การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ธงคำตอบ
มาตรา 11 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีล้มละลายต่อศาลแล้ว ห้ามมิให้ถอนฟ้อง เว้นแต่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้คือ
1 ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่
2 การถอนฟ้องจะกระทำได้เฉพาะแต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2532
3 จะต้องขอถอนฟ้องก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2530
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลจะพิจารณาคำขอถอนฟ้องของโจทก์อย่างไร เห็นว่า แม้โจทก์กับจำเลยจะตกลงกันได้ โดยจำเลยจะยอมชำระหนี้ให้กับโจทก์ทั้งหมด และได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปก่อนแล้ว 30% ส่วนที่เหลือจะยอมชำระหนี้ให้ต่อเมื่อโจทก์ถอนฟ้องแล้ว อันถือว่ามีเหตุอันสมควรและได้กระทำในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้โจทก์มาขอถอนฟ้องต่อศาลหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ถือว่าศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว โจทก์จึงขอถอนฟ้องไม่ได้ ตามมาตรา 11 วรรคแรก ศาลจึงต้องมีคำสั่งยกคำขอถอนฟ้องของโจทก์
สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งยกคำขอของโจทก์
ข้อ 2 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จำเลยทำคำขอประนอมหนี้เข้ามาที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก อยากทราบว่าการประชุมหนี้ครั้งแรกที่ว่านี้ประชุมกันเพื่ออะไร
ธงคำตอบ
มาตรา 31 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่า จะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดเวลา และสถานที่ๆจะประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบด้วย
อธิบาย
การประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ตามมาตรา 31 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษากันว่า
1 ถ้าลูกหนี้ขอประนอมหนี้ควรจะยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ หรือ
2 ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และ
3 หากขอศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างไรต่อไป
สำหรับการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ต้องมีในคดีล้มละลายทุกคดี และมติในเรื่องขอประนอมหนี้ต้องใช้มติพิเศษเสมอ ตามมาตรา 45 วรรคสาม กล่าวคือ เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจำนวนหนี้เท่ากับ 3 ใน 4 แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
อนึ่งการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ มีเฉพาะเพื่อปรึกษากันในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ดังนั้นหากลูกหนี้มิได้ขอประนอมหนี้ก็เป็นอันว่าจะต้องถูกพิพากษาให้ล้มละลายต่อไป เจ้าหนี้จะลงมติให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ การที่เจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากลงมติเช่นนั้นย่อมเป็นการนอกเหนือไปจากบทบัญญัติมาตรา 31 จึงเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อกฎหมายล้มละลาย ฉะนั้นเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอ ศาลจึงสั่งให้ทำลายมติดังกล่าวตามมาตรา 36 ได้ และเมื่อได้สั่งให้ทำลายมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงมีผลเท่ากับเจ้าหนี้ไม่ได้ลงมติประการใด ศาลย่อมพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ตามมาตรา 61 (ฎ. 955/2505 (ประชุมใหญ่))
ข้อ 3 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ลูกหนี้ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนโดนฟ้องล้มละลายโดยมีมูลหนี้กว่า 15 ล้านบาท ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้มาขอฟื้นฟูกิจการ ดังนี้หากท่านเป็นศาล ท่านจะอนุญาตให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ อย่างไร ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วย
ธงคำตอบ
มาตรา 90/3 เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลธรรมดาตามมาตรา 90/4 อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้
มาตรา 90/4 ภายใต้บังคับมาตรา 90/5 บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(2) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา 90/3
มาตรา 90/5 บุคคลตามมาตรา 90/4 จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
(2) ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ไม่ว่าการชำระบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลจะสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/5 นั้น บัญญัติห้ามมิให้บุคคลตามมาตรา 90/4 ยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในกรณีต่อไปนี้
1 ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด กล่าวคือ กฎหมายจำกัดเฉพาะกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้นจะยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ ถ้าลูกหนี้เพียงแต่ถูกฟ้องขอให้ล้มละลาย ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ก็อาจมีการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ อีกประการหนึ่งการที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวก็ยังยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้
2 ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลหรือนิติบุคคลต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น
กรณีแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนถูกฟ้องล้มละลายโดยมีมูลหนี้กว่า 15 ล้านบาท จะเป็นบุคคลตามมาตรา 90/3 ประกอบมาตรา 90/4(2) ก็ตาม แต่เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว กรณีจึงต้องห้ามตามมาตรา 90/5(1) ลูกหนี้จึงยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้
สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งไม่อนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการตามคำขอของลูกหนี้