การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้
ก. 1 จงยกตัวอย่างกฎหมายปกครองมา 10 ฉบับ
2 หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองได้แก่หน่วยงานใดบ้าง
3 เจ้าหน้าที่ของรัฐได้แก่ใครบ้าง
4 การใช้อำนาจทางปกครองหมายความว่าอย่างไร
5 การบริการสาธารณะเป็นอย่างไร
ธงคำตอบ
1 กฎหมายปกครอง ได้แก่ พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด และกฎหมายต่างๆ ที่เมื่อเกิดกรณีพิพาทแล้วนำคดีไปขึ้นศาลปกครอง ตัวอย่างเช่น
(1) กฎหมายที่ดิน
(2) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
(3) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
(4) พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(5) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
(6) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
(7) พระราชบัญญัติเทศบาล
(8) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(9) พระราชบัญญัติการไฟฟ้า
(10) พระราชบัญญัติการท่าเรือ
(11)พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(12) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(13) พระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน
2 หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง ได้แก่ หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น
(1) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม
(2) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ
(3) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
(4) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ธนาคารออมสิน การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย
(5) หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง
(6) หน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับให้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานรังวัดเอกชน สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์ สภาทนายความ แพทยสภา เป็นต้น
3 เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย รวมถึงคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย เช่น ข้าราชการพนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมถึงคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย
4 การใช้อำนาจทางปกครอง คือ การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับต่อสถานภาพหรือสิทธิของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร
5 การบริการสาธารณะ คือ กิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรืออยู่ในความควบคุมของฝ่ายปกครองที่ จัดทำขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการส่วนรวมของประชาชนและกิจการดังกล่าวจะต้อง มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ ตัวอย่างเช่น การจัดการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม การสาธารณูปโภค เป็นต้น
ข จงอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายปกครอง หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้อำนาจทางปกครอง การบริการสาธารณะ และศาลปกครอง พร้อมยกตัวอย่างให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง หรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยหน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องใช้อำนาจทางปกครอง เพื่อการบริการสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ และเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือเกิดกรณีพิพาททางปกครองขึ้นมา จะต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครอง ตัวอย่างเช่น
นายดำมีที่ดินติดทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งบนท้องถนนหน้าที่ดินของนายดำเป็นที่กลับรถที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรงเป็นประจำ ดังนั้นกรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเป็นหน่วยงานทางปกครองจึงขยายผิวจราจรของถนนออกไป เพื่อเป็นที่กลับรถให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาบนถนนหลวง ซึ่งการขยายผิวจราจรถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครองของกรมทางหลวงเพื่อเป็นการบริการสาธารณะ แต่การขยายผิวจราจรของกรมทางหลวงได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายดำ ทำให้นายดำได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ดังนั้นนายดำจึงนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง เป็นต้น
ข้อ 2 ปัจจุบันประเทศไทยมีศาลอยู่ 3 ศาล ได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร (ศาลรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปฯ เมื่อ 19 กันยายน 2549) ซึ่งแต่ละศาลมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีแตกต่างกัน
จงอธิบายว่าศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ว่าอย่างไร
ธงคำตอบ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน
หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ข้อ 3 การจัดระเบียบราชการแผ่นดิน โดยมอบอำนาจในการปกครองให้แก่ราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการปกครองตลอดทั้งอาณาเขตของประเทศ เป็นความหมายของหลักการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบใด หลักดังกล่าวมีสาระสำคัญถึงข้อดีและข้อเสียอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักที่ใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยมอบอำนาจในการปกครองให้แก่ราชการบริหารส่วนกลาง เป็นผู้ดำเนินการปกครองตลอดทั้งอาณาเขตของประเทศเรียกว่า หลักการรวมอำนาจปกครอง ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่
1 มีการรวมกำลังทหารและตำรวจขึ้นต่อส่วนกลาง
2 มีการรวมอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น
3 มีการลำดับขั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป
ข้อดีของหลักการรวมอำนาจปกครอง ได้แก่
1 ทำให้อำนาจรัฐบาลมั่นคงและแผ่ขยายไปทั่วทั้งอาณาเขตประเทศ
2 เป็นวิธีการปกครองที่ให้ความเสมอภาคแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ
3 เป็นหลักการปกครองที่ประหยัด
4 เป็นหลักที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในการปกครอง
ข้อเสียของหลักการรวมอำนาจปกครอง ได้แก่
1 ไม่สามารถจัดทำบริการสาธารณะได้ผลดีและทั่วถึงทุกท้องถิ่นพร้อมกัน
2 มีความชักช้าเกี่ยวกับแบบแผนของราชการ
ข้อ 4 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย และไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยแทนการจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ ปรากฏรายชื่อทั้งหมด 100 คน นายขาวมีชื่อปรากฏในประกาศดังกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย จึงต้องการจะโต้แย้งสิทธิของตนตามประกาศดังกล่าว ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง หรือกฎ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย อุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่ไหมายความรวมถึงการออกกฎ
(2) การอื่นที่กำหนดในกระทรวง
“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
วินิจฉัย
ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยที่ดินและไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยที่ดิน การจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติเป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างนายขาวกับคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ ทำให้นายขาวไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยที่ดิน คณะกรรมการฯก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนแก่นายขาว จึงเป็นคำสั่งที่เกิดผลเฉพาะเจาะจงแก่นายขาว ประกาศดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลแก่ผู้มีรายชื่อทั้งหมด 100 คน เป็นการเฉพาะราย เพียงแต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ได้รวมแจ้งเป็นประกาศให้ทราบในฉบับเดียวกัน