การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  คดีแพ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน  1,000,000  บาท  ครบกำหนดชำระหนี้คืนแล้ว  โจทก์ทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย  ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน  1,000,000  บาทแก่โจทก์  จำเลยให้การว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้องจริง  แต่เลยได้ชำระหนี้คืนโจทก์แล้วเป็นเงิน  500,000  บาท  จำเลยยังคงค้างชำระเงินโจทก์เพียง  500,000  บาทเท่านั้น

ระหว่างการสืบพยานโจทก์  โจทก์ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ว่าจำเลยยังไม่เคยชำระหนี้เงินยืมให้แก่โจทก์เลย  จำเลยจึงนำจดหมายของโจทก์ที่เขียนถึงจำเลย  โดยมีข้อความว่า  ตามที่จำเลยส่งเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน  500,000  บาท  มาชำระหนี้ให้นั้นโจทก์ได้รับไว้แล้ว  มาถามโจทก์ว่าเป็นจดหมายของโจทก์หรือไม่  โจทก์รับว่าเป็นจดหมายที่โจทก์เขียนไปถึงจำเลยจริง  แต่โจทก์ไม่ได้รับเงินเนื่องจากเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน  และจำเลยไม่มีสิทธิอ้างจดหมายดังกล่าวเป็นพยานเนื่องจากจำเลยไม่ได้อ้างไว้ในบัญชีระบุพยาน  หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์อ้าง  ให้วินิจฉัยว่าศาลจะรับฟังจดหมายดังกล่าวเป็นพยานจำเลยได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  87  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  88  และ  90  แต่ถ้าศาลเห็นว่า  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้  ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย

หลักการยื่นบัญชีระบุพยาน  ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ยื่นบัญชีระบุพยานรวมทั้งยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานแล้ว  แต่ศาลไม่อนุญาต  กรณีย่อมมีผลตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  87(2)  คือ  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานนั้น

หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามโจทก์อ้างศาลจะรับฟังจดหมายดังกล่าวเป็นพยานจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยนำจดหมายของโจทก์มาซักค้านโจทก์ในคดีนี้ถือเป็นการพิสูจน์ต่อพยานตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  120  ถ้าโจทก์ยอมรับความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร  ข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นย่อมยุติ  ศาลย่อมรับฟังเอกสารนั้นเป็นพยานได้โดยไม่จำต้องระบุไว้ในบัญชีระบุพยานกรณีถือเป็นข้อยกเว้นของการยื่นบัญชีระบุพยาน

แต่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้  แม้โจทก์จะยอมรับว่าจดหมายที่จำเลยนำมาซักค้านเป็นจดหมายของโจทก์ก็ตาม  แต่โจทก์ก็ปฏิเสธว่าเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน  ข้อเท็จจริงที่จำเลยต้องการพิสูจน์ว่าโจทก์ได้รับเงิน  500,000  บาท  ไปแล้วจึงยังไม่ยุติ  เมื่อจำเลยมิได้ระบุจดหมายดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยาน  จำเลยจึงไม่มีสิทธิอ้างเป็นพยานได้ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  87(2)  ข้ออ้างของโจทก์ฟังขึ้น

สรุป  ศาลไม่อาจรับฟังจดหมายเป็นพยานจำเลยได้


ข้อ  2  โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างปี  2542 
 2545  โจทก์และจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  และได้ร่วมกันซื้อที่ดิน  1  แปลง  เนื้อที่  1  ไร่  โดยได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของจำเลยเพียงผู้เดียว  ตามสำเนาโฉนดที่ดินท้ายฟ้อง  เมื่อปลายปี 2545  โจทก์กับจำเลยตกลงแยกทางกัน  โจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินครึ่งหนึ่งแต่จำเลยไม่ยินยอม  ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินดังกล่าว  จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  เงินที่ซื้อที่ดินแปลงพิพาทเป็นเงินส่วนตัวของจำเลยเพียงผู้เดียว  โจทก์ไม่ได้ร่วมออกเงินด้วย  ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการสืบพยาน  โจทก์อ้างว่าตนเองเป็นพยานเบิกความว่า  เงินที่นำมาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการที่โจทก์และจำเลยร่วมกันทำธุรกิจ  แต่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อจำเลยเพียงผู้เดียวก่อน  จำเลยแถลงโต้แย้งว่าศาลจะรับฟังคำเบิกความดังกล่าวของโจทก์ไม่ได้  เนื่องจากเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินพิพาท  ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  94  ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ข)  ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

มาตรา  1373  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

วินิจฉัย

ในกรณีที่ห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลแก้ไขเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้นตาม 

ป.วิ.พ.  มาตรา  94  บัญญัติมิให้รับฟังพยานบุคคลเฉพาะที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น  ส่วนในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  กรณีเช่นนี้  คู่สัญญาก็อาจนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารได้  ไม่ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94  แต่ประการใด

ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทกับจำเลยโดยมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง  จะเห็นได้ว่า ข้อพิพาทดังกล่าวจึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสาร  กล่าวคือ  ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ  หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญแต่ประการใด

ดังนั้น  ระหว่างการสืบพยาน  การที่โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการที่โจทก์และจำเลยร่วมกันทำธุรกิจ  แต่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อจำเลยเพียงผู้เดียวก่อน  เป็นกรณีโจทก์อ้างว่ามีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน  กรณีเช่นนี้  โจทก์จึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94 (ฎ. 12/2538)

ส่วนการที่จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท  ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมาย  ว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  1373  เท่านั้น  แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด  โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอ้างตนเองเป็นพยานเพื่อนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้  ไม่ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  เพราะมิใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดิน  (ฎ. 800/2510)

สรุป  ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น  โจทก์มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้


ข้อ  3  โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระราคาสินค้าที่จำเลยซื้อไปจากโจทก์หลายครั้งแล้วยังไม่ชำระ  จำเลยให้การว่า  จำเลยไม่ชำระราคาเพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพ  จำเลยนำไปใช้แล้วเกิดความเสียหาย  ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา  คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา  และคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะมิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด  2  ปี  นับแต่วันส่งมอบ  ขอให้ยกฟ้อง

เช่นนี้  คดีมีประเด็นพิพาทและหน้าที่นำสืบประการใด  และถ้าคู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน  ศาลจะตัดสินให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะคดี   

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท  หมายถึง  ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ  ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว  ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

ดังนั้น  เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การของโจทก์จำเลยแล้ว  ประเด็นข้อพิพาทจึงมีดังนี้

1       จำเลยต้องชำระราคาตามฟ้องหรือไม่

2       คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ส่วนที่จำเลยให้การว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น  จำเลยให้การเพียงแต่ยกถ้อยคำตามกฎหมายอ้างโดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าฟ้องอขงโจทก์ไม่ชัดแจ้งอย่างไร  คำให้การของจำเลยจึงแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ชัดแจ้ง  ไม่ชอบด้วย  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง  ดังนั้น  จึงไม่มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัย  คดีจึงฟังได้เป็นยุติว่า  คดีของโจทก์ไม่เคลือบคลุม  (ฎ. 913/2509  ฎ. 48/2536)

สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  วรรคแรก  (ปัจจุบันคือมาตรา  84/1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด  ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้

ประเด็นแรก  ที่ว่า  จำเลยต้องชำระราคาตามฟ้องหรือไม่  เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์แล้วไม่ชำระ  จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ซื้อสินค้าไจปากโจทก์ตามฟ้อง  ถือว่าจำเลยให้การรับว่าจำเลยได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ตามฟ้อง  แต่กล่าวข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เรื่องสินค้าไม่มีคุณภาพขึ้นปฏิเสธ  ความรับผิดเพื่อไม่ต้องชำระราคาสินค้า  ดังนั้น  จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อนี้ (ฎ. 1719/2549)

ประเด็นที่สอง  ที่ว่า  คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่  แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างประเด็นข้อนี้ขึ้นมา  แต่ศาลฎีกาก็ได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า  การที่โจทก์ฟ้องนั้นสันนิษฐานว่าเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ  เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ  โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ  (ฎ. 3042/2548 ฎ. 4610/2547)

คดีนี้  ถ้าคู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน  โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อที่สอง  ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีในประเด็นข้อนี้  เพราะถือว่าคดีขาดอายุความแล้ว  และเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายฟ้องคดีโจทก์ย่อมแพ้คดีทั้งสำนวน  ส่วนจำเลยแม้ไม่ได้สืบพยานตามที่มีหน้าที่นำสืบในประเด็นแรก  ก็ยังเป็นฝ่ายชนะคดีได้

สรุป  ประเด็นข้อพิพาท  มีดังนี้

1       จำเลยต้องชำระราคาตามฟ้องหรือไม่  หน้าที่นำสืบข้อนี้ตกแก่จำเลย

2       คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่  หน้าที่นำสืบข้อนี้ตกแก่โจทก์

และถ้าคู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน  ศาลจะตัดสินให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

Advertisement