การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว ปรากกว่าไม่มีเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้เลย ขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เนื่องจากศาลยังมิได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ไม่อาจที่จะยกเลิกการล้มละลายได้ แต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย จึงพิพากษายกฟ้อง
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง
มาตรา 91 วรรคแรก เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
มาตรา 135 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย
วินิจฉัย
เหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 นั้น เป็นข้อที่ศาลพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด กล่าวคือ เมื่อมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็ไม่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดโดยพิพากษายกฟ้องเสียได้ ดังนั้นการจะอ้างเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามมาตรา 14 ต้องยกขึ้นอ้างก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วจะกลับมาอ้างว่ามีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายเพื่อให้ศาลยกฟ้องตามมาตรา 14 อีกหาได้ไม่
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ขั้นตอนการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นขั้นตอนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ตามมาตรา 91 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้รายใดมายื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เลย จึงเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุว่าลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ตามมาตรา 135(2) ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ และศาลจะต้องมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามบทบังคับของกฎหมาย จะพิพากษายกฟ้องเพราะลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายหาได้ไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าศาลยังมิได้พิพากษาให้ล้มละลาย จึงไม่อาจที่จะสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ แต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ตามมาตรา 14 แล้วพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 568/2506, ฎ. 7723/2543)
สรุป คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หมายเหตุ ที่คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลาง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นเพราะศาลฯมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เมื่อมีเหตุไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลต้องมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(2) ได้สถานเดียว จะยกฟ้องโดยอาศัยมาตรา 14 อีกไม่ได้ (ฎ. 670/2526)
ข้อ 2 ในคดีล้มละลายนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้ ในกรณีใดบ้าง และคำสั่งปิดคดีมีผลเพียงใด ให้อธิบายพอสังเขป
ธงคำตอบ
มาตรา 133 วรรคแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ของลูกหนี้หรือได้หยุดกระทำการตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ หรือเมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจทำรายงานแสดงกิจการและบัญชีรับจ่ายในคดีล้มละลายยื่นต่อศาลและขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้
มาตรา 134 วรรคแรกและวรรคสอง คำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่างๆไว้แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปได้
อธิบาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 133 วรรคแรกดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดถึงเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีไว้ 3 กรณี กล่าวคือ
1 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้แบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งที่สุด เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแบ่งเงินที่ขายทรัพย์สินได้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้ว ทุกระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 124 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อได้แบ่งเงินให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว จึงอาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้
2 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้หยุดกระทำการตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ เนื่องจากเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือภายหลังล้มละลาย จะมีผลทำให้ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายกลับมามีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนได้ดังเดิม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมหมดอำนาจหน้าที่ในการที่จะเข้าไปจัดการแทนลูกหนี้ จึงอาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้
3 เมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง ในคดีล้มละลายบางเรื่อง ลูกหนี้ค้าขายขาดทุนจนสิ้นเนื้อประดาตัว แม้ถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย แต่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินมาขายเพื่อแบ่งเงินแก่เจ้าหนี้ได้เลย จึงอาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้
สำหรับผลของคำสั่งปิดคดีนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 134 กล่าวคือ คำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการทรัพย์สินและกิจการต่างๆของลูกหนี้ไว้ แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด เพราะเหตุว่าเจ้าหนี้ต่างก็ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ดังนั้น หากปรากฏว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจให้ศาลเปิดคดี เพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ได้อีกตามมาตรา 134 วรรคสอง
ข้อ 3 คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว หลังจากนั้นปรากฏว่าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ที่ได้ยื่นไว้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงรายงานต่อศาล ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ และทำการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ต่อมาศาลมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง มีเงินเดือนเดือนละ 100,000 บาท ลูกหนี้ยังอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด พิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง
มาตรา 60 วรรคแรก ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่าการประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 60 วรรคแรก ได้วางหลักเกณฑ์ว่า ศาลอาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงาน หรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องหากปรากฏเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 กรณีต่อไปนี้
1 ลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้
2 ปรากฏแก่ศาลว่าการประนอมหนี้ไม่อาจดำเนินไปโดยปราศจากความยุติธรรม
3 ปรากฏแก่ศาลว่าการประนอมหนี้นั้น จะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควร
4 การที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้นั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริต
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติของมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายสถานเดียว จะกลับไปนำมาตรา 14 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้มิได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวต้องใช้บังคับแก่กรณีที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ที่ได้ยื่นไว้ และศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ ตามมาตรา 60 วรรคแรกแล้ว ศาลจึงอยู่ในบังคับของกฎหมายที่จะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น ไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นประการอื่นได้ ทั้งจะกลับไปใช้เหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายเพราะลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด แล้วพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 14 ตอนท้ายหาได้ไม่ เพราะกรณีนี้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว การที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 6058/2541)
สรุป คำพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย