การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  (ก)  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  84  บัญญัติว่า  การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น เว้นแต่  (3)  ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล  ให้นักศึกษาอธิบายว่า  ในคดีแพ่ง  ข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่ถือว่าคู่ความรับกันแล้วในศาล

(ข)  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ลูกจ้างของจำเลยที่  2  ได้ขับรถโดยสารของจำเลยที่  2  ด้วยความประมาทชนเสาไฟฟ้าข้างถนนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งมาในรถโดยสารคันดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กาย  ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล  5,000  บาท  ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  5,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ย  จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า  จำเลยที่  1  ไม่ได้ขับรถโดยสารด้วยความประมาท  ความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  เพราะมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถโดยสารที่จำเลยที่  1  ขับ  โดยกะทันหัน  ในวันเกิดเหตุ  จำเลยที่  1  มาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่  2  จำเลยที่  2  ให้ไปทดลองขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ  ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่  2  จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด  ขอให้ยกฟ้อง

เช่นนี้  คดีมีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ประการใด

ธงคำตอบ

(ก)   อธิบาย

นคดีแพ่ง  ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ถือว่าคู่ความรับกันแล้วในศาล

1       เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว  จำเลยต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน  15  วัน  ซึ่งจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  177  วรรคสอง  แต่อย่างไรก็ดี  ในกรณีดังต่อไปนี้  แม้จำเลยจะให้การโดยไม่ชัดแจ้ง  แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยยอมรับแล้ว  หรือที่เรียกว่าเป็นการยอมรับโดยปริยาย  ดังนี้ 

จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องข้อใด  กล่าวคือ  เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องข้อใด  ก็ถือโดยปริยายว่าจำเลยยอมรับโดยปริยายในฟ้องข้อนั้นแล้ว  เว้นแต่ในเรื่องค่าเสียหายและในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ  ซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้โต้แย้งในเรื่องค่าเสียหาย  หรือไม่ได้ยื่นคำให้การก็จะถือว่าจำเลยยอมรับในข้อนั้นไม่ได้

จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยไม่ชัดแจ้ง  เช่น  ให้การว่า  นอกจากที่จำเลยให้การต่อไปนี้ขอให้ถือว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์  หรือ   นอกจากให้การไปแล้วให้ถือว่าปฏิเสธ  เป็นต้น  ซึ่งคำให้การในลักษณะนี้  ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง  ต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามฟ้อง 

2        คำรับตามที่ศาลสอบถามในการชี้สองสถาน  กล่าวคือ  ในการชี้สองสถานแต่ละฝ่ายจะต้องตอบคำถามที่ศาลถามเอง  หรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น  อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกขึ้นอ้าง  ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด  หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว  เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธได้ขณะนั้น  (ป.วิ.พ. มาตรา  183  วรรคสอง)

3       คำรับตามที่คู่ความสอบถาม  กล่าวคือ  คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างข้อเท็จจริงใดและขอให้คู่ความฝ่ายอื่นตอบรับว่าจะรับรองข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่  เมื่อได้ร้องขอต่อศาลในวันสืบพยานให้ศาลสอบถามคู่ความฝ่ายอื่น  ว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นว่าถูกต้องหรือไม่  ถ้าคู่ความฝ่ายนั้นไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด  หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง  ในขณะนั้น  ให้ถือว่าได้ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว  เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งในขณะนั้น  กรณีเช่นนี้  ศาลจะมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นทำคำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงมายื่นต่อศาลในเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้  (ป.วิ.พ.  มาตรา  100)

4       คำรับเกี่ยวกับเอกสาร  กล่าวคือ  การไม่ส่งต้นฉบับเอกสารในความครอบครองตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  123, 124  ให้ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่ผู้ขอจะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น  คู่ความฝ่ายที่ไม่ยื่นเอกสารดังกล่าวได้ยอมรับแล้ว  หรือการไม่คัดค้านเอกสารโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน  หรือสำเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ  ก็ถือว่าคู่ความฝ่ายที่ไม่ได้คัดค้านได้ยอมรับความถูกต้องในเอกสารนั้นแล้วตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  125

5       คำรับตามข้อตกลง  (คำท้า)  กล่าวคือ  เป็นการกระทำในศาลโดยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน แต่เงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง  ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นสมความประสงค์ของคู่ความฝ่ายใดตามที่ท้ากันอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับตามข้ออ้างของฝ่ายที่สมประสงค์นั้นทั้งหมด

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา  84/1  คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น  แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด  คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  437  วรรคแรก  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร่ายแรงแห่งละเมิด

วินิจฉัย

ประเด็นข้อพิพาท  หมายถึง  ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ  ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว  ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การของโจทก์จำเลยรับฟังได้ว่า  ขณะเกิดเหตุจำเลยที่  1  เป็นผู้ควบคุมดูแลรถโดยสารซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  และโจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  จำเลยที่  1  ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในส่วนนั้น  ต้องถือว่าจำเลยที่  1  ยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว  จำเลยที่  1  จึงตองรับผิดในอันตรายแก่กายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า  ความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้

ส่วนจำเลยที่  2  ให้การปฏิเสธแต่เพียงว่าจำเลยที่  2  ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่  1  หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  จำเลยที่  1  เป็นลูกจ้างของจำเลยที่  2  ก็ต้องถือว่าจำเลยที่  2  ยอมรับจำเลยที่  1  ได้กระทำไปในทางที่จ้างของจำเลยที่  2  นกจากนี้  จำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง  จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับกันว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องด้วยเช่นกัน

ดังนั้น  คดีตามอุทาหรณ์จึงมีประเด็นข้อพิพาท  ดังนี้

1       ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่

2       จำเลยที่  2  เป็นนายจ้างของจำเลยที่  1  หรือไม่

3       โจทก์เสียหายเพียงใด

สำหรับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์นั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  84/1  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด  ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ  ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นได้ดังนี้

ประเด็นแรก  ที่ว่า  ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่  ในส่วนนี้เนื่องจากโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  437  ที่ว่า  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ  อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง  ดังนี้  ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสองที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  ซึ่งหากจำเลยทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้  จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์

ประเด็นที่สอง  ที่ว่า  จำเลยที่  2  เป็นนายจ้างของจำเลยที่  1  หรือไม่  ในส่วนนี้เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ  ในประเด็นดังกล่าวนี้  แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่  แต่ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างเป็นเรื่องภายในของนายจ้างกับลูกจ้าง  ซึ่งบุคคลภายนอกย่อมไม่อาจรู้ดีกว่านายจ้างกับลูกจ้าง  ดังนี้  ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสอง

ประเด็นที่  3  ที่ว่า  โจทก์เสียหายเพียงใด  เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง  แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การโต้แย้งจำนวนเงินค่าเสียหายด้วย  ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์  (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหาย)  แต่โจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ตามฟ้อง  ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เองตามสมควร  โดยพิจาณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม  ป.พ.พ. มาตรา  438  วรรคแรก

สรุป  คดีมีประเด็นข้อพิพาท  ดังนี้

1       ความเสียหายตามฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่  ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่จำเลยทั้งสอง

2       จำเลยที่  2  เป็นนายจ้างของจำเลยที่  1  หรือไม่  ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่จำเลยทั้งสอง

3       โจทก์เสียหายเพียงใด  ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ตกแก่โจทก์

 


ข้อ  2  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า  จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันทำร้ายร่างกายนายหนึ่งจนเป็นเหตุให้นายหนึ่งถึงแก่ความตาย  ขอให้ลงโทษ  จำเลยให้การปฏิเสธ  โจทก์อ้างนายสองกับนายสามซึ่งเห็นเหตุการณ์  และนายสี่มาเบิกความเป็นพยานในชั้นศาล  จำเลยคัดค้านว่า  ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้ถามคำให้การนายสองและนายสามไปพร้อมๆกันต่อหน้ากันและกัน  คำเบิกความของนายสองและนายสามในชั้นศาลที่เบิกความตามคำให้การในชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานที่รับฟังไมได้  ส่วนนายสี่ก็ร่วมกระทำผิดกับจำเลย  แต่ถูกกันไว้เป็นพยานจึงรับฟังไม่ได้  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  พนักงานสอบสวนได้สอบถามคำให้การนายสองและนายสามไปพร้อมๆกันต่อหน้ากันและกัน  และได้กันนายสี่ซึ่งร่วมกระทำผิดกับจำเลยไว้เป็นพยานจริง

ให้วินิจฉัยว่า  คำคัดค้านของจำเลยดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  15  วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

มาตรา  226  พยานวัตถุ  พยานเอกสาร  หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมิผิดหรือบริสุทธิ์  ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้  แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ  มีคำมั่นสัญญา  ขู่เข็ญ  หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น  และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน

มาตรา  232  ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา   114  วรรคแรก  ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมีอำนาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

วินิจฉัย

เมื่อพนักงานสอบสวนได้ถามคำให้การนายสองและนายสามไปพร้อมๆกันต่อหน้ากันและกัน  คำเบิกความของนายสองและนายสามในชั้นศาลที่เบิกความตามคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นพยานที่รับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  114  วรรคแรก  จะบัญญัติว่า ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานที่จะเบิกความภายหลัง  ซึ่งนำมาใช้บังคับกับคดีอาญาด้วยก็ตาม  (ป.วิ.อ. มาตรา  15)  แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเฉพาะในชั้นพิจารณาของศาลเท่านั้น  ไม่รวมถึงชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนด้วยแต่ประการใด  ดังนั้น  การที่พนักงานสอบสวนถามคำให้การของนายสองและนายสามไปพร้อมๆกันต่อหน้ากันและกัน  จึงไม่ทำให้การสอบสวนพยานดังกล่าวเสียไป  เมื่อนายสองและนายสามเห็นเหตุการณ์จึงเป็นประจักษ์พยานที่จะนำพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง  ทั้งก็ไม่ปรากฏว่านายสองและนายสามเป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ  มีคำมั่นสัญญา  ขู่เข็ญ  หลอกลวง  หรือโดยมิชอบประการอื่น  คำเบิกความของนายสองและนายสามในชั้นศาลที่เบิกความตามคำคัดค้านในชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานที่ศาลรับฟังได้ตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  226  คำคัดค้านของจำเลยในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคำคัดค้านของจำเลยประการต่อมามีว่า  นายสี่ที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยแต่ถูกกันไว้เป็นพยานจะรับฟังคำเบิกความได้หรือไม่  เห็นว่า  การห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  232  หมายความว่า  ในขณะที่เบิกความ  พยานที่ห้ามต้องอยู่ในฐานะจำเลย  หากพยานที่โจทก์อ้างมิได้อยู่ในฐานะจำเลยแล้วก็ย่อมไม่ต้องห้าม  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  นายสี่กระทำความผิดกับจำเลยแต่นายสี่ได้ถูกกันไว้เป็นพยาน  แสดงว่า  ในขณะที่นายสี่เบิกความ  นายสี่ไม่ได้อยู่ในฐานะจำเลย  กรณีจึงไม่ต้องด้วย  ป.วิ.อ.  มาตรา  232  อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังแต่อย่างใด  คำคัดค้านของจำเลยในประเด็นนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน  (ฎ. 534/2512)

สรุป  คำเบิกความของนายสองและนายสามในชั้นศาลที่เบิกความตามคำในชั้นสอบสวน  จึงเป็นพยานที่ศาลรับฟังได้  และศาลก็สามารถรับฟังคำเบิกความของนายสี่ได้  คำคัดค้านของจำเลยฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี

 


ข้อ  3  นายแก้วฟ้องนายขวดให้ชำระหนี้เงินกู้จำนวน  
200,000  บาท  พร้อมทั้งดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญากู้  นายขวดจำเลยให้การว่าได้ทำสัญญากู้ตามฟ้องจริง  และในสัญญาได้ระบุว่า  นายขวดยอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ  15  แก่นายแก้วทุกเดือน  เป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  จึงตกเป็นโมฆะ  นายชวดขอชำระหนี้เฉพาะเงินต้นคือ  200,000  บาท  ตามสัญญาเท่านั้น  ในชั้นสืบพยานนายแก้วแถลงว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวคิดกันเป็นร้อยละ  15  ต่อปี  ขอนำพยานบุคคลมาสืบถึงข้อตกลงนี้

ดังนี้  ศาลจะอนุญาตให้นายแก้วนำสืบพยานบุคคลได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก)  ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร  เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง

(ข)  ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า  ยังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้  มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา  (2)  แห่งมาตรา  93  และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า  พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด  หรือแต่บางส่วน  หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์  หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  ย่อมต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร  ในเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง  หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก  เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้  คือ

1       กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหาย  หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย  หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น

2       พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม

3       พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน

4       สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์

5       คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

การที่นายแก้วประสงค์จะนำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ  15  ต่อปี  ไม่ใช่ร้อยละ  15  ต่อเดือน  กรณีจึงถือว่าเป็นการสืบว่านายขวดตีความหมายของข้อความในเอกสารผิดไป  และเป็นการนำสืบอธิบายความหมายที่แท้จริงในสัญญา  ไม่ถือว่าเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม  ตัดทอน  หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94(ข)  นายแก้งจึงนำพยานบุคคลมาสืบได้ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  94  วรรคท้าย  ศาลจึงอนุญาตให้นำพยานบุคคลมาสืบได้  (เทียบ  ฎ. 1601/2520)

สรุป  ศาลอนุญาตให้นายแก้วนำสืบพยานบุคคลได้ 

Advertisement