การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ธงคำตอบ
เหตุใดจึงตองมีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย
เหตุที่ต้องมีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยในคดีล้มละลายนั้น มีความประสงค์เพื่อต้องการทราบถึงเหตุ 3 ประการดังนี้
1 เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ทำอะไรและมีทรัพย์สินอยู่แห่งใด เท่าใด
2 เพื่อทราบถึงสาเหตุที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น ค้าขายขาดทุน
3 เพื่อทราบถึงความประพฤติของลูกหนี้ ว่าได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นความผิดตามกฎหมายล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข
ทั้งนี้เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายตามมาตรา 51 และมาตรา 70 (มาตรา 42 วรรคแรก)
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยจะกระทำเมื่อใด และมีวิธีการอย่างไร
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนี้ กฎหมายบังคับไว้แต่เพียงว่า ต้องกระทำภายหลังประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแล้วเท่านั้น จะกระทำก่อนหรือหลังพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ได้ (ฎ. 2181/2535) ทั้งนี้ศาลจะต้องทำการไต่สวนทุกคดี จะงดเสียมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถไต่สวนได้เพราะลูกหนี้
1 วิกลจริต
2 จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
3 กายพิการ
กรณีเช่นนี้ศาลมีอำนาจสั่งงดการไต่สวนโดยเปิดเผย หรือจะสั่งให้มีการไต่สวนโดยวิธีอื่นใด ณ ที่ใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ (มาตรา 44)
สำหรับวิธีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนั้น ต้องกระทำเป็นการด่วน โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศแจ้งความกำหนดวันเวลานัดไต่สวนให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้มีโอกาสซักถามลูกหนี้ได้เต็มที่ (มาตรา 42 วรรคสอง)
ลูกหนี้จะให้ทนายความเข้าทำการแทนได้หรือไม่
การไต่สวนโดยเปิดเผยนั้น ลูกหนี้จะต้องมาศาลด้วยตนเองเพราะจะต้องสาบานตัวและตอบคำถามแก่ศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้แล้วหรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ 3 ประการดังที่กล่าวมาข้างต้น ลูกหนี้จะตั้งตัวแทนให้มาตอบคำถามแทนตน หรือจะตั้งทนายความให้มาตอบคำถามแทนตนเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญไม่ได้ แต่ทั้งนี้มิได้ห้ามลูกหนี้ที่จะตั้งทนายความเข้ามาช่วยเหลืออย่างอื่นที่ไม่ใช่การตอบคำถาม เช่น เขียนคำร้อง คำขอต่างๆ (มาตรา 43)
ข้อ 2 แดงกับขาวร่วมกันกู้เงินเหลืองไป 500,000 บาท โดยทำหนังสือสัญญากู้ให้ไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาแดงถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องให้ล้มละลาย ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แดงเด็ดขาด ขาวออกเงินชำระหนี้ให้เหลืองไปจนครบทั้ง 500,000 บาท ขาวจะขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายที่แดงเป็นจำเลยได้เพียงไร หรือไม่ อนึ่ง ถ้าขาวยังมิได้ออกเงินชำระหนี้ให้เหลืองเลย ขาวจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้นได้เพียงไรหรือไม่ ถ้าคดีล้มละลายที่แดงเป็นจำเลยนั้น รวบรวมทรัพย์สินได้พอที่จะจ่ายส่วนแบ่งให้เจ้าหนี้ 20% เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจ่ายส่วนแบ่งให้ขาวในกรณีแรกและกรณีหลังต่างกันหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 101 ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
วินิจฉัย
แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 กรณีที่ขาวออกเงินชำระหนี้ให้เหลืองไปจนครบ 500,000 บาท ในกรณีเช่นนี้ขาวมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้เท่ากับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากแดงในฐานะลูกหนี้ร่วม คือ 250,000 บาท ตามมาตรา 101 ซึ่งแดงกับขาวต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นจำนวนเท่าๆกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296
2 กรณีที่ขาวยังมิได้ออกเงินชำระหนี้ให้เหลืองเลย ขาวก็สมารถขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายได้ ทั้งนี้เพียงเท่าจำนวนที่ขาวอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากแดงได้ในอนาคตเท่านั้น คือ 250,000 บาท ตามมาตรา 101 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 296 แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเหลืองเจ้าหนี้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวน 500,000 บาทแล้ว ขาวก็หมดสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้น
3 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของแดงได้พอที่จะจ่ายส่วนแบ่งให้เจ้าหนี้ได้เพียง 20% เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ขาวในกรณีแรกและกรณีหลังเท่ากัน คือ 50,000 บาท (20% ของ 250,000) เพราะไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ขาวก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียง 250,000 บาท เพียงเท่าที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในฐานะลูกหนี้ร่วมเท่านั้น
สรุป
1 กรณีที่ขาวชำระหนี้ครบทั้งหมด ขาวมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้เพียง 250,000 บาท
2 กรณีที่ขาวยังมิได้ชำระหนี้ ขาวก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ 250,000 บาทเช่นกัน
3 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้แก่ขาวไม่ว่าในกรณีแรกและกรณีหลังเท่ากัน คือ 50,000 บาท
ข้อ 3 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอและนัดไต่สวนคำร้องขอในวันที่ 1 มีนาคม 2546 เมื่อถึงวันนัดไต่สวนศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนไปในวันที่ 10 มีนาคม 2546 ลูกหนี้ประสงค์จะยื่นคำคัดค้านคำร้องขอดังกล่าว และมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้ประการใด
ธงคำตอบ
มาตรา 90/9 วรรคสาม ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้ การเสนอชื่อผู้ทำแผนต้องเสนอหนังสือยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย
วินิจฉัย
การที่ลูกหนี้จะยื่นคำคัดค้านขอฟื้นฟูกิจการได้นั้น ลูกหนี้ต้องยื่นเสียก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วัน (มาตรา 90/9 วรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอแล้ว ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอนัดแรกในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2546 กรณีเช่นนี้ หากลูกหนี้ประสงค์จะยื่นคำคัดค้านคำร้อง ลูกหนี้จะต้องยื่นเสียก่อนที่จะถึงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2546 ไม่น้อยกว่า 3 วัน ตามมาตรา 90/9 วรรคสาม และแม้ศาลจะมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนไปในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2546 วันนัดไต่สวนนัดแรกก็ยังคงเป็นวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2546 อยู่เช่นเดิม การที่ศาลมีคำสั่งเลื่อนการไต่สวนไปก็เป็นเพียงการสะดวกแก่การพิจารณาเท่านั้น หาทำให้วันนัดไต่สวนนัดแรกเปลี่ยนแปลงไปไม่
ดังนั้น เมื่อล่วงเลยเวลาดังกล่าวมาแล้ว ลูกหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านได้ เมื่อลูกหนี้มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาดังกล่าวแก่ลูกหนี้
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้ว่า ลูกหนี้ไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านได้ เพราะล่วงเลยเวลาที่จะยื่นมาแล้ว