การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 นายดำเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่านายขาวบุตรของนายดำตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง ครั้นถึงวันนัดโจทก์และทนายไม่มาศาล
(ก) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีเสียออกจากสารบบความ จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นจนพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว กรณีหนึ่ง
(ข) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้อง อีกกรณีหนึ่ง
ทั้งสองกรณีดังกล่าว นายดำโจทก์จะนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนั้นมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในกำหนดอายุความได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร
(1) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้อง หรือไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 174 มาตรา 175 และมาตรา 193 ทวิ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ
(2) โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว
วินิจฉัย
(ก) ตามมาตรา 166 วรรคแรก ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยหลักแล้วให้ศาลยกฟ้องเสีย เว้นแต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้ ในกรณีนี้ศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
นายดำเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่านายขาวบุตรของนายดำโดยเจตนา ครั้นถึงวันนัด โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยอ้างว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 และมาตรา 174(2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 166 วรรคแรก ที่กำหนดให้ศาลยกฟ้องโจทก์เสีย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีและคำสั่งนั้นถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนด ผลแห่งคำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้ย่อมไม่ทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามมาตรา 39 เพราะมิใช่เป็นการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวอีกทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ดังนั้น ในกรณีนี้นายดำโจทก์จึงมีสิทธินำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในอายุความได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 1574/2525)
(ข) เมื่อได้ความว่าศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จึงต้องด้วยมาตรา 165 วรรคสาม ที่ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ดังนั้น นายดำโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในกำหนดอายุความได้
สรุป
(ก) นายดำโจทก์มีสิทธินำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในอายุความได้
(ข) นายดำโจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในกำหนดอายุความได้
ข้อ 2 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง อัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล ขอให้ลงโทษในความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จริง และไม่ต้องการทนายความ
(ข) จำเลยให้การปฏิเสธความผิดตามฟ้อง โจทก์จึงขอสืบพยาน ดังนี้ ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวขอให้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไป จึงจะชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย
ธงคำตอบ
มาตรา 172 วรรคแรก การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 173 วรรคสอง ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
มาตรา 176 วรรคแรก ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
วินิจฉัย
(ก) พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จริง และไม่ต้องการทนายความ เมื่อได้ความว่าในคดีนี้เป็นความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกอย่างต่ำไม่ถึง 5 ปี ดังนั้น ในกรณีนี้ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานได้ ตามมาตรา 176 วรรคแรก
(ข) เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธตามฟ้อง โจทก์จึงสืบพยาน ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ความว่า จำเลยให้การปฏิเสธความผิดตามฟ้อง และโจทก์ขอสืบพยาน ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของ มาตรา 172 วรรคแรก กล่าวคือ นัดพิจารณาสืบพยานหลักฐานโจทก์ต่อจำเลยในศาลโดยเปิดเผย และก่อนการพิจารณาสืบพยานโจทก์ ศาลจะต้องสอบถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ หากไม่มีและจำเลยต้องการ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ จึงจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 173 วรรคสอง
สรุป
(ก) ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานได้
(ข) ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย จึงจะชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83 โดยจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
วินิจฉัย
ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าความผิดฐานปล้นทรัพย์จะมิได้บัญญัติอยู่ใน มาตรา 192 วรรคสาม เช่นเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกงก็ตาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็คือ ความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปนั่นเอง เมื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฉ้อโกงกฎหมายมิให้ถือว่าแตกต่างกันในสาระสำคัญ การต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์กับฉ้อโกง ย่อมเข้าเกณฑ์มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเช่นกัน ทั้งมิให้ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอ หรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษด้วย เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไป เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ ตามมาตรา 192 วรรคสอง แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสามเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ (ฎ. 599/2532)
สรุป ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ แต่ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสามเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ข้อ 4 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายหนึ่ง นายสอง และนายสามว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ นายสามให้การรับสารภาพตามฟ้อง ส่วนนายหนึ่งและนายสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธเป็นคดีใหม่และพิพากษาลงโทษจำคุกนายสาม 1 ปี คดีนี้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์
ในคดีที่โจทก์ฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องโจทก์ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี นายหนึ่งและนายสองต่างยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ส่วนโจทก์ไม่
อุทธรณ์ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนายสองยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของนายหนึ่งแล้วพิพากษาว่า การกระทำของนายหนึ่ง นายสองและนายสามไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไป
ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยนายสองและนายสามด้วยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 202 วรรคสอง เมื่อถอนไปแล้ว ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น
มาตรา 213 ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่ศาลสั่งให้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ เพราะจำเลยบางคนให้การรับสารภาพตามมาตรา 176 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์จะยกเอาเหตุในลักษณะคดีที่ฟ้องใหม่ให้มีผลไปถึงจำเลยในคดีเดิมไม่ได้
และในกรณีที่จำเลยหลายคนอยู่ในสำนวนคดีเดียวกัน จำเลยบางคนยื่นอุทธรณ์และถอนอุทธรณ์ไป กรณีเช่นนี้ย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ตามมาตรา 202 กล่าวคือ จำเลยที่ถอนอุทธรณ์แล้วจะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้เท่านั้น แต่ทั้งนี้ หาได้ห้ามศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจ ตามมาตรา 213 แต่อย่างใด (ฎ. 4093/2530)
การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การกระทำของนายหนึ่ง นายสอง และนายสาม ไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นถือได้ว่าเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไปแล้ว ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาปล่อยนายสองและนายสามได้ด้วยหรือไม่ ต้องแยกพิจารณาดังนี้
กรณีนายสอง
นายสองเป็นจำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่งในคดีที่แยกมาฟ้องใหม่ แม้นายสองจะเป็นผู้ถอนอุทธรณ์ ซึ่งตามมาตรา 202 วรรคสอง ถือว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นเด็ดขาดสำหรับนายสองผู้ถอนอุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้นายสองไม่สามารถยื่นอุทธรณ์อีกเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงนายสองด้วยก็ได้ ตามมาตรา 213 (ฎ. 4093/2530)
กรณีนายสาม
นายสามรับสารภาพตามฟ้องในคดีแรก ส่วนในคดีที่โจทก์แยกฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นคดีใหม่ นายสามไม่ได้เป็นจำเลยร่วมด้วย แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุในลักษณะคดี กรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจยกเหตุที่อยู่ในลักษณะคดีนี้มาพิพากษาให้มีผลไปถึงนายสาม เพราะนายสามไม่ใช่จำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วย มาตรา 213
สรุป ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ปล่อยนายสองได้ แต่จะพิพากษาให้ปล่อยนายสามไม่ได้