การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่นา  ส.ค.1  จากจำเลย  อ้างว่าเป็นมรดกของปู่โจทก์  ซึ่งตกได้แก่โจทก์และจำเลยร่วมกัน  และได้ครอบครองร่วมกันมา  จำเลยให้การว่าปู่ของโจทก์ยกที่นาพิพาทให้แก่บิดาของจำเลยก่อนตาย  จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลาประมาณ  30  ปีแล้ว  อีกทั้งโจทก์และบิดาโจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องด้วยเลย  ดังนี้ให้นักศึกษาพิจารณาว่าคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรบ้าง  และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบ  จงอธิบายพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

(2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด  คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1369  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน

มาตรา  1372  สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท  หมายถึง  ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ  ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว  ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าที่พิพาทดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดถึงตน  พร้อมกับขอแบ่งที่พิพาทดังกล่าว  จึงเท่ากับว่า  โจทก์กล่าวอ้างในฐานะที่ตนมีสิทธิในที่ดินมรดก  และจากที่จำเลยให้การถึงการที่ได้รับที่นา  และมีการครอบครองมาโดยตลอดเป็นเวลาประมาณ 30  ปี  จึงเท่ากับว่า  จำเลยปฏิเสธว่าที่พิพาทไม่ใช่มรดก  ดังนี้  ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า  ที่นาพิพาทเป็นมรดกหรือไม่

สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  (ปัจจุบันคือ  มาตรา  84/1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด  ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด  คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ที่นาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า  (ส.ค.1)  และจำเลยครอบครองอยู่  กรณีเช่นนี้  จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม  ป.พ.พ. มาตรา  1369  และมาตรา  1372  ที่บัญญัติว่า  เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง  เมื่อโจทก์กล่าวอ้างที่นา  ส.ค.1  เป็นมรดก  โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบก่อนว่าที่นาพิพาทเป็นมรดกดังโจทก์อ้าง  เพราะจำเลยให้การปฏิเสธ  (ฎ. 376/2525 ฎ. 3059  3060/2516)

สรุป  คดีมีประเด็นข้อพิพาท  คือ  ที่นาพิพาทดังกล่าวเป็นมรดกหรือไม่  และหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์

หมายเหตุ  กรณีที่จะปรับเข้าข้อสันนิษฐานตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1373  ได้นั้น  เฉพาะกรณีที่พิพาทกันว่าใครมีสิทธิดีกว่ากันในที่ดินที่มีโฉนดหรือที่ดินที่มี  น.ส. 3  หรือ  น.ส.3  ก.  เท่านั้น (ฏ. 3565/2538)  ส่วนที่ดิน  ส.ค.1  ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1373  แต่ในกรณีเช่นนี้ถือว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินอยู่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา  1369  และ  1372  ที่ว่า  ผู้ที่ยึดถืออยู่นั้นเป็นการยึดถือเพื่อตนและมีสิทธิครอบครอง  (ฎ. 2550/2543)


ข้อ  2  โจทก์จำเลยพิพาทกันว่าที่งอกริมตลิ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลย  การพิจารณาของศาลชั้นต้นได้สั่งให้มีการเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาทดังกล่าว  ในประเด็นที่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ครอบครองที่พิพาท  แล้ววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการเดินเผชิญสืบว่าที่พิพาทดังกล่าวไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของทั้งโจทก์และจำเลย  แต่เป็นที่ชายเลนน้ำท่วมถึงจะเป็นที่ชายตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  อยากทราบว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าววินิจฉัยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  86  เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ก็ดี  หรือเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้  แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้

เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดฟุ่มเฟือยเกินสมควร  หรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น  ให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น  หรือพยานหลักฐานอื่นต่อไป

เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม  ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป  ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย  โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ

มาตรา  87  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่

(1) พยานหลักฐานนั้นเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ  และ

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  88  และ  90  แต่ถ้าศาลเห็นว่า  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้  ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่ศาลจะรับฟังพยานหลักฐาน  กรณีย่อมจะต้องเป็นพยานหลักฐานตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  86  และมาตรา  87  กล่าวคือ  จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี  หรือประเด็นข้อพิพาทและจะต้องเป็นข้อเท็จจริงตามข้ออ้างข้อเถียงในคำฟ้องหรือคำให้การ  มิฉะนั้น  ย่อมจะถือเป็นการนอกฟ้อง  นอกคำให้การหรือนอกประเด็น

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าววินิจฉัยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันดังกล่าว  ประเด็นข้อพิพาทในคดีจึงมีเพียงว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลยเท่านั้น  ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งหรือไม่  ดังนั้นการที่ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากการเดินเผชิญสืบว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลย  แล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  กรณีจึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา  ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  87  ที่ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง  จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง  นอกประเด็น  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 3415/2535)

สรุป  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าววินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ข้อ  3  แดงกู้เงินเขียวโดยแดงได้ทำหนังสือกู้เงินจำนวน  
300,000  บาท  ให้เขียว  โดยที่เขียวมิได้ลงลายมือชื่อ  คงมีแต่แดงผู้เดียวและมิได้กำหนดเวลาการชำระหนี้ต่อกัน  ต่อมาปรากฏว่าแดงลงทุนค้าขายขาดทุนมาก  เขียวเกรงว่าจะไม่ได้รับเงินกู้คืน  จึงฟ้องแดงขอให้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน  และขอนำเหลืองเป็นพยานบุคคลมาสืบให้เห็นว่าแดงเป็นผู้กู้เงินจากเขียวจริง  ดังนี้อยากทราบว่าเขียวมีสิทธินำเหลืองเข้าสืบได้หรือไม่  และแดงจะต้องชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดหรือไม่  เพราะเหตุใดจงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย 

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ข)  ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคแรก  กำหนดว่า  การกู้ยืมเงินกว่า  2,000  บาท  ขึ้นไปนั้น  กฎหมายบังคับว่า  ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด  ซึ่งก็คือ  ผู้กู้  เป็นสำคัญเท่านั้นจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  กฎหมายหาได้บัญญัติให้ผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อด้วยแต่อย่างใดไม่  ดังนั้น  สัญญากู้ยืมเงินที่มีแดงผู้กู้แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อ  ย่อมถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคแรกแล้ว  ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้  (ฎ. 6930/2537)  ส่วนในกรณีที่มิได้กำหนดวันชำระหนี้เงินกู้คืนไว้เขียวก็ย่อมมีสิทธิเรียกให้แดงทำการชำระหนี้ได้โดยพลัน  นับแต่วันที่แดงผู้กู้ได้รับมอบเงินกู้จากเขียว  (ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  203  วรรคแรก)  ส่วนดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้นั้น  โดยหลักแล้ว  เขียวจะเรียกดอกเบี้ยจากแดงไม่ได้เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาจะเรียกดอกเบี้ยแก่กัน  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  7  ที่ว่า  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน  ซึ่งหมายความเฉพาะกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันหรือมีเจตนาที่จะเรียกดอกเบี้ยจากกัน  แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่านั้น  เขียวจึงเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากแดงในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  7  ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่เขียวฟ้องแดงให้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย  ถือว่าการฟ้องคดีต่อศาลเป็นการบอกกล่าวทวงถามไปในตัว  กรณีนี้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วในวันฟ้อง  (ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  204  วรรคแรก)  เขียวจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  224  วรรคแรก  (ฎ. 1137/2540)

ส่วนการที่เขียวขอนำเหลืองพยานบุคคลมาสืบอธิบายให้เห็นว่า  เขียวได้มีการให้แดงกู้เงินตามสัญญากู้  ก็ไม่ถือเป็นการนำสืบเพิ่มเติม  หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารอันจะต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  แต่อย่างใด  เขียวจึงขอนำนายเหลืองพยานบุคคลมาสืบได้  (ฎ. 1302/2535)

สรุป  เขียวมีสิทธินำเหลืองเข้าสืบได้  และแดงจะต้องชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  224  วรรคแรก

หมายเหตุ  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  ผู้จัดทำเห็นว่ายังมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่อีกหลายประการ  จึงนำเสนอเพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาโดยสังเขปดังนี้

1       เมื่อหลักฐานการกู้ยืมไม่ได้ระบุเวลาชำระหนี้ไว้  ถือเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  จะนำสืบพยานบุคคลว่ามีกำหนดเวลาชำระโดยตกลงให้ผ่อนชำระหนี้เป็นงวดๆ ไม่ได้  เป็นการสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร  ต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  (ฎ. 1962/2525  ฎ. 1124/2511)

2       สัญญากู้ยืมไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้  ต้องฟังว่าสัญญากู้ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้จะนำสืบพยานบุคคลไม่ได้  (ฎ. 9866/2544)

3       ถ้าสัญญากู้ยืมระบุว่าแดงกู้ยืมเงินของผู้ให้กู้  โดยมิได้ระบุชื่อเขียวว่าเป็นผู้ให้กู้  เขียวนำพยานบุคคลมาสืบ  อธิบายให้เห็นว่าเขียวเป็นผู้ให้แดงกู้ยืมเงินได้  ไม่เป็นการสืบเพิ่มเติมเอกสารตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  (ฎ.  1302/2535)

Advertisement