การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์  100,000  บาท  โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราตามกฎหมาย  ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินท้ายฟ้อง  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามสัญญา  จำเลยไม่ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย  โจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้ว  จำเลยเพิกเฉย  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง  รวมเป็นเงิน  150,000  บาท  และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินต้น  100,000  บาท  นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า  จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์  ไม่เคยได้รับเงินและไม่ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม  หากศาลฟังว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยจริงแล้ว  จำเลยก็ไม่ต้องชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์  เมื่อหกเจ็ดปีที่ผ่านมา  ภริยาของจำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยจำเลยลงชื่อในหนังสือสัญญาซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ แต่ภริยาของจำเลยก็ได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ครบถ้วนตรงตาม

สัญญาแล้ว  โจทก์ไม่คืนหนังสือสัญญาที่จำเลยทำไว้โดยอ้างว่าหาหนังสือสัญญาดังกล่าวไม่พบ  หากพบแล้วจะนำมาคืนให้  เมื่อภริยาของจำเลยหลงลืมไม่ได้ติดตามทวงถาม  โจทก์กลับนำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมากรอกข้อความและฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้  โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้  โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  เพราะตามสัญญาระบุให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมายคือร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น  และสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยนี้ขาดอายุความแล้ว  ขอให้ยกฟ้อง

เช่นนี้  คดีมีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบประการใด  จงอธิบายเหตุผลประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  84  วรรคแรก  ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ  เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

มาตรา  177  วรรคสอง  ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า  จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน  รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท  หมายถึง  ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ  ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว  ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์  คดีมีประเด็นข้อพิพาทประการใดนั้น  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาตามคำให้การของจำเลยมีหลายนัย  กล่าวคือ  ตอนแรกจำเลยให้การว่า  จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์  ไม่เคยได้รับเงิน  และไม่ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินตามฟ้อง  ลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม  แต่ในต่อมาจำเลยกลับให้การว่า  สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากภริยาจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์และจำเลย ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาโดยไม่ได้กรอกข้อความ  ต่อมาภริยาจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว  แต่โจทก์ไม่ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความนั้น  แล้วโจทก์กรอกข้อความในสัญญาดังกล่าวโดยที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน  จะเห็นได้ว่า  คำให้การของจำเลยเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกัน  ถือไม่ได้ว่าเป็นคำให้การที่ชัดแจ้ง  ไม่ชอบด้วย  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ  แต่คำให้การดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ความตามฟ้องจึงจะชนะคดีได้  (ฎ.  7714/2547  ฎ. 609/2530)

คำให้การในส่วนที่ว่า  โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  15  ต่อปีนั้น  ในส่วนนี้ถือเป็นคำให้การที่ปฏิเสธโดยชัดแจ้งชอบด้วย  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง  มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องกำหนด

คำให้การในส่วนที่ว่า  โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้นั้น  ในส่วนนี้ไม่มีผลกระทบต่อการแพ้ชนะของคดี  จึงไม่ต้องกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท

และคำให้การในส่วนที่ว่า  สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยขาดอายุความแล้ว  ในส่วนนี้จำเลยให้การเพียงลอยๆ  โดยไม่ได้อ้างเหตุว่าขาดอายุความเพราะเหตุใด  ถือว่าไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ  คำให้การของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง  ไม่มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัย  จึงไม่ต้องกำหนดเป็นประเด็นพิพาท  (ฎ. 2941/2547)

ดังนั้น  คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทดังนี้  คือ

1       จำเลยได้กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่

2       โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  15  ต่อปีหรือไม่

สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84  (ปัจจุบันคือ  มาตรา  84/1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด  ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้

ประเด็นแรก  ตามข้อพิพาทที่ว่า  จำเลยได้กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่  เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง  จำเลยให้การปฏิเสธ  โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบ  ส่วนคำให้การของจำเลยดังกล่าวปฏิเสธไม่ชัดแจ้งจึงไม่ชอบด้วย  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง  จำเลยจึงไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ  (ฎ . 7047/2540)

ประเด็นที่สอง  ตามข้อพิพาทที่ว่า  โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  15  ต่อปีหรือไม่  ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวถือเป็นการตีความตามข้อตกลงในสัญญา  จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย  ซึ่งศาลสามารถวินิจฉัยได้เอง  คู่ความไม่ต้องนำสืบ

สรุป  คดีมีประเด็นข้อพิพาทดังนี้  คือ

1       จำเลยได้กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่  และหน้าที่นำสืบตกอยู่แก่โจทก์

2       โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  15  ต่อปีหรือไม่  คู่ความไม่ต้องนำสืบเป็นปัญหาข้อกฎหมาย  ที่ศาลสามารถวินิจฉัยได้เอง


ข้อ  2  คดีอาญาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำเป็นจำเลยที่  1  นายขมเป็นจำเลยที่  2  กล่าวหาว่า  จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของนางสาวสวยผู้เสียหาย  จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด  หลังจากที่สืบพยานโจทก์ปากนางสาวสวยผู้เสียหายเสร็จแล้ว  นายดำได้แถลงขอถอนคำให้การเดิม  และขอให้การใหม่  เป็นรับสารภาพผิดตามฟ้อง    ศาลสั่งให้โจทก์แยกฟ้องนายขมจำเลยที่  2 เป็นคดีใหม่  และพิพากษาในคดีเดิมให้จำคุกนายดำมีกำหนด  6  เดือน  ต่อมาเมื่อโจทก์ฟ้องนายขมเป็นคดีใหม่  ในระหว่างการพิจารณาคดี  โจทก์ได้อ้างคำเบิกความนางสาวสวย  ซึ่งอยู่ในคดีเดิมเป็นพยาน  และอ้างนายดำซึ่งศาลพิพากษาลงโทษในคดีเดิมไปแล้วเป็นพยาน  นายขมต่อสู้คดีว่าคำเบิกความของนางสาวสวยในคดีเดิมรับฟังเป้นพยานไม่ได้  เนื่องจากโจทก์มิได้นำนางสาวสวยมาเบิกความต่อหน้านายขมในคดีใหม่  และการที่โจทก์อ้างนายดำเป็นพยานก็ต้องห้ามตามกฎหมายเนื่องจากเป็นการอ้างจำเลยผู้ร่วมกระทำความผิดกับนายขมเป็นพยาน

ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายขมทั้งสองประการฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  172  วรรคแรก  การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  232  ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  คำเบิกความของนางสาวสวยในคดีเดิมรับฟังเป็นพยานได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้โจทก์จะมิได้นำนางสาวสวยมาเบิกความเป็นพยานในคดีหลังต่อหน้านายขมจำเลยก็ตาม  แต่อย่างไรก็ตาม  เอได้ความว่า  นางสาวสวยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีแรกต่อหน้านายขมจำเลยมาแล้ว  กรณีเช่นนี้  จึงถือได้ว่าคำเบิกความของนางสาวสวยที่โจทก์อ้างได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้านายขมจำเลยแล้ว  จึงรับฟังเป็นพยานในคดีหลังได้  ไม่ต้องห้ามตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  172  วรรคแรก  แต่อย่างใด  ข้อต่อสู้ของนายขมจำเลยในประเด็นจึงฟังไม่ขึ้น  (ฎ. 1457/2531)

การที่โจทก์อ้างนายดำเป็นพยานต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  บทบัญญัติ  ป.วิ.อ.  มาตรา  232  ที่ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น  หมายถึงจำเลยในคดีเดียวกันเท่านั้น  กรณีนี้แม้นายดำจะถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดกับนายขมจำเลยและถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกันมาแล้วก็ตามแต่ขณะที่โจทก์อ้างนายดำเป็นพยานในคดีนี้นั้น  พนักงานอัยการโจทก์ได้แยกฟ้องนายขมเป็นคดีใหม่  และให้ศาลได้พิพากษาลงโทษนายดำในคดีเดิมไปแล้ว  ดังนั้น  นายดำจึงมิได้มีฐานะเป็นจำเลยในคดีหลัง  การที่โจทก์อ้างนายดำเป็นพยานจึงไม่ต้องห้ามตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  232  แต่อย่างใด  ข้อต่อสู้ของนายขมในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน  (ฎ. 1202/2520  ฎ.  1513/2532)

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายขมทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  3  นายแดงทำใบคำเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ  14.5  ต่อปี  ต่อมาธนาคารอนุมัติสินเชื่อจำนวน  
300,000  บาท  นายแดงจึงได้ทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือให้กับธนาคารโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  19  ต่อปี  ซึ่งนายแดงได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามสัญญา  นายแดงไม่ยอมชำระหนี้  ธนาคารจึงฟ้องนายแดงต่อศาล  นายแดงให้การต่อสู้ในประเด็นดอกเบี้ยว่า

ธนาคารเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  ดังนี้  ธนาคารจะนำพยานบุคคลมาสืบว่าอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ  19  ต่อปี  เป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นายแดงผิดนัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ข)  ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

วินิจฉัย

ธนาคารจะนำพยานบุคคลมาสืบว่าอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ  19  ต่อปี  เป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นายแดงผิดนัดได้หรือไม่  เห็นว่า  นายแดงทำใบเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ  14.5  ต่อปี และธนาคารอนุมัติสินเชื่อนายแดงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือให้กับธนาคารโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  19  ต่อปี  ซึ่งนายแดงได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว  จะเห็นได้ว่า  ใบเสนอขอสินเชื่อเป็นเพียงคำเสนอของนายแดงที่เสนอต่อธนาคารเท่านั้น  ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาที่จัดทำขึ้นภายหลังที่ธนาคารได้พิจารณาคำเสนอของนายแดงแล้ว  โจทก์จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ  19  ต่อปี  ดังนั้น  ข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ธนาคารให้นายแดงกู้ยืม  จึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัยหรือมีความเป็นสองนัยอันจะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของธนาคารแต่อย่างใด  ธนาคารจึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินอัตราร้อยละ  19  ต่อปี  เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัด  เพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  (ฎ.  6509/2545)

สรุป  ธนาคารไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงิน  อัตราร้อยละ  19  ต่อปี  เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัด  เพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94 (ข)

Advertisement