การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางสาวแดง  ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายดำ  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรด้วยกัน  1  คน  ชื่อนายโต  นายดำได้ส่งเสียเลี้ยงดูนายโตอย่างเปิดเผยเยี่ยงบิดามีต่อบุตร  นอกจากนี้นางสาวแดงยังมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก  2  คน  คือ  นางสาวส้มกับนางสาวฟ้า  นางสาวส้มได้มีบุตรกับชายคนรักแบบลับๆ  คนหนึ่งชื่อเด็กชายบุญทิ้ง  ปรากฏว่านางสาวแดงกับนางสาวส้มได้ขับรถยนต์ไปด้วยกันและเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งสองคน  ต่อมานายโตได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งและมีมรดกจำนวน  800,000  บาท  จงแบ่งมรดกของนายโต

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

(2)  บิดามารดา

(6)  ลุง ป้า  น้า  อา

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายโต  เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายดำซึ่งเป็นบิดาได้รับรองแล้วโดยพฤติการณ์เยี่ยงบิดามีต่อบุตรอย่างเปิดเผย  นายโตจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายดำที่มีสิทธิรับมรดกของนายดำได้ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1627  และมาตรา  1629(1)  แต่อย่างไรก็ดี นายโตก็มิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำ  และนายดำก็ไม่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโต  นายดำจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายโตเพราะทายาทโดยธรรมลำดับที่  2  คือ  บิดามารดาตามมาตรา  1629(2)  หมายถึง  บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  (ฎ. 1271/2506)  ส่วนนางสาวส้มกับนางสาวฟ้านั้นมีฐานะเป็นน้าของนายโต  ซึ่งถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  6  ของนายโตตามมาตรา  1629(6)

ดังนั้น  มรดกของนายโตจำนวน  800,000  บาท  ย่อมตกทอดได้แก่  นางสาวส้มกับนางสาวฟ้าคนละส่วนเท่าๆกัน  คือคนละ  400,000  บาท  ตามมาตรา  1629(6)  ประกอบมาตรา  1633  แต่ปรากฏว่านางสาวส้มได้ตายก่อนนายโตเจ้ามรดก  และนางสาวส้มมีเด็กชายบุญทิ้งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา  1546  มาตรา  1629(1)  มาตรา  1639  และมาตรา  1643  เด็กชายบุญทิ้งจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวส้มในมรดกของนายโตเจ้ามรดก

สรุป  มรดกของนายโต  จำนวน  800,000  บาท  ตกทอดได้แก่

1       เด็กชายบุญทิ้ง  จำนวน  400,000  บาท

2       นางสาวฟ้า  จำนวน  400,000  บาท

 

ข้อ  2  นายหนึ่งและนางสองเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  นายหนึ่งมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันชื่อนายหมู  และมีน้องร่วมมารดาชื่อนายช้าง  นายช้างมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อเด็กชายอ้น  นายหนึ่งได้ทำพินัยกรรมมีข้อความว่า  เมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดของข้าพเจ้าตกทอดแก่ทายาทนายช้างเพียงผู้เดียว  ต่อมานายช้างประสบอุบัติเหตุตกตึกถึงแก่ความตาย  หลังจากนั้นนายหนึ่งตาย  มีมรดกจำนวน  900,000  บาท  จงแบ่งมรดกของนายหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (3)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา  1629 (1)  แต่มีทายาทตามมาตรา  1629 (2)  แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายช้าง  ผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม  ดังนั้น  ข้อกำหนดในพินัยกรรมย่อมเสียไป  และมรดกทั้งหมดของนายหนึ่งย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1698(1)  มาตรา  1699  และมาตรา  1620  วรรคสอง  เด็กชายอ้นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายช้างเข้ารับมรดกแทนที่ไม่ได้  เพราะการรับมรดกแทนที่กันนั้นใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม  ไม่มีการรับมรดกแทนที่ในฐานะเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมตามมาตรา  1642

นายหนึ่งตาย  มีนายหมูเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  และมีนายช้างเป็นน้องร่วมมารดาเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  4  ตามมาตรา  1629(4)  ดังนั้น  นายหมูย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของนายหนึ่งในฐานะทายาทโดยธรรม ส่วนนายช้างเป็นทายาทโดยธรรมลำดับถัดไปย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา  1630  วรรคแรก  และเมื่อปรากฏว่านายหนึ่งมีภริยาคือนางสองซึ่งยังมีชีวิตอยู่  นางสองจึงได้รับมรดกของนายหนึ่งกึ่งหนึ่งตามมาตรา  1635(2)  ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกทอดแก่นายหมู

สรุป  มรดกของนายหนึ่ง  จำนวน  900,000  บาท  ตกทอดได้แก่

นางสอง  จำนวน  450,000  บาท

นายหมู  จำนวน  450,000  บาท

 

ข้อ  3  นายสี  มีบุตรชอบด้วยกฎหมาย  2  คน  คือ  นายดำกับนายแดง  นายสีได้ทำพินัยกรรมยกแหวนเพชรมูลค่า  5  แสนบาท  ให้แก่นายดำ  ต่อมานายสีถึงแก่ความตาย  โดยมีทรัพย์มรดกคือแหวนเพชรตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม  และเงินสดนอกพินัยกรรมอีกจำนวน  4 แสนบาท  เมื่อนายสีถึงแก่ความตาย  นายดำได้ยักยอกแหวนเพชรไปไว้ที่อื่นและปกปิดไม่ให้นายแดงทราบ  นอกจากนี้  นายดำยังได้ทุจริตเอาเงินที่เป็นมรดกของนายสีไปใช้อีกจำนวน  70,000  บาท  ให้ท่านแบ่งมรดกของนายสี

ธงคำตอบ

มาตรา  1603  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย  เรียกว่า  ทายาทโดยธรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม  เรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรม

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม  ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง  ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

มาตรา  1621  เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  แม้ทายาทโดยธรรมจะได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพินัยกรรม  ทายาทคนนั้นก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนโดยธรรมของตนจากทรัพย์มรดกส่วนที่ยังไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมจนเต็มอีกก็ได้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1651  ภายใต้บังคับบทบัญญัติลักษณะ  4

(2) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม  บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ  หรือแยกไว้ต่างหากจากกองมรดก  บุคคลนั้นเรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ  และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น

วินิจฉัย

ในการรับมรดกของทายาทตามกฎหมายจะมีอยู่  2  ประเภท  คือ  เป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมตามมาตรา  1603  ซึ่งนายดำเป็นทั้งทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม  ส่วนนายแดงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมเพียงฐานะเดียวของนายสี  แม้ว่านายสีจะมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินใดให้แก่นายแดง  นายแดงก็มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของนายสีนอกพินัยกรรม  กรณีของนายดำนั้น  แม้จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมแล้ว  ก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนที่เป็นทายาทโดยธรรมของตนในทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมอีกก็ได้  ตามมาตรา  1621

สำหรับเงินสดจำนวน  4  แสนบาท  โดยปกตินายดำกับนายแดงจะได้รับส่วนแบ่งในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันคนละ  200,000  บาท  ตามมาตรา  1629(1)  และมาตรา  1633  แต่นายดำได้ยักย้ายเอาเงินสดในกองมรดกไปจำนวน  70,000  บาท  ซึ่งน้อยกว่าส่วนที่นายดำจะพึงได้รับ  ดังนั้น  นายดำจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเท่าส่วนที่ตนได้ยักย้ายไปคือ  จำนวน  70,000  บาท  ตามมาตรา 1605  วรรคแรก  นายดำจึงได้รับเงินสดเพียง  130,000  บาท  ส่วนอีก  70,000  บาทที่ถูกกำจัดนั้นย่อมตกทอดได้แก่นายแดง  โดยเมื่อรวมกับส่วนที่นายแดงจะได้รับตามปกติอีกจำนวน  200,000  บาท  ทำให้นายแดงได้รับมรดกเป็นเงินสดทั้งหมด  270,000  บาท  ส่วนแหวนเพชรที่นายดำได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น  ถือเป็นพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างตามมาตรา  1651(2)  นายดำจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกในส่วนนี้ตามมาตรา  1605  วรรคท้าย

สรุป  นายดำได้รับมรดกเป็นแหวนเพชรตามพินัยกรรม  และเงินสดอีกจำนวน  130,000  ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม  ส่วนนายแดง  ไดรับมรดกเป็นเงินสด  จำนวน  270,000  บาท  ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม

 

ข้อ  4  นายอาทิตย์  มีบุตรชอบด้วยกฎหมายสามคนชื่อ  นายจันทร์  นายอังคาร  และนายพุธ  นายอังคารมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อ  นางเมฆขลา  และนายอังคารได้ขอเด็กชายเสาร์บุตรของป้าตั้งแต่ยังแบเบาะมาอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาเยี่ยงบุตรของตน  ทั้งให้เรียกตนเองว่าพ่ออย่างเปิดเผย  เมื่อนายอาทิตย์ตายมีมรดกอยู่จำนวน  3  ล้านบาท  นายอังคารได้ไปทำหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ขอสละมรดกในส่วนของตน  เพราะเห็นว่าตนมีอาชีพและครอบครัวที่มั่นคงดีอยู่แล้ว  แต่ทายาทคนอื่นๆนั้นมีฐานะยากจน  การกระทำของนายอังคารทำให้นางเมฆขลาภริยาไม่พอใจเป็นอย่างมาก  เพราะนายอังคารยังมีเด็กชายเสาร์และตนที่จะต้องเลี้ยงดูอยู่นั่นเอง  นางเมฆขลาจึงมาปรึกษากับท่าน  ให้วินิจฉัยว่า  มรดกของนายอาทิตย์จะตกทอดได้แก่ผู้ใดบ้าง  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1615  การที่ทายาทสละมรดกนั้น  มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก  ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตนและชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ  แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดาผู้ปกครอง  หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี  ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

วินิจฉัย

นายอาทิตย์  เจ้ามรดกมีมรดกจำนวน  3  ล้านบาท  และมีบุตรชอบด้วยกฎหมายสามคน  คือ  นายจันทร์  นายอังคาร  และนายพุธ  โดยเป็นผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งจะมีสิทธิได้รับมรดกเท่าๆกัน  คนละ  1  ล้านบาท  เพราะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันตามมาตรา  1633  ปรากฏว่า  นายอังคารได้สละมรดกในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรม  ด้วยการทำเป็นหนังสือมอบไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  มรดกในส่วนนี้จำนวน  1  ล้านบาท  จึงกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมที่เหลืออยู่ต่อไป  ตามมาตรา  1621  และมาตรา  1615  วรรคแรก  โดยจะตกทอดได้แก่นายจันทร์  500,000  บาท  และนายพุธ  500,000  บาท  กรณีนี้  เด็กชายเสาร์ไม่สามารถสืบมรดกที่นายอังคารได้สละมรดกได้  ตามมาตรา  1615  วรรคสอง  เพราะเด็กชายเสาร์ไม่ใช่ผู้สืบสันดานของนายอังคาร  เป็นเพียงบุตรของป้าที่นายอังคารได้ขอมาเลี้ยงดูและให้การศึกษาเยี่ยงบุตรเท่านั้น  เมื่อเป็นบุตรของคนอื่นจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดาน  ส่วนนางเมฆขลาเป็นลูกสะใภ้ของนายอาทิตย์  ไม่มีสิทธิได้รับมรดก  เพราะไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมแต่อย่างใด

สรุป  มรดกของนายอาทิตย์จะตกทอดได้แก่

นายจันทร์  จำนวน  1,500,000  บาท

นายพุธ  จำนวน  1,500,000  บาท

Advertisement