินิจฉัยว่า ถ้าหนุ่ยได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดีกับโหน่งแล้ว พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
มาตรา 121 วรรคแรก พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
วินิจฉัย
การที่หนุ่ยกับโหน่งสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายกันจนได้รับบาดเจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดินพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ เนื่องจากในคดีความผิดต่ออาญาแผ่นดินนั้น พนักงานสอบสวนชอบที่จะทำการสอบสวนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคแรก (เทียบนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1681/2535, 748/24831)