การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ก จงอธิบายเรื่องต่อไปนี้
– ยกตัวอย่างกฎหมายปกครองมาสามฉบับ
– อธิบายว่าเพราะเหตุใดกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายปกครอง
– หน่วยงานของรัฐได้แก่หน่วยงานใด
– เจ้าหน้าที่ของรัฐได้แก่ใครบ้าง
– การใช้อำนาจทางปกครองเป็นอย่างไร
– การบริการสาธารณะหมายความว่าอย่างไร
ข จงอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายปกครอง หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้อำนาจปกครอง การบริการสาธารณะ และศาลปกครอง
ธงคำตอบ ก
– กฎหมายปกครองมีอยู่ประมาณเจ็ดร้อยกว่าฉบับ เช่น กฎหมายที่ดิน และพระราชบัญญัติต่างๆ นักศึกษาจะยกตัวอย่างกฎหมายฉบับใดก็ได้มา 3 ฉบับ (ยกเว้นกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา) เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เป็นต้น
– กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายปกครองเพราะเป็นกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเมื่อเกิดกรณีพิพาทเป็นกรณีพิพาททางปกครอง จะต้องนำคดีให้ศาลปกครองเป็นผู้พิจารณา
– หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ หน่วยงานในการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ
– เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครอง ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ
– การใช้อำนาจทางปกครอง คือการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับต่อสถานภาพหรือสิทธิของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร
ธงคำตอบ ข
กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อำนาจปกครอง หรือจะดำเนินการในการบริการสาธารณะได้จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ และเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเรียกว่าเป็นกรณีพิพาททางปกครอง จะต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครอง
ข้อ 2 ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมผู้ลักลอบนำน้ำมันโซล่าหลบหนีภาษีศุลกากร (น้ำมันเถื่อน) เข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมทั้งยึดเรือของกลาง จำนวน 2 ลำ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาให้ริบของกลางดังกล่าว แต่ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ ต่อมาเจ้าของเรือได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสตูลเพื่อขอคืนเรือของกลาง
และคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล ปรากฏว่าเรือของกลางทั้ง 2 ลำได้หายไป ผู้ฟ้องคดีจึงได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมองสตูล แต่ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูลผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ลง บันทึกประจำวันและไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งความร้องทุกข์
จงวินิจฉัยว่า
1 ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจฟ้องหรือไม่ หลักกฎหมายมาตราใดบัญญัติว่าอย่างไร
2 ฟ้องศาลใด หลักกฎหมายมาตราใดบัญญัติว่าอย่างไร
3 หากท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้ว่าอย่างไร
ธงคำตอบ
1 ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง
2 ต้องนำคดีไปฟ้องศาลปกครองที่อยู่ในเขตอำนาจ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติว่า “คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กำหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”
3 สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามบทบัญญัติมาตรา 72 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ข้อ 3 “หลักกระจายอำนาจปกครองนั้นเป็นวิธีการจัดระเบียบการปกครองโดยให้ท้องถิ่นต่างๆ มีความเป็นอิสระตามสมควรที่จะปกครองตนเองโดยราษฎรในท้องถิ่นนั้น ราชการบริหารส่วนกลางเป็นแต่เพียงกำกับดูแลเท่านั้น” ดังนี้ให้อธิบายสาระสำคัญของ “หลักกระจายอำนาจปกครอง” และ “การกำกับดูแล” ตามที่ได้ศึกษามา
ธงคำตอบ
หลักการกระจายอำนาจทางปกครอง เป็นวิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้องค์การอื่นนอกจากราชการบริหารส่วนกลางจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร ไม่ต้องขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง
ลักษณะสำคัญของหลักกระจายอำนาจปกครอง
1 มีการแยกหน่วยงานออกไปเป็นองค์กรนิติบุคคลอิสระจากราชการบริหารส่วนกลาง
2 มีการเลือกตั้ง
3 มีความเป็นอิสระที่จะวินิจฉัยสั่งการและดำเนินการด้วยงบประมาณและด้วยเจ้าหน้าที่ของตนเอง
การกำกับดูแล เป้นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับ ได้แก่ อำนาจกำกับดูแลของส่วนกลางที่มีอยู่เหนือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา อำนาจกำกับดูแลเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและต้องเป็นไปตามรุปแบบที่กฎหมายกำหนด
ลักษณะทั่วไปของการกำกับดูแล
1 อำนาจกำกับดูแลจะต้องก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย
2 อำนาจกำกับดูแลต้องมาจากส่วนกลาง
3 อำนาจกำกับดูแลเฉพาะความชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามกฎหมายข้าราชการตำรวจ แต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงพันตำรวจเอกรักรามผู้ใต้บังคับบัญชา และได้มีคำสั่งพักราชการพันตำรวจเอกรักรามในระหว่างการสอบสวนวินัยร้ายแรง เพื่อรอฟังผลการสอบสวน โดยอ้างว่าพันตำรวจเอกรักรามดำเนินการปกปิดและทำลายพยานหลักฐานสำคัญ
ในการสอบสวนพันตำรวจเอกรักรามเห็นว่าคำสั่งพักราชการมีผลกระทบต่อสถานภาพของ สิทธิและหน้าที่ของตนเองแม้จะเป็นการชั่วคราวก็ตาม โดยที่ตนเองไม่มีโอกาสโต้แย้งแสดงหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาออกคำสั่งพักราชการ แต่ในขณะที่ผู้บังคับบัญชาทั้งสองกลับเห็นว่า คำสั่งพักราชการเป็นเพียงคำสั่งภายในเพื่อรอฟังผลการสอบสวนวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยเท่านั้น
ซึ่งผลการสอบสวนอาจไม่ปรากฏมูลเหตุความผิดวินับร้ายแรงก็ได้ ดังนี้ พันตำรวจเอกรักรามจะโต้แย้งว่า คำสั่งพักราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน (ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542)
ธงคำตอบ
คำสั่งพักราชการโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาเป็นคำสั่งทางปกครอง มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของพันตำรวจเอกรักราม แม้จะเป็นการชั่วคราว แต่ก็ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 (1) ห่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ให้นิยามคำว่า
“คำสั่งทางปกครอง หมายความว่า (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”
ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคำสั่ง พักราชการเจ้าหน้าที่พิจารณาทางปกครองจะเห็นสมควรเปิดโอกาสให้คู่กรณีมี สิทธิทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนได้ตามมาตรา 30 (6) (กฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2540) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่มิได้ให้โอกาสพันตำรวจเอกรัก รามทราบข้อเท็จจริงก่อนและไม่ให้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานที่อาศัยเป็นเหตุใน การออกคำสั่งพักราชการ คำสั่งพักราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อาจถูกเพิกถอนได้
หรือพันตำรวจเอกรักรามอาจขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งพักราชการว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่ง เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น ได้ ตามมาตรา 9(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
สรุป พันตำรวจเอกรักรามสามารถโต้แย้งคำสั่งพักราชการว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบ ด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาส โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ตามมาตรา 30 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
หรือพันตำรวจเอกรักรามสามารถโต้แย้งคำสั่งพักราชการว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 9 (1) พะราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542