การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

 ข้อ  1  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามรุ่งโรจน์เด็ดขาดแล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้นายดำและนายแดงหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างฯด้วย  และข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฟังได้ยุติว่า  นายดำและนายแดงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างฯดังกล่าวจริง  แต่นายแดงมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินของห้างฯ  ศาลจึงคำพิพากษาให้นายดำเป็นบุคคลล้มละลายทันทีและมีคำสั่งยกคำร้องสำหรับนายแดงเพราะมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว  ให้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  89  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้  โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่เจ้าหนี้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างฯ  ตามมาตรา  89  นั้น  บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ให้พิจารณาแต่เพียงว่าผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างฯ  เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่  ถ้าได้ความว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ศาลก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายตามห้างฯได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่  ทั้งนี้เพราะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดในหนี้สินแทนห้างหุ้นส่วนตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1070  และ  1077  โดยไม่จำกัดจำนวนอยู่แล้ว  (ฎ. 7093/2545, ฎ. 1172/2521)

กรณีตามอุทาหรณ์  คำพิพากษาและคำสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามรุ่งโรจน์เด็ดขาดแล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้นายดำและนายแดงหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างฯด้วย  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีเพียงว่า  นายดำและนายแดงผู้ถูกขอให้ล้มละลายตามห้างฯ  เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่เท่านั้น  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่านายดำและนายแดงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามรุ่งโรจน์  ซึ่งศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปก่อนแล้ว  กรณีเช่นนี้  ศาลก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายแดงและนายดำเด็ดขาดได้เลย  โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่  ทั้งนี้ตามมาตรา  89

ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาให้นายดำล้มละลายทันทีย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนจึงจะมีคำพิพากษาให้ล้มละลายได้  และคำสั่งยกคำร้องของนายแดง  โดยเห็นว่าไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน  เพราะประเด็นดังกล่าวไม่จำต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด

สรุป  คำพิพากษาและคำสั่งของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 


ข้อ  2  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  นายดำลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายโดยขอชำระหนี้ร้อยละ  50  แก่เจ้าหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ทุกๆราย  ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกมีมติพิเศษยอมรับและศาลเห็นชอบด้วย  นายดำผ่อนชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทุกๆราย  เพียงร้อยละ  25  แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้อีก  ศาลจึงมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้นายดำเป็นบุคคลล้มละลาย  หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายดำที่ยึดไว้ออกขายจนหมดแล้วนำเงินแบ่งชำระให้แก่เจ้าหนี้ทุกๆราย  ได้อีกร้อยละ  25  นายดำจึงยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายอ้างว่าเจ้าหนี้ทุกรายได้รับชำระหนี้ร้อยละ  50  เต็มจำนวนคำขอประนอมหนี้แล้ว  ให้วินิจฉัยว่า  ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งคำร้องของนายดำอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  60  วรรคแรก  ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี  หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่าการประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี  หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น

มาตรา  135  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ  ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้  ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว

วินิจฉัย

ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งคำร้องของนายดำอย่างไร  เห็นว่า  ภายหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกมีมติพิเศษยอมรับการขอประนอมหนี้ของนายดำและศาลเห็นชอบด้วยในการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายโดยนายดำขอชำระหนี้ร้อยละ  50  แต่นายดำกลับผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายเพียงร้อยละ  25  และผิดนัดไม่ชำระหนี้อีก  จึงเป็นกรณีที่นายดำผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้  ศาลจึงมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ตามมาตรา  60  วรรคแรก

หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นำทรัพย์สินของนายที่ยึดไว้ออกขายทอดตลาด  แล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายได้อีกร้อยละ  25  นายดำจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายโดยอ้างว่าเจ้าหนี้ทุกรายได้รับชำระหนี้ร้อยละ  50  เต็มจำนวนตามคำขอประนอมหนี้แล้ว  ปัญหาจึงมีว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว  นายดำจะถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงในการประนอมหนี้ได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้นายดำเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว  ข้อตกลงตามข้อประนีประนอมก็เป็นอันยกเลิกไป  ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามจำนวนหนี้เดิม  ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากกว่าที่ได้ประนอมหนี้  ลูกหนี้จะย้อนกลับไปขอให้บังคับตามข้อตกลงในคำขอประนอมหนี้ไม่ได้  (ฎ. 2071/2535)

ดังนั้น  เมื่อหนี้สินของนายดำบุคคลล้มละลายเพิ่งจะมีการชำระหนี้ไปเพียงรอยละ  50  ศาลจึงไม่อาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา  135(3)  ได้  ดังนี้  ศาลล้มละลายกลางจึงต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายดำ

สรุป  ศาลล้มละลายกลางต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายดำ

 


ข้อ  3  แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง  กำหนดให้เจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทุกคนต้องลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในอัตราคนละสามสิบในร้อยของหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้  และกำหนดให้ลูกหนี้ผู้ค้ำประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งหมดที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ดังกล่าวทุกคน  ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผน  และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว  นายแดงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูและได้ลงมติยอมรับแผนดังกล่าวยื่นฟ้องนายดำซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันของลูกหนี้  ขอให้ศาลบังคับบังคับให้นายดำชำระหนี้ในส่วนที่ลุกหนี้ได้รับการลดหนี้ตามแผนในอัตราสามสิบในร้อยของหนี้ทั้งหมด  นายดำให้การยกข้อต่อสู้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งหมดที่ได้ค้ำประกันไว้  อีกทั้งนายแดงก็ได้ลงมติยอมรับแผนดังกล่าวด้วย  เท่ากับนายแดงตกลงยอมรับให้ผู้ค้ำประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าว  นายแดงจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นายดำต้องรับผิดตามคำฟ้องแต่ประการใด

ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายดำรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  90/27  เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย  หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

มาตรา  90/60  แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว  ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ  ทั้งนี้ตามมาตรา  90/27

คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้  หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้  หรือผู้ค้ำประกัน  หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว  เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ  ส่วนบุคคลภายนอกซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.2483  มาตรา  90/60  วรรคสอง  อันได้แก่  บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้  หรือผู้ค้ำประกันหรือผู้อยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลเหล่านั้นที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  ความรับผิดของบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดอีกเช่นไรต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง  กล่าวโดยเฉพาะในส่วนของผู้ค้ำประกันเมื่อหนี้ที่ค้ำประกันมิได้ระงับสิ้นไปตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  698  ผู้ค้ำประกันก็ยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดต่อเจ้าหนี้  เจ้าหนี้ยังมีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ได้เช่นเดิม

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ข้อต่อสู้ของนายดำรับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในอัตราคนละสามสิบในร้อย  และให้ผู้ค้ำประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดจากหนี้ทั้งหมดนั้น  กรณีเช่นนี้เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว  แผนฟื้นฟูกิจการนั้นคงผูกมัดเจ้าหนี้ตามมาตรา  90/60  วรรคแรก  แต่ทั้งนี้เฉพาะในเรื่องหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น

แต่ในส่วนของผู้ค้ำประกัน  คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเพียงเท่าจำนวนหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการด้วยแต่อย่างใด  เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอยู่เช่นเดิม  การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดว่าให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ทั้งหมดที่ได้ค้ำประกันไว้  โดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่  ย่อมขัดต่อบทบัญญัติมาตรา  90/60  วรรคสอง  อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  150  ดังนั้น  นายดำซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดในหนี้ที่ลูกหนี้ได้รับการปรับลดในอัตราสามสิบในร้อยตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว  และในส่วนที่ขาดต่อนายแดงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่อไปจนกว่าจะครบตามจำนวนที่ตนได้เข้าทำสัญญาค้ำประกัน  แม้นายแดงจะได้ลงมติยอมรับแผนนั้นด้วยก็ตาม  ข้อต่อสู้ที่นายดำยกขึ้นในคำให้การจึงไม่อาจรับฟังได้  (ฎ. 3704/2546)

สรุป  นายดำซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดในหนี้ที่ลูกหนี้ได้รับการปรับลดในอัตราสามสิบในร้อยตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว  ข้อต่อสู้ที่นายดำยกขึ้นในคำให้การจึงไม่อาจรับฟังได้

Advertisement