การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1111 โดยซื้อมาจากเจ้าของเดิมและจดทะเบียนรับโอนมาโดยชอบแล้ว จำเลยปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนที่โจทก์จะรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่อาจนำออกให้ผู้อื่นเช่าหาผลประโยชน์ได้ คิดค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท และชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทแก่โจทก์
จำเยให้การว่า โจทก์รับจดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ตามฟ้องมาโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของบิดาจำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์มาแต่แรก จำเลยครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดา น.ส. 3 ก. เลขที่ 1111 ออกทับที่ดินที่บิดาของจำเลยครอบครอง จึงออกมาไม่ชอบ โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ขอให้ยกฟ้อง
เช่นนี้ คดีมีประเด็นตามคำฟ้อง ประเด็นตามคำให้การ และประเด็นข้อพิพาทอย่างไร และฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบ
ธงคำตอบ
มาตรา 84 วรรคแรก ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง
(2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
วินิจฉัย
ประเด็นตามฟ้อง คือ ข้ออ้างทั้งหลายที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง ซึ่งมีดังนี้
1 โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน น.ส. 3 ก. ตามฟ้อง
2 จำเลยปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย
3 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย
4 โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 1,000 บาท
ประเด็นตามคำให้การ คือ ข้อเถียงทั้งหลายที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ข้ออ้างของโจทก์ หรือกล่าวอ้างขึ้นใหม่ในคำให้การ ซึ่งมีดังนี้
1 โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ตามฟ้องมาโดยไม่สุจริต
2 ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของจำเลยซึ่งครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดา
3 น.ส.3 ก. เลขที่ 1111 ออกมาโดยไม่ชอบเพราะออกทับที่ดินบิดาของจำเลยครอบครอง
4 โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่เพียงใด จำเลยไม่ทราบ
ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท
ดังนั้น คดีตามอุทาหรณ์จึงมีประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1 โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่
2 โจทก์เสียหายเพียงใด
เนื่องจากประเด็นตามคำฟ้อง จ้อ 1 จำเลยให้การปฏิเสธไว้ตามประเด็นให้คำให้การข้อ 2 และ ข้อ 3 จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่
ประเด็นตามคำฟ้อง ข้อ 2 ในส่วนที่ว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ประเด็นนี้จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้ สำหรับข้อที่ว่าจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายนั้น จำเลยให้การปฏิเสธไว้แล้วตามประเด็นคำให้การข้อ 2 และข้อ 3 ไม่ต้องกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นอีก
ประเด็นตามคำฟ้อง ข้อ 3 จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธ จึงถือว่าจำเลยยอมรับ ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนี้ ประเด็นตามคำฟ้อง ข้อ 4 ที่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายนั้น จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่เพียงใด จำเลยไม่ทราบ กรณีถือว่าเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่ารับหรือถูกปฏิเสธ จึงไม่ชอบด้วย
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ แต่ปัญหาว่าค่าเสียหายมีมากน้อยเพียงใดซึ่งแม้จำเลยให้การว่าไม่ทราบอันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งก็ตาม แต่ศาลยังต้องพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์นำสืบหรือตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด จึงยังคงมีปัญหาข้อพิพาทที่ต้องกำหนดว่าโจทก์เสียหายเพียงใด
ส่วนประเด็นตามคำให้การข้อ 1 ที่จำเลยให้การว่าโจทก์รับจดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ตามฟ้องมาโดยไม่สุจริตนั้น จำเลยให้การปฏิเสธโดยไม่ปรากฏเหตุแห่งการปฏิเสธว่าไม่สุจริตอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท
สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคแรก ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคสอง (2) ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นข้อพิพาทที่ 1 เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส. 3 ก. ที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีโจทก์เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จึงเป็นกรณีที่มีข้อสันนิษฐานไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏแล้วว่า โจทก์มีชื่ออยู่ใน น.ส.3 ก. โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนี้ จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ (ฎ. 2516/2549, ฎ. 4343/2539)
ประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้ แต่แม้โจทก์จะไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ตามฟ้อง กรณีเช่นนี้ ศาลก็อาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เองตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคแรก
สรุป ประเด็นตามคำฟ้อง มีดังนี้
1 โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. ตามฟ้อง
2 จำเลยปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย
3 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย
4 โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 1,000 บาท
ประเด็นตามคำให้การ มีดังนี้
1 โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ตามฟ้องมาโดยไม่สุจริต
2 ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของจำเลยซึ่งครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดา
3 น.ส.3 ก เลขที่ 1111 ออกมาโดยไม่ชอบเพราะออกทับที่ดินบิดาของจำเลยครอบครอง
4 โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่เพียงใด จำเลยไม่ทราบ
ประเด็นข้อพิพาท มีดังนี้
1 โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่จำเลย
2 โจทก์เสียหายเพียงใด ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่โจทก์
ข้อ 2 พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ หลังจากศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังแล้ว นายหนึ่งให้การรับสารภาพ นายสองให้การปฏิเสธ ศาลสั่งจำหน่ายคดีสำหรับนายสองโดยให้โจทก์แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ และพิพากษาลงโทษจำคุกนายหนึ่งซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ในคดีที่โจทก์ฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ นายสองให้การปฏิเสธ โจทก์นำนายหนึ่งมาเบิกความว่า นายสองได้ร่วมลักทรัพย์กับนายหนึ่งตามฟ้อง นายสามผู้ร่วมลักทรัพย์อีกคนหนึ่งแต่ถูกกันไว้เป็นพยานมาเบิกความว่า นายสองร่วมกับนายหนึ่งและนายสามลักทรัพย์ตามฟ้อง และนายสี่ซึ่งโจทก์ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมศาลอนุญาตแล้วแต่พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบคำให้การนายสี่ไว้ในชั้นสอบสวน ทั้งโจทก์ก็มิได้สอบคำให้การไว้เช่นกันมาเบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายสี่เห็นนายหนึ่ง นายสอง และนายสามร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้อง ดังนี้ ท่านเห็นว่า คำเบิกความของนายหนึ่ง นายสาม และนายสี่พยานโจทก์รับฟังได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมิผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
มาตรา 232 ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน
วินิจฉัย
การห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232 หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกันเท่านั้น ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่ถูกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง หรือผู้ที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลยแต่มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยเพราะถูกกันไว้เป็นพยาน กรณีเช่นนี้ก็ย่อมไม่ต้องห้ามตามมาตรานี้แต่อย่างใด
คำเบิกความของนายหนึ่ง นายสาม และนายสี่รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า แม้นายหนึ่งและนายสองจะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันก็ตาม แต่เมื่อศาลสั่งจำหน่ายคดี โดยให้โจทก์แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ กรณีเช่นนี้ นายหนึ่งจึงไม่ได้เป็นจำเลยในคดีที่โจทก์แยกฟ้องนายสองเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงอ้างนายหนึ่งเป็นพยานได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232 แต่อย่างใด (ฎ. 1202/2520)
กรณีนายสาม ซึ่งเป็นผู้ร่วมลักทรัพย์ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย โดยถูกกันไว้เป็นพยาน ดังนั้น เมื่อนายสามมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย โจทก์จึงอ้างนายสามเป็นพยานได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232 (ฎ. 534/2512)
และนายสี่ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เมื่อพิจารณาแล้วน่าจะพิสูจน์ได้ว่านายองกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ทั้งไม่ปรากฏว่านายสี่เป็นพยานชนิดที่เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ดังนั้น โจทก์จึงอ้างนายสี่เป็นพยานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าพยานบุคคลของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 นั้น พนักงานสอบสวนต้องสอบคำให้การในชั้นสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้เรียกมาสอบคำให้การเป็นพยานไว้แล้ว จึงจะอ้างเป็นพยานในชั้นศาลได้ (ฎ. 2107/2514,
ฎ. 4012/2534)
ดังนั้น คำเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่พยานโจทก์จึงรับฟังได้ ส่วนจะเพียงพอให้แน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและนายสามเป็นผู้กระทำความผิดนั้นหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลในการชั่งน้ำหนักพยานบุคคลว่าพอฟังลงโทษนายสามจำเลยได้หรือไม่ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227
สรุป คำเบิกความของนายหนึ่ง นายสามและนายสี่ พยานโจทก์รับฟังได้
ข้อ 3 จงตอบคำถามต่อไปนี้
ก พยานเอกสารคืออะไร แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ สส 999 กรุงเทพมหานคร บัตรโดยสารเครื่องบินสายการบินนกแก้วแอร์ ซึ่งมีชื่อนายแดง เป็นผู้โดยสาร และกำหนดเที่ยวบินไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นพยานเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
พยานเอกสาร หมายถึง ข้อความ ตัวอักษร ตัวเลข รูป รอย หรือเครื่องหมายอย่างใดๆ จะบันทึกไว้โดยการเขียน พิมพ์ พิมพ์ดีด แกะสลัก ถักร้อยหรือวิธีอื่นใดก็ได้ ไว้ในเอกสารหรือวัตถุใด ซึ่งคู่ความใช้อ้างอิงโดยอาศัยสื่อความหมายของข้อความตัวอักษร รูป รอย หรือเครื่องหมายใดๆเป็นการนำสืบถึงความหมายของสิ่งที่ปรากฏในเอกสาร หรือวัตถุใดๆเพื่อพิสูจน์ข้ออ้างหรือข้อเถียงของคู่ความ
พยานวัตถุ หมายถึง วัตถุหรือสิ่งอื่นใดที่อาจพิสูจน์ความจริงต่อศาลได้โดยการตรวจดูมิใช่โดยการอ่านหรือพิจารณาข้อความที่บันทึกไว้
1 แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ สส 999 กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่พยานเอกสาร เพราะแผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวไม่ได้สื่อความหมายของข้อความหรือความหมายอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เป็นพยานวัตถุเพราะเป็นการแสดงถึงรูปร่าง ลักษณะ หรือความมีอยู่จริงของแผ่นป้ายทะเบียน
2 บัตรโดยสารเครื่องบิน สายการบินนกแก้วแอร์ ระบุชื่อนายแดงเป็นผู้โดยสาร และกำหนดเที่ยวบินไว้แล้ว จะเห็นได้ว่า บัตรโดยสารดังกล่าว สื่อความหมายให้เห็นว่า นายแดงเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงถือว่าเป็นพยานเอกสาร
ข คดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกคดีหนึ่ง โจทก์อ้างว่าความจริงโจทก์ชื่อ “นายหวย” เป็นบุตรของนางหอมเจ้ามรดกแต่เหตุที่โจทก์มีชื่อในบัตรประจำตัวประชาชนว่า “นายเขียว” เนื่องจากโจทก์หลบหนีคดีอาญา โจทก์จึงแจ้งชื่อโจทก์และชื่อบิดามารดาใหม่เพื่อมิให้คนอื่นรู้ว่าโจทก์คือนายหวย ในชั้นพิจารณาคดี โจทก์จะอ้างนายแห้วมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
วินิจฉัย
ในชั้นพิจารณาคดี โจทก์จะอ้างนายแห้วมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่บุคคลใดจะเป็นทายาทของเจ้ามรดกหรือไม่มิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ฉะนั้นโจทก์จึงอ้างนายแห้วมาสืบหักล้างบัตรประชาชนได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข) แต่ประการใด
และแม้บัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการอันเป็นเอกสารมหาชนตามมาตรา 127 ซึ่งให้สันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องก็ตาม แต่ก็มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่จะห้ามมิให้คู่ความนำสืบหรือห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ในชั้นพิจารณาคดี โจทก์จึงอ้างนายแห้วมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ได้ (ฎ. 526/2540)
สรุป ในชั้นพิจารณาคดี โจทก์อ้างนายแห้วมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ได้