การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามหนังสือกู้จำนวน  500,000  บาท  จำเลยให้การต่อสู้กู้เพียง  400,000  บาท  แต่โจทก์ขอให้ทำหนังสือกู้  500,000  บาท  มิฉะนั้นจะไม่ยอมให้กู้  จำเลยจึงยอมทำหนังสือสัญญากู้  500,000  บาท  ฉะนั้น  จำเลยขอชำระหนี้ให้เพียง  400,000  บาท 

ถ้าท่านเป็นศาลในคดีนี้  ท่านจะจัดให้ดำเนินการสืบพยานในประเด็นใดหรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ข)  ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้  มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา  (2)  แห่งมาตรา  93  และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า  พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด  หรือแต่บางส่วน  หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์  หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ย่อมต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร  ในเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง  หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก  เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้  คือ

1       กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย  หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย  หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2       พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3       พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4       สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5       คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้จำนวน  500,000  บาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่ากู้เพียง  400,000  บาท  แต่โจทก์ขอให้ทำหนังสือกู้  500,000  บาท  มิฉะนั้นจะไม่ยอมให้กู้  ดังนี้  ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องเรียกเงินกู้จำนวน  500,000  บาท  ตามสัญญากู้เงินในกรณีดังกล่าว  ถือว่าจำเลยยอมรับการเป็นหนี้และความถูกต้องแห่งเอกสาร  ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นข้อพิพาทในการกู้เงินหรือไม่จึงเป็นอันยุติลง

ส่วนจำนวนเงินที่โต้เถียงกันอยู่  เมื่อปรากฏหลักฐานกู้เงินเป็นจำนวน  500,000  บาท  จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  (ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคแรก)  จำเลยย่อมจะขอนำสืบพยานบุคคลว่าความจริงรับเงินไปเพียง  400,000  บาท  ผิดแผกไปจากที่ปรากฏในเอกสารไม่ได้  เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร  ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามวรรคสองแต่อย่างใด  ดังนั้น  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวน  500,000  บาท  โดยไม่ต้องสืบพยาน  (เทียบ  ฎ. 108/2516 (ประชุมใหญ่))

สรุป  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวน  500,000  บาท  โดยไม่ต้องสืบพยาน

หมายเหตุ  ข้อเท็จจริงนี้จำเลยต่อสู้แต่เพียงว่าได้รับเงินไปเพียง  400,000  บาท  ไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าอีก  100,000  บาท  จำเลยยังไม่ได้รับอันจะทำให้สัญญากู้ไม่สมบูรณ์ซึ่งสามารถนำพยานบุคคลมานำสืบหักล้างเอกสารได้ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94  วรรคท้าย  (ฎ. 4674/2543  ฎ. 5348/2540)


ข้อ  2  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  โจทก์ประสงค์จะขอนำสืบพยานเอกสารจำนวน  50  รายการ  และพยานบุคคลอีก  10  คน  ปรากฏว่า  หลังจากการยื่นบัญชีระบุพยาน  โจทก์จัดทำรายการเอกสารขาดไป  15  รายการ  และจำเป็นต้องสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก  5  คน  อยากทราบว่าในกรณีนี้  โจทก์จะดำเนินการอย่างไร  และมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานอย่างไรบ้าง  จงอธิบาย  (โจทก์ทราบเรื่องการจัดทำพยานไม่ครบหลังจากวันสืบพยาน  7  วัน)

ธงคำตอบ

มาตรา  88  วรรคแรกและวรรคสอง  เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด  หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล  วัตถุ  สถานที่  หรืออ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้ง  เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง  หรือข้อเถียงของตน  ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันซึ่งบัญชีระบุพยานโดยแสดงหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้าง  และรายชื่อที่อยู่ของบุคคล  วัตถุ  หรือสถานที่ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยาน  หรือขอให้ศาลไปตรวจ  หรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่กรณี  พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ  เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม  ให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน

วินิจฉัย

ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการยื่นบัญชีระบุพยานไว้ว่า  ในการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก  ต้องยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า  7  วัน  โดยยื่นพร้อมสำเนาบัญชีระบุพยานเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล  (ป.วิ.พ.  มาตรา  88  วรรคแรก)

และในส่วนการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม  ต้องยื่นต่อศาลภายใน  15  วัน  นับแต่วันสืบพยาน  โดยยื่นเป็นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม  และสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม  (ป.วิ.พ.  มาตรา  88  วรรคสอง)

เมื่อได้ความว่าภายหลังจากที่โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานในครั้งแรกแล้ว  โจทก์จัดทำรายการเอกสารขาดไป  15  รายการ  และมีความจำเป็นต้องสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก  5  คน  ดังนั้น  เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม  และปรากฏว่ายังอยู่ภายในระยะ  15  วัน  นับแต่วันสืบพยานโจทก์  โจทก์จึงชอบที่จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมโดยทำเป็นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม   ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  88  วรรคสอง

สรุป  เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม  โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมโดยทำเป็นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม


ข้อ  3  โจทก์ฟ้องคดีอาญาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นอันตรายสาหัส  จำเลยรับว่าทำร้ายร่างกายโจทก์จริง  แต่เนื่องจากโจทก์มีอาวุธปืน  และจำเลยอยู่ในภาวะคับขัน  จำเลยจึงใช้มีดฟันเพื่อให้ตนเองปลอดภัย  ดังนี้  คดีนี้ใครมีหน้าที่นำสืบอย่างไร  และหากทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน  ศาลจะพิพากษาคดีอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

มาตรา  15  วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

มาตรา  227  ให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง  อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง  และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่  ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

วินิจฉัย

เนื่องจากในคดีอาญา  ป.วิ.อ.  ไม่ได้บัญญัติเรื่องหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ไว้  จึงอาศัย  ป.วิ.อ.  มาตรา  15  นำ  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  (ปัจจุบันคือ  มาตรา  84/1)  มาใช้  กล่าวโดยสรุปคือ  ในคดีอาญานั้น  บุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด  (ป.วิ.อ.  มาตรา  227)  ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด  ถ้าจำเลยให้การปฏิเสธ  หรือแม้จะไม่ให้การเลย หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ย่อมตกอยู่แก่โจทก์  ยกเว้นใน  2 กรณี  คือ

1       จำเลยให้การยอมรับตามฟ้องโจทก์  แต่อ้างเหตุยกเว้นโทษ

2       มีกฎหมายสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด  ทั้งสองกรณีนี้ภาระการพิสูจน์ย่อมตกอยู่แก่จำเลย

การที่จำเลยรับว่าได้ทำร้ายร่างกายโจทก์จริง  แต่เนื่องจากโจทก์มีอาวุธปืนและจำเลยอยู่ในภาวะคับขันจึงใช้มีดฟันเพื่อให้ตนเองปลอดภัย กรณีจึงเป็นการที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยกระทำเพื่อป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายตาม  ป.อ.  มาตรา  68  จำเลยไม่มีความผิด  กรณีจึงเท่ากับว่าจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด  จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบว่าจำเลยทำร้ายโจทก์โดยเจตนา  ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม

 ป.วิ.พ.  มาตรา  84  (ปัจจุบันคือ  มาตรา  84/1)  ประกอบ  ป.วิ.อ.  มาตรา  15  (ฎ. 943/2508  ฎ. 2019/2514)

และหากทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน  ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้  เพราะการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุตาม  ป.อ.  มาตรา  68  ถือว่าจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด  ทั้งนี้  เพราะการป้องกันเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  โจทก์มีหน้าที่นำสืบ  และหากทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน  ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้

หมายเหตุ  ป.วิ.อ.  มาตรา  174  ไม่ใช่บทบัญญัติเรื่องหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ในคดีอาญา  เป็นเพียงบทกำหนดหน้าที่นำสืบก่อนหรือกำหนดลำดับนำพยานเข้าสืบในคดีอาญาว่าโจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบก่อนเสมอ  จะให้จำเลยนำสืบก่อนไม่ได้  (ฎ. 1217/2503)  ส่วนหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ก็เป็นไปตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84 (ปัจจุบันคือมาตรา  84/1)  ประกอบ  ป.วิ.อ.  มาตรา  15  ดังที่กล่าวถึงข้างต้น  (ฎ. 3146/2543)

Advertisement