การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3012 กฎหมายปกครอง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 บริการสาธารณะ (Public Service) หมายถึงอะไร แบ่งออกเป็นประเภทสำคัญๆ ได้กี่ระเภท และตามหลักกฎหมายว่าด้วยการบริการสาธารณะได้กำหนดหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของบริการสาธารณะไว้อย่างไร ขอให้อธิบาย
บริการสาธารณะ (Public Service) หมายถึง กิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรือในกำกับดูแลของฝ่ายปกครองที่จัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน
กล่าวอีกนัยหนึ่งบริการสาธารณะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะที่ดำเนินการจัดทำขึ้นโดยบุคคลในกฎหมายมหาชนหรือโดยเอกชนซึ่งฝ่ายปกครองต้องใช้อำนาจกำกับดูแลบางประการและอยู่ภายใต้ระบบพิเศษ
บริการสาธารณะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆดังนี้ คือ
1) บริการสาธารณะปกครอง
บริการสาธารณะปกครอง คือ กิจการรมที่โดยสภาพแล้วเป็นงานในหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่จะต้องจัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน ที่รัฐหรือฝ่ายปกครองจัดทำให้ประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และนอกจากนี้ เนื่องจากเนื้อหาของบริการสาธารณะทางปกครองจะเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่เฉพาะของฝ่ายปกครองที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ รวมทั้งอำนาจพิเศษของฝ่ายปกครองตามกฎหมายมหาชนในการจัดทำบริการสาธารณะด้วย ดังนั้นบริการสาธารณะประเภทนี้ ฝ่ายปกครองจึงไม่สามารถมอบให้องค์กรอื่นหรือเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนได้
ตัวอย่างบริการสาธารณะทางปกครองดังกล่าวข้างต้น เช่น กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบภายใน การป้องกันประเทศ การสาธารณสุข การอำนวยความยุติธรรม การต่างประเทศ และการคลัง เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมนั้น บริการสาธารณะทุกประเภทจัดว่าเป็นบริการสาธารณะทางปกครองทั้งสิ้น แต่ต่อมาเมื่อกิจกรรมเหล่านี้มีมากขึ้น และมีรูปแบบและวิธีการในการจัดทำที่แตกต่างกันออกไป จึงเกิดประเภทใหม่ๆของบริการสาธารณะขึ้นมาอีก
2) บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม คือ บริการสาธารณะที่เน้นทางด้านการผลิต การจำหน่าย การให้บริการ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน (วิสาหกิจเอกชน) ซึ่งมีความแตกต่างกับบริการสาธารณะทางปกครองอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ
(1) วัตถุแห่งบริการ บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวัตถุแห่งบริการเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น มีวัตถุแห่งบริการด้านเศรษฐกิจเหมือนกับวิสาหกิจเอกชน คือ เน้นทางด้านการผลิต การจำหน่าย การให้บริการ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับดังเช่นกิจการของเอกชน
(2) วิธีปฏิบัติงาน บริการสาธารณะทางปกครองจะมีวิธีปฏิบัติงานที่รัฐสร้างขึ้นมาเป็นแบบเดียวกัน มีระบบบังคับบัญชาซึ่งใช้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน ในขณะที่บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีวิธีปฏิบัติงานที่สร้างขึ้นมาเองแตกต่างไปจากบริการสาธารณะที่มีลักษณะทางปกครอง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเหมาะสมในการดำเนินการ
(3) แหล่งที่มาของเงินทุน บริการสาธารณะทางปกครองจะมีแหล่งที่มาของเงินทุนจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินทุนทั้งหมดที่นำมาใช้จ่ายในการดำเนินการ ส่วนบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้น แหล่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากค่าตอบแทนการบริการของผู้ใช้บริการ
(4) ผู้ใช้บริการ สถานภาพของผู้ใช้บริการสาธารณะทางปกครองนั้นจะถูกกำหนดโดยกฎข้อบังคับทั้งหมด ซึ่งรวมตั้งแต่การกำหนดองค์กร การจัดองค์กร และการปฏิบัติงาน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการสาธารณะประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขและไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการของบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจะมีลักษณะเสมอภาคกัน เพราะถูกกำหนดโดยสัญญาตามกฎหมายเอกชน
3) บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม
บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม คือ บริการสาธารณะที่เป็นการให้บริการทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการความอิสระคล่องตัวในการทงานโดยไม่มุ่นเน้นการแสวงหากำไร เช่น การแสดงนาฏศิลป์ พิพิธภัณฑ์ การกีฬา การศึกษาวิจัยฯ
หลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของการจัดทำบริการสาธารณะ
หลักเกณฑ์สำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีส่วนคล้ายกับหลักทั่วไปของกฎหมายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาถึงสถานภาพของบริการสาธารณะ กฎเกณฑ์ของบริการสาธารณะ หรือหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะนี้ ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ
1 หลักว่าด้วยความเสมอภาค
เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญประการแรกในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้เนื่องจากการที่รัฐเข้ามาจัดทำบริการสาธารณะนั้น รัฐมิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะจัดทำบริการสาธารณะขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แต่เป็นการจัดทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน กิจการใดที่รัฐจัดทำเพื่อบุคคลใดโดยเฉพาะจะไม่มีลักษณะเป็นบริการสาธารณะ ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติ หรือได้รับผลประโยชน์จากบริการสาธารณะอย่างเสมอภาคกัน เช่น ในการให้บริการแก่ประชาชนก็ดี การรับสมัครงานก็ดี รัฐต้องให้บริการสาธารณะโดยเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติให้แก่ผู้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือสีผิว หรือเพศใดเพศหนึ่งมิได้ เพราะจะขัดกับหลักการดังกล่าว
2 หลักว่าด้วยความต่อเนื่อง
เนื่องจากบริการสาธารณะเป็นกิจการที่มีความจำเป็นสำหรับประชาชน ดังนั้นหากบริการสาธารณะหยุดชะงักลงไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ประชาชนผู้ใช้บริการสาธารณะย่อมได้รับความเดือดร้อนเสียหายได้ ดังนั้นต้องมีความต่อเนื่องตลอดเวลา เช่น การไฟฟ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องเงินเดือน โดยไม่ยอมจ่ายไฟฟ้าให้แก่ท้องถิ่นย่อมทำไม่ได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น
นอกจากนี้หลักว่าด้วยความต่อเนื่อง ยังมีผลกระทบต่อสัญญาทางปกครอง กล่าวคือ เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น มีผลทำให้คู่สัญญาฝ่ายเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายปกครองให้จัดทำบริการสาธารณะ ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้ตามปกติ ฝ่ายปกครองอาจเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญาได้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วฝ่ายปกครองก็จะเข้าดำเนินการเอง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องหรือหากเป็นกรณีที่เอกชนต้องรับภาระมากขึ้น ฝ่ายปกครองก็อาจต้องเข้าไปร่วมรับภาระกับเอกชน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน
3 หลักว่าด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
บริการสาธารณะที่ดีนั้นจะต้องสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ และความจำเป็นในทางปกครอง ที่จะรักษาประโยชน์สาธารณะรวมทั้งปรับปรุงให้เข้ากับวิวัฒนาการของความต้องการส่วนรวมของประชาชนด้วย เช่น เอกชนที่ได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายปกครองให้เดินรถประจำทาง แต่เดิมใช้รถประจำทาง 3 คันก็เพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนผู้ใช้บริการก็มีมากขึ้น ความต้องการก็มากขึ้น ย่อมต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย ถ้าไม่ปรับปรุงฝ่ายปกครองก็อาจบอกเลิกสัญญากับเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายปกครองนั้นได้
ข้อ 2 นายแดงเป็นข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จนศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีดังกล่าวนี้ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยต่อนายแดง ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 98 บัญญัติว่า
“ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาชื่อเสียงตนเอง และรักษาเกียรติยศตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
การทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป้นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง”
วินิจฉัย
นายแดงเป็นข้าราชการพลเรือน ถูกพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่ความผิดลหุโทษ อีกทั้งไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ดังนั้นกรณีจึงเข้าเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 98 วรรคสอง ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงด้วย ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจึงสามารถดำเนินการทางวินัยต่อนายแดงกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามขั้นตอนและดำเนินการลงโทษตามกฎหมายดังกล่าวได้
ข้อ 3 นายเอก ต้องการก่อสร้างโรงแรมขนาดกลางแห่งหนึ่งขึ้นในที่ดินของตนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องดำเนินการของอนุญาตก่อสร้างตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในการพิจารณาอนุญาตก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ได้ออกคำสั่งอนุญาตให้ก่อสร้างได้ แต่มีเงื่อนไขต้องมีสถานที่ไว้สำหรับทำที่จอดรถ 50 คัน นายเอกเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว หากท่านเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 39 บัญญัติว่า
“การออกคำสั่งทางปกครอง เจ้าหน้าที่อาจกำหนดเงื่อนไขใดๆได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดข้อจำกัดดุลพินิจเป็นอย่างอื่น
การกำหนดเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในกรณีดังต่อไปนี้ตามความเหมาะสมแก่กรณีด้วย
(4) การกำหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องกระทำหรืองดเว้นกระทำ หรือต้องมีภาระหน้าที่หรือยอมรับภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบบางประการ หรือการกำหนดข้อความในการจัดให้มี เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มข้อกำหนดดังกล่าว”
วินิจฉัย
การที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายควบคุมอาคาร ได้ออกคำสั่งอนุญาตให้นายเอกก่อสร้างโรงแรมถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจกำหนดเงื่อนไข โดยกำหนดเงื่อนไขของคำสั่งอนุญาตว่านายเอกต้องจัดให้มีสถานที่ไว้สำหรับจอดรถ 50 คันได้ โดนอาศัยอำนาจตามมาตรา 39(4) ที่บัญญัติให้เจ้าหน้าที่อาจกำหนดเงื่อนไขในคำสั่งที่เป็นการให้ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งอนุญาต ต้องมีภาระหน้าที่หรือยอมรับภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบบางประการ ดังนั้นคำสั่งโดยกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ย่อมยกคำอุทธรณ์ของนายเอกตามหลักกฎหมายข้างต้นได้
ข้อ 4 “สัญญาทางปกครอง” ตามที่ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีดังกล่าวได้นั้น หมายถึงอะไร และการที่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งได้ให้เอกชนเช่าที่พัสดุ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
สัญญาทางปกครองเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ หรือมีข้อกำหนดในสัญญาที่ให้อำนาจรัฐยิ่งไปกว่าสัญญาทางแพ่งทั่วๆไป สัญญาระเภทนี้อยู่ในบังคับของกฎหมายปกครอง และเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ในกฎหมายไทยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัตินิยามคำว่า สัญญาทางปกครอง ไว้ว่า
“สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ”
จากนิยามดังกล่าวที่ใช้คำว่า “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง” นั้น ทำให้ตีความว่าสัญญาทางปกครอง มี 2 ประเภท คือ
1 สัญญาทางปกครองโดยสภาพ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้สร้างหลักเกณฑ์ของสัญญาทางปกครองขึ้นมาคล้ายกับในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส กล่าวคือ เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครอง หรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ ตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการ หรือเข่าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองหรือบริการสาธารณะบรรลุผล
การพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาทางปกครองโดยสภาพ มีหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
ประการแรก คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐ
ประการที่สอง พิจารณาถึง “วัตถุของสัญญา” หรือ “เนื้อหาหรือข้อกำหนดของสัญญา” อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นสัญญาที่ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการ หรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือว่าเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ในการบังคับแก่เอกชนฝ่ายเดียวหรือไม่
2 สัญญาทางปกครองตามที่กำหนดในมาตรา 3 ซึ่งต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่
ประการแรก จะต้องมีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐ หน่วยงานทางปกครอง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ ส่วนอีกฝ่ายจะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ได้
ประการที่สอง ต้องมีลักษณะเป็นประเภทของสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) เป็นสัญญาสัมปทาน เช่น สัญญาสัมปทานสร้างทางด่วน สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า BTS สัญญาสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ
(ข) สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ เช่น สัญญาให้บริการทางการแพทย์ที่สำนักงานประกันสังคมทำกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคม ฯลฯ
(ค) สัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เช่น สัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างสะพาน โรงเรียน โรงพยาบาล ถนน เขื่อน สัญญาจ้างก่อสร้างวางท่อน้ำประปา ฯลฯ
(ง) สัญญาที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สัญญาให้ทำไม้ เหมืองแร่ ขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีสัญญาในรูปแบบอื่นๆอีกที่ศาลปกครองตีความว่าเป็นสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาที่ให้ส่งข้าราชการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ สัญญาก่อสร้างหอพักข้าราชการ เป็นต้น
ส่วนการที่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งได้ให้เอกชนเช่าที่พัสดุสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาที่ให้เอกชนเช่าที่พัสดุ เป็นการหารายได้จากการให้เอกชนใช้ประโยชน์จากที่ดินราชพัสดุ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงไม่เข้าหลักทั้งเป็นสัญญาทางปกครองโดยสภาพหรือเป็นสัญญาทางปกครองตามที่มาตรา 3 กำหนด จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครองแต่เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาตามกฎหมายเอกชนที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานทางปกครองและเอกชนที่อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน สัญญาประเภทนี้อยู่ในบังคับของกฎหมายเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม