การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4008 กฎหมายที่ดิน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายสง่าครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิ ในที่ดิน เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ นายสง่าไม่ได้แจ้งการครอบครองตามพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ยังคงครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ใน พ.ศ. 2528 นายสง่าถึงแก่ความตายและนายเพชรบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ครอบครองที่ดิน ต่อมา ใน พ.ศ. 2559 ทางราชการได้เดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน นายเพชรไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ สํารวจรังวัดที่ดินจึงได้โฉนดที่ดินในปีนั้น ขณะนี้นายเพชรต้องการจะโอนที่ดินให้แก่นายทอง บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
ดังนี้ อยากทราบว่า นายเพชรจะจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้นายทองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 27 ตรี “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสํารวจ ตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มี หนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวล กฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคําสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและ ทําประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทําการสํารวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิด ประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกําหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานําหรือส่งตัวแทนมานําพนักงานเจ้าหน้าที่ ทําการสํารวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกําหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
มาตรา 58 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคห้า “เมื่อได้สํารวจรังวัดทําแผนที่ หรือพิสูจน์ สอบสวนการทําประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรอง การทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครอง เป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้
บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
(2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี
(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทําประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชําระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสง่าได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดิน และเมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ นายสง่าไม่ได้แจ้งการครอบครอง ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ยังคงครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา และในปี พ.ศ. 2528 นายสง่าถึงแก่ความตายและนายเพชรบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ครอบครองที่ดินต่อจาก นายสง่านั้น ย่อมถือว่านายเพชรเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่งด้วย (มาตรา 27 ตรี วรรคสอง)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ใน พ.ศ. 2559 ทางราชการได้มีการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน นายเพชร ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง คือได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการสํารวจรังวัด ที่ดิน จึงได้รับโฉนดที่ดินในปีนั้น ย่อมถือว่านายเพชรเป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) โฉนดที่ดินที่นายเพชรได้รับมาจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการห้ามโอนเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า ดังนั้น เมื่อนายเพชรต้องการจะ โอนที่ดินนั้นใน นให้แก่นายทอง นายเพชรจึงสามารถจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายทองได้
สรุป นายเพชรสามารถจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายทองได้
ข้อ 2. นายมกราเป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือรับรองการทําประโยชน์ ใน พ.ศ. 2535 นายมกราได้ ยกที่ดินนั้นก็ใช้หนี้ให้แก่นายมีนาแทนหนี้เงินที่ค้างชําระ โดยส่งมอบที่ดินพร้อมหนังสือรับรองการ ทําประโยชน์ให้นายมีนา และนายมีนาก็ครอบครองและทําประโยชน์ต่อเนื่องมา ใน พ.ศ. 2552 นายมีนาถึงแก่ความตาย นายพฤษภาบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวของนายมีนาได้เข้า ครอบครองและทําประโยชน์ตลอดมา ขณะนี้นายพฤษภาได้นําที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่า นายพฤษภาจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 4 ทวิ “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 59 “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการ ทําประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงาน เจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กําหนด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย”
มาตรา 59 ทวิ “ผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจําเป็นจะขอออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กําหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมกราซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทําประโยชน์ได้ ยกที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายมีนา โดยมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ถือเป็น การโอนที่ไม่ทําตามกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ที่กําหนดว่า “การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน ซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ต้องทําเป็นหนังสือและต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกที่ดินที่ใช้หนี้ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ ส่งผลให้นายมีนาเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497)
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ใน พ.ศ. 2552 นายมีนาถึงแก่ความตาย และนายพฤษภาบุตรโดยชอบ ด้วยกฎหมายของนายมีนาได้เข้าครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ดังนี้ นายพฤษภาซึ่งเป็นทายาท ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับนายมีนา คือ เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ
และในขณะนี้นายพฤษภาได้นําที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีประกาศของทางราชการ เพื่อจะออกโฉนดแบบทั้งตําบลตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 จึงต้องพิจารณาการออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ แล้วแต่กรณี
สําหรับการขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ผู้ที่จะขอออก โฉนดที่ดินได้ จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือ แสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนายพฤษภาเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมาย ที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ดังนั้นนายพฤษภาจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตาม ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ไม่ได้ อีกทั้งในกรณีดังกล่าวนี้ นายพฤษภาจะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 วรรคสอง ไม่ได้เช่นกัน เพราะนายพฤษภามิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ซึ่ง มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)
ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ ได้นั้น กฎหมายกําหนดว่า จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 เท่านั้น เมื่อได้ความว่า นายพฤษภาเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น นายพฤษภาจึงไม่สามารถ ขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ ได้เช่นกัน
สรุป นายพฤษภาเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับจะขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้เลย
ข้อ 3. นางสมรซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมได้นําเอกสารหลักฐานไปที่สํานักงานที่ดิน
ซึ่งที่ดินที่เป็นมรดกตั้งอยู่เพื่อขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดก พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ไม่รับจดทะเบียนให้โดยอ้างว่านางสมรไม่มีคําสั่งศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดง
ดังนี้ อยากทราบว่า การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก ให้ผู้ได้รับมรดกนําหลักฐานสําหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานใน การได้รับมรดกมายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นทายาทแล้ว ให้ประกาศ โดยทําเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมีกําหนดสามสิบวัน ณ สํานักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอําเภอ หรือกิ่งอําเภอ สํานักงานเทศบาล ที่ทําการองค์การบริหารส่วนตําบล ที่ทําการแขวงหรือที่ทําการกํานันท้องที่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ และบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่า เป็นทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกําหนดเวลา ที่ประกาศและมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียน ให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา 82 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดิน ให้ยื่นคําขอพร้อมด้วยนําหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น และหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคําสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียน ให้ตามคําขอ แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและตรวจสอบหลักฐาน และให้ นําความในมาตรา 61 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อไม่มีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นได้ แต่ถ้ามีผู้โต้แย้งก็ให้รอเรื่องไว้ และให้คู่กรณีไปฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดประการใดแล้ว ให้ดําเนินการไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่งศาลนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสมรได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมนั้น ถือว่า นางสมรเป็นผู้จัดการมรดกโดยทางอื่นนอกจากโดยคําสั่งศาล เมื่อนางสมรได้นําเอกสารหลักฐานไปยื่นคําขอ จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดําเนินการตามมาตรา 82 ประกอบ มาตรา 81 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้อง ประกาศเป็นหนังสือก่อนมีกําหนด 30 วัน ณ สํานักงานที่ดิน และให้ส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่า เป็นทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีผู้โต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศและมีหลักฐาน เป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิตามกฎหมาย ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดง สิทธิในที่ดินได้เลย แต่ถ้ามีผู้โต้แย้งก็ให้รอเรื่องไว้ และให้คู่กรณีไปฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาลมีคําพิพากษาหรือ คําสั่งถึงที่สุดประการใดแล้ว ให้ดําเนินการไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่งศาลนั้น
ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์เมื่อนางสมรได้ไปยื่นคําขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้ โดยอ้างว่านางสมรไม่มีคําสั่งศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงนั้น การปฏิเสธของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย