การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2566
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3111 (LAW 3011) กฎหมายลักษณะพยาน
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นข้อสอบอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายธนดลต้องการซื้อห้องชุดไว้เป็นที่พักอาศัยและออกกําลังกายมูลค่า 3,000,000 บาท นายธนดล จึงได้ไปติดต่อนางสาวแพรวาพนักงานขายเพื่อทําสัญญาซื้อขาย โดยนางสาวแพรวาได้มอบแผ่นพับ โฆษณาห้องชุดซึ่งระบุว่า มีสวนน้ำลอยฟ้าและมีลู่วิ่งไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด 20 ลู่วิ่ง สร้างเสร็จแล้ว พร้อมส่งมอบ นายธนดลสนใจอย่างมากจึงได้ไปกู้ยืมเงินจากนายสุข นายสุขเห็นว่านายธนดล สะสมพระเครื่องจึงขอให้นายธนดลเอาพระเครื่องหลวงปู่โต๊ะทองคํามูลค่า 3,000,000 บาท มาจํานําเป็นประกันหนี้กู้ยืม นายธนดลตกลง และส่งมอบพระเครื่องหลวงปู่โต๊ะทองคําเรียบร้อย ต่อหน้านางสาวแพรวา นายสุขจึงได้โอนเงิน 3,000,000 บาท ชําระค่าห้องชุดแทนนายธนดล

Advertisement

จงวินิจฉัย

(ก) นายสุขเห็นว่านายธนดลไม่เคยผ่อนใช้เงินกู้ยืมคืนเลย จึงฟ้องคดีต่อศาลขอให้บังคับชําระเงิน กู้ยืมคืน 3,000,000 บาท นายธนดลให้การรับว่ากู้จริงแต่ได้นําพระเครื่องที่ใช้หนี้ไปแล้วนั้น ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

(ข) หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่า นายธนดลชําระเงินกู้ยืมครบถ้วนแล้ว นายธนดลฟ้องนายสุข ขอให้ส่งมอบพระเครื่องหลวงปู่โต๊ะทองคําที่จํานําไว้คืน โดยอ้างว่านางสาวแพรวาเป็นพยานรู้เห็นขณะส่งมอบพระเครื่อง นายสุขให้การต่อสู้ว่านายธนดลฟ้องคดีโดยไม่มีเอกสารสัญญา จํานํามาแสดง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถอ้างนางสาวแพรวาเป็นพยานแทนพยาน เอกสารได้ ข้อต่อสู้ของนายสุขฟังขึ้นหรือไม่

(ค) ภายหลังจากที่นายธนดลเข้าพักที่ห้องชุดแล้วปรากฏว่า อาคารห้องชุดดังกล่าวไม่มีสวนน้ํา ลอยฟ้า และไม่มีลู่วิ่งไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด 20 ลู่วิ่ง ตามที่โฆษณา คงมีเพียงบ่อปลาบนดาดฟ้า และลู่วิ่งไฟฟ้ารุ่นเก่าเพียง 4 คู่เท่านั้น นายธนดลสอบถามไปหลายครั้งก็ได้คําตอบเพียงว่า ไม่มีงบ รอดําเนินการอยู่ นายธนดลจึงฟ้องนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวว่าผิดสัญญาซื้อขาย ไม่สร้างสิ่งอํานวยความสะดวกตามที่โฆษณา โดยอ้างสัญญาซื้อขาย ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุด ต่อสู้ว่าในสัญญาไม่มีข้อความใดระบุเรื่องสิ่งอํานวยความสะดวก นายธนดลอ้างแผ่นพับโฆษณาห้องชุดเป็นพยานต่อศาลได้หรือไม่ และนายธนดลจะอ้างนางสาวแพรวาพนักงานขาย เป็นพยานเพื่อพิสูจน์ว่านิติบุคคลอาคารชุดเป็นเจ้าของแผ่นพับโฆษณา ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 85 “คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องนําสืบข้อเท็จจริง ย่อมมีสิทธิที่จะนําพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมี ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และ มิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่ แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียง ที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คําคู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความให้ศาลกําหนดไว้ เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ (มีภาระการพิสูจน์)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขเป็นโจทก์ฟ้องนายธนดลเป็นจําเลย โดยอ้างว่านายธนดล กู้เงินจากนายสุขไปเป็นจํานวนเงิน 3,000,000 บาท แต่ไม่เคยใช้เงินกู้ยืมคืนเลย ขอให้ศาลบังคับให้นายธนดล ชําระเงินกู้ยืมคืน 3,000,000 บาท นายธนดลให้การว่าได้กู้ยืมเงินจริงแต่ได้นําพระเครื่องที่ใช้หนี้ไปแล้วนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่านายธนดลกู้เงินจากนายสุขจริงหรือไม่ ย่อมเป็นอันยุติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) เนื่องจากเป็น ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับ จึงไม่ต้องมีการสืบพยานเพราะมิใช่เป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี แต่การที่นายธนดลให้การว่า ได้ชําระหนี้ให้นายสุขแล้วโดยการนําพระเครื่องที่ใช้หนี้ไปแล้วนั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่นายธนดลกล่าวอ้างขึ้นใหม่

และเป็นข้อเท็จจริงที่นายสุขไม่รับ กรณีเช่นนี้จึงเกิดประเด็นข้อพิพาทว่านายธนดลได้ชําระหนี้ให้แก่นายสุขโดย การนําทรัพย์สินอื่นที่ใช้หนี้แล้วจริงหรือไม่ เมื่อนายธนดลเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ดังนั้น ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่ นําสืบจึงตกอยู่กับนายธนดล ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

(ข) หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่า นายธนดลได้ชําระหนี้กู้ยืมครบถ้วนแล้ว นายธนดลจึงฟ้องคดี ต่อศาลเพื่อบังคับให้นายสุขส่งมอบพระเครื่องหลวงปู่โต๊ะทองคําที่จํานําไว้คืน โดยอ้างนางสาวแพรวาเป็นพยาน เพราะนางสาวแพรวารู้เห็นขณะที่มีการส่งมอบพระเครื่องนั้น นายธนดลย่อมสามารถอ้างนางสาวแพรวาเป็น พยานได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 85 เนื่องจากไม่ใช่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารอันเป็นการ ต้องห้ามตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 54 (ก) ที่กําหนดว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีที่เป็นการขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําพยานเอกสารมาแสดงแต่อย่างใด เพราะการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับสัญญาจํานํานั้นมิใช่เป็นกรณีที่กฎหมาย บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ดังนั้น การที่นายสุขให้การต่อสู้ว่านายธนดลฟ้องคดีโดยไม่มีเอกสาร สัญญาจํานํามาแสดงนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถอ้างนางสาวแพรวาเป็นพยานแทนพยานเอกสารได้ ข้อต่อสู้ของนายสุขจึงฟังไม่ขึ้น

(ค) การที่นายธนดลได้ฟ้องนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวว่าผิดสัญญาซื้อขาย ไม่สร้างสิ่งอํานวย ความสะดวกตามที่โฆษณา โดยอ้างสัญญาซื้อขาย แต่นิติบุคคลอาคารชุดต่อสู้ว่าในสัญญาไม่มีข้อความใดระบุเรื่อง สิ่งอํานวยความสะดวก นายธนดลจึงอ้างแผ่นพับโฆษณาห้องชุดเป็นพยานต่อศาลนั้น กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณี ที่คู่ความขอสืบพยานเอกสาร (แผ่นพับโฆษณาห้องชุด) ประกอบข้ออ้างเมื่อได้นําเอกสาร (สัญญาซื้อขาย) มาแสดงเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในพยานเอกสาร (สัญญาซื้อขาย) ซึ่งนายธนดลย่อมสามารถอ้างแผ่นพับ โฆษณาห้องชุดเป็นพยานต่อศาลได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) ทั้งนี้เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังเฉพาะพยานบุคคลเท่านั้น ไม่รวมถึงการรับฟังพยานเอกสารและพยานวัตถุคู่ความจึงมีสิทธิขอสืบพยานเอกสารหรือพยานวัตถุเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในพยานเอกสารได้ (เทียบเคียงคําพาพากษาฎีกาที่ 7055/2537)

อีกทั้งการที่นานธนดลจะอ้างนางสาวแพรวาพนักงานขายเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ว่านิติบุคคล อาคารชุดเป็นเจ้าของแผ่นพับโฆษณานั้น ก็ย่อมสามารถกระทําได้เช่นกัน เพราะเป็นการนําสืบพยานบุคคล ประกอบพยานเอกสาร (แผ่นพับโฆษณา) ซึ่งเป็นการนําสืบเพื่อเพิ่มน้ําหนักในการอ้างอิงถึงแหล่งที่มา และเพิ่ม ความน่าเชื่อถือของพยานเอกสาร (แผ่นพับโฆษณา) ซึ่งเป็นพยานเอกสารประกอบพยานเอกสาร (สัญญาซื้อขาย) เท่านั้น มิใช่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงพยานเอกสาร (สัญญาซื้อขาย) ที่นํามาแสดง ตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) แต่อย่างใด

สรุป
(ก) ประเด็นข้อพิพาทว่านายธนดลได้ชําระหนี้ให้แก่นายสุข โดยการนําทรัพย์สินอื่นที่ใช้หนี้ แล้วจริงหรือไม่ ฝ่ายจําเลยคือนายธนดลมีภาระการพิสูจน์
(ข) ข้อต่อสู้ของนายสุขดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
(ค) นายธนดลสามารถอ้างแผ่นพับโฆษณาห้องชุดเป็นพยานต่อศาลได้ และสามารถอ้างนางสาวแพรวาเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ว่านิติบุคคลอาคารชุดเป็นเจ้าของแผ่นพับโฆษณาได้

ข้อ 2. พยานบุคคลที่ศาลรับฟังมีคุณสมบัติอย่างไร และศาลต้องเชื่อคําเบิกความเสมอไปหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 95 “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใดเว้นแต่บุคคลนั้น
(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และ
(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตัวเองโดยตรง……”

มาตรา 104 วรรคหนึ่ง “ให้ศาลมีอํานาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความ นํามาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอ ให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น”

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 226 “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน”

มาตรา 227 วรรคหนึ่ง “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษา ลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริงและจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น”

อธิบาย

1. คุณสมบัติของพยานบุคคลที่ศาลรับฟัง

เมื่อพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 วรรคหนึ่งแล้วจะเห็นได้ว่า พยานบุคคลที่ศาลจะรับฟังนั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ

(1) จะต้องเป็นบุคลที่สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ หมายถึง จะต้องเข้าใจในสิ่งที่ถามและตอบคําถามได้ และ

(2) จะต้องเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็น พยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง กล่าวคือ แม้บุคคลนั้นจะสามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นพยานได้ทุกคน แต่บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็น พยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงด้วย โดยอาจเห็นเพียงอย่างเดียว หรืออาจได้ยินเพียงอย่างเดียวก็ได้ หรือถึงแม้ ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยิน เช่นพยานเป็นคนตาบอดและหูหนวก แต่พยานทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็น
พยานนั้นด้วยการใช้ประสาทสัมผัสก็เป็นพยานได้

สําหรับคดีอาญานั้น พยานบุคคลที่ศาลจะรับฟังก็จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคดีแพ่ง กล่าวคือ จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และจะต้องเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ

เกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงด้วย (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15) เพียงแต่ในคดีอาญานั้น ได้เพิ่มคุณสมบัติอีกประการหนึ่งไว้ด้วยว่า พยานบุคคลที่ศาลจะ รับฟังนั้นจะต้องเป็นพยานซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ด้วยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญามาตรา 226

2. ศาลจะต้องเชื่อคําเบิกความของพยานบุคคลเสมอไปหรือไม่

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าให้ศาลมีอํานาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนํามาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติหรือไม่ แล้วพิพากษา ไปตามนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าคําเบิกความของพยานบุคคลนั้นศาลไม่จําเป็นต้องเชื่อเสมอไป ศาลจะเชื่อหรือไม่ ให้เป็นดุลพินิจของศาล เช่นเดียวกับคดีอาญาซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่งว่า ให้ศาล ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 6836/2541 คําเบิกความพยานในชั้นศาลนั้น ไม่ใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้ว ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามคําเบิกความของพยานเสมอไป จะฟังได้หรือไม่ เพียงใดสุดแล้วแต่เหตุผลเป็นเรื่อง ๆ ไป

ซึ่งคําเบิกความของพยานบุคคลตอนวินิจฉัยคดีนั้น ศาลจะเชื่อหรือไม่ โดยหลักแล้ว ศาลจะต้องพิจารณาถึงเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ประกอบด้วย

(1) ตัวพยานเอง ในเรื่องอายุ ความบกพร่องของร่างกายและจิตใจ การศึกษาอบรม อุปนิสัยใจคอ ความสนใจในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ และมีความลําเอียงหรือไม่

(2) ฐานะและประวัติของพยาน ในเรื่องมีชื่อเสียงดีไม่ด่างพร้อย มีความซื่อสัตย์สุจริต มีใจเป็นธรรม และวางตัวเป็นกลางหรือไม่

(3) เหตุแวดล้อมอื่น ๆ ในเรื่องของปัจจัยในการรับรู้ข้อเท็จจริงในการที่มาเบิกความ ปัจจัยแห่งการจดจําในการที่มาเบิกความ ปัจจัยที่เกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจในการที่มาเบิกความ และปัจจัยที่เกี่ยวกับ ความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งที่ได้พบเห็นมา

(4) ลักษณะของคําเบิกความ ในเรื่องการตอบคําถามตรงไปตรงมาด้วยความมั่นใจ ยืนยันในข้อเท็จจริงหนักแน่นหรือไม่ เบิกความเป็นกลางมีเหตุผลกลมกลืนกับเหตุการณ์แวดล้อม ขัดแย้งกันเอง ในสาระสําคัญหรือไม่ ตลอดจนเบิกความสั้น ๆ โดยไม่มีรายละเอียดหรือไม่

(5) ลักษณะท่าทางของพยาน เพราะสีหน้าท่าทางของพยานในขณะเบิกความนั้นจะ แสดงให้เห็นได้ว่าพยานเบิกความตามความเป็นจริงหรือไม่

ข้อ 3. หากต้นฉบับเอกสารชิ้นหนึ่งที่โจทก์ต้องการอ้างในชั้นศาลอยู่กับบุคคลภายนอก การส่งสําเนาเอกสาร ให้กับศาลหรือคู่ความฝ่ายอื่นยังคงต้องหาอยู่หรือไม่ อย่างไร หรือมีวิธีการใดจึงจะสามารถอ้างเอกสารชิ้นดังกล่าวได้ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 88 “เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจํานงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใด… เพื่อเป็นพยานหลักฐาน
สนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน………”

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยาน หลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่น ซึ่งสําเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสาร
ให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้
คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้นเว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามา
ไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความ ครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
ส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยืนต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…….

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)”

อธิบาย

โดยหลักแล้ว คู่ความฝ่ายใดมีความจํานงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการ สนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 88) และให้ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง)

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากต้นฉบับเอกสารที่โจทก์ต้องการอ้างในชั้นศาลนั้นอยู่กับบุคคลภายนอก (ซึ่งมิใช่คู่ความ) โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายอ้างอิงพยานหลักฐาน (ต้นฉบับเอกสาร) ก็ไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และ ไม่ต้องส่งสําเนาเอกสารให้คู่ความฝ่ายอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2)) และถ้าโจทก์ฝ่ายที่อ้างอิง พยานหลักกฐานนั้นประสงค์จะอ้างเอกสารดังกล่าว โจทก์ก็สามารถทําได้โดยการปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ โจทก์จะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล ขอให้ศาลสั่งให้บุคคลภายนอกผู้ครอบครองเอกสารส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่โจทก์จะต้องส่งสําเนา เอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของโจทก์นั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่ง ให้บุคคลภายนอกนั้นยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่โจทก์จะต้องส่ง คําสั่งศาลให้แก่บุคคลภายนอกผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ถ้าโจทก์ทําตามวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่บุคคลภายนอกปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจาก พฤติการณ์ที่โจทก์ผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบ ตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

Advertisement