การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3110 (LAW 3010) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายเมฆเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องนายหมอกลูกหนี้ให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว
มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหมอกเด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําความเห็นเสนอต่อศาลว่า
ไม่มีเจ้าหนี้โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แต่ทั้งนี้ หนี้ของนายเมฆ ขาดอายุความไปแล้วก่อนที่นายเมฆจะฟ้องนายหมอกเป็นคดีนี้ จึงเห็นควรยกคําขอรับชําระหนี้ ของนายเมฆ ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคําสั่งว่า หนี้ดังกล่าวมีอยู่จริง อีกทั้งลูกหนี้ ก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ และขาดนัดพิจารณาจนศาลมีคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาดแล้ว แม้ข้อเท็จจะฟังได้ว่า คดีของนายเมฆขาดอายุความก่อนนํามาฟ้องก็ตาม เมื่อไม่มีเจ้าหนี้โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆ ศาลจึงเห็นควรมีคําสั่งอนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ได้
ดังนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจทําความเห็นให้ยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ และคําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจดังต่อไปนี้
(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้”
มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องนายหมอกลูกหนี้ให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหมอกเด็ดขาดนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําความเห็นเสนอต่อศาลว่า ไม่มีเจ้าหนี้ โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แต่ทั้งนี้ หนี้ของนายเมฆขาดอายุความไปแล้วก่อนที่นายเมฆ จะฟ้องนายหมอกเป็นคดีนี้ จึงเห็นควรยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอํานาจ ทําความเห็นให้ยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ เพราะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 22 (3)
ส่วนกรณีที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคําสั่งว่า หนี้ดังกล่าวมีอยู่จริง อีกทั้งลูกหนี้ก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ และขาดนัดพิจารณาจนศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าคดีของนายเมฆ ขาดอายุความก่อนนํามาฟ้องก็ตาม เมื่อไม่มีเจ้าหนี้โต้แย้งคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆ ศาลจึงเห็นสมควรมีคําสั่ง
อนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ได้นั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 94 เนื่องจากหนี้ที่ขาดอายุความเป็นหนี้ที่ฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ตามมาตรา 94 (1) ซึ่งเจ้าหนี้ ไม่อาจขอรับชําระหนี้ได้ แม้มูลแห่งหนี้จะได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ตาม
สรุป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจทําความเห็นให้ยกคําขอรับชําระหนี้ของนายเมฆเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์ได้ และคําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้นายเมฆยื่นคําขอรับชําระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ในคดีล้มละลายมาที่ร้อยละ 70 และขอผ่อนชําระหนี้ 24 งวด ภายหลัง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยมติพิเศษและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมด มีนายสิงหาและนายกันยาเป็นเจ้าหนี้มาขอรับชําระหนี้ไว้ และได้รับ ชําระหนี้ร้อยละ 70 แล้ว แต่การกู้ยืมเงินจากนายสิงหามีนายธันวาเป็นผู้ค้ําประกัน นายสิงหาเห็นว่า นายธันวาผู้ค้ําประกันยังเฉยอยู่ไม่ชําระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละ 30 นายสิงหาจึงฟ้อง ลูกหนี้และนายธันวาผู้ค้ําประกันให้ชําระหนี้ที่ยังขาดอยู่ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะรับสํานวน คําฟ้องของนายสิงหาเจ้าหนี้ได้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 56 “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้”
มาตรา 59 “การประนอมหนี้ไม่ทําให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ําประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวน 2 สํานวนนี้ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีสํานวนที่นายสิงหาฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้
ตามกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคน ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่มิได้ยอมรับการขอประนอมหนี้ แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ที่มิได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้ก็ตาม และเมื่อลูกหนี้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลง ในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ เว้นแต่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) คือ หนี้ภาษีอากร และหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ หนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ ลูกหนี้จะต้องชําระหนี้
ต่อไปจนกว่าจะครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ (มาตรา 56)
ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาร้อยละ 70 ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว การประนอมหนี้ดังกล่าวย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคนตามมาตรา 56 ดังนั้น เมื่อนายสิงหาเจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้ไปแล้วร้อยละ 70 ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้น จากหนี้สินที่เหลือ เจ้าหนี้จะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่ไม่ได้ ศาลย่อมไม่รับสํานวนฟ้องไว้พิจารณา (คําพิพากษาฎีกาที่ 1001/2509)
กรณีสํานวนที่นายสิงหาฟ้องเรียกให้นายธันวาชําระหนี้
ตามกฎหมายล้มละลาย ในการขอประนอมหนี้นั้น เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบ ด้วยแล้ว ย่อมมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นเช่นผู้ค้ําประกันหรือผู้ที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้หาได้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ (มาตรา 59)
ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่านายสิงหาเจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้เพียงร้อยละ 70 จากลูกหนี้ นายสิงหา เจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องเรียกให้นายธันวาผู้ค้ําประกันชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ได้ เพราะการประนอมหนี้ไม่ทําให้ ผู้ค้ําประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 59
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวนที่นายสิงหาเจ้าหนี้ฟ้องนายธันวาผู้ค้ําประกันไว้พิจารณา แต่จะยกฟ้องสํานวนที่นายสิงหาเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้
ข้อ 3. บริษัท ส. จํากัด กู้ยืมเงินจากธนาคาร บี. โดยนําโฉนดที่ดิน 1 แปลงมาทําสัญญาจํานองเป็น ประกันหนี้ให้แก่ธนาคาร บี. บริษัท ส. จํากัด ผิดนัดไม่ชําระหนี้ ธนาคาร บี. จึงฟ้องบังคับจํานอง ต่อศาลแพ่ง ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง บริษัท ส. จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการของตนต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของบริษัท ส. จํากัด ไว้พิจารณาต่อไป บริษัท ส. จํากัด ยื่นคําแถลงต่อศาลแพ่งขอให้มีคําสั่ง งดการพิจารณาคดีที่ธนาคาร บี. ฟ้องบังคับจํานองดังกล่าว ธนาคาร บี. ยื่นคําคัดค้านต่อศาลแพ่งว่า ธนาคาร บี. เป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิบังคับจํานองต่อไปได้ ศาลแพ่งไม่อาจมีคําสั่งงดการ พิจารณาคดีได้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําคัดค้านของธนาคาร บี. ฟังขึ้นหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 90/12 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง ขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้
(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง เห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น”
(6) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับ อนุญาตจากศาลที่รับคําร้องขอ หรือล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอ ระยะเวลาดังกล่าว ศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 90/12 (4) ได้วางหลักไว้ว่า เมื่อศาลได้มีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว ให้ศาล งดการพิจารณาไว้ และมาตรา 90/12 (6) ได้บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สิน ที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคําร้องขอ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท ส. จํากัด กู้ยืมเงินจากธนาคาร บี. โดยนําโฉนดที่ดิน 1 แปลง มาทําสัญญาจํานองเป็นประกันหนี้ให้แก่ธนาคาร บี. เมื่อบริษัท ส. จํากัด ผิดนัดไม่ชําระหนี้ ธนาคาร บี. จึงฟ้อง บังคับจํานองต่อศาลแพ่ง ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง บริษัท ส. จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการของตนต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ส. ไว้พิจารณาต่อไป ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ส. จํากัด ไว้แล้ว ย่อมมีผลทําให้ธนาคาร บี. ซึ่งแม้จะเป็นเจ้าหนี้จํานองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ก็จะถูกจํากัดสิทธิในการฟ้องบังคับคดี เอากับทรัพย์สินที่จํานองตามมาตรา 90/12 (6) และเมื่อมีการฟ้องคดีไว้แล้ว ศาลแพ่งก็ต้องมีคําสั่งให้งดการ พิจารณาคดีดังกล่าวไว้ตามนัยแห่งมาตรา 90/12 (4)
ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. จํากัด ได้ยื่นคําแถลงต่อศาลแพ่งขอให้มีคําสั่งงดการพิจารณาคดีที่ธนาคาร บี. ฟ้องบังคับจํานองดังกล่าว แต่ธนาคาร บี. ได้ยื่นคําคัดค้านต่อศาลแพ่งว่า ธนาคาร บี. เป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิ บังคับจํานองต่อไปได้ ศาลแพ่งไม่อาจมีคําสั่งงดการพิจารณาคดีได้นั้น คําคัดค้านของธนาคาร บี. จึงฟังไม่ขึ้น
สรุป คําคัดค้านของธนาคาร บี. ฟังไม่ขึ้น