การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 วรรคสอง (1) บัญญัติว่า คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว
ให้นักศึกษาอธิบายว่า ข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว
ธงคำตอบ
อธิบาย
ในคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ถือว่าคู่ความรับกันแล้วในศาล
1 เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน ซึ่งจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีดังต่อไปนี้ แม้จำเลยจะให้การโดยไม่ชัดแจ้ง แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยยอมรับแล้ว หรือที่เรียกว่าเป็นการยอมรับโดยปริยาย ดังนี้
จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องข้อใด กล่าวคือ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องข้อใด ก็ถือโดยปริยายว่าจำเลยยอมรับโดยปริยายในฟ้องข้อนั้นแล้ว เว้นแต่ในเรื่องค่าเสียหายและในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้โต้แย้งในเรื่องค่าเสียหาย หรือไม่ได้ยื่นคำให้การก็จะถือว่าจำเลยยอมรับในข้อนั้นไม่ได้
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยไม่ชัดแจ้ง เช่น ให้การว่า “นอกจากที่จำเลยให้การต่อไปนี้ขอให้ถือว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์” หรือ “นอกจากให้การไปแล้วให้ถือว่าปฏิเสธ” เป็นต้น ซึ่งคำให้การในลักษณะนี้ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามฟ้อง
2 คำรับตามที่ศาลสอบถามในการชี้สองสถาน กล่าวคือ ในการชี้สองสถานแต่ละฝ่ายจะต้องตอบคำถามที่ศาลถามเอง หรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกขึ้นอ้าง ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธได้ขณะนั้น (ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสอง)
3 คำรับตามที่คู่ความสอบถาม กล่าวคือ คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างข้อเท็จจริงใดและขอให้คู่ความฝ่ายอื่นตอบรับว่าจะรับรองข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้ร้องขอต่อศาลในวันสืบพยานให้ศาลสอบถามคู่ความฝ่ายอื่น ว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าคู่ความฝ่ายนั้นไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ในขณะนั้น ให้ถือว่าได้ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งในขณะนั้น กรณีเช่นนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นทำคำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงมายื่นต่อศาลในเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ (ป.วิ.พ. มาตรา 100)
4 คำรับเกี่ยวกับเอกสาร กล่าวคือ การไม่ส่งต้นฉบับเอกสารในความครอบครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 123, 124 ให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น คู่ความฝ่ายที่ไม่ยื่นเอกสารดังกล่าวได้ยอมรับแล้ว หรือการไม่คัดค้านเอกสารโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ก็ถือว่าคู่ความฝ่ายที่ไม่ได้คัดค้านได้ยอมรับความถูกต้องในเอกสารนั้นแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125
5 คำรับตามข้อตกลง (คำท้า) กล่าวคือ เป็นการกระทำในศาลโดยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นสมความประสงค์ของคู่ความฝ่ายใดตามที่ท้ากันอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับตามข้ออ้างของฝ่ายที่สมประสงค์นั้นทั้งหมด
ในคดีอาญา ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ถือว่าคู่ความรับกันแล้วในศาล
1 คำให้การรับสารภาพของจำเลย กล่าวคือ ปกติฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีบางกรณีที่ไม่ต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงนั้น คำรับของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลก็เป็นกรณีหนึ่งที่ทำให้ศาลลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีการนำสืบข้อเท็จจริง คำรับของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคแรกที่ว่า “ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้”
2 การแถลงยอมรับข้อเท็จจริงใดในระหว่างพิจารณาคดี กล่าวคือ ในระหว่างพิจารณาคดีโจทก์จำเลยในคดีอาญาอาจแถลงรับข้อเท็จจริงบางข้อบางประเด็นต่อศาล ซึ่งเมื่อแถลงแล้วก็ย่อมฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำรับนั้น
(2) โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 กล่าวหาว่า จำเลยตั้งโรงงานใช้เครื่องจักรที่เดินด้วยกำลังกระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2547 จำเลยกระทำประมาทเลินเล่อโดยใช้เครื่องจักรเกินกำลัง เป็นเหตุให้มอเตอร์ระเบิด บ้านเรือนของโจทก์เสียหายครึ่งหลัง ค่าเสียหายคิดเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ประมาทตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันเกิดเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีประเด็นใดบ้างที่คู่ความไม่ต้องสืบเพราะเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ยอมรับแล้ว และหากคู่ความไม่ติดใจสืบพยาน ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี
ธงคำตอบ
มาตรา 84 วรรคแรก ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง
วินิจฉัย
ข้อเท็จจริงต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว
1 จำเลยตั้งโรงงานใช้เครื่องจักรที่เดินด้วยกำลังกระแสไฟฟ้า
ประเด็นนี้ จำเลยไม่ได้ให้การรับหรือปฏิเสธ จึงถือว่าจำเลยให้การรับแล้วว่าจำเลยใช้เครื่องจักรที่เดินด้วยกำลังกระแสไฟฟ้า โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงในส่วนนี้
2 โจทก์เสียหายหรือไม่
ประเด็นนี้ จำเลยไม่ได้ให้การรับหรือปฏิเสธ จึงถือว่าจำเลยให้การรับแล้วว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบถึงความเสียหายที่เกิดแก่บ้านของโจทก์ครึ่งหลัง
สำหรับประเด็นข้อพิพาท มีดังนี้
1 จำเลยกระทำโดยประมาทหรือไม่
2 คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และ
3 โจทก์เสียหายเพียงใด
สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคแรก (ปัจจุบันคือมาตรา 84/1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นข้อ 1 แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธแต่เพียงว่าไม่ได้ประมาทตามฟ้องโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ (ปฏิเสธลอย) ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แต่ก็ยังถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงตามฟ้อง จึงีประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ยังต้องมีหน้าที่นำสืบ แต่จำเลยไม่มีประเด็นสืบแก้
ประเด็นข้อ 2 แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างประเด็นข้อนี้ขึ้นมา แต่การที่โจทก์ยื่นฟ้อง ถือเป็นปริยายว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนั้นภายในกำหนดอายุความ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้เรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นการปฏิเสธฟ้องของโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบปรากฏว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ (ฎ. 3042/2548 ฎ. 4610/2547)
ประเด็นข้อ 3 แม้จำเลยไม่ให้การปฏิเสธ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคแรก แต่หากโจทก์ประสงค์จะได้ค่าเสียหายตามฟ้อง โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องนำสืบ
จะเห็นว่าข้อพิพาททั้ง 3 ประเด็น หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 และข้อ 2 ถือว่าเป็นประเด็นข้อสำคัญแห่งคดี เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดี และจำเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี
สรุป มีประเด็นที่คู่ความไม่ต้องนำสืบเพราะเป็นข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว
1 จำเลยตั้งโรงงานใช้เครื่องจักรที่เดินด้วยกำลังกระแสไฟฟ้า
2 โจทก์เสียหายหรือไม่
และถ้าคู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จำเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี
ข้อ 2 จงอธิบายหลักเกณฑ์การยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญาว่ามีอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
หลักเกณฑ์การยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญา อาจแยกออกได้เป็น 2 กรณีคือ
ก คดีอาญาที่ศาลมิได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน
กรณีนี้ ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 โดยต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 88 กล่าวคือ ในคดีอาญาเรื่องใด ถ้าศาลมิได้มีคำสั่งให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน แต่ได้กำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์ไปเลย คู่ความทุกฝ่ายก็มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกต่อศาลก่อนวันสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่า 7 วัน และถ้าคู่ความฝ่ายใดยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วนมีความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอีก ก็ต้องยื่นแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นใช้บังคับสำหรับคดีแพ่งซึ่งคู่ความทุกฝ่ายอยู่ในฐานะเท่าเทียมกันเป็นสำคัญ แต่ในคดีอาญาต้องใช้หลักให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการอนุโลมนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาจึงค่อนข้างผ่อนปรนกับจำเลยค่อนข้างมาก ดังนั้นถ้าหากพยานหลักฐานของจำเลยเป็นพยานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี แม้จำเลยจะไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลก็มักจะใช้ดุลพินิจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87(2) ตอนท้าย ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยเสมอ
ข คดีอาญาที่ศาลกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน
การยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญาที่ศาลมีคำสั่งกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน ป.วิ.อ. ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วตามมาตรา 173/1 วรรคสองและวรรคสาม จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ในเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 มาอนุโลมใช้บังคับได้ กล่าวคือ ถ้าศาลมีคำสั่งกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานแล้วคู่ความมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกต่อศาลก่อนวันตรวจพยานหลักฐานแล้ว คู่ความมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกต่อศาลก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน พร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นรับไปจากเจ้าพนักงานศาลเอง โยคู่ความฝ่ายที่ยื่นบัญชีระบุพยานไม่มีหน้าที่ต้องเอาสำเนาบัญชีระบุพยานไปส่งให้แก่คู่ความฝ่ายอื่น
ถ้าคู่ความฝ่ายใดที่ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วนคู่ความฝ่ายนั้นก็มีสิทธิยื่นระบุพยานเพิ่มต่อศาลได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล แต่ต้องยื่นก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น
หมายเหตุ ปัจจุบัน ป.วิ.อ. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ทำให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญาที่ศาลมิได้มีคำสั่งกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานไว้โดยเฉพาะแล้ว คือมาตรา 229/1 ซึ่งมีหลักต่างจากที่ได้อธิบายข้างต้นคือ การยื่นบัญชีระบุพยานในการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดี โจทก์ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันไต่สวนมูลฟ้งหรือวันสืบพยาน พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้จำเลยรับไป ส่วนจำเลยให้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนาก่อนวันสืบพยานจำเลย
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์พร้อมเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องละเมิด จำเลยให้การต่อสู้เรื่องสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยอ้างว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกัน และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยมีภาระการพิสูจน์และศาลกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยอ้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นพยาน ซึ่งจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยไม่ได้ซื้อที่ดินจำนวน 15 ไร่ ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้เดิม แต่ซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ที่อยู่ติดกันเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เช่นเดียวกัน และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ซื้อใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงขอสืบพยานบุคคลว่ามรการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวต่อกันจริง แต่โจทก์ไม่ได้โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย เพราะที่ดินดังกล่าวติดที่ราชพัสดุบางส่วน จำเลยจึงขอย้ายแปลงไปเอาแปลงถัดไป ดังนี้ การที่ศาลรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ
1 กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น
2 พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม
3 พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน
4 สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์
5 คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีการทำสัญญาจะซื้อจะขายต่อกันจริง แต่โจทก์ไม่ได้โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย เพราะที่ดินดังกล่าวติดที่ราชพัสดุบางส่วน จำเลยจึงขอย้ายแปลงไปเอแปลงถัดไปนั้น กรณีถือเป็นการสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระงับไปแล้ว เพราะโจทก์จำเลยได้ตกลงยกเลิกสัญญาดังกล่าว และตกลงซื้อขายที่ดินแปลงอื่นต่อกันแทน เอกสารดังกล่าวไม่อาจใช้บังคับได้อีกต่อไป การที่ศาลรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีไม่ใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแกไขเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข) แต่ประการใด (ฎ. 8571/2547)
สรุป การที่ศาลรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว