การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3012  กฎหมายปกครอง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายกเทศมนตรีตำบลชมพูออกคำสั่ง  ลงวันที่  16  กรกฎาคม  2554  ห้ามนายแดงใช้อาคารและให้รื้อถอนอาคารของนายแดงซึ่งก่อสร้างโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งคำสั่งของนายกเทศมนตรีได้ออกตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร  พ.ศ.2522  ซึ่งมิได้บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการจัดให้มีคำสั่งทางปกครองอันเป็นวิธีปฏิบัติราชการไว้โดยเฉพาะ  ดังนี้  คำสั่งของนายกเทศมนตรีดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  มาตรา  37  วรรคแรก  บัญญัติว่า

คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย  และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1)  ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ

(2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง

(3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายกเทศมนตรีตำบลชมพูออกคำสั่ง  ลงวันที่  16  กรกฎาคม  2554  ซึ่งเป็นคำสั่งที่เป็นหนังสือห้ามนายแดงใช้อาคารและให้รื้อถอนอาคารของนายแดงซึ่งก่อสร้างโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม  พ.ร.บ.  ควบคุมอาคาร  พ.ศ.2522  นั้น  เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539  ดังนั้นคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเมื่อเป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือ  เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา  37  วรรคแรก แห่ง  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  ด้วย  กล่าวคือ  จะต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย  และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ  ข้อกฎหมายที่อ้างอิง  และข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

แต่ตามอุทาหรณ์ดังกล่าว  ปรากฏว่าคำสั่งทางปกครองนั้นไม่มีการระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญให้เห็นว่า  อาคารมีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายตามข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งห้ามใช้อาคารพิพาทอย่างไร  ตลอดจนมิได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิงและข้อพิพาทและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ  ดังนั้นคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย  เพราะขัดต่อบทบัญญัติมาตรา  37  วรรคแรก

สรุป  คำสั่งของนายกเทศมนตรีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะเป็นคำสั่งที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา  37  วรรคแรก  แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539

 


ข้อ  2  นายขาวสอบชิงทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศตามความต้องการของกรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย  ต่อมานายขาวศึกษาจบกลับมาแล้วผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการสรรหานายขาวโดยวิธีใดก่อนที่จะบรรจุให้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการในกรมการปกครองต่อไป  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตาม พ.ร.บ.  ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2551

มาตรา  55  ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ  ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา  57  อาจคัดเลือกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยไม่ต้องดำเนินการสอบแข่งขันตามมาตรา  53  ก็ได้  ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขที่  ก.พ. กำหนด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายขาวสอบชิงทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศตามความต้องการของกระทรวงมหาดไทยนั้น  เมื่อนายขาวศึกษาจบกลับมาแล้วก็จะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนอยู่แล้ว  ดังนั้นการที่ผู้บังคับบัญชาจะบรรจุและแต่งตั้งให้นายขาวเข้ารับราชการจึงไม่ต้องดำเนินการสรรหาโดยวิธีสอบแข่งขันตามมาตรา  53  แต่อย่างใดอีก  และกรณีนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ  ผู้บังคับบัญชาจึงสามารถทำการสรรหาโดยวิธีการคัดเลือกได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  55  ดังกล่าวข้างต้น

สรุป  ผู้บังคับบัญชาสามารถทำการสรรหานายขาวเพื่อบรรจุเข้ารับราชการได้โดยวิธีการคัดเลือกตามมาตรา  55

 


ข้อ  3  การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค  และการจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแตกต่างกันอย่างไร  จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค  เป็นการจัดองค์กรของรัฐตามหลักการกระจายการรวมศูนย์อำนาจปกครอง  หรือหลักการแบ่งอำนาจปกครอง  ซึ่งเป็นวิธีการที่ส่วนกลางมอบอำนาจการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการบางส่วนให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้แทนของส่วนกลางไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาคทั่วราชอาณาจักร  เพื่อจัดทำบริการสาธารณะที่กฎหมาย  รัฐบาล  หรือผู้บังคับบัญชามอบหมาย  โดยเจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังอยู่ภายใต้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของส่วนกลาง

สำหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคของไทยนั้น  เป็นไปตามกฎหมายดังนี้  คือ

1       ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ. 2534  ซึ่งได้กำหนดให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ

2       ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่  พุทธศักราช  2457  ซึ่งกำหนดให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นตำบลและหมู่บ้าน

การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  เป็นการจัดองค์กรของรัฐตามหลักกระจายอำนาจทางปกครอง  และเป็นการกระจายอำนาจทางพื้นที่หรือทางเขตแดน  โดยส่วนกลางจะมอบอำนาจการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ  ซึ่งในการจัดทำบริการสาธารณะนี้จะถูกจำกัดขอบเขตโดยพื้นที่หรืออาณาเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ  ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลาง

สำหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยนั้นมีอยู่  2  ระบบ  ได้แก่

1       ระบบทั่วไป  ที่ใช้แก่ท้องถิ่นทั่วไป  ซึ่งมีอยู่  3  รูปแบบ  คือ

(1)  เทศบาล  ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

(2) องค์การบริหารส่วนตำบล  ซึ่งการจัดระเบียบราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล  พ.ศ.2537และ

(3) องค์การบริหารส่วนจังหวัด  ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

2  ระบบพิเศษ  ที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นบางแห่ง  ซึ่งมีอยู่  2  รูปแบบ  คือ

(1)  กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528  และ

(2) เมืองพัทยา  ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา  พ.ศ. 2542

 


ข้อ  4  เทศบาลตำบลดงลานได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้นายแดงเจ้าของร้านไก่เลิศรสรื้อถอนเล้าไก่ซึ่งสร้างรุกล้ำทางหลวงในเขตเทศบาลฯ  และให้ชำระภาษีป้ายโฆษณาร้านค้า  1  หมื่นบาทภายใน  30  วัน  ทั้งนี้มิได้แจ้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลาในการอุทธรณ์ไว้ในคำสั่งแต่อย่างใด  วันรุ่งขึ้นนายแดงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวด้วยวาจาต่อนายกเทศมนตรีฯ  ว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมายคำว่า  เล้าไก่เช่นเดียวกับคำว่าอาคาร  และการประเมินภาษีก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด    อีก  3  วันต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ  ที่นายกเทศมนตรีฯได้แต่งตั้งขึ้นได้ยกเรื่องการออกคำสั่งดังกล่าวขึ้นพิจารณาเองโดยที่นายแดงไม่ได้อุทธรณ์หรือร้องขอเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯแต่อย่างใด  และเห็นว่าคำสั่งของเทศบาลฯชอบด้วยกฎหมาย  เทศบาลฯจึงได้แจ้งคำสั่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯเป็นหนังสือให้แก่นายแดงทราบ  หากวันรุ่งขึ้นนายแดงได้มาปรึกษาท่านเพื่อจะฟ้องเทศบาลฯ  เป็นคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รื้อถอนเล้าไก่และชำระภาษี  เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้ท่านจะให้คำแนะนำแก่นายแดงในกรณีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา  5  คำสั่งทางปกครอง  หมายความว่า  การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับ  หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว  เช่น  การสั่งการ  การอนุญาต  การอนุมัติ  การวินิจฉัยอุทธรณ์  การรับรอง  และการรับจดทะเบียน  แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

มาตรา  40  คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้  ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง  การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย

ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง  ให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง  แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี  ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง

มาตรา  44  วรรคสอง  คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริง  หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย

และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

มาตรา  9  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องต่อไปนี้

(1)    คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใด

เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง

(2)    คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว  ศาลแรงงาน  ศาลภาษีอากร

มาตรา  42  วรรคสอง  ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว  และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น  หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

มาตรา  72  ในการพิพากษาคดี  ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)    สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง  หรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน  ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  9(1)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอยู่  2  ประเด็น  ได้แก่

ประเด็นที่  1  นายแดงจะฟ้องเทศบาลตำบลดงลานเป็นคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รื้อถอนเล้าไก่และชำระภาษีโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่  ซึ่งประเด็นนี้สามารถวินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

1        กาที่เทศบาลตำบลดงลาน  ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้นายแดงรื้อถอนเล้าไก่ฯ  และให้ชำระภาษีฯนั้น  ถือว่าคำสั่งของเทศบาลฯเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา  5  แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539

2        การที่เทศบาลฯ  มิได้แจ้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลาในการอุทธรณ์ไว้ในคำสั่งทางปกครองตามมาตรา  40  วรรคหนึ่ง  ทำให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้งแย้งขยายเป็น 1 ปี  นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา  40  วรรคท้าย  แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

3        การที่นายแดงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของเทศบาลด้วยวาจานั้น  ถือว่าไม่เป็นไปตามมาตรา  44  วรรคสอง  แห่ง พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ  เพราะคำอุทธรณ์นั้นต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย  ดังนั้นคำอุทธรณ์ของนายแดงจึงไม่มีผล

4        การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์  ได้ยกเรื่องการออกคำสั่งดังกล่าวขึ้นพิจารณาเองและเห็นว่าคำสั่งของเทศบาลฯ  ชอบด้วยกฎหมาย  จึงได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯให้นายแดงทราบนั้น  ดังนี้เมื่อมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ  จึงถือได้ว่ามีการอุทธรณ์ตามมาตรา  44  แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯแล้ว

5        เมื่อถือว่านายแดงได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กฎหมายได้กำหนดก่อนฟ้องคดีตามมาตรา  42  วรรคสอง  แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯแล้ว  นายแดงจึงสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้

ประเด็นที่ 2  เมื่อนายแดงสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้  ดังนี้ศาลใดมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณา  ซึ่งในประเด็นที่  2  นี้  จะต้องแยกวินิจฉัยออกเป็น  2  กรณี  คือ

กรณีที่  1  กรณีที่นายแดงจะฟ้องเป็นคดีต่อศาล  เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ให้ตนรื้อถอนเล้าไก่ซึ่งสร้างรุกล้ำทางหลวงในเขตเทศบาลฯ

คดีนี้เมื่อนายแดงฟ้องเทศบาลฯว่าได้ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1) มาตรา 42 และมาตรา 72(1) ดังนั้น  คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา  นายแดงจึงต้องฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

กรณีที่  2  กรณีที่นายแดงจะฟ้องเป็นคดีต่อศาลเนื่องจากเห็นว่าการประเมินภาษีของเทศบาลฯและให้ชำระภาษีนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง  แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 วรรคสอง (3)  เพราะเป็นคดีแพ่งที่เป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร  ดังนั้น  คดีนี้ถ้านายแดงจะฟ้องจึงต้องฟ้องต่อศาลภาษีอากร

สรุป  เมื่อนายแดงมาปรึกษาข้าพเจ้าเพื่อจะฟ้องเทศบาลฯ  เป็นคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รื้อถอนเล้าไก่และชำระภาษีเนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายแดงตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น 

Advertisement