การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3016 กฎหมายปกครอง 

(สำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์) 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

1.1            จงยกตัวอย่างกฎหมายปกครองมา  5  ฉบับ  พร้อมอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นกฎหมายปกครอง

1.2            จงอธิบายว่าผู้ใช้กฎหมายปกครองมีองค์กรใดหรือบุคคลใดบ้าง  ให้อธิบายอย่างละเอียด

1.3            จงอธิบายว่าการใช้อำนาจทางปกครองคืออะไร  และการใช้อำนาจทางปกครองได้แก่อะไรบ้าง

1.4            จงอธิบายอย่างละเอียดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายปกครอง  หน่วยงานทางปกครอง  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  การใช้อำนาจทางปกครอง  และศาลปกครองว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ธงคำตอบ

1.1            ตัวอย่างกฎหมายปกครอง  ได้แก่

(1) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ. 2534

(2) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2535

(3) พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539

(4) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542

(5) พระราชบัญญัติเทศบาล  พ.ศ. 2496

(6) พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด  พ.ศ. 2540

(7) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย  คณะกรรมการการเลือกตั้ง

(8) พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(9) ประมวลกฎหมายที่ดิน

หมายเหตุ ให้นักศึกษายกตัวอย่างของกฎหมายปกครองมาเพียง  5  ฉบับ  ซึ่งจะยกตัวอย่างชื่อของกฎหมายใดก็ได้  (โดยไม่ต้องเขียน  พ.ศ. ก็ได้)  แต่ต้องอยู่ในชื่อของ  พระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  พระราชกำหนด  หรือในชื่อของกฎหมายอื่น  ยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญา

และตามตัวอย่างดังกล่าวเป็นกฎหมายปกครอง  เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

1.2            ผู้ใช้กฎหมายปกครอง ได้แก่

1)    หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง  ได้แก่  หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  ส่วนท้องถิ่น  และหน่วยงานอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง  รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  ตัวอย่างเช่น

(1) หน่วยงานบริหารราชการส่วนกลาง  ได้แก่  กระทรวง  ทบวง  กรม

(2) หน่วยงานบริหารราชการส่วนภูมิภาค  ได้แก่  จังหวัด  อำเภอ

(3) หน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  ได้แก่  องค์การบริหารส่วนตำบล  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  กรุงเทพมหานคร  และเมืองพัทยา

(4) รัฐวิสาหกิจ  ได้แก่  การไฟฟ้านครหลวง  การประปานครหลวง  ธนาคารออมสิน  การท่าเรือแห่งประเทศไทย  การรถไฟแห่งประเทศไทย  เป็นต้น

(5) หน่วยงานอื่นรวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจทางปกครอง  ได้แก่  สำนักงานรังวัดเอกชน  สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์  สภาทนายความ  แพทยสภา  เป็นต้น

2)    เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้แก่  บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  ตัวอย่างเช่น  ข้าราชการ  พนักงาน  ลูกจ้าง  หรือคณะกรรมการที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง  เป็นต้น

1.3            การใช้อำนาจทางปกครอง  คือ  การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  หรือระงับต่อสถานภาพหรือสิทธิของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร

ตัวอย่างการใช้อำนาจทางปกครอง  ได้แก่

(1) การออกคำสั่งทางปกครอง  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การรับรอง  การรับจดทะเบียน  เป็นต้น

(2) การออกกฎ  เช่น  การออกพระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง  ประกาศกระทรวง  ระเบียบ  ข้อบังคับ  หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น  เป็นต้น

(3) การกระทำทางปกครองอื่นๆ  เช่น  การปฏิบัติการทางปกครองหรือสัญญาทางปกครอง

1.4            กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครองและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ  โดยหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องใช้อำนาจทางปกครอง  เพื่อการบริการสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้  และเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือเกิดกรณีพิพาททางปกครองขึ้นมา  จะต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง  เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครอง 

 

ข้อ  2  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  พ.ศ. 2550  บัญญัติให้ศาลมี  4  ศาล  ได้แก่  ศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลปกครอง  ศาลทหาร  และศาลยุติธรรม  ซึ่งแต่ละศาลมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีแตกต่างกัน

ให้นักศึกษาอธิบายว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องใดบ้าง

ธงคำตอบ

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  มาตรา  9  วรรคแรก  (1)  (2)  และ  (3)  บัญญัติว่า  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด  เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน  หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น  หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร  หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด  หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  หรือจากกฎ  คำสั่งทางปกครอง  หรือคำสั่งอื่น  หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด

(6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

 

ข้อ  3  ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ. 2534  บัญญัติให้การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้างเมืองที่ดี  ดังนี้  การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมีขอบเขตความหมายแค่ไหน  เพียงใด  จงอธิบายมาพอเข้าใจ

ธงคำตอบ

ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์  และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  พ.ศ. 2546  ในมาตรา  6  ได้กำหนดขอบเขตความหมายของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีไว้ว่า  การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีได้แก่การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้

1       เกิดประโยชน์สุขของประชาชน  คือสามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้  พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้  ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี  มีความสงบและปลอดภัย

2       เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  ซึ่งการที่จะให้ภารกิจใดเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นนั้น  การปฏิบัติงานจะต้องมีแผนงานจะต้องมีรายละเอียดแสดงถึงขั้นตอน  ระยะเวลา  และงบประมาณที่ใช้  เพื่อสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าการดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอน  และระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนงานหรือไม่เพียงใด

3       มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ  ซึ่งการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพนั้น  จะต้องดำเนินการตามหลักดังนี้  คือ

(1) หลักความโปร่งใส  คือ  ต้องเปิดเผยกำหนดงาน  แผนงาน  และงบประมาณให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้  ข้าราชการมีส่วนได้เสียอย่างไรหรือไม่  ซึ่งจะเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับประชาชน

(2) หลักของความคุ้มค่า  คือ  ในการใช้ทรัพยากรนั้นกฎหมายให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรด้วย

(3) หลักของความชัดเจนในการปฏิบัติงาน  เช่น  จะต้องกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานให้ชัดเจน  เป็นต้น

4       ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น  เช่น  ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานลงโดยคำนึงถึงเนื้องานเป็นสำคัญ  เป็นต้น

5       มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์  ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ต่างๆอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  ดังนั้นในส่วนราชการเองก็ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ด้วย

6       ประชาชนได้รับการอำนายความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ  อันเป็นแนวทางที่ส่วนราชการต้องจัดให้มีขึ้น

7       มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ  เพราะการประเมินผลถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ  ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่า  การปฏิบัติราชการต่างๆ  ที่ได้ทำไปแล้วนั้นได้ผลหรือไม่  หรือแผนที่กำหนดไว้นั้นเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วบรรลุผลหรือไม่

 

ข้อ  4  นายเขียวจอดรถยนต์ไว้ที่ริมถนนติดกับสวนอัมพรซึ่งเป็นที่ห้ามจอด  แต่นายเขียวเห็นว่ามีรถยนต์คันอื่นจอดอยู่ในที่ห้ามจอดหลายคัน  จึงคิดว่าคงจอดได้  โดยตั้งใจว่าจะจอดชั่วคราวภายในเวลาไม่เกิน  15  นาที

จากนั้นนายเขียวจึงได้ไปทำธุระส่วนตัว  เมื่อกลับมาจึงพบว่ารถยนต์ของตนได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจใช้รถยกรถยนต์ของตนไปไว้ในที่สถานีตำรวจ  เนื่องจากส่วนราชการต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดงานกาชาด เจ้าพนักงานตำรวจได้เขียนใบสั่งให้นายเขียวชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายในการยกรถยนต์  นายเขียวเห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้แจ้งให้ตนทราบว่าจะมีการจัดงานกาชาดบริเวณดังกล่าว

มิฉะนั้นตนเองคงไม่จอดบริเวณดังกล่าวและทำให้ต้องเสียเงินเช่นนี้  ดังนี้  ท่านคิดว่าคำสั่งให้ชำระค่าปรับเป็นคำสั่งทางปกครองที่จะต้องแจ้งผลกระทบสิทธิเพื่อให้นายเขียวมีโอกาสโต้แย้งเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง  ตามมาตรา  30  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

 มาตรา  5  แห่ง  พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  นั้น  คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัย  อุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่ไหมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กำหนดในกระทรวง

และมาตรา  30  วรรคแรก  บัญญัติว่า

ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี  เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ  และมีโอกาสโต้แย้ง  และแสดงพยานหลักฐานของตน

ตามบทบัญญัติมาตรา  30  วรรคแรก  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  นั้น  การที่เจ้าหน้าที่จะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ  และให้คู่กรณีได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการพิจารณาทางปกครอง  คือ  การดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง  และคำสั่งทางปกครองนั้นอาจจะไปกระทบสิทธิของคู่กรณีเท่านั้น  คู่กรณีจึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว

วินิจฉัย

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เขียนใบสั่งให้นายเขียวชำระค่าปรับตามความผิดของกฎหมายจราจร  ซึ่งกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจจราจรสามารถเปรียบเทียบได้นั้นไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใด  ดังนั้นคำสั่งให้นายเขียวชำระค่าปรับดังกล่าวจึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง  ตามความหมายของมาตรา  5  แห่ง  พระราชบัญญัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  และเมื่อไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง  จึงไม่ต้องนำมาตรา  30  มาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

สรุป  คำสั่งให้ชำระค่าปรับดังกล่าวไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่จะต้องแจ้งผลกระทบสิทธิเพื่อให้นายเขียวมีโอกาสโต้แย้ง  เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง  ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement